SurfGF & GF99

การจะเข้าใจเรื่องของ SurfGF & GF99 ได้นั้น เราต้องเข้าใจกระบวนการ On Gas และ Off Gas ในร่างกายของเราขณะดำน้ำเสียก่อน

  • เมื่อเราดำน้ำ ร่างกายเราได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากแรงกดดันของน้ำ
  • ร่างกายเราจะซึมซับก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ
  • ระหว่างที่เราขึ้นจากที่ลึก ร่างกายเราได้รับแรงกดดันที่ลดลง
  • ก๊าซไนโตรเจนในร่างกายของเรายังมีแรงกดดันที่สูงกว่าแรงกดดันรอบตัวขณะเราขึ้นจากที่ลึกมาที่ตื้น
  • ความแตกต่างของแรงกดดันที่ทำให้ก๊าซไนโตรเจนในร่างกายเราคลายออกนั้น อาจจะทำให้เกิดฟอง
  • หากแรงกดดันมีความแตกต่างมาก ฟองอากาศก็จะมากกว่า และมีขนาดใหญ่กว่า

ฟองอากาศที่มีขนาดใหญ่นั้นจะทำให้เกิด DCS แต่อย่างไรก็ดี ฟองอากาศขนาดเล็ก ก็ยังเกิดขึ้นในร่างกายของนักดำน้ำขณะขึ้นสู่ความตื้น ถึงแม้จะมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย แต่หากมีปริมาณมากๆ ก็จะมีผลกระทบต่อร่างกาย เช่นการเหนื่อยล้าอย่างมากหลังการดำน้ำ หรือที่เรียกกันว่า ความเครียดจากการลดแรงกดดัน (Decompression Stress)

การดำน้ำที่ดี จึงควรจะคำนึงถึงฟองอากาศเล็กๆ เหล่านี้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการรักษาความแตกต่างของแรงกดดันขณะขึ้นสู่ความตื้น โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการลดความเร็วในการขึ้นนั่นเอง

การควบคุมความเร็วในการขึ้นนั้น เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือการขึ้นช้าๆ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญอีกในเรื่องความเร็วในการขึ้นนี้ เช่นหากเราขึ้นช้าเกินไป หรือหยุดในที่ลึกเพื่อคลายก๊าซไนโตรเจนให้ออกจากร่างกายนานเกินไป ก๊าซไนโตรเจนอาจจะเข้าไปในร่างกายของเราเพิ่ม โดยเฉพาะในเนื้อเยื่อที่ซึมซับช้า (Slow Tissue) และหลังจากนั้น หากเราขึ้นที่ตื้นโดยมีก๊าซไนโตรเจนสะสมในร่างกายเรามาก เราอาจจะทำให้เกิดฟองอากาศในร่างกายของเราได้มากขึ้น

เป้าหมายในการขึ้นที่ดีจึงเป็นการกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายให้มากที่สุด โดยให้การคลายออกของก๊าซนั้นไม่รวดเร็วจนเกินไป และไม่ช้าจนเกินไป จนทำให้เกิดฟองอากาศทั้งแบบฟองใหญ่และแบบฟองเล็ก

ในการขึ้นเราจึงต้องทำสองเรื่องพร้อมกัน

  • ต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแรงกดดันรอบตัวเร็วเกินไป
  • ต้องให้มีความแตกต่างของแรงกดดันที่เหมาะสมเพื่อคลายก๊าซ

การที่เราจะจัดการให้การขึ้นสู่ความตื้นของเราอยู่ในระดับที่ “พอดี” ได้นั้น เราจึงต้องมีข้อมูลปัจจุบันระหว่างการดำน้ำ ซึ่งในไดว์คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยบางรุ่นในปัจจุบัน เราสามารถตั้งค่าให้แสดงข้อมูลที่เราต้องการได้

ไดว์คอมพิวเตอร์นั้น จะใช้อัลกอริทึ่มที่หลากหลาย เพื่อประมาณการซึมซับและคลายออกของก๊าซไนโตรเจนในร่างกายของเราในแต่ละช่วงเวลา แต่ละช่วงของความลึก ขณะที่เราดำน้ำ การใช้ไดว์คอมพิวเตอร์จึงทำให้เราปลอดภัยโดยการจำกัดความแตกต่างของแรงกดดันภายในร่างกายของเรากับแรงกดดันภายนอกร่างกาย

แรงกดดันที่กล่าวมานั้น เราเรียกกันว่า Pressure Gradient หรือเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “ความแตกต่างของแรงกดดัน” ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงคำว่า Gradient Factor เมื่อใด เราก็จะหมายถึงการควบคุมความแตกต่างของแรงกดดันเพื่อป้องกันการเกิดฟองอากาศ และการยินยอมให้ไนโตรเจนเข้าและออกจากร่างกายของเรา

สำหรับอัลกอริทึ่มของ Buhlmann ZHL – 16C ที่นิยมใช้ในไดว์คอมพิวเตอร์จำนวนมากนั้น จะมี Gradient Factor สองแบบด้วยกัน คือ GF High และ GF Low

GF High จะเป็นการตั้งระดับความปลอดภัย (Conservatism) โดยรวม

GF low คือการตั้งความลึกของจุด Deco Stop แรก

สำหรับ GF Low นั้น หากท่านเป็นนักดำน้ำแบบ Recreation ที่ไม่ดำน้ำติดดีคอม ท่านก็ไม่ต้องไปสนใจกับมันมากนัก เพียงแต่ตั้งไว้ให้ Deco Stop แรกนั้น ไม่ลึกจนเกินไป ซึ่งกระบวนการตั้งจะกล่าวต่อไป

GF High

ในการตั้ง GF High นั้น ใช้แนวคิดว่าอัลกอริทึ่มของ Buhlmann นั้น มีการตั้งระดับความปลอดภัยที่ศูนย์ (คือปลอดภัยปกติตามงานวิจัยและงานทดลอง และนักดำน้ำสามารถขึ้นสู่ผิวน้ำได้เมื่อความแตกต่างของแรง
กดดันเท่ากับ M-Value) เมื่อเราตั้งค่า GF High ขึ้นมา ไดว์คอมพิวเตอร์จะให้เราขึ้นสู่ผิวน้ำขณะที่มีความปลอดภัยเพิ่มตามเปอร์เซ็นต์ของ GF High ที่ตั้งนั้น

การตั้ง GF High ระดับ 100% นั้น คือการตั้งความปลอดภัยเท่ากับ M-Value ซึ่งจะเท่ากับระดับความปลอดภัย (Conservatism) เท่ากับ 0

การตั้งระดับความปลอดภัยที่คาบเส้นแบบนี้ ไม่ได้เผื่อไว้สำหรับปัจจัยอื่นๆ หรือปัจจัยส่วนบุคคล ที่จะทำให้เกิดฟองอากาศได้ง่ายกว่าสภาพสมบูรณ์ นักดำน้ำจำเป็นต้องลดขีดจำกัดให้น้อยกว่า 100% เพื่อให้เกิดระยะความปลอดภัยต่อการเกิด DCS

การตั้ง GF High จึงทำให้นักดำน้ำปลอดภัยขึ้น เช่นหากเราตั้ง GF High ไว้ที่ 85% ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เวลา NDL ของเราสั้นลง และ/หรือทำให้เราต้องทำ Decompression นานขึ้น แต่มันจะเกิดระยะความปลอดภัยเพิ่มให้เราถึง 15%

ยิ่งหากเราตั้ง GF High ถึงระดับ 70% ด้วยแล้ว เราก็จะมี NDL ที่ยิ่งสั้นลงไปอีก และถ้าเราดำน้ำแบบ Decompression ระยะเวลาในการทำ Deco ก็จะทอดยาวยิ่งขึ้นไปอีก แต่เราจะได้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นถึง 30% ขึ้นมา

GF Low

จะมีผลกระทบต่อการทำ Decompression ของนักดำน้ำแบบ Technical โดยนักดำน้ำจะใช้ GF Low นี้สำหรับการปรับระดับปรับรูปแบบการทำ Decompression ของตน เช่นจะปรับให้ Deco Stop แรกให้เกิดในที่ลึก หรือปรับ Deco Stop แรกให้เกิดขึ้นในที่ตื้นกว่า เป็นต้น

ตัวอย่างเช่นถ้าเราตั้ง GF Low ไว้ที่ 30% Decompression Stop ของเราก็จะเริ่มต้นในที่ลึกกว่าการตั้ง GF Low ไว้ที่ 50% (นักดำน้ำแบบ Recreational จึงควรตั้ง GF Low ไว้ให้ไม่ต่ำจนเกินไป เผื่อว่าหากเราดำน้ำจนติด Decom เราจะได้เริ่ม Emergency Deco Stop ในที่ที่ไม่ลึกจนเกินไป)

นอกเหนือจากการตั้งค่า GF High และค่า GF Low แล้ว ในการดำน้ำ จะมีการตั้งค่าบนหน้าปัด ที่ทำให้เราเห็น

GF99 และ Surf GF

โดยทั้งสองรายการนี้จะให้ข้อมูลปัจจุบันขณะดำน้ำ ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับการคลายก๊าซไนโตรเจนภายในร่างกายของเรา ทำให้เราสามารถตัดสินใจเรื่องการขึ้นที่เหมาะสมและการทำ Stop ที่ทำให้เราลดความเสี่ยงต่อ DCS รวมถึงลดการเกิด Decompression Stress ได้

GF99

จะบอกเราเรื่องการคายก๊าซไนโตรเจนจากร่างกายของเรากับแรงกดดันรอบตัวเราในขณะนั้น โดยจะแสดงออกมาเป็นค่าของ % เช่น:

  • GF99 มีค่าเป็น 0% หมายความว่าไม่มีก๊าซไนโตรเจนเข้าหรือออกจากร่างกายของเราเลย
  • GF99 มีค่าระหว่าง 1 – 49% หมายถึงการมีก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายเราแต่ทำให้เกิดฟองอากาศขนาดเล็กและจำนวนน้อย
  • GF99 มีค่าระหว่า 50 – 100% หมายถึงมีก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายของเราและทำให้เกิดฟองอากาศขนาดใหญ่และจำนวนมาก

เป็นต้น

เป้าหมายของการขึ้นสู่ที่ตื้นในการดำน้ำนั้น คือให้มีความสมดุลย์ มีความเหมาะสมของการคลายก๊าซไนโตรเจนจากร่างกายของเรา ในขณะที่ไม่ทำให้เกิดฟองอากาศขนาดใหญ่ หรือฟองอากาศจำนวนมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ ระหว่างการดำน้ำ ข้อมูลจาก GF99 จะให้เราทราบว่า

  • เรากำลังซึมซับ หรือปลอดปล่อยก๊าซไนโตรเจน
  • การ Off Gas ของเรามีประสิทธิภาพมากขนาดไหน
  • มี Decompression Stress เกิดขึ้นหรือไม่ขณะเราขึ้นสู่ที่ตื้น

ค่า GF99 ที่สูงจึงหมายถึงการคายก๊าซไนโตรเจน (Supersaturation) ที่รวดเร็ว และฟองอากาศอาจจะเกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งหากมีมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการ Decompression Stress หรือ DCS

***ค่า GF99 ที่เหมาะสม จึงควรจะอยู่ในระดับระหว่าง 2/3 และ 1/2 ของค่า GF High ที่เราตั้งไว้***

SurfGF

คือค่าที่ทำให้เรารู้ว่าความแตกต่างของแรงกดดันในร่างกายของเรากับแรงกดดันภายนอกจะเป็นเท่าไรหากเราขึ้นสู่ผิวน้ำในเวลานั้น ข้อมูลนี้ทำให้เราสามารถตัดสินใจว่าเราจะให้มีระดับความปลอดภัยขนาดไหนเวลาขึ้นสู่ผิวน้ำ เช่นหากขณะนั้น SurfGF ของเรามี 90% เราอาจจะคิดว่าอัตราเสี่ยงสูงเกินไป เราควรรอที่ Stop อีกสักระยะ ให้ SurfGF ลดลงจนเหลือสัก 70% แล้วค่อยขึ้น เป็นต้น

GF99 และ SurfGF จึงมีความสัมพันธ์กัน เช่นหากค่า GF99 สูง หมายความว่าก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายของเราเร็ว และค่า SurfGF ก็จะลดลงเร็วไปด้วย แต่หากค่า GF99 มีค่าต่ำ หมายความว่าก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายเราช้า และค่า SurfGF ก็จะลดลงช้ากว่า

เป้าหมายของเราจึงควรจะให้ GF99 นั้นสูงพอที่จะให้ร่างกายคลายก๊าซไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดฟองอากาศสะสมในร่างกายและทำให้เกิด Deco Stress หรือ DCS

ตัวอย่างเช่นขณะที่เราเริ่มขึ้นจากที่ลึก GF99 ของเราจะเริ่มเปลี่ยนจากค่า on gas ไปเป็น 0% และหากเราขึ้นตื้นขึ้นอีก ค่าเปอร์เซ็นต์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความตื้นที่เราขึ้น โดยเราจะพยายามให้ค่า GF99 นั้นอยู่ระหว่าง 2/3 และ 1/2 ของค่า GF High ที่เราตั้งไว้

เมื่อเราหยุดที่ Stop ใดก็ตาม ในช่วงแรกเราจะเห็นค่า GF99 นั้นขึ้นมาสูงขึ้น เช่นอาจจะขึ้นมา 40% และเมื่อเรารออยู่ที่ Stop นั้นระยะหนึ่ง ก๊าซไนโตรเจนก็จะค่อยๆ ออกจากร่างกายของเราไปเรื่อยๆ อัตราการคายก๊าซออกจากร่างกายก็จะลดลง ทำให้ค่า GF99 ในความลึกเดิมนั้นน้อยกว่าเดิมเรื่อยๆ ซึ่งในกรณีนี้ หากค่า GF99 มีน้อยจนกระทั่งเราเห็นว่าประสิทธิภาพในการคายก๊าซออกจากร่างกายเราน้อยแล้ว (เช่นค่าน้อยกว่า 2/3 ของ GF High) เราก็ควรขึ้นไปสู่ Stop ที่ตื้นกว่าเดิม เพื่อให้ค่า GF99 นั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง

ขณะที่เราอยู่ที่ Stop สุดท้าย เราอาจจะรอจน SurfGF ของเราลดต่ำลงกว่าค่า GF High ก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือเราอาจจะรอให้ SurfGF ของเราลดต่ำลงกว่าค่า GF High มากๆ เพื่อให้เรามี Deco Stess น้อยที่สุดก่อนจะขึ้นสู่ผิวน้ำนั่นเอง

ข้อมูลทั้งเรื่องการตั้ง GF High, GF Low และเรื่องของการอ่านข้อมูลปัจจุบันของค่า GF99 และค่า SurfGF จึงทำให้เราสามารถดำน้ำได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอย่างมากมาย และเป็นเรื่องที่นักดำน้ำที่มีไดว์คอมพิวเตอร์ทันสมัยแบบนี้ควรจะทำความเข้าใจและใช้งานให้เต็มศักยภาพของอุปกรณ์ครับ