A jellyfish ( Aurelia Aurita - Familia : Ulmariidae ) swims around in the sunshine on the turquoise Mediterranean seashore

“แมงกะพรุน” ทั่วโลกเพิ่มไม่หยุด หวั่นทะเลเสียสมดุล

นักสมุทรศาสตร์เผย สถิติแมงกะพรุนทั่วโลกกำลังแพร่พันธุ์เต็มมหาสมุทร อย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลงได้ง่ายๆ เหมือนอย่างที่ผ่านมา ขณะที่ปลาทะเลและสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ กลับลดลงอย่างน่าใจหายเพราะน้ำมือของมนุษย์

ภาพประกอบ: แมงกระพรุนแหวกว่ายอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้กับชายฝั่งเมืองเคแมร์ ประเทศตุรกี ซึ่งถูกบันทึกภาพไว้ได้เมื่อเดือน มิ.ย. 2547 (ภาพจาก AFP PHOTO / TARIK TINAZAY)

เมื่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา ลดจำนวนลง สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นมาแทนที โดยเฉพาะแมงกะพรุน” คำพูดของริคาร์โด อากิลาร์ (Ricardo Aguilar) ผู้อำนวยการของโอเชียนา (Oceana) องค์กรสากลด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งท้องทะเล ซึ่งรายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุอีกว่า ในขณะนี้ท้องทะเลทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาแมงกะพรุนแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก และในบางท้องที่ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้

ข้อมูลจากนักสมุทรศาสตร์ ระบุว่า โดยปกติ แมงกะพรุนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกๆ 12 ปี และจะมีปริมาณมากคงที่อย่างนั้นต่อไปราว 4-6 ปี ก่อนจะค่อยลดลงอีกครั้ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้มานานร่วม 2 ศตวรรษ ทว่าในปี 2551 นี้นับเป็นปีที่ 8 แล้ว ที่ฝูงแมงกะพรุนในทะเลต่างพากันเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างขาดการควบคุม จนมีปริมาณมากและกลายเป็นปัญหาในหลายๆ ท้องที่ เช่น ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ที่มากกว่าปัญหาคือ มันกลับกลายเป็นสัญญาณเตือนว่า สิ่งแวดล้อมในทะเลกำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ ระบบนิเวศน์กำลังเข้าสู่ภาวะเสียสมดุล

สาเหตุที่ทำให้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างแมงกระพรุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เอเอฟพีรายงานว่า เป็นเพราะการลดจำนวนลงของปลาและสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ จากการถูกล่า และการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลโดยมนุษย์เรานั่นเอง โดยเฉพาะพวกทูนา, ฉลาม และเต่าอีกหลายชนิด ซึ่งหากสัตว์เหล่านี้ลดน้อยลง นั่นหมายถึง ศัตรูที่จะมาคอยแย่งอาหารกับแมงกะพรุนก็ลดลงด้วย ทำให้แมงกะพรุนมีแหล่งอาหารอันโอชะมากมาย ทั้งแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็ก

แอนดรูว์ ไบรเออร์เลย์ (Andrew Brierley) นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย เซนต์แอนดรูว์ส (University of St Andrews) ในสกอตแลนด์ อธิบายว่า เมื่อแมงกะพรุนเพิ่มมากขึ้น ก็จะไปแย่งอาหารกับปลาอื่นๆ อีก และมันก็ยังเป็นศัตรูผู้ล่าปลาเหล่านั้นไปด้วย ขณะเดียวกัน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้แมงกะพรุนขยายพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย ก็ยิ่งทำให้แมงกะพรุนครองอาณาเขตในมหาสมุทรได้ไม่ยาก