ผมมีเรื่องที่เกิดกับตัวเองมาเล่าให้ฟังครับ
ในฐานะนักดำน้ำมือใหม่ เราคงต้องเคยพลาดในการเคลียร์หู (Ear Equalization) บ้างไม่ครั้งก็ 2 ครั้ง
ท้ายบทความนี้จะมีวิธีการเคลียร์หูด้วยวิธีต่างๆ แต่ผมอยากจะมาเน้นกับนักดำน้ำมือใหม่ ว่า
“เวลาเคลียร์หู ต้องค่อยๆ เพิ่มแรงดันเข้าไปในหู อย่างละมุนละม่อม”
อย่าอัดหรือเบ่งแรงจนเกินไป เพราะนอกจากจะอันตรายกับแก้วหูแล้ว ยังอาจจะทำให้ท่อที่ต่อระหว่างช่องปากและหูอักเสบได้ด้วย
และผมเดาว่าคงมีซักครั้งหรือ 2 ครั้งที่ผมเคลียร์หูพลาด (แรงเกินไป) เลยทำให้ท่อยูสเตเชียนอักเสบ ผมมีอาการได้ยินเสียงชีพจรดังนานๆ ที ด้วยความกลัวว่าเส้นเลือดในสมองจะตีบหรือเปล่าเลยไปตรวจ 555
คุณหมอวินิจฉัยว่า อาจเป็นที่ท่อยูสเตเชียนปิดไม่สนิทจนได้ยินเสียงชีพจรในบางครั้ง คุณหมอบอกว่า ที่มันทำงานไม่ปกติเพราะอาจอักเสบจากการดำน้ำหรือออกแรงเบ่งในการปีนหน้าผาที่ผมชอบเล่น ใครมีอาการแบบนี้ลองปรึกษาคุณหมอดูนะครับ
ปกติเวลาเราเคลียร์หูไม่ออกมักจะเป็นในช่วงการลงดำน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน dive site ที่ต้องลงให้เร็วเนื่องจากกระแสน้ำ เราอาจพลาดได้ยิ่งต้องระวังให้มากๆ
วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องสำหรับการเคลียร์หูไม่ออกคืออย่าลงต่อ ให้กลับขึ้นมาเล็กน้อยก่อนเพื่อเคลียร์หูให้ได้แล้วค่อยลงต่อ อย่าเผลอไปอัดอากาศให้แรงขึ้นนะครับ บางทีผมก็เผลอ 555
ปกติผมไม่เคยมีปัญหาเรื่องเคลียร์หูเลย แต่จำได้มีครั้งนึงเคลียร์ไม่ออกจนต้องตีขาขึ้นมาเคลียร์ แถวๆ 6 – 7 เมตร ถึงลงต่อได้ อาจเป็นเพราะสาเหตุนี้ (ผมเดาเอาแต่คุณหมอไม่รู้ 555)
ต่อไปเป็นวิธีเคลียร์หูด้วยวิธีต่างๆ ผมอ่านเจอในเพจนึง เขียนละเอียดดีมากเลยเอามาให้น้องๆ อ่านดู ผมว่าจะไปลองวิธีอื่นๆ ดูบ้างเผื่อจะปลอดภัยกับหูขึ้น
วิธีการเคลียร์หู (Ear Equalization Method)
(เครดิต จากเพจ diveshop.in.th)
มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น
- Valsava Maneuver ทำโดยการบีบจมูกและดันลมเหมือนหายใจออก ลมจะดันไปออกที่หู วิธีนี้ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในขั้นเริ่มต้น เพราะฝึกหัดได้ไม่ยากและได้ผลเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ถ้าดันลมออกแรงเกินไป
- Toynbee Maneuver ทำโดยการบีบจมูกและกลืนน้ำลายไปพร้อมกัน การกลืนจะช่วยเปิดท่อยูสเตเชียนและลิ้นจะอัดอากาศเข้าไป เป็นเทคนิคที่ควรลองฝึกดู เพราะไม่บังคับธรรมชาติมากนัก จึงค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจไม่ได้ผลกับทุกคน
- Frenzel Maneuver ทำโดยการบีบจมูก ดันลิ้นไปด้านหลังติดลำคอ และพยายามออกเสียงตัว K หรือ ง (ng) วิธีนี้ช่วยดันกล้ามเนื้อลำคอให้เปิดท่อยูสเตเชียนและอัดลมเข้าไป
- Lowry Technique คือการทำทั้งวิธี Valsalva และ Toynbee พร้อมกัน ขณะที่ปิดจมูก เป่าและกลืนในเวลาเดียวกัน
- Edmonds Technique ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและคอ ให้ทำการดึงกรามลงมาด้านหน้าและด้านล่าง ขณะที่ทำ Valsalva Maneuver
- Voluntary Tubal Opening คือ การเกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและกล้ามเนื้อคอขณะที่ดันกรามไปด้านหน้าและด้านล่างคล้ายๆ กับการเริ่มต้นหาว กล้ามเนื้อดังกล่าวจะดึงท่อยูสเตเชียนให้เปิด วิธีนี้ต้องใช้การฝึกฝนมาก แต่เมื่อควบคุมได้แล้วจะสามารถเปิดท่อยูสเตเชียนไว้ได้เป็นเวลานานสำหรับการปรับแรงดันอย่างต่อเนื่อง
- กลืนน้ำลายหรือขยับขากรรไกร เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและอาจง่ายมากสำหรับบางคน ซึ่งมีท่อยูสเตนเชียนเปิดได้ง่ายมาก เพียงแค่กลืนน้ำลายหรือขยับขากรรไกรเท่านั้น ลองทำดูและคุณอาจพบว่าคุณเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้
ข้อปฏิบัติในการเคลียร์หูระหว่างดำลงสู่ความลึก
- ปรับความดันทันทีตั้งแต่เริ่มดำน้ำ และปรับความดันบ่อยๆ
- อย่ารอจนกระทั่งรู้สึกไม่สบายในหูแล้วค่อยปรับ ให้ปรับความดันก่อนจะรู้สึกไม่สบายในหู
- หากมีปัญหาในการปรับ ให้ลอยตัวขึ้นมาเล็กน้อยและลองใหม่ หากยังปรับไม่ได้ให้ยกเลิกการดำน้ำครั้งนั้น
- รักษาตำแหน่งของร่างกายให้อยู่ในท่าเอาขาลง เพราะจะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดง่าย
- อย่าพยายามทำการปรับแบบ Valsalva Maneuver อย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง เพราะจะทำอันตรายกับแก้วหู และไม่ควรเพิ่มแรงกดดันวิธีนี้นานเกินห้าวินาทีด้วย
ผมคิดว่าบทความนี้อาจมีประโยชน์กับน้องๆ มือใหม่ ลองฝึกดูให้เป็นนิสัยนะครับ เราจะได้ดำน้ำกันอย่างมีความสุข และไม่ต้องเดือดร้อนคุณหมอ 555
ปล. เอาคลิปน้องเต่ามาให้ดู คิดถึงทะเลไทยนะ
บทความจาก Facebook: Keng Krob
คอมเมนท์น่าสนใจจากโพสต์เดียวกัน
พี่ก็เคยมีอาการเคลียร์หูไม่ได้ตั้งแต่ check dive เลย ถ้าฝืนจะดำ dive ต่อไปไม่สนุกเลยค่ะ แถมต้องกลับมาหาหมออีก😓
ทริปต่อไป ครูพี่ให้เริ่มเคลียร์หูตั้งแต่ตอนก่อนลงน้ำเลยค่ะ ตอนเข้าชุดแล้วสวมหน้ากาก บีบจมูก ดันอากาศออกเบาๆ สัก 2 – 3 ครั้ง ช่วยได้มากเลยค่ะ ที่สำคัญตอน check dive ไม่ต้องรีบ ลงช้าๆ บอก lead เลยว่าขอลงช้า เคลียร์หูไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ ok ก็ขยับขึ้นมาหน่อยแล้วค่อยๆ ลง ถ้าสามารถเคลียร์ได้ตั้งแต่ check dive แล้ว dive ต่อๆ ไปจะ ok มากๆ เลยค่ะ 😃