“เทคนิคอล ไดวิ่ง” คืออะไรกันแน่ และมันต่างจากการดำน้ำแบบที่เราดำกันอยู่ ที่เขาเรียกกันว่า การดำน้ำแบบนันทนาการ (Recreational Diving) อย่างไร คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจของเพื่อนๆ นักดำน้ำหลายคน เพื่อนนักดำน้ำหลายคนถึงกับไปเล่าเรียนการดำน้ำแบบนี้มา เพื่อจะหาคำตอบ หลายคนคงสนใจที่จะดำน้ำแบบนี้อยู่ แต่ก็คงยังสงสัยว่ามันจะเป็นอย่างไรบ้าง จะต้องลงทุนขนาดไหน ปลอดภัยหรือไม่อย่างไร ตัวผมเองก็เกิดสงสัยขึ้นมาแบบนี้แหละครับ ก็เลยต้องไปพยายามหาคำตอบ ช่วงนี้ที่กำลังแสวงหาคำตอบอยู่ ได้ความรู้มาบ้าง ก็อยากจะเอามาแบ่งปันกันกับเพื่อนๆ นักดำน้ำ คงจะเขียนเล่าให้อ่านกันทีละช่วงนะครับ หากเพื่อนๆ มีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอความกรุณานำมาแบ่งกันด้วยนะครับ
จากการไปศึกษามาก็พบว่า การดำน้ำแบบเทคนิคอล (ต่อไปนี้เรียกว่า “Tec” แล้วกันนะครับ) มันต่างจากการดำน้ำแบบพักผ่อน ในแง่มุมของขีดจำกัด (limit) และวิธีการ (method) ในการดำน้ำนั่นเองครับ คือดำน้ำแบบ Tec นี่เป็นการดำน้ำเกินขีดจำกัดของการดำน้ำแบบพักผ่อน ก็มาดูกันก่อนนะครับว่าขีดจำกัดของการดำน้ำแบบพักผ่อนนี่มันเป็นอย่างไร
การดำน้ำแบบพักผ่อน (Recreational Diving) มีข้อจำกัดดังนี้ครับ
- ดำน้ำแบบ No Stop No Decompression
- ดำน้ำด้วยอากาศ หรืออากาศที่มีออกซิเจนเข้มข้น (Enriched Air) ลึกไม่เกิน 40 เมตร
- หากจะดำน้ำเข้าไปในสถานที่ที่มีสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะ ต้องมีระยะทางทั้งแนวตั้งและแนวนอนไม่เกิน 40 เมตรจากผิวน้ำ รวมทั้งต้องมองเห็นแสงธรรมชาติตลอดเวลาในการดำเข้าไป
โดยทั่วไปก็คือ การดำน้ำแบบที่ใช้อุปกรณ์ที่ง่าย (ถังอากาศ และเร็กกุเลเตอร์หนึ่งชุด) สามารถขึ้นสู่ผิวน้ำได้ทันทีหากมีเหตุฉุกเฉิน ใช้การฝึกฝนฝึกหัดที่ไม่สลับซับซ้อนมาก ไม่จำเป็นต้องอาศัยบุคลิกภาพและสภาพร่างกายที่เป็นพิเศษของนักดำน้ำ การดำน้ำแบบพักผ่อนจึงเป็นการดำน้ำที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย
ส่วนการดำน้ำแบบ Tec นี่จะดำกันเกินขีดจำกัดของการดำน้ำแบบพักผ่อน อย่างที่กล่าวมาแล้ว เช่น ความลึกจะเกิน 40 เมตร ต้องทำการลดแรงกดดันใต้น้ำเป็นขั้น (Stage Decompression) ดำในสถานที่ที่มีสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะ และมีระยะทางทั้งแนวตั้งและแนวนอนเกิน 40 เมตร มีการเร่งการลดแรงกดดัน (Accelerated Decompression) บางทีก็ใช้ส่วนผสมของอากาศที่แตกต่างกันในการดำน้ำหนึ่งไดฟ์
ดำน้ำแบบนี้จะต้องใช้วิธีการดำและเทคโนโลยีที่สูงและซับซ้อนกว่า เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ต้องมีอุปกรณ์ที่มากและยุ่งยากขึ้น รวมถึงต้องใช้การฝึกฝนที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่าอีกด้วยครับ
ก็มีนักดำน้ำหลายคนเข้าใจผิดไป คิดว่า ดำน้ำที่เกินขีดจำกัดของการดำน้ำแบบพักผ่อน โดยใช้ความรู้และอุปกรณ์ปกติที่ใช้ในการดำน้ำแบบพักผ่อน เป็นการดำน้ำแบบเทคนิคอล เช่น ใช้ถังอากาศใบเดียวดำลงไปถึง 50 เมตร แล้วบอกว่านี่เป็นการดำน้ำแบบ Tec เท่าที่ผมอ่านจากตำรา Tec Deep Diver Manual ของ DSAT เขากล่าวว่า มีชื่อที่จะเรียก ประเภทการดำน้ำแบบนี้ได้อย่างเดียวว่า Stupid Diving ครับ
ความเสี่ยงจากการดำน้ำแบบเทคนิคอล
เราคงทราบกันดีแล้วว่าการดำน้ำแบบ Tec นี้ จะเสี่ยงต่ออันตรายหลายประการ มากกว่าการดำน้ำแบบพักผ่อน (Rec) แต่ก็คงเป็นเพราะว่า การดำน้ำแบบ Tec นี้มีความท้าทายและเปิดโอกาสให้ได้ไปพบประสบการณ์ที่ยากจะพบได้ในกิจกรรมอื่นๆ ผู้คนจำนวนมากที่มีความพร้อม จึงหันมาสนใจที่จะเรียนและดำน้ำแบบนี้กันมากขึ้นทุกที อันที่จริงแล้ว ความเสี่ยงส่วนมากที่เกิดขึ้นในการดำน้ำแบบ Tec นี้ ก็จะคล้ายคลึงกับความเสี่ยงของการดำน้ำแบบพักผ่อนทั่วไป เพียงแต่อันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น หากเกิดขึ้นแล้ว มักจะร้ายแรงรุนแรงกว่านั่นเอง อย่างไรก็ดี ก็มีอันตรายบางประการที่มีเฉพาะสำหรับการดำน้ำแบบ Tec และไม่เกิดขึ้นในการดำน้ำแบบพักผ่อน อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับการดำน้ำแบบ Tec มีดังต่อไปนี้ครับ
- ไม่สามารถขึ้นสู่ผิวน้ำได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน อาจจะเพราะต้องทำ Decom หรือระยะทางไกลเกินไปจากผิวน้ำ หรือเพราะว่ามีสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะ ทำให้ขาดทางเลือกสำคัญในการที่จะจัดการกับกรณีฉุกเฉินไปหนึ่งทาง
- ออกซิเจนน้อยเกิน (Hypoxia) หรือออกซิเจนมากเกิน (Hyperoxia) ซึ่งอาจจะทำให้หมดสติและจมน้ำได้ การได้รับออกซิเจนมากหรือน้อยเกินไปนั้น อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้อากาศที่มีส่วนผสมไม่ถูกต้อง เลือกส่วนผสมอากาศผิด หรือตรวจสอบอากาศผิดพลาด
- เมา (Narcosis) และนำไปสู่การตัดสินใจหรือเลือกพฤติกรรมที่ผิดพลาด และอาจจะนำไปสู่อุบัติเหตุ อาจจะทำให้เกิดการตอบสนองช้าเกินไปต่อกรณีฉุกเฉิน และรับมือกับเหตุการณ์ไม่ได้
- โรคเกี่ยวกับความกดดัน (Decompression Illness) อาจจะทำให้เกิดการพิการ หรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากการสะสมไนโตรเจนมากไป ตรวจสอบอากาศผิดพลาด ทำถังอากาศสำหรับ Decompression หาย จำเป็นต้องขึ้นสู่ผิวน้ำก่อนจะเสร็จสิ้นการทำ Decompression คำนวนการ Decompression ผิดพลาด ปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล หรือดำน้ำเกินขีดจำกัด
- ทำผิดพลาด หรือไม่ได้ทำสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติเนื่องจากงานมากเกินไป (Task Overloading) อาจจะเป็นเบนด์เพราะตัวลอยจนควบคุมไม่ได้ หรืออาจจะเกิดอาการออกซิเจนเป็นพิษเพราะตัวจมควบคุมไม่ได้ การดำน้ำแบบนี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มาก และสลับซับซ้อนกว่า จึงอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติได้ หากได้รับการฝึกฝนมาไม่ดีพอ
- จมน้ำเนื่องจาก BCD เสียหาย เพราะว่าอุปกรณ์ในการดำน้ำแบบนี้จะหนักมาก BCD ต้องมีคุณภาพและแรงยกอย่างเพียงพอ รวมทั้งต้องมีระบบลอยตัวในกรณีฉุกเฉินสำรองไว้ด้วย มีนักดำน้ำบางคน ลืมเปิดวาล์วอากาศทำให้จมน้ำได้ เพราะเติมลมเข้า BCD ไม่ได้แล้ว แถมยังหายใจไม่ได้อีก ตัวก็จมลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่เร็กฯ ไม่ทำงาน
ในการเรียนดำน้ำแบบ Tec นี้ นักดำน้ำจะได้เรียนวิธีการรับมือกับเหตุการณ์ดังที่กล่าวมา แต่ก็มีคำเตือนไว้เสมอว่า ถึงแม้ว่าเราจะทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (By The Book) แล้วก็ดี ความเสี่ยงก็ยังสูงกว่าดำน้ำแบบพักผ่อน เพราะความหลากหลายที่มากกว่า โอกาสเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินมากกว่า ความผิดพลาดเล็กน้อยอาจจะต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ นำไปสู่อุบัติเหตุใหญ่ได้โดยง่ายกว่า และที่สำคัญ ทางเลือกที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำในกรณีฉุกเฉินมักจะไม่มี
สิ่งสำคัญที่เขียนไว้ในตำราทุกเล่มของการดำน้ำแบบ Tec นี้ ก็คือ “ในการดำน้ำแบบเทคนิคอล ถึงแม้ว่าท่านทำทุกอย่างถูกต้อง มันก็ยังมีอันตรายที่จะนำไปสู่ความพิการและความตายแฝงอยู่เสมอ” ผู้ที่จะก้าวเข้าไปสู่โลกของการดำน้ำแบบ Tec จำเป็นที่ต้องรับรู้และยอมรับความเสี่ยงดังกล่าวเสียก่อนตัดสินใจเรียนครับ
อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ของการดำน้ำแบบ Tec นั้น ก็คล้ายกับการดำน้ำแบบพักผ่อนหย่อนใจ นั่นคือ อุบัติเหตุมักเกิดจาก การใช้เทคนิควิธีการที่ผิด ไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่มีการฝึกฝน และเรียนรู้อย่างถูกต้อง หากอยู่ภายใต้ขีดจำกัดของอุปกรณ์และการฝึกฝนเรียนรู้ของเราแล้ว โอกาสของการเกิดอุบัติเหตุก็ไม่สูงครับ
อุบัติเหตุส่วนมากของการดำน้ำ (ทั้งแบบพักผ่อนและเทคนิคอล) มักเกิดจากการดำน้ำเกินขีดจำกัดของตนเอง เนื่องจากอันดับแรก นักดำน้ำที่ดำเกินขีดจำกัดของตนเอง ก็มักจะไม่รู้ว่ามีอันตรายอะไรรออยู่ อันดับต่อมา ก็คือ เมื่อพบกับอันตราย ก็ไม่รู้จะจัดการกับมันด้วยวิธีไหน และอันดับสาม ก็คือ ถึงแม้จะรู้ว่าจะจัดการวิธีไหน แต่ทำไม่เป็น เพราะไม่เคยฝึกฝนให้ชำนาญ ภายใต้การดูแลของผู้ฝึกสอนมาก่อน
นักดำน้ำส่วนมากที่ประสบอุบัติเหตุเพราะดำน้ำเกินขีดจำกัดของตนนั้น มักมีความเชื่อว่า ตนสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ โชคร้ายที่เป็นความเชื่อที่ผิด และนักดำน้ำหลายคนก็ต้องจ่ายค่าความเข้าใจผิดของตนเองด้วยชีวิตอย่างน่าเสียดาย
ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
9 ก.ย. 2546