อ่านข่าวทีไร ตกใจทู้กที เดี๋ยวเจอข่าวที่นั่นที่นี่ว่า นักดำน้ำแบกถังออกซิเจนลงไปดำน้ำบ้าง เจอร้านค้าออนไลน์ต่างๆ เสนอขายถังออกซิเจนขนาดเล็ก (ที่เติม “อากาศ” เข้าไปได้เองด้วยนะ) ไว้ใช้ดำน้ำบ้าง
จึงต้องรีบออกมาบอกกันให้ชัดๆ ตรงนี้ว่า…
นักดำน้ำไม่ได้ใช้ ถังออกซิเจน ลงไปดำน้ำลึก (นะจ๊ะ)
นักดำน้ำไม่ได้ใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ในการดำน้ำโดยปกติ (แปลว่ามีบางกรณีที่ใช้เหมือนกัน ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อไป) และถังที่นักดำน้ำใช้หายใจใต้น้ำก็บรรจุอากาศปกตินี่ล่ะ ดังนั้น เราจึงเรียกมันว่า “ถังอากาศ” เฉยๆ (หรือนักดำน้ำสายทหารเค้าจะเรียกกันว่า “ขวดอากาศ” ซึ่งก็เห็นภาพชัดดี เป็นขวดขนาดใหญ่ยักษ์เลยทีเดียว แต่…) ไม่ใช่ “ถังออกซิเจน” นะจ๊ะ หากใครได้ยินชื่อเรียกแบบนี้ แล้วเอาไปเติมออกซิเจนบริสุทธิ์กลับมาให้นักดำน้ำใช้งาน ก็จะงานเข้าได้ เพราะอันตรายถึงชีวิตเชียวนะ
ทำไมจึงไม่ใช้ออกซิเจนในการดำน้ำลึก
เหตุผลสำคัญมี 2 เรื่องอันตราย กับ 1 เรื่องปกติ
- อันตรายเรื่องแรก ออกซิเจนติดไฟได้ง่าย หากมีใครเปิดถังไว้ หรือเกิดการรั่วไหล แล้วรอบข้างเกิดมีประกายไฟขึ้นมา อาจเกิดอัคคีภัยกันกลางทะเลได้เลยทีเดียว
- อันตรายที่สอง ก๊าซออกซิเจนที่ละลายอยู่ในกระแสเลือดภายในร่างกายเราเองนี้ ที่ความลึกมากๆ กลับเป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา โดยจะเพิ่มความเป็นกรดในกระแสเลือด แล้วส่งผลทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ จนถึงขั้นล้มเหลวได้ ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตของเราเลยเชียว
- ส่วนเรื่องปกติ ก็คือ ปกติแล้ว มนุษย์เราก็ไม่ได้หายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ซะหน่อย อากาศที่เราหายใจอยู่ทั่วไปประกอบด้วยออกซิเจนเพียงประมาณ 21%1 ส่วนใหญ่เป็นไนโตรเจนที่ 78%2 เป็นก๊าซอาร์กอน 1% และที่เหลือก็เป็นก๊าซอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ … การดำน้ำโดยทั่วไป ก็ไม่มีเหตุอะไรให้ต้องใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากๆ ในเมื่อสามารถใช้อากาศปกติได้อยู่แล้ว
แล้วนักดำน้ำใช้อากาศอะไรดำน้ำ
อากาศที่นักดำน้ำพกใส่ขวดอากาศ (ชอบคำนี้จัง เป็นศัพท์ที่ใช้กันในหมู่ทหาร) ลงไปดำน้ำ โดยทั่วไปก็คืออากาศปกติที่เราใช้หายใจบนบกนี่ล่ะ ถ้าไม่เชื่อ ลองไปดูที่เครื่องอัดอากาศลงถังก็ได้ ว่าเค้าต่อสายอากาศเข้ามาจากที่ไหน ลองไล่สายไปเรื่อยๆ จะพบว่าปลายของสาย ก็จ่อรับอากาศอยู่แถวๆ ชั้นบนหรือชั้นดาดฟ้าของเรือนั่นแหละ ไม่ได้ไปต่อมาจากถังออกซิเจนที่ไหนเลย
แต่เนื่องจากอากาศปกติก็จะเริ่มเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ที่ความลึกประมาณ 58 เมตรลงไป ลึกสุดไม่เกินราวๆ 66 เมตร (ขึ้นกับความสามารถในการทนพิษออกซิเจนได้ ของแต่ละคน) หากนักดำน้ำต้องการดำน้ำลงไปในที่ลึกกว่านี้ ก็ต้องหาวิธีจัดการกับปัญหานี้ให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันทำได้ด้วยการลดปริมาณก๊าซออกซิเจนลงอีกนิด ช่วยให้ลงลึกต่อไปได้อีกหน่อย แต่ลดมากเกินไปก็ไม่ได้ เพราะที่สัดส่วนออกซิเจนต่ำเกินไป มนุษย์ก็จะหมดสติจากการขาดออกซิเจนได้เหมือนกัน
ในการลดสัดส่วนออกซิเจนลงนี้ เขาจะไม่ทำโดยการเติมไนโตรเจนให้มากขึ้น เพราะที่จริงไนโตรเจนเป็นก๊าซที่มีโทษต่อนักดำน้ำอยู่แล้วทันทีที่เริ่มดำน้ำลงไปได้ไม่กี่เมตรเลยทีเดียว แต่เขาจะเติมก๊าซที่มีผลน้อยกว่าไนโตรเจนลงไปแทน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซฮีเลียม (Helium) อากาศแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Trimix แต่ถ้าใช้ฮีเลียมบริสุทธิ์ผสมกับออกซิเจนบริสุทธิ์เท่านั้น ไม่ปนไนโตรเจนและก๊าซอื่นๆ เลย เขาก็จะเรียกชัดๆ ว่า Heliox
อากาศอีกแบบหนึ่งที่นักดำน้ำใช้งาน ก็คือ อากาศที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนสูงกว่า 21% โดยอาจจะอยู่ราวๆ 32-38% และสัดส่วนไนโตรเจนในอากาศแบบนี้ก็จะลดลงไปอยู่ที่ราวๆ 60-65% เท่านั้น ซึ่งอากาศแบบนี้ดีต่อการดำน้ำมากกว่าอากาศปกติ เพราะได้ออกซิเจนบริสุทธิ์มากขึ้น ส่วนไนโตรเจนที่เป็นอันตรายของการดำน้ำอยู่แล้วตามปกติ ก็น้อยลง ทำให้สมองโล่ง โปร่งสบาย มากกว่าการใช้อากาศปกติ … แต่การใช้อากาศแบบนี้ ก็แลกมาด้วยการที่ต้องจำกัดการดำน้ำไว้ที่ความลึกน้อยลง (ก็คือ ตื้นขึ้น) ตามไปด้วย
อากาศแบบนี้เรียกย่อๆ ว่า Nitrox (ออกเสียงว่า “ไนตร็อกซ์”) เรียกแบบยาวๆ ว่า Enriched Air (คือ อากาศที่รุ่มรวย — ด้วยออกซิเจน — นั่นเอง) ใครอยากรู้จักอากาศแบบนี้ อยากสัมผัสการดำน้ำที่โปร่งโล่งเบาสบาย ต้องเรียนวิธีคำนวณและการใช้งานกันก่อนในหลักสูตร Enriched Air Nitrox นะจ๊ะ
แล้วใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ตอนไหน
ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ในการดำน้ำเลยหรอกนะ
นักดำน้ำที่ดำลงไปลึกๆ หรืออยู่ใต้น้ำนานๆ จน “ติดดีคอม” คือนานจนก๊าซไนโตรเจนในอากาศที่ใช้หายใจนั้นซึมเข้าเนื้อเยื่อไปมาก แล้วทำให้เมื่อจะขึ้นสู่ที่ตื้น ต้องค่อยๆ ปรับระดับความลึกขึ้นมาทีละน้อย รอให้ไนโตรเจนระบายออกไปก่อน ไม่สามารถขึ้นสู่ผิวน้ำทันทีได้ … คำว่า ติดดีคอม ก็คือ อยู่ใต้น้ำนานเกินกว่าขีดจำกัดการดำน้ำแบบไม่ต้องทำการพักน้ำ (No-Decompression Limit: NDL) จึงต้องทำการพักน้ำ (decompression stop) เป็นระยะๆ ก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ
วิธีการที่จะช่วยเร่งให้ก๊าซไนโตรเจนออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ทำได้โดยการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าไปซะเลย ให้ร่างกายได้รับออกซิเจนกันเต็มๆ ไม่ต้องพ่วงเอาไนโตรเจนจากอากาศปกติกันอีก แต่ด้วยความที่ออกซิเจนบริสุทธิ์จะเป็นพิษต่อร่างกายที่ความลึกราวๆ ตั้งแต่ 6 เมตรลงไป ดังนั้น “ถังออกซิเจน” จริงๆ จะถูกใช้งานในการดำน้ำได้ ก็ที่ความลึกน้อยกว่า 6 เมตรเท่านั้น
และด้วยความที่การผลิตออกซิเจนบริสุทธิ์นั้นมีต้นทุนสูงมาก การขนส่งให้ปลอดภัยก็ต้องระมัดระวังมาก โดยปกติ นักดำน้ำอย่างเราๆ ที่ดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยวเพลิดเพลินใจเท่านั้น แม้จะติดดีคอมจากการดำน้ำแล้วก็ตาม ก็จะได้อย่างดีที่สุดเพียง อากาศแบบไนตร็อกซ์ (Nitrox) ที่มีสัดส่วนออกซิเจนเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เท่านั้นก็พอแล้ว
แปลว่า ถังดำน้ำ ที่เราเห็นทั่วไปนั้น ใช้บรรจุอากาศปกติ?
ถูกต้องแล้ว และดังนั้น ถ้าไม่ใช่ถังดำน้ำที่มีสัญลักษณ์พิเศษ บอกความเป็นอากาศพิเศษอะไร จึงควรเรียกถังเหล่านั้นว่า “ถังอากาศ” เท่านั้น เพื่อแยกแยะให้ชัดเจน ไม่สื่อสารสับสนกับ ถังไนตร็อกซ์ ถังออกซิเจน ซึ่งก็มีการใช้งานอยู่จริงๆ ในกรณีเฉพาะต่างๆ อย่างที่เล่าไปข้างต้นนี้ด้วย