เว็ทสูท (Wetsuit) ตัวแรก เลือกยังไงดีนะ

เว็ทสูทเป็นอุปกรณ์ดำน้ำชิ้นหนึ่งที่มีประโยชน์มากในการรักษาพลังงานของร่างกายไว้ให้เราทำกิจกรรมใต้น้ำได้นาน ช่วยรักษาสุขภาพของเรา ลดโอกาสเกิดความเจ็บป่วยจากการสูญเสียความร้อนในร่างกายด้วย ด้วยความที่เป็นสินค้าที่มีราคาเริ่มต้นไม่สูงนัก แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ติดกับเนื้อตัวเราโดยตรง นักดำน้ำที่เริ่มดำน้ำจริงจังแล้วส่วนใหญ่จึงมักจะหาซื้อเว็ทสูทดำน้ำไว้เป็นของส่วนตัวมากกว่าจะเช่าจากร้านดำน้ำ บางคนก็มีเป็นของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นเรียนดำน้ำกันเลยทีเดียว มาดูกันดีกว่าว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อเว็ทสูทตัวแรกของเรา 1. เริ่มจาก อุณหภูมิน้ำ และความขี้หนาวขี้ร้อนของเรา ลองดูว่า ปกติเราน่าจะไปดำน้ำแถบไหนบ้าง แล้วน้ำทะเลแถวนั้นมีอุณหภูมิประมาณเท่าไหร่ อย่างในบ้านเราน้ำทะเลมีอุณหภูมิระหว่าง 28-30 °c บางปีร้อนหน่อยก็ถึง 31 °c แต่น้อยปีที่จะมีน้ำเย็นเข้ามาจนทำให้ลดต่ำกว่า 27 °c มาก สำหรับอุณหภูมิน้ำระดับนี้ คนที่ไม่ขี้หนาวอาจใช้เว็ทสูทความหนาประมาณ 1-1.5 ม.ม. (ซึ่งมักจะเรียกว่า skin suit ให้รู้กันไปเลยว่า บางจริงๆ นะ) ก็ได้ หรือคนที่ขี้ร้อนอาจใช้แค่ rashguard ก็เพียงพอ (ชาวเมืองประเทศหนาว มาดำน้ำบ้านเรา ใส่แค่ชุดว่ายน้ำหรือชุดบิกินี่ก็แฮปปี้แล้ว) นอกจากนี้ บางคนที่ไม่ขี้หนาวอาจเลือกใช้เว็ทสูทแบบแขนสั้นขาสั้น แทนเว็ทสูทแบบเต็มตัว ก็ได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้ความอบอุ่นบริเวณท้องและหน้าอกซึ่งเป็นส่วนแกนกลางของลำตัว มีอวัยวะภายในหลายอย่างที่ไม่ควรให้สูญเสียความร้อนไป แต่สำหรับคนไทยทั่วไป เว็ทสูทความหนา 2-3 ม.ม. เป็นขนาดมาตรฐานที่เหมาะกับการดำน้ำในอุณหภูมิระดับนี้ และบางคนที่ขี้หนาวมาก อาจใช้เว็ทสูทแบบผสม 3/5 (หรือ 5/3 คือเพิ่มความหนาช่วงท้องและอกเป็น 5 ม.ม.) เลยก็ได้ รวมถึงคนขี้ร้อนก็อาจใช้แบบ 2/3 (หรือ 3/2 แล้วแต่จะเรียก) ต่อจากนั้น ถ้าเห็นว่าเราน่าจะไปดำน้ำที่น้ำเย็นกว่านี้ เช่น แถบบาหลี หรือ ฟิลิปปินส์ ที่อุณหภูมิน้ำอยู่ระหว่าง 25-28 °c เพิ่มความหนาเว็ทสูทเข้าไปอีก 2-3 ม.ม. จากที่เล่าไปข้างต้นนี้ ก็จะเหมาะสมกับการใช้งานได้พอดี   2. เลือกคุณสมบัติวัสดุ และวิธีการตัดเย็บ แม้เว็ทสูทจะทำจากนีโอพรีนเป็นหลักเหมือนๆ กัน แต่เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ทำเว็ทสูทเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง ทำให้ได้เว็ทสูทนีโอพรีนที่ดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน จะขอยกมาเล่าไว้ 2-3 อย่างที่สำคัญๆ ก่อน แล้วไว้ถ้ามีเวลาจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มอีก หมายเหตุ แผ่นยางนีโอพรีนมีความยืดหยุ่นดี แต่ก็มีโอกาสฉีกขาดได้หากถูกดึงแรงๆ จึงมีการปิดผิว 2 ด้านด้วยผ้าชนิดต่างๆ ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ผ้านีโอพรีน” เพื่อหมายถึงแผ่นยางนีโอพรีนที่ปิดผิวด้วยผ้าแล้ว ความหนาแน่นของเนื้อนีโอพรีน – แน่นกว่า ทนทานกว่า จากข้อแรก เราเลือกเว็ทสูทโดยดูความหนาของนีโอพรีนเป็นหลัก แต่นีโอพรีนหนาเท่ากัน อาจมีความหนาแน่นของเนื้อยางไม่เท่ากันก็ได้ และสำหรับเว็ทสูทดำน้ำลึกซึ่งใช้งานภายใต้ความกดดันมากกว่าปกตินั้น เมื่อใช้ไปนานๆ เนื้อนีโอพรีนก็จะยุบตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับบางลงเรื่อยๆ นั่นเอง และความสามารถในการป้องกันการสูญเสียความร้อนก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นความหนาแน่นของนีโอพรีนที่ใช้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดอายุการใช้งานของเว็ทสูทด้วย…

อ่าน เว็ทสูท (Wetsuit) ตัวแรก เลือกยังไงดีนะ