ฟินฟรีไดฟ์ วัสดุไฟเบอร์กลาส

รู้จักฟินฟรีไดฟ์ (Freediving Fins) ก่อนตัดสินใจซื้อ

เพราะมนุษย์มิได้มีอวัยวะที่ช่วยให้เคลื่อนที่ใต้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟิน (fins) จึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้นักดำน้ำอย่างเรา สามารถเคลื่อนที่ไปในน้ำได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว แหวกว่ายไปในที่ต่างๆ ได้อย่างใจต้องการ

ก่อนที่เราจะคุยกันถึงเรื่องวิธีการเลือกซื้อฟินฟรีไดฟ์ที่เหมาะกับเรา ก็ต้องมาศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับฟินฟรีไดฟ์กันเสียก่อน ในที่นี้เราได้รวบรวมข้อมูลสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการเลือกซื้อฟินฟรีไดฟ์มาให้แล้ว ได้แก่

  1. ชนิดของฟินฟรีไดฟ์ แยกตามวัสดุที่ใช้ทำใบฟิน (blade)
  2. ความอ่อนแข็งของใบฟิน
  3. เทคโนโลยีเสริมสมรรถนะ ของฟินแต่ละยี่ห้อ

ชนิดของฟินฟรีไดฟ์ แยกตามวัสดุที่ใช้ทำใบฟิน (Blade)

ใบฟิน เป็นส่วนที่กินน้ำ ผลักดันน้ำ และทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนตัวนักดำน้ำไปในทิศทางต่างๆ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่บ่งชี้ประสิทธิภาพของฟิน และด้วยความที่ใบของฟินฟรีไดฟ์มีลักษณะยาวมาก จึงไม่สามารถออกแบบรูปร่างลักษณะพิเศษแบบ 3 มิติที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพได้มากนัก ทำได้เพียงเป็นแผ่นแบนราบ ยาวๆ เท่านั้น วัสดุที่ใช้ทำฟินจึงอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของฟินมากที่สุด

วัสดุที่ใช้ทำใบฟินฟรีไดฟ์ส่วนใหญ่ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติก, ไฟเบอร์กลาส (fiberglass), และคาร์บอนไฟเบอร์ (carbon fiber) กับที่เพิ่งมีการริเร่มใช้งานมากขึ้นเมื่อไม่นานนี้คือ ยาง และ ซิลิโคน

ใบฟินพลาสติก (Plastic Blade)

ใบฟินฟรีไดฟ์ แบบพลาสติก
ใบฟินฟรีไดฟ์ แบบพลาสติก

พลาสติก เป็นวัสดุพื้นฐานที่ใช้ทำใบฟินมาแต่ดั้งเดิม และก็ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยจุดเด่นสำคัญคือ ราคาถูก เพราะมีต้นทุนต่ำ ทั้งในเรื่องราคาวัสดุและกรรมวิธีการผลิต ซึ่งก็สอดคล้องกับจุดอ่อนสำคัญ คือ มีน้ำหนักมาก เพราะต้องทำให้มีความหนาพอสมควรจึงจะไม่ฉีกขาดหรือแตกหักง่าย ส่วนประสิทธิภาพก็ถือว่าธรรมดาที่สุดในบรรดาวัสดุ 3 ชนิด

นอกจากนี้ ฟินแบบพลาสติก เมื่อใช้งานไปนาน จะเกิดการเปลี่ยนรูปตามการใช้งาน (บางคนจะเรียกว่า มีความจำ หรือ memory) ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพลดลงไป ซึ่งฟินจากไฟเบอร์กลาสและคาร์บอนไฟเบอร์ไม่มีอาการแบบนี้

ราคาของฟินแบบนี้อยู่ราว 3-6 พันบาทเท่านั้น

ใบฟินไฟเบอร์กลาส (Fiberglass Blade)

ใบฟินฟรีไดฟ์ วัสดุไฟเบอร์กลาส
ใบฟินฟรีไดฟ์ วัสดุไฟเบอร์กลาส

ไฟเบอร์กลาส คือ วัสดุผสมระหว่างพลาสติกชนิดต่างๆ เสริมแรงด้วยใยแก้ว (glass fiber) เพื่อช่วยให้วัสดุผลลัพธ์มีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าพลาสติกเพียงอย่างเดียว สำหรับฟินฟรีไดฟ์มักจะใช้อีพ็อกซี่ (epoxy resin) เป็นวัสดุในส่วนของพลาสติก คุณสมบัติของใบฟินที่ได้คือ มีความยืดหยุ่น (resilient) มากขึ้น น้ำหนักเบาขึ้น โดยที่ยังได้ความเหนียว ทนทาน เหมือนพลาสติก สามารถใช้งานใกล้แนวหินหรือปะการังโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการแตกหัก

ใบฟินแบบไฟเบอร์กลาสที่ปิดผิวด้วยฟิล์มสติกเกอร์ลายสวยงาม
ใบฟินแบบไฟเบอร์กลาสที่ปิดผิวด้วยฟิล์มสติกเกอร์ลายสวยงาม

ใบฟินแบบไฟเบอร์กลาสนี้ หลายแบรนด์นิยมปิดผิวด้วยฟิล์มสติกเกอร์ลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เป็นแบบเฉพาะของแบรนด์ตัวเอง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพเล็กน้อย ไม่น่าห่วงอะไรมาก ดังรูป

ราคาของฟินแบบนี้ อยู่ระหว่าง 7 พันถึง 1 หมื่นกว่าบาท

ใบฟินคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber Blade)

ใบฟินฟรีไดฟ์ วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ แบบผิวด้าน
ใบฟินฟรีไดฟ์ วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ แบบผิวด้าน

คาร์บอนไฟเบอร์ (carbon fiber) หรือ กราไฟต์ไฟเบอร์ (graphite fiber) เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงดึง ความร้อน/เย็น และปฏิกิริยาเคมี และที่สำคัญคือมีน้ำหนักเบา ในขณะที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก จึงเป็นวัสดุที่เหมาะกับกิจกรรมการดำน้ำมาก เพราะความยืดหยุ่นของใบฟินหมายถึง ความสามารถในการกักเก็บพลังงานในขณะถูกดัดโค้งงอ และพยายามคืนสู่สภาพเดิม (ซึ่จะเกิดผลเป็นการผลักดันน้ำออกไปทางด้านหลัง) โดยไม่สูญเสียพลังงานไปกับเรื่องอื่นๆ ดังนั้น ฟินยิ่งมีความยืดหยุ่นสูง ก็นับเป็นฟินที่มีประสิทธิภาพสูง

อย่างไรก็ตาม ใบฟินคาร์บอนไฟเบอร์ไม่ได้ทำจากใยคาร์บอนล้วนๆ แต่เคลือบและแทรกด้วยอีพ็อกซี่ (epoxy resin) เป็นชั้นๆ สลับกับใยคาร์บอน โดยมีจำนวนชั้นและความหนาของใบฟิน รวมถึงการวางแนวของเส้นใย ตามแต่การออกแบบของแต่ละแบรนด์

โดยปกติเนื้อของใบฟินจะมีการจัดวางให้มีความหนาสูงสุดที่โคนใบและลดลงที่ปลายใบ แต่ใบฟินแบบคาร์บอนไฟเบอร์ของบางแบรนด์ยังออกแบบเพิ่มเติมให้มีการจัดวางเนื้อใบฟินในรูปแบบพิเศษที่จะช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของแต่ละแบรนด์เหล่านั้น

ตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูในที่นี้ คือ ใบฟินรุ่น Mantra จาก Cetma Composites ที่จะมีการไล่ระดับความหนาลดลงมาเรื่อยๆ แต่กลับหนาขึ้นเล็กน้อยที่ปลายใบ และรูปร่างของเนื้อฟินแต่ละชั้นเว้าเข้าสู่กลางใบ ดังรูป

การจัดระดับความหนาของเนื้อคาร์บอนในใบฟินรุ่น Mantra
การจัดระดับความหนาของเนื้อคาร์บอนในใบฟินรุ่น Mantra

ส่วนฟินรุ่น Perching ของ C4 Carbon มีการจัดระดับความหนาอีกแบบหนึ่ง ดังรูป จะเห็นรูปร่างของเนื้อฟินแต่ละชั้นเป็นมุมแหลมพุ่งไปทางปลายใบฟิน และยังมีการเพิ่มขอบยางชิ้นสั้นๆ ตรงปลายใบด้วย

การจัดระดับความหนาของเนื้อคาร์บอนในใบฟินรุ่น Perching
การจัดระดับความหนาของเนื้อคาร์บอนในใบฟินรุ่น Perching

จุดอ่อนของวัสดุชนิดนี้คือ มีราคาสูง และเปราะแตกง่าย หากโดนกระแทกอย่างแรงด้วยของแข็ง นักดำน้ำบางคนจึงเลือกใช้ฟินชนิดนี้ในทะเลเปิด (open water) เป็นหลัก ไม่เสี่ยงนำมาใช้ในบริเวณใกล้ชายฝั่งที่มีโอกาสกระทบกระทั่งกับก้อนหินหรือแนวปะการัง

ราคาของฟินแบบนี้ อยู่ราว 1.1 ถึง 3 หมื่นบาท

ใบฟินแบบคาร์บอนไฟเบอร์ ไม่นิยมติดฟิล์มสติกเกอร์บนผิวใบฟิน เพราะจะลดประสิทธิภาพการทำงานพอประมาณ อาจมีบ้างที่ติดเป็นลวดลายเล็กๆ พอเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์หรือของเจ้าของฟิน ซึ่งบางรุ่นก็ใช้วิธีสกรีนสีลงไปแทนการติดสติกเกอร์ด้วย

ใบฟินชนิดนี้ บางครั้งก็เรียกว่า “pure carbon” ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่า ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เท่านั้น แต่หมายถึงว่า เส้นใยหลักเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ล้วนๆ (เพราะอย่างไรก็ตาม ใบฟินต้องมีอีพ็อกซี่เรซินเคลือบเส้นใยไว้ด้วย) เหตุที่มีการเรียกว่า pure carbon นี้ก็เพื่อแยกความชัดเจนกับใบฟินแบบคาร์บอนผสมไฟเบอร์กลาสที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

แหล่งข้อมูล

ใบฟินคาร์บอนคอมโพสิต (Carbon Composite Blade)

เนื่องจากใบฟินแบบ pure carbon มีความเปราะบางและมีราคาสูง จึงมีการนำวัสดุไฟเบอร์กลาสกับคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ร่วมกัน ทำเป็นฟินฟรีไดฟ์ขึ้นมา และเรียกวัสดุแบบนี้ว่า ไฟเบอร์-คาร์บอน (fiber-carbon) หรือ คาร์บอนคอมโพสิต (carbon composite) ทำให้ได้จุดเด่นของทั้งสองวัสดุมาใช้งาน คือ มีความยืดหยุ่นสูงขึ้นกว่าไฟเบอร์กลาส และมีความเหนียวทนต่อการกระทบกระทั่งมากกว่าคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ก็มีความหนาและน้ำหนักมากกว่า และแน่นอนว่าราคาก็ย่อมเยากว่าด้วยเช่นกัน

(ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินใครเรียกฟินแบบนี้ด้วยคำว่า ไฟเบอร์-คาร์บอน แล้ว เข้าใจว่า ทำให้เกิดความสับสนกับคำว่า คาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งหมายถึงฟินที่ใช้ใยคาร์บอนล้วนๆ (pure carbon) การใช้คำว่า คาร์บอนคอมโพสิต จะชัดเจนกว่ามาก ขอเล่าไว้ตรงนี้เผื่อว่าใครได้ยินนักฟรีไดฟ์คนไหนเอ่ยถึงก็จะได้เข้าใจตรงกันได้)

ใบฟินคาร์บอนเคฟลาร์ (Carbon Kevlar Blade)

นอกจากไฟเบอร์กลาสแล้ว ยังมีบางแบรนด์ใช้เคฟลาร์ (Kevlar — วัสดุที่มีความทนความร้อน ทนต่อการขัดสี เหนียวกว่าไฟเบอร์กลาส ใช้ทำเสื้อกันกระสุน) มาผสมกับคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อแก้ปัญหาความเปราะบาง ช่วยให้ฟินคาร์บอนไฟเบอร์แข็งแรงทนทานมากขึ้น มีความหนาและน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นมาก และแน่นอนว่าราคาก็สูงกว่าแบบคาร์บอนคอมโพสิตด้วยเช่นกัน ที่จริงราคาใบฟินแบบนี้ก็พอๆ กับใบฟินคาร์บอนไฟเบอร์ปกติ

จุดอ่อนของเคฟลาร์ คือ ไม่ทนต่อสารเคมี รังสี UV และความชื้น (ดูดซับน้ำได้เล็กน้อย ต่างจาก ไฟเบอร์กลาสและคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ไม่ดูดซับน้ำเลย) และเนื่องจากการรับแรงกระแทกได้มาก (เช่น รับแรงกระสุนปืน) หมายถึงการดูดซับแรงกระแทกเอาไว้ จึงมีผู้แย้งว่า ไม่น่าจะเหมาะกับการทำฟินที่ต้องการให้แรงของเราถูกส่งออกไปสู่น้ำให้มากที่สุด ไม่ถูกดูดซับไว้โดยตัวใบฟินเอง

วัสดุเคฟลาร์จะมีสีเหลืองทองแบบเฉพาะของเคฟลาร์ ดังนั้นใบฟินแบบนี้ก็จะมีสีแบบคาร์บอนไฟเบอร์ปนสีเหลืองทอง (บางคนเรียกว่าสีเขียวอ่อน) ด้วย เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งนักดำน้ำบางคนก็ถือว่าเป็นจุดเด่นในเรื่องความสวยงาม แปลกตา มีเอกลักษณ์

ใบฟินแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่มีใช้กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2009 แล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน (ปี 2022) ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เมื่อเทียบกับฟินคาร์บอนไฟเบอร์ที่ราคาพอกัน น้ำหนักพอกัน รูปลักษณ์ใกล้เคียงกัน แต่ชนะแค่เรื่องความทนทานต่อการกระแทกและรอยขีดข่วนเท่านั้น หลายคนคงเลือกที่จะใช้ฟินคาร์บอนปกติอย่างระมัดระวังหน่อย แและได้ประสิทธิภาพสูงกว่า

แหล่งข้อมูล

ใบฟินยาง (Rubber Blade)

ยาง เป็นวัสดุที่ใช้ทำฟินสำหรับ scuba diving หรือ snorkeling มานานแล้ว ทั้งใช้เป็นส่วนประกอบบางจุดของฟิน และเป็นฟินที่ทำจากยางล้วนๆ เลย แต่เพิ่งจะมีการนำมาทำเป็นฟินฟรีไดฟ์ เมื่อไม่นานนี้เอง

คุณสมบัติสำคัญของยาง ที่ทำให้เหมาะกับการทำเป็นใบฟิน ก็คือ มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถหล่อเป็นฟินชิ้นเดียวสวมกับเท้าได้เลย (full-foot fins) ซึ่งก็มีความฝืดและความนุ่มเข้ากับเท้าได้เป็นอย่างดี แต่มีจุดอ่อนคือใบฟินต้องมีความหนาพอสมควรจึงจะใช้งานได้ ดังนั้นฟินชนิดนี้จึงมีน้ำหนักมากตามไปด้วย

ฟินฟรีไดฟ์แบบยางมีราคาราวหมื่นต้นถึงหมื่นกลาง เช่น Gull Barracuda, Problue F-795

ฟินฟรีไดฟ์ แบรนด์ Gull รุ่น Baracuda
ฟินฟรีไดฟ์ แบรนด์ Gull รุ่น Baracuda

ใบฟินซิลิโคน (Silicone Blade)

ซิลิโคน เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง อ่อนนุ่ม เข้ากับเท้าได้ค่อนข้างดี ไม่ค่อยเสื่อมสภาพจากความร้อน อายุการใช้งานยาวนาน เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์ดำน้ำที่ต้องสัมผัสร่างกายมนุษย์ เช่น หน้ากากดำน้ำและท่อสน็อคเกิล แต่ก็มีต้นทุนวัตถุดิบสูง โดยปกติจึงไม่มีใครผลิตฟินที่ทำจากซิลิโคนล้วนๆ

ล่าสุดนี้ แบรนด์ Molchanovs ได้ผลิตฟินรุ่นพิเศษเพื่อการฝึกหัดฟรีไดฟ์โดยเฉพาะ (training fins) คือรุ่น CORE ที่ทำจากซิลิโคนล้วนเป็นชิ้นเดียว เป็นฟินแบบสั้นไม่เหมือนกับที่นักดำน้ำฟรีไดฟ์ใช้กัน ซึ่งแม้จะมีราคาสูงกว่าฟินยางหรือพลาสติกทั่วไป แต่ก็ยังต่ำกว่าฟินไฟเบอร์กลาสหรือฟินคาร์บอนมาก เหมาะกับการใช้เป็นฟินฝึกหัดที่เราจะไม่ต้องกังวลกับการขูดขีดกระทบกระทั่งกับขอบสระหรือแนวหิน ไม่ต้องกังวลกับการแตกหักอย่างฟินคาร์บอนที่มีราคาสูง

ฟินแบบซิลิโคนชิ้นเดียว รุ่น CORE ของ Molchanovs
ฟินแบบซิลิโคนชิ้นเดียว รุ่น CORE ของ Molchanovs
แหล่งข้อมูล

ความอ่อนแข็ง (Stiffness) ของใบฟิน

นอกจากวัสดุที่ใช้ทำใบฟินจะแตกต่างกันแล้ว แม้ฟินรุ่นเดียวกัน ใช้วัสดุชนิดเดียวกัน ก็ยังมีการออกแบบให้มีความอ่อนแข็งแตกต่างกันด้วย เพื่อให้เหมาะกับกำลังและการใช้งานของนักดำน้ำแต่ละคน

โดยทั่วไป จะมีความแข็งให้เลือก 3 ระดับคือ อ่อน (soft), กลาง (medium) และแข็ง (hard) บางรุ่นอาจมีระดับอ่อนมาก (super soft) ให้เลือกอีกหนึ่งระดับ ฟินที่มีความแข็งมากจะสามารถส่งต่อพลังงานจากนักดำน้ำไปสู่น้ำได้มาก แต่ก็ต้องการกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพอจะสร้างพลังงานและไม่เกิดอาการตะคริวหรือบาดเจ็บต่อนักดำน้ำด้วย

ความจำเป็นของการใช้ฟินที่มีความแข็งระดับใดขึ้นอยู่กับมวล (หรือก็คือน้ำหนัก) และรูปร่างของนักดำน้ำ มวลมาก รูปร่างใหญ่ ต้านน้ำมาก ก็ต้องการฟินที่ส่งแรงผลักดันน้ำได้มากพอ รวมถึงหากต้องการความเร็วในการเคลื่อนที่สูงๆ (เช่น การว่ายแข่งขันในน้ำนิ่ง หรือว่ายสู้กระแสน้ำแรงในทะเล) ก็ต้องการฟินที่ส่งแรงผลักได้มากเช่นกัน โดยทั่วไป ฟินระดับ soft ก็เพียงพอสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 65 ก.ก. รูปร่างปกติ ส่วนผู้ที่มีรูปร่างผอมและน้ำหนักน้อยกว่า 60 ก.ก. อาจใช้ฟินระดับ super soft หรือ extra soft ได้อย่างสบาย

นักดำน้ำแต่ละคนจะใช้ฟินที่มีความแข็งได้สูงถึงระดับไหน ขึ้นอยู่กับทักษะการตีขา กำลังขาและกล้ามเนื้อของร่างกายส่วนล่าง โดยทั่วไปหากนักดำน้ำที่มีทักษะดี หรือมีเทคนิคการตีขาที่เหมาะสม จะสามารถใช้ฟินระดับ medium-soft หรือ medium ได้อย่างสบาย

ส่วนเรื่องที่มีความเข้าใจกันว่า เมื่อดำน้ำที่ความลึกมาก ก็ต้องการฟินที่แข็งมากขึ้นด้วย ยังเป็นเรื่องรอการถกอภิปราย หาเหตุผลที่เป็นจริง มาอธิบายกันอยู่

นักดำน้ำควรเลือกซื้อฟินที่มีความแข็งเหมาะกับการใช้งาน คุณสมบัติของร่างกาย และทักษะของตนเอง ฟินที่อ่อนเกินไป จะส่งพลังของเราออกไปได้ไม่เต็มที่ ทั้งยังทำให้เราต้องเคลื่อนไหวถี่เกินควร แต่ฟินที่แข็งเกินไป จะทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อขามาก ใช้อ็อกซิเจนมาก และหากเกินกำลังของนักดำน้ำ ก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ ทั้งนี้ ระดับความแข็งอ่อนของฟินที่นักดำน้ำใช้งาน ไม่ใช่ตัวบอกระดับความสามารถของนักดำน้ำ

แหล่งข้อมูล

เทคโนโลยีเสริมสมรรถนะ ของฟินแต่ละยี่ห้อ

นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานที่เหมือนๆ กันของฟินฟรีไดฟ์แล้ว ผู้ผลิตฟินแต่ละยี่ห้อยังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพฟินของตนเองขึ้นมาด้วย ขอยกมาเล่าไว้ด้วยกันในที่นี้เลย

Dynamic Resonance System (DRS) ของ Cetma Composites

เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานของนักดำน้ำ โดยเมื่อนักดำน้ำตีฟินด้วยความถี่ที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับความถี่ธรรมชาติของใบฟิน (เรียกว่า การสั่นพ้อง หรือ resonance) จะทำให้ใบฟินเกิดการเคลื่อนที่ต่อเนื่องต่อไปได้โดยสูญเสียพลังงานน้อยกว่าปกติ ช่วยรักษาพลังงานของเราให้ใช้งานในใบฟินได้นานขึ้น ซึ่ง Cetma Composites สร้างใบฟินให้มีคุณสมบัติแบบนี้ได้ โดยออกแบบการกระจายมวลและความแข็งของใบฟินในบริเวณต่างๆ ให้ทั้งใบมีความถี่ธรรมชาติใกล้เคียงกับความถี่ที่นักดำน้ำส่วนใหญ่ใช้ตีฟิน

เมื่อนักดำน้ำสับขาตีฟินแบบที่มีเทคโนโลยี DRS นี้ด้วยความถี่ที่พอดี จะพบว่าใช้แรงลดลง เบาขามากขึ้น โดยที่ยังเคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ด้วยความเร็วเท่าเดิม ราวกับว่า ใบฟินได้ช่วยออกแรงสะบัดต่อไปได้ด้วยตัวมันเองอีกส่วนหนึ่ง (อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ลองแวะมาคุยกันได้ที่ร้าน Freediver Space ตึกมหาทุน BTS เพลินจิตเลยจ้า)

แหล่งข้อมูล

ใบฟินพลาสติกแบบไมโครคอมโพสิต (Micro-composite Polymer Blade)

ใบฟินพลาสติกแบบไมโครคอมโพสิต รุ่น Lotus จาก Cetma Composites
ใบฟินพลาสติกแบบไมโครคอมโพสิต รุ่น Lotus จาก Cetma Composites

ใบฟินรุ่น Lotus จาก Cetma Composites เป็นใบฟินที่ผลิตจากพลาสติกชนิดพิเศษซึ่งทาง Cetma Composites กล่าวว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก (ถึงขนาดว่า ดีกว่าฟินคาร์บอนไฟเบอร์ของบางแบรนด์เลยทีเดียว — Cetma อ้างไว้) จากการเลือกใช้โพลิเมอร์แบบเฉพาะที่เรียกว่า micro-composite ที่ทำให้การกระจายความแข็งของใบฟินมีความเหมาะสมในการสะบัดของฟินได้ดีที่สุด เหมาะกับการใช้งานในทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกหัด การแข่งขัน หรือการยิงปลา และด้วยความเป็นพลาสติก จึงทนทานต่อการขีดข่วนกระทบกระแทกได้ดี เหมาะอย่างยิ่งกับการดำน้ำในสระหรือชายฝั่งทะเลที่มีโขดหิน โดยไม่ต้องกังวลต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

แหล่งข้อมูล

 

เมื่อได้รู้จักกับคุณสมบัติของใบฟินที่ผลิตจากวัสดุคนละชนิด พร้อมทั้งคุณสมบัติพิเศษของฟินจากผู้ผลิตแต่ละรายแล้ว ทุกท่านก็คงพร้อมที่จะพิจารณาเลือกฟินฟรีไดฟ์ที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน และงบประมาณที่มีอยู่ ได้ง่ายขึ้นแล้ว