ในปัจจุบัน เราจะพบว่านักดำน้ำดำน้ำกันลึกเป็นเรื่องปกติธรรมดา และการทำ deep stop และ safety stop ก็เป็นเรื่องปกติที่นักดำน้ำทำกันเพื่อความปลอดภัยโดยทั่วกัน นับตั้งแต่มีการนำเอาหลักการของการทำ safety stop มาใช้เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว
เราคงคิดว่า เทคนิคการทำ safety stop คงจะไม่มีอะไรยากเย็นหรือซับซ้อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การทำ safety stop นั้นมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง และเทคนิคทักษะที่ละเอียดอ่อนหลายอย่าง หากต้องการจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการทำสิ่งนี้
เราควรทำ safety stop ก่อนจะจบทุกไดฟ์ เพราะมันจะทำให้เราคำนึงถึงการขึ้นสู่ผิวน้ำ และทำให้เราได้ฝึกทักษะการดำน้ำมากขึ้น รวมถึงเราจะคำนึงถึงการหลีกเลี่ยงและป้องกัน DCS ในเวลาเดียวกัน และเช่นเดียวกันกับทักษะทุกชนิด การที่จะเกิดความเชี่ยวชาญได้นั้น จะต้องมีการฝึกฝนทักษะเหล่านั้นจนกระทั่งกลายเป็นการกระทำโดยอัตโนมัติ หรือทำจนรู้สึกเป็นธรรมชาติ นั่นเอง
การทำ safety stop นั้น เริ่มตั้งแต่ใต้ทะเลตรงพื้นนั่นแหละครับ โดยเราจะต้องคิดอยู่เสมอว่า จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำหรือขึ้นสู่จุดที่จะทำ safety stop ให้ช้า สิ่งแรกคือต้องเอาอากาศออกจาก BCD เสียก่อนเพื่อไม่ให้เราลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไปจนควบคุมไม่ได้ การมีลมใน BCD นิดหน่อยเพื่อไม่ให้ต้องเตะขามากเกินไปนั้นเป็นเรื่องพอรับได้ แต่พลังหลักที่ใช้ในการขึ้นจะต้องเกิดจากแรงขาของเรา ไม่ใช่เกิดจากแรงยกของลมใน BCD ครับ การจมลอยของเราจะพอดีก็ต่อเมื่อเราหยุดลอยขึ้นเมื่อเราหยุดเตะขา หากเราหยุดเตะขาแล้วแต่ตัวยังลอยอยู่ ก็หมายความว่า เรามีอากาศใน BCD มากเกินไปแล้วครับ
ความเร็วในการขึ้นสู่ผิวน้ำ ในปัจจุบัน มีการตกลงกันในหมู่องค์กรเกี่ยวกับเวชศาสตร์ใต้น้ำว่า ความเร็ว 9 เมตรต่อนาทีนั้นเหมาะสมกว่าความเร็ว 18 เมตรต่อนาทีที่เคยเข้าใจกัน เพราะฉะนั้น หากใครใช้ Dive Computer ดำน้ำที่เตือนที่ความเร็ว 18 เมตรต่อนาที ก็ถึงเวลาที่จะเปลี่ยน Dive Computer ได้แล้วครับ
ทักษะต่อมาในการทำ safety stop ก็คือ การเตรียมพร้อมที่จะหยุดกลางน้ำ ทักษะนี้จะยากยิ่งขึ้นหากเราไม่มีเชือกหรือทุ่นที่จะเป็นแนวกำหนด นักดำน้ำจำเป็นต้องสังเกตว่ามีอากาศเพิ่มเข้ามาใน BCD ของตนหรือไม่ขณะกำลังขึ้นนะครับ เพราะอากาศเพียงเล็กน้อยที่อยู่ใน BCD ที่ความลึก จะขยายตัวได้มากขึ้นเมื่อเราขึ้นมาสู่ความตื้น หากเราไม่คอยสังเกตและปล่อยอากาศออกจาก BCD เราอาจจะลอยขึ้นเร็วโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถหยุดตรงจุดที่เราจะทำ safety stop ได้ครับ
สิ่งที่ต้องคิดถึงอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ถังอากาศของเรานั้น หากใช้จนเกือบหมดแล้ว จะลอยตัวมากกว่าตอนที่มีอากาศอยู่เต็ม เมื่อเราทำ safety stop ท้ายไดฟ์ที่อากาศในถังมีอยู่น้อย เราอาจจะตัวลอยมากกว่าที่คิดไว้ และทำ safety stop ด้วยความทุลักทุเลก็เป็นได้ วิธีป้องกัน คือ ควรหาจำนวนตะกั่วที่เราต้องใช้ด้วยการทำ Buoyancy Weight Check ในขณะที่อากาศมีอยู่น้อยในถังครับ หรือหากเราทำตอนถังเต็มก็ควรเพิ่มตะกั่วอีกสักก้อนหรือสองก้อนเผื่อไว้ก่อน ต้นไดฟ์จะรู้สึกหนัก แต่จะสบายและปลอดภัยท้ายไดฟ์ครับ
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในเรื่อง safety stop ในปัจจุบัน คือ มีการเสนอแนวคิดการทำ deep stop การทำ deep stop นั้น คือ การหยุดที่ความลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความลึกสูงสุดที่เราดำในไดฟ์นั้นเป็นเวลาหนึ่งนาที นอกเหนือจากการมีผลดีต่อระบบของร่างกายในการช่วยกำจัด Silent Bubble ได้ดีขึ้นแล้ว การทำ deep stop ยังช่วยให้เราไม่สามารถเร่งขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง เพราะหากเราดำน้ำที่ความลึก 30 เมตรและรู้ว่าจะต้องหยุดที่ความลึก 15 เมตรเป็นเวลาหนึ่งนาทีแล้ว เราก็จะไม่มีทางพรวดพราดขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้อย่างแน่นอนครับ
ทักษะสำคัญต่อมา คือ การลอยตัวนิ่งๆ อยู่กลางน้ำ หรือที่เรียกกันว่า การทำ Hovering นั่นเองครับ คนที่จะทำ safety stop และ deep stop ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีทักษะนี้ในระดับดีมาก หากนักดำน้ำไม่สามารถลอยตัวนิ่งๆ ได้ ก็จำเป็นต้องเตะขาไม่หยุดเพื่อไม่ให้ตัวจมหรือลอย ซึ่งการออกแรงมากๆ แบบนั้นไม่เหมาะสม และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น DCS การที่นักดำน้ำผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงการออกแรงมากๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการทำ safety stop ด้วย
ขั้นตอนในการทำ safety stop ไม่ได้หมดลงเมื่อเราลอยนิ่งๆ ที่ความลึกระหว่าง 4-6 เมตร เป็นเวลาตั้งแต่ 3-5 นาทีเท่านั้นนะครับ ข้อสำคัญต่อจากนั้น คือ ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำช้าๆ มีนักดำน้ำจำนวนมาก เมื่อเห็นว่าหมดเวลาในการทำ safety stop แล้วก็พุ่งพรวดอย่างรวดเร็วสู่ผิวน้ำทันที อย่างนี้อันตรายนะครับ เพราะที่ความลึกนี้อากาศจะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและมากมายกว่าที่ความลึกมากกว่านี้ ปอดของเราอาจจะระบายอากาศไม่ทันและอาจเกิดการปอดฉีกขึ้นมาได้
สุดท้าย เมื่อขึ้นมาบนเรือหรือบนฝั่งแล้ว สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต่อไป คือ ต้อง “พัก” ครับ อย่าลุกขึ้นไปทำอะไรที่ไม่จำเป็นสักระยะหนึ่ง อาจจะสักสิบหรือยี่สิบนาที เพราะอันที่จริงแล้ว safety stop สุดท้ายที่เราทำนั้น ไม่ได้ทำที่ความลึกสามถึงห้าเมตรหรอกครับ safety stop สุดท้ายจริงๆ นั้นอยู่บนผิวน้ำต่างหาก เมื่อเราขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำระหว่าง Surface Interval นั้น ร่างกายเรายังมีไนโตรเจนหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะช่วงขึ้นมาใหม่ๆ จะมีหลงเหลืออยู่มาก และค่อยๆ ลดลงจนเหลือน้อยมากหรือเป็นปกติภายใน 24 ชม.
เพราะฉะนั้น เมื่อขึ้นมาสู่ผิวน้ำหรือขึ้นบนเรือช่วงแรกก็ควรอยู่นิ่งๆ พักผ่อนให้สบายสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยเริ่มทำกิจกรรมที่ต้องทำ เช่น เก็บล้างอุปกรณ์ดำน้ำ หรือช่วยเหลือเพื่อนๆ ขึ้นสู่เรือครับ
เขียนโดย | ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์ |
พิสูจน์อักษร | ทีมงาน FreedomDIVE |
เผยแพร่ครั้งแรก | 28 ส.ค. 50 |
ปรับปรุงล่าสุด | 12 พ.ค. 64 |