การใช้ Dive computer ให้ปลอดภัย

ในอดีตที่เรายังไม่ใช้ dive computer กัน การดำน้ำทั้งแบบ Recreation และแบบ Technical ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ ด้วยการใช้ตารางดำน้ำ (dive table) และปฏิบัติตนตามข้อมูลที่ตารางให้ หากจะทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก็ดำน้ำให้ไม่ใกล้กับขีดจำกัดของตาราง (Stay well within the limits)

แต่ในปัจจุบัน การใช้ dive computer ได้กลายเป็นมาตรฐานของการวางแผนและดำเนินการดำน้ำแทนตารางดำน้ำไปแล้ว นักดำน้ำส่วนมากจึงดำน้ำตามข้อมูลที่ dive computer ให้มา และก็ยังอาจจะใช้วิธีการคล้ายคลึงกันในการดำน้ำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยการไม่เข้าไปใกล้กับขีดจำกัดของ NDL ที่ dive computer กำหนดให้
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Decompression Stress นั้นตัดสินจากการซึมซับและปลดปล่อยก๊าซเฉื่อย profile การดำน้ำที่เราดูข้อมูลจาก dive computer เป็นปัจจัยหลักของการเฝ้าระวังระดับของการปลดปล่อยก๊าซเหล่านั้น แต่มันไม่ใช่ปัจจัยอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ความหนาวเย็น การออกกำลังกาย สภาพร่างกาย อายุ รูปทรง ฯลฯ เข้ามามีส่วนด้วย การเชื่อ dive computer อย่างเดียวจึงไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดในการจะตัดสินว่าเราจะปลอดภัยจาก DCS หรือไม่ แต่เนื่องจากวิทยาการในปัจจุบันยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะนำเอาปัจจัยอื่นๆ มาประกอบออกมาเป็นบทสรุปที่ชัดเจนได้ ปัจจุบัน เราจึงยังคงใช้ข้อมูลเรื่อง profile การดำน้ำจากที่ได้ใน dive computer มาเป็นหลักอย่างเดียว

 

จึงเกิดมีคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะเอาข้อมูลที่เรามีอยู่จาก dive computer นี้มาทำให้เราปลอดภัยจนพอจะมีความสงบในใจได้ว่าเหตุการณ์ DCS นั้นจะเกิดกับตัวเราได้ยากมากๆ และยิ่งมีเหตุมากมายที่เกิดกรณี DCS กับนักดำน้ำที่ดำภายใต้ขีดจำกัด ทำให้ได้รับรู้กันว่าความเสี่ยงนั้นเกิดจากปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือ profile การดำน้ำแล้วด้วย ทำให้เกิดความต้องการที่จะปรับตั้งให้ dive computer ของเรานั้นมีความปลอดภัย (Conservative) มากขึ้น โดยมีวิธีต่างๆ ในการปรับตั้ง และวิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คือวิธีการปรับตั้ง Gradient Factor

Gradient Factor นั้นถูกสร้างขึ้นมาโดย Erik Baker ทำให้นักดำน้ำสามารถปรับขีดจำกัดของการได้ปลดปล่อยก๊าซให้เป็นส่วนหนึ่งของขีดจำกัดเดิม (M-Value) โดยส่วนมาก Gradient Factor จะถูกใช้กับอัลกอริทึ่มของ Buhlmann โดยการปรับขีดจำกัดของการปลดปล่อยก๊าซเฉื่อยให้เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ของ M-Value (ค่าสูงสุดที่ร่างกายจะรับการปลดปล่อยก๊าซเฉื่อยได้)

Gradient Factor จะมีค่าอยู่สองชุด ชุดแรก เราเรียกกันว่า GF Low จะเป็นตัวแสดงเปอร์เซ็นต์ของ M-Value ที่กำหนด Stop แรกของการทำ Decompression

ส่วนค่าชุดหลัง เราเรียกกันว่า GF High เป็นตัวแสดงเปอร์เซ็นต์ของ M-Value ที่ไม่ให้เกินไปจากนี้ตลอดจนถึงการขึ้นสู่ผิวน้ำ การคำนวนใน dive computer นั้น จะมีการขีดเส้นจากจุด GF Low ไปยังจุด GF High และกำหนดออกมาเป็นขีดจำกัดใหม่ ที่มีความปลอดภัย (Conservative) สูงกว่าเดิม การเขียน Gradient Factor จะเขียนกันไว้ในรูปแบบดังต่อไปนี้:

GF 30/85

การใช้ GF Low นั้นส่วนมากจะใช้กับนักดำน้ำแบบ Technical ที่ต้องการกำหนดความลึก ตื้น ของจุดแรกที่จะหยุดพักน้ำ (First Decompression Stop) โดยหากตั้งตัวเลขต่ำ จุดแรกที่หยุดพักน้ำจะลึกกว่าถ้าตั้งตัวเลขสูง ตัวอย่างเช่น ตั้ง GF Low ที่ 20 จะมีการหยุดพักน้ำในที่ลึกกว่าตั้ง GF Low ที่ 50 ด้วยเหตุนี้นักดำน้ำแบบ Tec ที่อยากมี Decompression Stop ที่ลึก ก็จะตั้ง GF Low ไว้ต่ำๆ ขณะที่พวกไม่ต้องการ Deep Stop ก็จะตั้งไว้สูงกว่า

ส่วน GF High นั้น สามารถนำมาใช้ได้กับทั้งนักดำน้ำแบบ Technical และแบบ Recreational โดยหากเราตั้ง GF High ไว้ด้วยตัวเลขต่ำ เราจะติดดีคอมเร็วกว่า และแก้ดีคอมช้ากว่าการตั้ง GF High ไว้ด้วยตัวเลขสูง ตัวอย่างเช่น ตั้ง GF High ที่ 70 จะติดดีคอมเร็วกว่า และหากติดแล้ว แก้ดีคอมช้ากว่าการตั้ง GF High ไว้ที่ 85 การตั้งค่าตัวเลข GF High ไว้ต่ำ จึงเป็นการเพิ่มกันชนของความปลอดภัย (Conservative) โดยยอมเสีย ให้ NDL สั้นลงสำหรับนักดำน้ำแบบ Rec และยอมทำ Decompression นานกว่า สำหรับพวก Tec ครับ

ยังมีนักดำน้ำจำนวนมากไม่ได้ต้องการที่จะเพิ่มความปลอดภัยที่สูงกว่าเดิม หลายคนในกลุ่มนี้ชอบที่จะได้ NDL นานๆ หรือทำ Decompression สั้นๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ DCS (เราเรียกกันว่า “สายห้าว” 😛)

แต่อย่างไรก็ดี การมี Decompression Stress มากๆ ถึงแม้ไม่มีอาการ DCS ก็อาจจะมีผลเสียต่อสุขภาพ และมีความเสี่ยงในระยะยาว และอีกประการ การมีอายุมากขึ้น ก็ทำให้เรามีความทนทานน้อยกว่าเมื่อครั้งเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ความเสี่ยงต่อ DCS นั้นเกิดขึ้นกับเรื่องปัจจัยต่างๆ ของทุกๆ คนในทุกๆ ไดฟ์ การที่ตั้งระดับความปลอดภัยให้สูงไว้เป็นเรื่องที่ทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าเราจะมีความเสี่ยงน้อยลง

นักดำน้ำหลายคนมีทัศนคติว่าการที่ต้องอยู่ในน้ำนานขึ้นเป็นเรื่องน่าสนุกน่ารื่นรมย์ ไม่ใช่การถูกลงโทษ และทุกคนก็น่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าการเป็น DCS นั่นแหละคือการถูกลงโทษอย่างแท้จริง

การมีความรู้และสามารถตั้ง Gradient Factor ได้นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ dive computer ให้ปลอดภัย

การเลือก dive computer ให้เหมาะสมจึงสำคัญ สิ่งที่เราควรมองหาคือ:

  • สามารถเลือกอัลกอริทึ่มที่จะใช้ได้
  • สามารถปรับเลือกระดับความปลอดภัย (Conservatism) ได้
  • ใช้งานได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย ไม่ลืมการใช้
  • หน้าจอที่สามารถมองเห็นข้อมูลได้มาก และมองเห็นชัด
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่มีนานพอ สามารถเปลี่ยนหรือชาร์ตแบตเตอรี่ได้ด้วยตนเอง
  • ปรับปัจจัยความปลอดภัยได้ระหว่างการดำน้ำในกรณีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงระหว่างการดำ
  • สามารถดาวน์โหลดข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือในโทรศัพท์มือถือได้

(เรียบเรียงจากบทความของ DAN เรื่อง Gradient Factors โดย Dr. Neal W. Pollock (PhD) )

บทความจาก Facebook: Marlin Divers