Water Bubbles in Gray

มาทำความรู้จักกับ …Decompression Sickness (DCS)… อีกซักครั้ง

ขอเรียกสั้นๆ ว่า DCS ก็แล้วกันนะครับ … ส่วนคำว่า โรคน้ำหนีบ นั้นเข้าใจว่า จะเป็นคำที่ตั้งกันเองจากพวกชาวเลหรือชาวบ้านที่มีอาชีพดำน้ำหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง … ส่วนราชบัณฑิตฯ กำหนดคำแล้วรึยัง อันนี้ไม่แน่ใจครับ แต่มีคำที่ใช้เรียก DCS ในกฏกระทรวงแรงงานว่า “โรคเหตุลดความกด” … แต่ผมว่า ให้เกียรติเจ้าของภาษาดีกว่าครับ อย่าไปแปลมันเลย DCS ง่ายที่สุดครับ

เหตุปัจจัยที่นำไปสู่ DCS มันก็มาจากก๊าซที่เป็นส่วนผสมของอากาศที่เราหายใจเข้าไปนี่แหละครับ …… ที่เป็นส่วนประกอบหลักๆ ก็ไนโตรเจนและออกซิเจน … DCS ที่เราจะคุยกันก็นี้ ก็มีเจ้าไนโตรเจนนี่่แหละครับที่เป็นตัวการ ส่วนออกซิเจนนั้นเป็นก๊าซที่เรานำไปใช้ประโยชน์ ในกิจกรรมเผาผลาญให้เกิดพลังงานและกิจกรรมของร่างกาย ซึ่งก็จะมีประเด็นเรื่องการเกิดพิษของออกซิเจนเหมือนกัน แต่จะเกิดกับนักดำน้ำที่ใช้อากาศผสมพวก Nitrox หรือพวกที่ใช้ Trimix มากกว่า ถ้าเป็นนักดำน้ำ Sport diving ที่ใช้อากาศอัดธรรมดามักไม่มีปัญหาครับ เอาไว้คุยกันในเรื่องพิษจากออกซิเจนในครั้งหน้าจะดีกว่าครับ

จากพื้นฐานเรื่องกฏของก๊าซที่เราทราบกันดี ในตอนที่เรียน Open Water ครับ กฏของเฮนรี่ ที่กล่าวว่า หากแรงดันบรรยากาศเพิ่มขึ้น ความสามารถของการละลายของก๊าซลงสู่ของเหลวนั้นจะมากขึ้น … ด้วยกฏของก๊าซข้อนี้ จึงเป็นเหตุให้ ขณะที่ดำน้ำ ไนโตรเจนที่เราหายใจเข้าไปจึงละลายลงสู่กระแสเลือด และแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อปลายทางได้มากขึ้นกว่าภาวะปกติที่เราอยู่บนบกหรือที่ผิวน้ำ ยิ่งความลึกเพิ่มมากขึ้น ความดันสูงขึ้น ยิ่งมีการละลายมากขึ้น เนื่องจากไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อยที่ร่างกายไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ใด มันจึงเพียงแค่ละลายเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย และรอเวลาถูกปลดปล่อยคืนออกมาเมื่อมีการลดความกดบรรยากาศ ระยะเวลาของการปลดปล่อยไนโตรเจนออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายก็ไม่เท่ากันครับ เนื้อเยื่อไหนที่มีองค์ประกอบเป็นไขมันเยอะ (ไนโตรเจนชอบละลายในไขมัน) เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือ ชั้นไขมันในที่ต่างๆ ของร่างกาย ก็จะมีไนโตรเจนสะสมมาก ใช้เวลานานกว่าจะปลดปล่อยไนโตรเจนออกมาจนเข้าสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ เนื้อเยื่อที่มีระบบไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงน้อย เช่น บริเวณเส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อกับกระดูก หรือ เอ็นที่ยึดกระดูกกับกระดูก, พังผืดและแคปซูลที่หุ้มตามข้อต่อต่างๆ เนื้อเยื่อเหล่านี้ก็จะมีการปลดปล่อยไนโตรเจนออกได้ช้าเช่นกัน (ทั้งสองกลุ่ม จะใช้เวลานานกว่าที่ไนโตรเจนจะละลายถึงจุดอิ่มตัว และใช้เวลานานกว่าจะปลดปล่อยไนโตรเจนออกมา เหมือนกัน) ดังนั้น อาการของ DCS จึงมักแสดงอาการที่อวัยวะต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว (ในส่วนของ DCS Type II นั้นอธิบายด้วยเหตุผลที่มากกว่านี้ จะยกไปอธิบายต่างหากในครั้งต่อไปครับ)

ทีนี้ DCS นั้นแบ่งเป็น 3 Type ครับ

DCS Type I (Limp and Joint Pain Only)

หรือที่มีชื่อเรียกว่า เบนด์ (Bend) ที่นักดำน้ำชอบเรียกกัน อาการแสดงคืออาการปวดตามข้อตามกล้ามเนื้อครับ เช่นปวดข้อศอก หัวไหล่ ข้อมือ หัวเข่า ข้อเท้า ฯลฯ เน้นว่า มีแค่อาการปวดอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ ถ้าเมื่อไหร่มีอาการทางระบบประสาทเช่น มีอาการชาหรืออาการอ่อนแรงร่วมด้วย จะปัดให้เป็น Type 2 หรือเป็น Type I with neurological symptom ทันทีครับ

DCS Type II (Cardiovascular and Neurological Involvement)

ชนิดนี้ถือว่าเป็นชนิดที่รุนแรงครับ อาจมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า spinal cord DCS หรือ spinal cord hit ก็ได้ครับ อาการจะเริ่มจาก มีอาการจุกแน่นหน้าอกนำมาก่อน อาจมีอาการไอร่วมด้วยเล็กน้อย จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท (ไขสันหลัง) เช่น รู้สึกว่าฝ่าเท้าเหมือนมีเข็มเล็กๆ มาจิ้ม ต่อมาจะรู้สึกเหมือนฝ่าเท้าหนาขึ้น ชามากขึ้น อาจมีอาการปวดบริเวณรอบๆ ทวารหนัก, ปวดบริวณอัณฑะในเพศชาย หรือรอบๆ ปากช่องคลอดในเพศหญิง, ขาเริ่มอ่อนแรง, ปัสสาวะไม่ออก, ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ … อาการทางระบบประสาทนี้ มักจะเกิดอาการระดับไขสันหลังตั้งแต่ช่วงลิ้นปี่ไล่ลงไป (มีบางกรณีที่เกิดในระดับสูงกว่านั้น) … ถ้าอาการรุนแรงมาก ก็จะแสดงอาการชัดเจนจนเป็นอัมพาตของลำตัวช่วงล่าง อย่างที่กล่าวข้างต้น แต่ถ้าอาการน้อย อาจมีอาการของแค่การอ่อนแรงของขาหรือมีอาการชา … ทั้งสองกรณีถือเป็น DCS Type II ทั้งสิ้นครับ

DCS Type III

คือ DCS Type II + Cerebral Arterial Gas Embolism เกิดร่วมกันครับ คือต้องมีอาการของการบาดเจ็บของเนื้อปอด มีถุงลมฉีกขาด มีฟองอากาศหลุดเข้าระบบไหลเวียนไปยังสมอง และมีอาการทางสมองร่วมด้วยเช่น ภาวะรู้สติลดลง มีอาการสับสน พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หนังตาตก หรือมีอาการชัก … ซึ่งผมคิดว่าการแบ่งเป็น Type III นี้ ในระดับนักดำน้ำทั่วไป คงไม่ต้องจดจำเพื่อจำแนกครับ เอาแค่ 2 Type แรกก็พอครับผม

ฝากหลักการแยกโรค DCS กับ CAGE (Cerebral Arterial Gas Embolism) ไว้นิดนึงครับว่า อาการอะไรที่เกิดขึ้นก่อนถึงผิวน้ำเล็กน้อย หรือทันทีที่ถึงผิวน้ำ (หรือใช้เวลาแสดงอาการภายใน 5-10 นาที ที่ขึ้นจากน้ำ) เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก (ถุงลมในปอดฉีกขาด) หมดสติ (มีฟองอากาศหลุดเข้าหลอดเลือดฝอยที่ปอดไหลกลับไปหัวใจแล้วเดินทางต่อไปยังสมอง) ให้นึกถึงโรค CAGE ไว้ก่อนครับ แต่อาการใดๆก็ตามเช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่างๆ ที่เกิดหลักจากขึ้นจากน้ำเป็นเวลาหลักชั่วโมงขึ้นไปและไม่เกิน 36 ชั่วโมงหลังขึ้นจากน้ำ ให้นึกถึง DCS ครับ ….. เอาคร่าวๆ เท่านี้ก่อนนะครับ ส่วน การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผมลงไว้ก่อนหน้านี้ไปแล้วพร้อมภาพประกอบ ลองหาอ่านดูในบันทึกนะครับ

ลืมพูดเรื่อง ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ ไปครับ เอาสั้นๆ นะครับ ถ้ามีการดำซ้ำมากๆ, มีการดำเกินระยะเวลาที่กำหน​ด ไม่ว่าจะจาก dive comp หรือ ตารางการดำน้ำ ก็ตาม, การดื่มสุราก่อนการดำน้ำหรือระหว่างการ​ดำน้ำรวมไปถึงหลังดำน้ำในช่​วง 24 ชั่วโมง, การออกกำลังกายหนักๆ หลังดำน้ำ, ภาวะ dehydration จากสาเหตุใดๆ ทุกสาเหตุ เช่น กินน้ำน้อย เสียน้ำมาก (ท้องเสีย, อาเจียน, ปัสสาวะมาก, ดื่มสุรา, ฯลฯ), การขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร​็ว หรือควบคุมไม่ได้ , การเจ็บป่วยก่อนการดำน้ำ (รายละเอียดเยอะมากๆ) …… เอาคร่าวๆ แค่นี้ครับ ปัจจัยพวกนี้เป็นทั้งสาเหตุและความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ DCS ครับ

 

เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก2 ส.ค. 2554