GF (Gradient Factor) คืออะไร

หลายปีมาแล้ว นักวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใต้น้ำ ชื่อ Eric Baker ได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง gradient factor หรือปัจจัยความแตกต่างของแรงกดดัน ขึ้นมาเพื่อเป็นเทคนิคในการทำให้สูตรคำนวณการดำน้ำ (algorithm) มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยแนวคิดนี้จะถูกนำมาใช้กับสูตรคำนวณของ buhlmann ZHL-16

แนวคิดนี้ทำให้นักดำน้ำมีความยืดหยุ่นที่จะปรับแต่งโปรไฟล์การดำน้ำของตน ในการจัดการกับความเสี่ยงต่อโรค DCS ข้อดีของการคำนวณจากแนวคิดนี้ คือทำให้นักดำน้ำสามารถเลือกความเข้มข้นในการทำ deep stop ของตนเองได้ และสามารถเลือกได้ว่าจะขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยระดับการ Supersaturation มากหรือน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับ M-Value

แนวคิด GF นี้จะมีตัวเลขไว้สื่อสารกับเราสองตัว โดยจะทำการตั้งค่า ตัวอย่างเช่น 50/70 ซึ่งมันจะหมายความว่า เลขตัวแรก GF low คือตัวกำหนดว่าเราจะเริ่มทำ stop แรกที่ความลึกมากหรือน้อย และเลขตัวที่สอง GF high เราสามารถกำหนดได้ว่า stop ตื้นของเราจะยาวนานขนาดไหน

หากเราต้องการทำ stop แรกในที่ลึก ให้ลึกสักหน่อย (เช่นการทำ deep stop ที่นิยมกันในช่วงปี 2000) เราก็จะตั้ง GF low ให้มีตัวเลขต่ำๆ เช่น 20 ซึ่งตัวเลขนั้นจะหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของ M-Value ถ้าตัวเลขเป็น 20 ก็หมายถึงว่าเราขึ้นจากที่ลึกและมีระดับ Supersaturation เพียง 20% ของค่าสูงสุด (M-Value) เราก็จะต้องหยุดรอแล้ว หากเราตั้งค่าตัวเลขสูงขึ้นเครื่องก็จะอนุญาตให้เราขึ้นไปตื้นกว่า เช่นถ้าตั้งค่าไว้ 50% ก็จะขึ้นจากความลึกไปหยุดทำ stop แรกในที่ตื้นกว่าตั้งค่าไว้ 20% เป็นต้น และหากตัวเลขขึ้นไปสูงสุด เช่น 100% ของ M-Value นั่นคือเราตั้งค่าให้ขึ้นไปสู่ที่ตื้นได้จนถึงขีดจำกัดสูงสุดที่กำหนดไว้ใน M-Value ได้เลยทีเดียว

การตั้งตัวเลข GF low น้อยๆ จึงหมายความว่าเราตั้งค่าให้สูตรอนุญาตให้เรามีการ supersaturation ได้น้อย จึงต้องหยุดในที่ลึกมากกว่าเวลาตั้งตัวเลข GF low สูงๆ หรืออีกนัยหนึ่ง คือตั้ง GF low ต่ำต้องทำ stop ในที่ลึกมากกว่านั่นเอง

ภาพกราฟแสดงผลการคำนวณค่า GF

ส่วนการตั้ง GF high คือการตั้งค่าการอนุญาตให้ขึ้นสู่ผิวน้ำ เช่นหากเราตั้งค่า GF high ไว้ต่ำ ตัวอย่างเช่นตั้งไว้ สัก 50 นั่นก็หมายความว่าเครื่องหรือตารางดำน้ำจะสั่งให้เรารอจนอัตราการ supersaturation ของเราลดลงจนเหลือ 50% ของ M-Value เสียก่อนจึงจะปล่อยให้เราขึ้นสู่ผิวน้ำได้ นั่นคือมันกำหนดความเร็วหรือความนานในการทำ stop ที่ตื้นนั่นเอง และหากเราตั้งค่า GF high ไว้สูง เช่นตั้งไว้ 95 เราก็จะสามารถขึ้นสู่ผิวน้ำได้เร็วมาก เวลาในการทำการลดแรงกดใน stop ที่ตื้นจะน้อยมาก (และความเสี่ยงและการมีความเครียดจากการลดแรงกด: decompression Stress ก็จะมากกว่าด้วยเช่นกัน)

การมีแนวคิด GF ดังที่กล่าวมา จึงทำให้นักดำน้ำที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่รับรองการตั้งค่าแบบนี้ หรือใช้ decompression software ที่ตั้งค่าแบบนี้ได้ สามารถเลือกได้ด้วยตนเอง ว่าจะทำการดำน้ำแบบไหน จะทำ deep stop หรือไม่ทำ จะหยุดในที่ลึกนานหรือไม่นาน จะรอจนความแตกต่างของแรงกดดันยังมีอยู่มากหรือจนเหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นข้อดีอย่างยอดเยี่ยมเพราะนักดำน้ำสามารถเลือกระดับความปลอดภัยในการดำน้ำของตนเองได้

ข้อเสียมีอยู่ข้อเดียวคือ หากนักดำน้ำที่ไปตั้งค่า gradient factor ไม่เข้าใจมันอย่างดีแล้ว อาจจะตั้งค่าทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตรายได้มาก การตั้งค่าเหล่านี้ นักดำน้ำจึงต้องเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเหตุใดตนจึงเลือกตัวเลขที่ตั้งค่าเอาไว้ เช่นเพราะต้องการทื่ stop แรกให้ลึกหน่อย หรือต้องการทำ stop ที่ตื้นให้จบเร็ว เป็นต้น

สำหรับคอมพิวเตอรฺ์ดำน้ำบางรุ่น มีการทำงานที่สามารถบอก surface GF หรือปัจจัยความแตกต่างของแรงกดดันหากขึ้นสู่ผิวน้ำในขณะกำลังดำน้ำได้ ซึ่งข้อมูลนี้จะมีประโยชน์มากเนื่องจากทำให้นักดำน้ำรู้ว่าเมื่อเวลาที่เราขึ้นจากน้ำ ร่างกายยังมีการ Supersaturation ในอัตราเท่าไร มีความเครียดจากการลดความกดมากน้อยเพียงใด และสามารถตัดสินใจในขณะที่กำลังทำ stop ตื้นๆ ได้ว่าควรจะอยู่ใต้น้ำต่อไปอีกสักนิด หรือปลอดภัยมากพอที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำได้เลย

การจะตั้งค่า GF เหล่านี้จึงควรมีความเข้าใจเรื่องการลดความกดมากพอสมควรครับ