เพื่อนๆ เวลาดำน้ำคงต้องการที่จะปรับตัวให้เป็นกลางตลอดเวลาใช่ไหมล่ะครับ (ยกเว้นเวลาลอยตัวบนผิวน้ำและเวลาจะดำลง) เพื่อจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมใต้น้ำ เคยเห็นเพื่อนๆ นักดำน้ำหลายคนต้องใช้เวลามาก และประสบกับความลำบากเวลาปรับการจมลอย หากท่านเป็นคนหนึ่งในนั้น ลองทำตามนี้ดูนะครับ
เวลาดำน้ำลงไป ให้พยายามปรับการจมลอยตลอดเวลา
อย่าปล่อยให้ตัวจมดิ่งลงไปเหมือนกับก้อนหิน วิธีนี้จะทำให้เราเป็นกลางจนกระทั่งถึงความลึกที่หมาย และปรับให้เป็นกลางง่ายขึ้นครับ
การปรับการจมลอยตลอดเวลานั้น ก็หมายความว่าตั้งแต่ศีรษะมุดน้ำลงไปเลยนะครับ ฉะนั้น เราจะไปปล่อยลมออกจนหมด BCD นั้นไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปล่อย แล้วก็พยายามหายใจออกยาวๆ ตัวเราจะจมช้ามากครับ บางครั้งถึงขนาดเวลาหายใจเข้าแรงๆ หรือยาวๆ ตัวก็จะกลับลอยขึ้นมาอีก พยายามฝึกบ่อยๆ ทุกครั้งที่ดำลงก็จะชำนาญมากขึ้นครับ
ครั้นพอตัวลงไปได้สักนิดหนึ่งแล้ว แรงกดดันของน้ำจะทำให้ตัวเราจมลงง่ายกว่าเดิม จนกระทั่งอาจจะจมเกินไป ตอนนี้ก็ต้องเติมลมเข้า BCD ทีละนิดเช่นกันครับ เติมลมแล้ว ลองหายใจเข้าดูซิ ว่าเราสามารถหยุดอยู่กับที่ ไม่จมไม่ลอยได้หรือไม่ แล้วจึงค่อยๆ หายใจออกยาวๆ ต่อครับ
เวลาดำน้ำ หากจะปรับการจมลอย ก็ให้เติมลม หรือปล่อยลมออกทีละนิด
ช่วงแรกๆ อาจจะต้องหันหน้าไปดูปริมาณลมที่ปล่อยออกด้วยนะครับ เคยเห็นนักดำน้ำหลายคนปล่อยลมออกมากเกินไป เพราะนึกว่ากดนิดเดียวมันคงไม่ออกไปเยอะ เมื่อเราหันไปดูปริมาณอากาศบ่อยๆ เข้า เราก็จะรู้เองว่ากดขนาดไหน ลมออกเท่าไร ต่อไปก็ไม่ต้องหันไปดูแล้ว จนกว่าจะเปลี่ยนอุปกรณ์ดำน้ำใหม่
เวลาปล่อยลมออก เคยเห็นนักดำน้ำหลายคนพยายามปล่อยลมออกจากท่อขณะที่ตัวอยู่ในแนวขนาน ทำอย่างนั้นกดเท่าไรลมก็ไม่ออกนะครับ เพราะลมจะไปอยู่ในส่วนบน (กลางหลังของนักดำน้ำที่ทำตัวขนาน) ของ BCD หมด หากจะปล่อยลมให้มีประสิทธิภาพ ต้องทำตัวตั้งขึ้นตรงๆ ครับ หากกลัวว่าทำตัวตั้งตรงแล้วจะลอยขึ้น ก็ให้ปักศีรษะดำดิ่งลงไปสักนิดหนึ่งก่อน แล้วค่อยงัดศีรษะขึ้นตั้งตรงครับ
การปล่อยหรือเติมลมทีละนิดนี่ ต้องทดสอบด้วยการหายใจด้วยนะครับ ว่าปล่อยหรือเติมพอดีหรือยัง เช่น หากเราตัวจมเกินไป เราก็ต้องเติมลมเข้า BCD นิดหนึ่ง แล้วจึงหายใจเข้ายาวๆ ดูซิว่าเราหยุดจมไหม หากยังจมอยู่ ก็ให้เติมเข้าไปอีกนิดหนึ่ง แล้วหายใจเข้ายาวๆ ใหม่ จนกว่าตัวจะหยุดอยู่กับที่นั่นแหละครับ
ในทางตรงกันข้าม หากตัวเราลอยเกินไป เราก็ต้องปล่อยลมออกจาก BCD ปล่อยแล้วลองหายใจออกยาวๆ ดูซิว่าเราหยุดลอยหรือไม่ก่อนนะครับ หากไม่หยุดลอยค่อยเติมลมเข้าอีกนิดหนึ่ง
การปรับด้วยการเติมและปล่อยลมนี่ จำเป็นต้องรอเวลาสักชั่วขณะหนึ่งนะครับ เวลาเราปล่อยลมแล้วนี่ ตัวเราจะไม่จม (หรือหยุดลอย) ทันที คนที่ไม่มีประสบการณ์อาจจะปล่อยลมอีก เพราะนึกว่ายังปล่อยไม่พอ ทำให้ตัวจมเกินไป หรือเวลาเติมลม ตัวเราก็จะไม่ลอยทันที (หรือหยุดจม) เหมือนกัน คนที่ไม่รู้ก็อาจจะเติมลมอีก เพราะนึกว่าลมเข้าไม่พอ ทำให้ตัวลอยอีก
เคยเห็นนักดำน้ำเติมลม ปล่อยลม สลับกันไปอย่างนี้ตลอดเวลา น่าเหนื่อยแทนครับ แถมสงสัยว่าอากาศ 3000 psi นี่น่าจะใช้หายใจจริงๆ แค่ 500 psi กระมังครับ อีก 2500 psi คงเอาไปปล่อยและเติมลมน่ะครับ
เขียนโดย | ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | ก่อน 1 ต.ค. 2550 |