Safety Stop กับการเตะขาเบาๆ

การทำ safety stop นั้นได้รับการสอนกันมาตั้งแต่สมัยที่เราเรียน Open Water ว่า ให้เราลอยตัวนิ่งๆ หายใจเข้าออกตามปกติ ที่ความลึก 5 เมตร (หรือในช่วงความลึกที่ 3-6 เมตร) … ข้อปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอและเป็นมาตรฐานสำหรับการทำ safety stop ในปัจจุบันนี้

ขยับตัวได้ หรือ ต้องอยู่นิ่งเท่านั้น?

แต่ … ก็ยังมีคำแนะนำจากการศึกษาวิจัยบางแหล่งที่แนะนำว่า การออกกำลังกาย “เบาๆ” เช่นการเตะขาช้าๆ เบาๆ (ถ้าเราเกาะเชือกทุ่น, เชือกสมอ, หรือ safety stop bar) ในระหว่างการทำ safety stop นั้น จะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานมากขึ้นเล็กน้อย และทำให้ไนโตรเจนถูกปลดปล่อยออกมาได้ดีกว่าการลอยตัวอยู่นิ่งๆ (แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการออกกำลังที่มากจนเกินไป เพราะจะส่งผลเสียมากกว่า เนื่องจากหากการไหลเวียนโลหิตไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ มากไป ไนโตรเจนจะถูกปลดปล่อยออกมาไวมากและจะเกิดการพัฒนาไปเป็นฟองก๊าซไนโตรเจนในที่สุด) ……. ดังนั้น หากจะมีการเคลื่อนไหวบ้าง เบาๆ ช้าๆ ในขณะที่ทำ safety stop ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่หน้ากังวลแต่ประการใดครับ ….. เพียงแต่ ต้องควบคุมว่าอย่าให้มันกลายเป็นการออกกำลังหนักๆ ขณะทำ safety stop ไปก็แล้วกัน

ควรทำ หรือ ต้องทำ?

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ safety stop เป็นสิ่งที่ “SHOULD DO” ไม่ใช่สิ่งที่ “MUST DO” (ต่างจาก decompression stop นะครับ อันนั้นเป็นสิ่งที่ MUST DO เมื่อท่านดำน้ำจนติด decomp ห้ามละเลยหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด) หากมีเหตุที่ไม่สามารถทำ safety stop ได้อย่างปลอดภัย เช่น น้ำไหล มีกระแสน้ำแรง, อากาศไม่เหลือพอที่จะทำ safety stop หรือมีเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ก็อาจงดเว้นไม่ต้องทำได้ครับ ….. แต่ทั้งนี้ หากสามารถทำได้ ก็ควรพิจารณาการทำ safety stop ไว้ก่อนในทุกกรณีครับ

เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก ก.ย. 2554
ปรับปรุงล่าสุด12 พ.ค. 2564