หลายคนคงมีคำถามว่าการดำน้ำนั้นเป็นกิจกรรมอันตรายไหม? คำตอบคือ “ใช่” การดำน้ำเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ก็คนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ชีวิตในน้ำนี่เนอะ!!!
แต่การที่เราเรียนดำน้ำตามหลักสูตรที่ได้มาตรฐานเป็นการเรียนรู้ความเสี่ยง หาวิธีป้องกัน และจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกิจกรรมดำน้ำ จึงพอสรุปได้ว่า กิจกรรมดำน้ำนั้นค่อนข้างปลอดภัยหากเราทำตามลำดับขั้นตอนและมีวิธีคิดที่ถูกต้องเหมาะสม
วันนี้ TECREW จะมาสรุปให้ฟังว่าทำยังไงเราถึงจะดำน้ำได้อย่างปลอดภัย
ก่อนการดำน้ำ
พักผ่อนให้เพียงพอ
กิจกรรมดำน้ำจริงๆ แล้วก็ใช้ร่างกายเยอะนะ ไหนจะแบกแท็งค์ แบกชุด ตีขาสู้น้ำ ความเครียดจากการปรับแรงดันเวลาเราดำน้ำ การที่เราพักผ่อนให้เพียงพอก่อนการดำน้ำเป็นการเตรียมร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงได้ระดับนึงเลยหละ!!!
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอก็เป็นการเตรียมร่างกายให้เรานั้นพร้อมสำหรับการดำน้ำ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิด DCS (Decompression Sickness) จากการเกิด การขาดน้ำ (Dehydration) แล้วต้องดื่มแค่ไหนหละ
ก็ซัก 1 – 2 แก้ว ก่อนและหลังการดำน้ำ
ฟัง briefing เสมอ
เราจะได้มีข้อมูลว่า สิ่งที่เรากำลังจะดำน้ำเป็นยังไงจะได้ปฏิบัติตัวถูก อะไรควรระวัง อะไรควรหลีกเลี่ยง หรือมีอะไรที่มีโอกาสเป็นอันตรายอยู่บ้าง เค้าจะดำน้ำกันยังไง กฎของกลุ่มมีอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยแหละ
ทำการเช็คความพร้อมก่อนการดำน้ำ
ก็ predive safety check หรือ buddy check แหละ เรียนมาตั้งแต่ Open Water Diver แล้วคงจำกันได้นะเป็นการเช็คความพร้อมและทำความคุ้นชินกับอุปกรณ์ที่เราจะใช้ดำน้ำ
ทวนให้นิดหน่อยเผื่อใครลืม BWRAF (B:BCD, W:Weight, R:Regulator, A:Air, F:Final check) ถ้าใครลืมไปถาม dive lead หรือ instructor ก็ได้นะ เค้ายินดีจะทวนให้ ถ้าเราทำทุก dive จนเป็นนิสัย ก็จะทำให้เราพร้อมสำหรับการดำน้ำได้อย่างปลอดภัยไประดับหนึ่งแล้วหละ
เช็คความพร้อมของตัวเอง
เช็คสภาพร่างกายและจิตใจ วิตกกังวลตรงไหน ไม่มั่นใจตรงไหน เดินไปบอก dive lead เลย ไม่ต้องเกรงใจ
ระหว่างดำน้ำ
ควบคุม buoyancy
เวลาอยู่ผิวน้ำก็เติมลมใน BCD ให้ตัวเองลอย, เริ่มดำน้ำก็ค่อยๆ ปล่อยลม ควบคุม descent rate อย่าลงเร็วเกินไป, ปรับ buoyancy เป็นกลางเมื่อดำน้ำตลอดเวลา (ลงลึกขึ้นเติมลม,ขึ้นที่ตื้นปล่อยลม), ควบคุม ascent rate ง่ายๆ อย่าขึ้นเร็วจน dive com ร้องเตือนแหละ และเมื่อกลับขึ้นผิวน้ำก็อย่าลืมเติมลมให้ตัวเองลอยหละ
ใช้ตะกั่วให้เหมาะสม
ไม่ใส่ตะกั่วเบาหรือหนักไป ทางที่ดีทำ weight check ก่อนการดำน้ำ การใส่ตะกั่วเบาไปก็ลอยตอนท้าย dive หรือถ้าหนักไป ก็เหนื่อยเวลาเราดำน้ำและอยู่ผิวน้ำ
อย่าออกแรงมากเกินไป
ทำอะไรช้าๆ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าเจอน้ำแรงตีขาไม่ไหว ก็บอก dive lead เถอะ การที่เราเหนื่อยใต้น้ำทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะ panic สูงขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคืออันตราย
หายใจช้า อย่างผ่อนคลาย
นอกจากจะทำให้เราไม่เหนื่อยแล้ว ยังทำให้เรามีสติในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นดีขึ้นด้วย
เช็คอากาศ, NDL สม่ำเสมอ
การที่เราเช็คอากาศและ NDL ของตัวเองบ่อยๆ ก็เป็นการ monitor ความปลอดภัยทำให้เรายังดำน้ำใน limit ความปลอดภัยของตัวเอง หลีกเลี่ยงการใช้อากาศจนหมด หรือดำน้ำเพลินจนติด Decom
ทำอะไรในขอบเขตของตัวเอง
การรู้ข้อจำกัดของตัวเองทำให้การดำน้ำปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราจะดำน้ำจนอากาศเหลือ 60 bar และไม่ดำน้ำติด Decom, การไม่มุดเข้าไปในสภาพแวดล้อมที่เป็น overhead environment หากยังไม่ได้เรียน ก็เป็นการตั้งขอบเขตความปลอดภัยของตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว
ทำ safety stop เสมอ
ตามที่เรียนมา safety stop ทำ 5 เมตร เป็นเวลา 3 นาที แต่ในปัจจุบันนิยมทำ 5 นาทีมากขึ้น ก็เพิ่มความปลอดภัยแหละ และหลังจากทำ safety stop เสร็จไม่ต้องรีบขึ้นนะ ขึ้นช้าๆ ถ้าเป็นไปได้จาก 5 เมตรถึงผิวน้ำถ้าใช้เวลา 1 นาที จะดีมากๆ เลย
ขึ้นจากการดำน้ำ
อย่าออกแรงเยอะ
ถอดชุดออกแล้วก็นั่งนิ่งๆ ซัก 15 นาที ยังไม่ต้องไปทำกิจกรรมอะไรที่ใช้แรงเยอะ เพราะ 30 นาทีแรกหลังจากการดำน้ำร่างกายเรามีโอกาสก่อตัวของ silent bubble (ฟองอากาศเล็กๆ ที่ยังไม่เป็นสาเหตุของ DCS) สูง
ดื่มน้ำเปล่า
เราดำน้ำไปตั้งเกือบชั่วโมง ร่างกายก็เสียน้ำแหละ ดื่มน้ำเปล่าทดแทนไปซัก 1 – 2 แก้ว
อย่าอาบน้ำร้อน
การอาบน้ำร้อนก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิด DCS เหมือนกันนะ
จะเห็นได้ว่า การดำน้ำให้ปลอดภัยไม่ยากเลยใช่ไหม แล้วก่อนจะลง dive ต่อไปก็อย่าลืมดูเวลาพักน้ำให้เหมาะสมกันด้วยหละ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับนักดำน้ำทุกคนนะ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็ช่วยแชร์ให้เพื่อนๆ ด้วยหละ เราจะได้ทำกิจกรรมที่เรารักได้อย่างปลอดภัย สุดท้ายแล้วไปสนุกกับการดำน้ำด้วยกันนะ!!!
บทความจาก Facebook: Tecrew