cover image to emphasize freediving fins

เลือกซื้อฟินฟรีไดฟ์ให้ถูกใจ เพื่อไปกับคุณทุกทริป

การดำน้ำแบบฟรีไดฟ์จัดว่าเป็นกิจกรรมที่ใช้อุปกรณ์น้อยมาก และในบรรดาอุปกรณ์ดำน้ำที่ว่าน้อยแล้วนั้น ฟินฟรีไดฟ์ คืออุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราสามารถเคลื่อนที่ไปในน้ำได้อย่างใจต้องการ ดังนั้น การเลือกซื้อฟินฟรีไดฟ์ที่เหมาะกับคุณ ทั้งร่างกายและหัวใจ จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก

ด้วยประสบการณ์ของร้านเราที่มีโอกาสได้ให้บริการนักดำน้ำฟรีไดฟ์มานานกว่า 5 ปี ผ่านมือฟินฟรีไดฟ์เกือบทุกแบรนด์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมาแล้ว เราขอสรุปขั้นตอนการเลือกซื้อฟินฟรีไดฟ์ เป็น 3 ขั้นตอนง่ายๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้เลือกซื้อฟินให้ถูกใจ ไปดำน้ำกับคุณในทุกทริป อย่างมีความสุข ดังนี้

  1. รู้จักฟินฟรีไดฟ์ เลือกชนิดและวัสดุที่ใช่สำหรับคุณ
  2. เลือกระหว่าง ดีไซน์ หรือ ประสิทธิภาพ
  3. เลือก foot pocket ที่เข้ากับใบฟินและเท้าของคุณ

ขั้นที่ 1: รู้จักฟินฟรีไดฟ์ เลือกชนิดและวัสดุที่ใช่สำหรับคุณ

ขั้นแรก ทำความรู้จักตัวเลือกของฟินฟรีไดฟ์ ว่ามีแบบใด วัสดุชนิดใดให้เลือกบ้าง

ขอสรุปแบบกระชับๆ ไว้ในที่นี้ว่า ฟินฟรีไดฟ์ มี 2 ส่วนประกอบใหญ่ๆ คือ ใบฟิน (blade) และ foot pocket

วัสดุที่ใช้ผลิตใบฟินมีอยู่ 3 ชนิดให้เราเลือก ได้แก่ พลาสติก, ไฟเบอร์กลาส และ คาร์บอนไฟเบอร์

  1. ใบฟินพลาสติก มีราคาต่ำที่สุด (3-5 พันบาท) ทนทานต่อการขีดข่วน ไม่แตกหักง่าย แต่ก็มีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องใช้แรงมาก ในแง่ความสวยงาม ก็ไม่ค่อยมีจุดเด่นอะไรมากนัก
  2. ใบฟินไฟเบอร์กลาส มีราคาปานกลาง (7,xxx – 15,xxx บาท) น้ำหนักเบา ยืดหยุ่นดี ทนทานต่อการขีดข่วนหรือกระแทกได้พอประมาณ แต่ก็มีโอกาสแตกหักบ้างเหมือนกัน สามารถทำลวดลาย สีสัน ได้หลากหลาย หรือจะติดสติ๊กเกอร์บนผิวใบฟินก็ได้
  3. ใบฟินคาร์บอนไฟเบอร์ มีราคาปานกลางไปจนถึงสูงมาก (11,xxx – 3x,xxx บาท) ขึ้นกับคุณภาพของเส้นใย วิธีการผลิต และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในรุ่นนั้นๆ ใบฟินชนิดนี้มีน้ำหนักเบาที่สุด ยืดหยุ่นดีที่สุด ทำให้ใช้พลังงานของเราได้คุ้มค่าที่สุด แต่ก็เสี่ยงต่อการปริแตกหากโดนกระทบแรงๆ หรือโดนของมีคม

จากคุณสมบัติของไฟเบอร์กลาสและคาร์บอนไฟเบอร์ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ทำให้มีผู้คิดนำเอาวัสดุทั้งสองมาใช้ร่วมกัน ผลิตเป็นใบฟินชนิดคาร์บอนคอมโพสิต (carbon composite) เพื่อให้ได้ความยืดหยุ่นจากคาร์บอนไฟเบอร์ และความทนทานจากไฟเบอร์กลาส ซึ่งก็จะมีน้ำหนักมากกว่าคาร์บอนไฟเบอร์เล็กน้อย และก็มีราคาย่อมเยาขึ้นอีกนิด

คำแนะนำในการเลือกซื้อ

สำหรับนักดำน้ำใหม่ที่ยังควบคุมการตีฟินได้ไม่ดีนัก ฟินพลาสติกซึ่งมีราคาย่อมเยาและไม่เสี่ยงต่อการปริแตกเลย อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

แต่ฟินพลาสติกซึ่งประสิทธิภาพไม่ค่อยสูงอาจทำให้กล้ามเนื้อของเราอ่อนล้าหรือเป็นตะคริวได้ง่าย ซึ่งสำหรับมือใหม่อาจถึงขั้นท้อใจกับการฝึกดำฟรีไดฟ์ไปเลยก็ได้ ถ้าต้องการฟินที่มีน้ำหนักเบา ความยืดหยุ่นดี ฟินไฟเบอร์กลาสก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าฟินพลาสติก แม้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นวัสดุที่มีความนิยมและเหมาะจะเลือกใช้สำหรับมือใหม่มากกว่าพลาสติก

ถ้าคุณมีงบสำหรับกิจกรรมนี้มากพอ และพร้อมจะดูแลฟินของคุณอย่างระมัดระวังด้วย ฟินคาร์บอนไฟเบอร์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ยิ่งถ้าคุณตั้งใจจะลุยกับกิจกรรมนี้จริงๆ แล้ว จะหาฟินคู่เดียวใช้ไปยาวๆ เลยตัวเลือกนี้อาจเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคุณ

แต่ถ้าคุณอยากจะเรียนรู้เติบโตไปกับวงการดำน้ำฟรีไดฟ์ ตั้งใจจะเป็นมือโปร ทำงานด้านนี้เป็นอาชีพอย่างจริงจัง การมีฟินทุกชนิดอย่างละ 1 คู่หรือมากกว่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

ขั้นที่ 2: เลือกระหว่าง ดีไซน์ หรือ ประสิทธิภาพ

เมื่อเลือกใบฟินที่ผลิตจากวัสดุแบบต่างๆ ได้แล้ว ก็มาถึงขั้นที่ 2 คือการตีกรอบตัวเลือกของคุณให้ชัดเจนขึ้น โดยดูจากเป้าหมายในการดำน้ำของคุณ เพื่อจะได้เลือกเกรดหรือรุ่นของใบฟินที่เข้ากันกับเป้าหมายนั้น เพราะแม้ในกลุ่มใบฟินที่ทำจากวัสดุเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องของคุณภาพวัสดุและการตกแต่งความสวยงามของฟินที่แตกต่างกันและจะมีผลต่อการดำน้ำของคุณด้วย

หากคุณเป็นนักดำน้ำสาย performance หรือสายฝึกหัด ตั้งใจจะพัฒนาความสามารถในการดำฟรีไดฟ์ ให้เร็วขึ้น หรือลงใต้น้ำได้ลึกขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเพื่อแข่งขันกับคนอื่น หรือแข่งกับตัวคุณเองก็ตาม คุณก็ต้องการใบฟินเกรดพรีเมี่ยม หรือมีคุณสมบัติพิเศษ ที่จะช่วยรีดเอาพลังของคุณออกไปทำงานได้อย่างเต็มที่ เช่น ใบฟินคาร์บอน คู่ละหมื่นนิดๆ ไปจนถึง 3 หมื่น ซึ่งรุ่นที่ราคาสูงก็มักจะมีเทคโนโลยีการถักทอเส้นใยคาร์บอนที่ให้ความยืดหยุ่นสูงขึ้น ไปจนถึงการกระจายน้ำหนักของฟินที่ทำให้ประหยัดแรงมากขึ้น ใบฟินกลุ่มนี้อาจไม่สามารถตกแต่งให้สวยงาม ไม่มีการติดฟิล์มสติกเกอร์ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพลดลง

แต่หากคุณเป็นนักดำน้ำสายท่องเที่ยว เน้นความสวยงามหรือความสนุกสนานในการท่องเที่ยวทะเลเป็นหลัก ใบฟินกลุ่มที่มีการตกแต่งสีสันสวยงาม หรือติดฟิล์มสติกเกอร์ลายต่างๆ ได้ แต่อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงนัก คงจะเป็นตัวเลือกที่เข้ากับคุณมากกว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่เลือกใช้ฟินแบบพลาสติก โจทย์ในขั้นตอนนี้ของคุณจะหมดไป เพราะฟินพลาสติกส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบ สีสัน ของรุ่นนั้นๆ เลย และไม่มีตัวเลือกในแง่ประสิทธิภาพมากนักคือพอๆ กันเกือบทั้งหมด อาจมีเพียงฟินบางรุ่นที่มีการปรับปรุงเรื่องวัสดุให้ดีขึ้น เช่น ฟินรุ่น Lotus ของ Cetma Composites ดังนั้น คุณก็เพียงเลือกแบรนด์ รุ่น สี ที่คุณต้องการก็พอ (ฟินพลาสติกบางรุ่นยังมาพร้อมกับ foot pocket โดยไม่แยกชิ้นกัน ทำให้คุณก็ไม่จำเป็นต้องเลือก foot pocket ต่อในขั้นที่ 3 ด้วย)

ขั้นที่ 3: เลือก Foot Pocket ที่เข้ากับใบฟินและเท้าของคุณ

เมื่อเลือกใบฟินได้เรียบร้อยแล้ว ส่วนประกอบชิ้นต่อไปที่จำเป็นต้องเลือกให้ใช้งานได้กับใบฟิน ก็คือ foot pocket ซึ่งก็ไม่ใช่ว่า ใบฟินทุกรุ่นจะใช้กับ foot pocket รุ่นไหนแบรนด์อะไรก็ได้นะ แต่ยังมีรายละเอียดของตัวใบฟินที่จะต้องเข้ากันได้กับ foot pocket ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ foot pocket จะต้องเข้ากับเท้าของเราได้เป็นอย่างดี

เลือกที่เข้ากับใบฟินที่เลือกไว้

โดยปกติใบฟินทั่วไปจะมีมุมงอประมาณ 20-24 องศา ซึ่งก็จะเข้าได้กับ foot pocket หลายรุ่น ส่วนใบฟินที่มีมุมงอมากๆ ต้องใช้ foot pocket ที่มี rail สั้นหรือ rail ยาวแต่มีความอ่อนตัวสูงหรือออกแบบให้โค้งนิดๆ ไว้รองรับใบฟินที่มีมุมงอมากๆ ได้

นอกจากเรื่องมุมงอของใบฟินแล้ว วิธียึดใบฟินเข้ากับ foot pocket ก็ยังมีถึง 3 แบบคือ ใช้สกรู หรือ ทากาว หรือ ใช้ทั้งสกรูและกาว

การใช้สกรูเป็นตัวยึดใบฟิน ช่วยให้คุณสามารถถอดแยกชิ้นออกจากกันได้ เผื่อว่าคุณต้องการเปลี่ยนใบฟินหรือ foot pocket ใหม่ (อย่างไรก็ตาม หาก foot pocket คุณภาพไม่ดี ก็อาจเสียหาย เกลียวหวาน จากการถอดเปลี่ยนไม่กี่ครั้ง) จุดอ่อนของวิธีการยึดใบฟินแบบนี้คือ รูน็อตจุดที่มีการยึดสกรูบนใบฟินนั้น ถือเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดรอยปริ ยิ่งหากอยู่ใกล้กับมุมงอของใบฟิน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการเคลื่อนขยับและรับแรงสูงมากจุดหนึ่ง ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดการปริแตกได้มากขึ้นด้วย

การใช้กาวเป็นตัวยึดใบฟิน เป็นทางเลือกที่ดีในแง่ของประสิทธิภาพการใช้งาน เพราะจะยึดได้แน่นหนากว่า ทำให้ใบฟินไม่เคลื่อนในระหว่างการใช้งาน และถ้าใช้กาวอย่างเดียว ไม่ใช่สกรูเลยก็ช่วยลดความเสี่ยงที่ใบฟินจะปริแตกจากรูยึดสกรู เพราะไม่มีการเจาะรูบนใบฟินเลย แต่ข้อเสียคือ คุณอาจจะไม่สามารถเปลี่ยน foot pocket หรือใบฟินได้อีก หรือต้องเสี่ยงกับความเสียหายของชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือทั้งสองชิ้น หากจะแยกชิ้นส่วน 2 ออกจากกัน

ดังนั้น หลังจากที่คุณเลือกใบฟินที่ถูกใจได้เรียบร้อยแล้ว จึงต้องเลือก foot pocket ที่เข้าคู่กับใบฟินของคุณได้ทั้งเรื่องมุมงอและวิธีการยึดด้วย

เรื่องของยางขอบใบฟิน (Rail หรือ Tendon)

ยางขอบใบฟินช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับใบฟิน โดยจะช่วยกระจายแรงที่มากระทบขอบฟิน หรือกระจายการเคลื่อนไหวของใบฟินให้แผ่อย่างต่อเนื่องไปทั่วทั้งใบ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ลดการตอบสนองของใบฟินลงไปด้วย หากไม่ใช้ rail เลยเราจะได้ความยืดหยุ่นจากใบฟินเต็มที่ ฟินจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเต็มคุณสมบัติของใบฟินนั้นๆ

แต่ในเรื่องนี้ เราอาจเลือกเองได้ไม่มากนัก เพราะใบฟินส่วนใหญ่ในบ้านเราจะติด rail มาให้แล้ว หรือ foot pocket บางแบรนด์จะมี rail ส่วนต้นยาวประมาณ 20 ซ.ม. มาอยู่แล้ว

เลือกที่เข้ากับเท้าของเรา คือ สิ่งสำคัญที่สุด

นอกจากใบฟินแล้ว ขนาดและรูปร่างของเท้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อความสุขในการดำน้ำของเราอย่างมาก เพราะ foot pocket แต่ละแบรนด์มีขนาด รูปร่าง และสัดส่วนความกว้าง-ยาว รวมถึงความอ่อน-แข็ง ต่างกัน แบรนด์ส่วนใหญ่ทำมาเป็นขนาดรวบ 2 เบอร์ แต่บางแบรนด์เป็นขนาดรวบ 3 เบอร์ (ซึ่งเท่ากับว่า มีไซส์ให้เลือกไม่ละเอียดนัก) บางแบรนด์มีสัดส่วนออกกว้าง บางแบรนด์ออกยาว และบางแบรนด์ก็นิ่มพอที่จะยอมใส่ไซส์ที่คับหน่อยโดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือบาดเจ็บ แต่บางแบรนด์แข็งกว่าและต้องเลือกไซส์ที่พอดีกับเท้ามากๆ

จุดสำคัญในการทดลองสวม foot pocket ได้แก่ หลังเท้า และ ข้างเท้า

  • หลังเท้า บางคนมีอุ้งเท้าเว้ามาก (high arch foot) ทำให้หลังเท้าสูง หรือบางคนมีปุ่มกระดูกนูนขึ้นมาจากหลังเท้า ที่แม้จะดูเล็กน้อย แต่ถ้าเจอกับ foot pocket ที่ค่อนข้างแบนราบ ก็จะเจ็บจากการถูกกดหรือเสียดสีระหว่างใช้งาน และรบกวนการดำน้ำเป็นอย่างมาก
  • ข้างเท้า ทั้งตอนกลางและปลายเท้า บริเวณจุดที่ใช้ยึดกับ rail บางครั้งอาจทำให้รู้สึกตึงหรือถูกบีบจากด้านข้าง ส่วนตอนปลายเท้าที่แคบไปอาจทำให้นิ้วเท้าเบียดกันมาก หรืออาจบิดมาซ้อนทับกัน ซึ่งไม่ดีแน่นอน

บางคนอาจเคยได้ยินว่า วิธีทดสอบอีกอย่างหนึ่งคือ การสวมเท้าเข้าไปใน pocket แล้วลองยกส้นเท้าขึ้นเพื่อดูว่า foot pocket นั้นติดตามเท้าขึ้นมาเรียบร้อยดีหรือไม่ (อาจเพื่อดูว่าเข้ากับเท้าได้พอดีหรือไม่) วิธีนี้ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญท่านใด

เราอาจปรับวิธีนี้อีกนิด โดยใช้การนั่งลงบนเก้าอี้ สวม foot pocket แล้วลองเหยียดขา ขยับเท้า ดูช่องว่าง การเสียดสี และความรู้สึกที่เท้าขงเรา หรืออีกวิธีหนึ่ง โดยนอนคว่ำบนม้ายาวๆ เหมือนเรากำลังอยู่ในน้ำ แล้วเหยียดขาเหยียดเท้า วาดขาและเท้าขึ้นลงเหมือนกำลังตีฟินในน้ำ จะสังเกตความเข้ากันกับเท้าได้ดีกว่าการยืนบนพื้นทดสอบ เพราะแรงและองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำกับ foot pocket ในท่ายืนค่อนข้างต่างกับในน้ำมากเกินไป (แต่การทดสอบในท่านอนบนม้ายาวนี้ ก็ยังต่างกับสภาพการใช้งานจริง ที่ใบฟินกินน้ำจริงๆ อยู่ไม่น้อยเช่นกัน)

หากได้ลอง foot pocket รุ่นที่เข้ากับใบฟินที่เลือกไว้แล้ว แต่ไม่เข้ากับเท้าของเรามาก และไม่สามารถหา foot pocket รุ่นอื่นที่เข้ากับเท้าของเราและเข้ากับใบฟินที่เลือกไว้ได้ ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนใบฟินเป็นรุ่นอื่น เพราะ foot pocket ที่ใส่สบายสำคัญต่อการดำน้ำมาก

foot pocket ที่ใส่แล้วเข้ากับเท้าของเรา ให้ความรู้สึกสบาย ไม่บีบแน่นเกินไป ไม่หลวมมาก แต่กระชับพอดีกับเท้า จะทำให้นักดำน้ำรู้สึกผ่อนคลาย

ในทางตรงข้าม ถ้าเราต้องทนใส่ฟินที่ไม่สบายเท้า ไม่ว่าจะบีบรัดเกินไปจนอาจทำให้เกิดตะคริว หรือหลวมเกินไปจนต้องคอยเกร็งเท้าล็อคเอาไว้ จะทำให้ต้องคอยระวัง ว่อกแว่ก ไม่มีสมาธิ ก็ย่อมส่งผลเสียต่อการดำน้ำของเราอย่างมาก

ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า foot pocket อาจกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่กำหนดว่าเราจะเลือกใบฟินฟรีไดฟ์ของยี่ห้อใดได้บ้าง มากกว่า และนักดำน้ำบางคนซึ่งไม่ซีเรียสกับแบบหรือชนิดของใบฟินมากนัก อาจเริ่มต้นการเลือกฟินฟรีไดฟ์ด้วยการลอง foot pocket ก่อน ซึ่งบางทีก็ช่วยให้จับคู่ฟินที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

เลือกขนาดเผื่อใส่ถุงเท้า

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดไปพร้อมกันกับการเลือก foot pocket ก็คือ ถุงเท้า (socks) เพราะถ้าหากคุณต้องการใส่ถุงเท้าดำน้ำด้วย ก็อาจต้องเพิ่มขนาด foot pocket ขึ้นด้วย หรือหากคุณไม่ต้องการใส่ถุงเท้าดำน้ำ แต่ foot pocket ที่ใช้ได้กับใบฟินที่เลือกไว้ ดันมีแนวโน้มจะกัดเท้าคุณอย่างมาก คุณก็อาจไม่มีทางเลือก ต้องใส่ถุงเท้าดำน้ำเพิ่มเข้าไปด้วย

ดังนั้น การเลือก foot pocket จึงเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นหนึ่งที่คุณต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก และต้องลอง foot pocket แต่ละแบรนด์ แต่ละไซส์ ด้วยตัวเองจริงๆ หากคุณไม่แน่ใจว่าต้องดูอย่างไร ต้องวัดขนาด สังเกตความรู้สึกแน่นหรือหลวมอย่างไร ไม่มั่นใจที่จะเลือก ก็ควรชวนเพื่อนหรือครูที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ไปช่วยเลือกด้วย หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ซื้อฟินฟรีไดฟ์กับร้านขายอุปกรณ์ฟรีไดฟ์ที่มีความรู้เป็นอย่างดี มี foot pocket ให้เลือกหลากหลาย และสามารถทดลองได้หลายแบรนด์หลายไซส์ พร้อมให้คำปรึกษาได้อย่างดีจริงๆ เพราะเมื่อคุณประกอบฟินฟรีไดฟ์กับ foot pocket แล้วต้องการเปลี่ยนชิ้นใด ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือในกรณีที่พอทำได้ ก็จะยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย (บางกรณีก็ต้องทิ้ง foot pocket เดิมไปเลย ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก)

ปิดท้าย

หวังว่าขั้นตอนในการเลือกฟินฟรีไดฟ์ที่เล่าไปทั้งหมดนี้ จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อฟินฟรีไดฟ์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และได้ฟินที่ถูกใจคุณจริงๆ ใช้งานได้อย่างราบรื่น ใส่สบายเท้า ทำให้คุณได้ท่องเที่ยวดำน้ำได้อย่างสนุกสนานและมีความสุข หรือฝึกทักษะการดำฟรีไดฟ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วสมความตั้งใจ

หากคุณอ่านแล้วยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกซื้อได้เหมาะกับตัวเองจริงๆ ต้องการสัมผัสฟินฟรีไดฟ์หลายรุ่นหลายชนิด หรือต้องการลอง foot pocket จากหลากหลายแบรนด์ รวมถึงคำแนะนำจากผู้ขายที่เชี่ยวชาญเรื่องอุปกรณ์ดำฟรีไดฟ์ ลองแวะไปที่ร้าน Freediver Space ตึกมหาทุน ติดสถานี BTS เพลินจิตได้เลย

แหล่งข้อมูล

Cover image by Emma Li @ Pexels.com