Picture of A Doctor with A Heart in Hands

รู้จักกับ PFO (Patent Foramen Ovale) หรือสภาวะหัวใจห้องบนมีรูรั่วถึงกัน

PFO เป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้ประมาณ 10-20% ในประชากรทั่วไป …. สืบเนื่องมาจาก ในขณะที่เราเป็นตัวอ่อนอยู่ในท้องมารดานั้น ปอดของเรายังไม่ทำงานจนกว่าเราจะคลอดออกมา … ดังนั้น ผนังห้องหัวใจด้านบน คือ ห้องบนขวาและห้องบนซ้าย จึงมีรูเปิดทะลุถึงกันตามธรรมชาติ โดยช่องเปิดนี้จะมีลักษณะเป็นลิ้นที่เหลื่อมกัน และเลือดจะไหลไปในทิศทางขวาไปซ้ายได้ทางเดียว เพื่อให้เลือดดำที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องขวาบน สามารถผ่านไปยังห้องซ้ายบน ลงไปห้องซ้ายล่างและสูบฉีดเลือดออกจากห้วใจไปยังส่วนต่างๆของร่างกายต่อไป (ในผู้ใหญ่ เมื่อเลือดกลับมายังห้องขวาบน เลือดจะไหลต่อไปห้องขวาล่าง จากนั้นจะวิ่งไปแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอดก่อน แล้วเลือดที่มีออกซิเจนสูงจะไหลกลับจากปอดมาที่หัวใจห้องซ้ายบนก่อนจะไปซ้ายล่างและสูบฉีดออกไปเลี้ยงร่่างกาย ) …. เมื่อคลอดออกมา และปอดเริ่มทำงาน แรงดันเลือดในหัวใจห้องด้านซ้ายจะสูงกว่าด้านขวา และจะดันให้ลิ้นที่เป็นผนังของรูเปิดที่เคยมีตอนเป็นตัวอ่อนนั้น ปิดลง … และจะปิดสนิทในเวลาต่อมา …… แต่ก็มีจำนวนนึงที่รูเปิดนี้ ปิดไม่สนิท และหลงเหลือรูเปิดนี้อยู่จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่

Patent Foramen Ovale

PFO มีผลอย่างไร ต่อร่างกายและต่อการดำน้ำ

โดยทั่วไป คนที่มี PFO จะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ออกกำลังได้ตามปกติ … และอาจจะไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองมี PFO ไปตลอดอายุไข …… ดังนั้น ส่วนใหญ่ PFO ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อชีวิตประจำวันครับ

….แต่..สำหรับนักดำน้ำ … การที่มี PFO ทำให้มี “ความเสี่ยง” ที่จะมีฟองไนโตรเจนหลุดข้ามจากหัวใจห้องขวาไปห้องซ้ายและหลุดออกไปอุดตันหลอดเลือดของอวัยวะที่สำคัญเช่น สมอง ได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปครับ

ในนักดำน้ำปกติทั่วไป … ทุกคนที่ดำน้ำจะมี silent bubble เกิดขึ้นเสมอในร่างกาย และ ฟองไนโตรเจนเหล่านี้ จะไหลกลับเข้าสู่หัวใจที่ห้องขวาบนไปห้องขวาล่าง จากนั้นจะถูกส่งไปยังปอด และปอดจะทำหน้าที่กักฟองไนโตรเจนไว้แล้วค่อยๆ ปลดปล่อยไนโตรเจนออกจากร่างกายผ่านการหายใจ

ในนักดำน้ำที่มี PFO … ฟองไนโตรเจนอาจเล็ดลอดผ่านทางรูเปิดระหว่างผนังหัวใจที่ว่า ผ่านไปหัวใจฝั่งซ้ายและหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆได้ หากมีฟองก๊าซที่มากพอ และมีแรงดันในหัวใจฝั่งขวาที่สูงมากพอที่จะทำให้ลิ้นของผนังที่ปิดไม่สนิทนี้ เปิดออก … ดังนั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างนึงของผู้ที่มี PFO

ในการศึกษาวิจัยของ Duke University ที่สหรัฐอเมริกา พบว่า … ในนักดำน้ำที่ป่วยเป็น DCI 91 ราย พบว่า มี 39 จาก 91 ราย มี PFO … ใน 91 รายนี้ มีผู้ป่วยหนัก 64 ราย และ 32 ใน 64 รายนั้น มี PFO

PFO จะทำให้เกิดโรคจากการดำน้ำ (Decompression Illness ) ทุกครั้งไปมั้ย ???

จากข้อมูลที่มีในตอนนี้ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการเกิดโรคกับ PFO แต่ … จำนวนตัวอย่างของผู้ป่วยในการศึกษาวิจัยยังน้อยไปที่จะสรุปได้ ว่า PFO มีผลทำให้เกิด DCI ในนักดำอย่างแน่นอน ถึงกระนั้น เราก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการดำน้ำในคนกลุ่มนี้ให้มากกว่าคนปกติทั่วไป และ ควรมีการวางแผนการดำน้ำที่เหมาะสมและวางแผนการปฐมพยาบาลที่ทันท่วงที หากคนกลุ่มนี้เกิดความผิดปกติจากการดำน้ำ

แล้วควรจะทำอย่างไรดี เกี่ยวกับ PFO ???

จนถึงขณะนี้ PFO ยังไม่ได้เป็นข้อห้ามถาวรสำหรับการดำน้ำ เว้นเสียแต่ว่า หากเกิดอาการซ้ำๆ บ่อยๆ และรุนแรง หากพบว่าตัวเองมี PFO และยังอยากดำน้ำ หรือ ต้องดำน้ำต่อ …… ก็ควร ตั้งขีดจำกัดการดำน้ำให้มากขึ้นกว่าคนทั่วไปเช่น … ดำน้ำไม่เกิน 2 ไดฟ์ต่อวัน … ดำน้ำไม่ลึกเกินกว่า 20 เมตร … ระยะเวลาการดำน้ำต่อไดฟ์ไม่เกิน 30 นาที ….. ทั้งนี้เพื่อลดการสะสมไนโตรเจนในร่างกาย และลดความเสี่ยงที่จะเกิด DCI ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ท้ายที่สุด หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วนักดำน้ำควรไปตรวจหา PFO ทุกรายมั้ย

คำตอบคือ ไม่จำเป็นครับ … ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ยังดำน้ำได้โดยไม่เคยมีการเจ็บป่วยจากการดำน้ำ ก็ไม่ต้องไปกังวล หรือไปตรวจพิเศษเพิ่มเติมอะไรครับ

ดำน้ำให้สนุกให้ปลอดภัย …. ขอเพียงแค่ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยใดๆ ระหว่างหรือหลังการดำน้ำ ขอให้ทำการ “หยุด” ดำน้ำและรีบส่งตัวมาพบแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ …. จะเป็นการปลอดภัยที่สุด สำหรับนักดำน้ำทุกๆ ท่านครับ

เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก27 ธ.ค. 2554
ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด10 ก.ค. 2562