Depth and pressure - Keng Krob - 001

ทำไมดำน้ำลึกๆ ดำง่ายกว่าดำตื้นๆ และที่มาของ Safety Stop

เมื่อวานมีโอกาสอธิบายให้เพื่อนที่เป็นอาจารย์คณะวิศวะ ที่เพิ่งได้บัตรดำน้ำมาฟัง เรื่องที่ว่าทำไมลึกๆ แล้วเคลียร์หูง่าย

ลองดูรูป แล้วอ่านดูครับ ผมอธิบายไว้แบบนี้

  • ช่วงตื้นๆ (ผิวน้ำ – 10 ม.)

จากรูปจะเห็นว่าที่ระดับ 0 เมตรจนถึง 10 เมตร ความดันจะเปลี่ยนไป ทำให้อากาศมีปริมาตรลดลงเหลือ 50%
ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการดำน้ำ ทั้งในการเคลียร์หู ในการเติมลมเข้า เอาลมออกจาก BCD เพราะปริมาตรของอากาศ มันมีอัตราการเพิ่มและลดรวดเร็ว

คือ 10 เมตรแรก เวลาดำลง อากาศจะหดตัว 1 เท่า เหลือ 50%
และเปลี่ยนแปลงมากๆ ตอนขาขึ้นจาก 50% เป็น 100% เพิ่มขึ้น 1 เท่า คือเพิ่มถึง 100% ในระยะทางแค่ 10 เมตร

  • ช่วงที่ลึกปานกลาง (11 – 20 เมตร)

เมื่อไปดูที่ระดับความลึกที่ 10 – 20 เมตร
อัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรอากาศมันเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 10 เมตรแรก

คือใน 10 เมตรที่ 2 นี้ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงขาลงจาก 50% เป็น 33% เปลี่ยนเพียงแค่ 34%
และถ้าขาขึ้นอากาศจะขยายตัวเพียง 54%

  • ช่วงที่ความลึก (20 – 30 เมตร)

เมื่อดูที่ระดับความลึก 20 – 30 เมตร
อัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรอากาศ เปลี่ยนจาก 33% เป็น 25% ตอนขาลงจะหดตัว 24%
ในขณะขาขึ้น อากาศจะขยายตัว 32%  เท่านั้น

เพราะฉะนั้นปัญหาของนักดำน้ำมือใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 10 เมตรแรก นี่แหละครับ เนื่องจากอากาศมันขยายตัวและหดตัวได้เร็วกว่าที่ลึกๆ ดังนั้นนักดำน้ำใหม่ๆ เวลาดำน้ำเราเลยรู้สึกว่าดำน้ำลึกๆ ดำง่ายกว่าตื้นๆ ด้วยเหตุที่ยังไม่คุ้นเคยกับการควบคุมปริมาณอากาศ

ไม่ว่าจะเป็นอากาศในโพรงหู อากาศที่ใช้การเคลียร์หู อากาศใน BCD หรือในปอด ที่ใช้ในการควบคุมการลอยตัว หรือแม้กระทั่งตอนเราเรียนเรื่องการยกของจากใต้น้ำโดยถุงลม ในระยะ 10 เมตรเป็นระยะที่วุ่นวายมาก เราต้องทำหลายเรื่อง เพื่อควบคุมการลอยตัว แถมต้องระวังหอยเม่นอีก 555

ดังนั้นอยากให้น้องๆ รู้ว่า

“ลึกไม่ได้แปลว่าน่ากลัว ลึกไม่ได้แปลว่ายิ่งเคลียร์หูยาก”

ยิ่งลึกยิ่งเคลียร์หูง่ายแทบไม่ต้องเคลียร์หูเลย ถ้าเราไม่เปลี่ยนระดับเร็วจนเกินไป แต่แน่นอน การดำลึกขึ้น เราอาจต้องระวังในเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น (ไว้มาเล่าวันหลัง)

“ที่มาของ safety stop ที่ 5 เมตร”

และนี่คือเหตุผลว่าทำไม ถึงมีการกำหนด safety stop ที่ 5 เมตร 3 นาที เพราะเขา (PADI, NAUI) ไม่อยากให้นักดำน้ำขึ้นจากระดับลึก 10 เมตรไปถึงผิวน้ำเร็วจนเกินไป เลยให้ไปหยุดที่กลางน้ำ 5 เมตรเป็นเวลา 3 นาที

เพราะถ้าพิจารณาจากผิวน้ำถึง 5 เมตร เราจะเห็นว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาตรอากาศจะเร็วกว่าที่ 10 เมตรอีก คือขาขึ้นจะปรับจาก 66.7% เป็น 100% ในช่วง 5 เมตรสุดท้าย

ตรง 5 เมตรก่อนถึงผิวน้ำนี้ อากาศจะมีอัตราการขยายตัวเร็วมาก เขาถึงให้หยุดตั้งสติซัก 3 นาที (จริงๆ เพื่อระบายไนโตรเจนออกไปบ้างและควบคุมอัตราการขึ้นไปในตัว) พอหยุดครบตามเวลา ตอนจะขึ้นก็เอาลมออกจาก BCD บ้าง แล้วตีขาขึ้นช้าๆ ให้ช้ากว่าฟองอากาศ หรือตามหลังไดฟ์ลีดอย่าแซง ยกเว้นอากาศหมดแล้ว 555

หวังว่าน้องๆ นักดำน้ำมือใหม่จะเข้าใจและไม่กลัวการดำน้ำที่ลึกขึ้นนะครับ ขอให้มีความสุขกับการดำน้ำเหมือนผม

บทความจาก Facebook: Keng Krob