การเคลียร์หู แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด และจำเป็นมากที่สุด สำหรับการดำน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น scuba diving, technical diving หรือ freedive ก็ตาม แต่หลายคนก็ยังเข้าใจเรื่องของการเคลียร์หูไม่ครบถ้วนนัก โดยเฉพาะในเรื่องผลที่อาจเกิดขึ้นได้หากเคลียร์หูไม่สำเร็จแล้วยังฝืนดำลงสู่ความลึกต่อไป ทำให้เรายังคงได้รับฟังเรื่องราวนักเรียนดำน้ำเจ็บหู เลือดกำเดาออก เป็นจำนวนมากในระหว่างการสอบในทะเลครั้งแรกๆ ยิ่งในบางรายถึงกับมีผลกระทบต่อการได้ยินกันเลยทีเดียว
ทำไมเราจึงเจ็บหู เมื่อลงสู่ความลึก (เราเคลียร์หูเพื่ออะไร)
หูของมนุษย์ไม่ได้เปิดออกสู่โลกภายนอกโดยตรง แต่มีเยื่อบางๆ ที่เรียกว่าเยื่อแก้วหู (ear drum หรือ Tympanic Membrane) กั้นเอาไว้ ส่วนภายในอาจแบ่งได้เป็นอีก 2 ส่วนเรียกว่า หูชั้นกลาง กับ หูชั้นใน โดยหูชั้นกลางเป็นช่องว่างที่มีกระดูก 3 ชิ้นหลักส่งต่อคลื่นเสียงไปสู่หูชั้นใน และหูชั้นในก็เป็นส่วนของระบบประสาทรับสัญญาณเสียงมาเปลี่ยนเป็นสัญญาณประสาทส่งต่อไปยังสมองอีกที
บริเวณหูชั้นกลางนี้เอง (ในรูปเป็นสีแดงตรงกลาง) เป็นโพรงอากาศที่และเปลี่ยนกับอากาศภายนอกได้ ผ่านทางท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ที่มีปลายเปิดอีกข้างอยู่ข้างลำคอ เมื่อความดันอากาศภายในหูชั้นกลางกับภายนอกแตกต่างกัน มนุษย์สามารถปรับสมดุลความดันนี้ได้ โดยส่งอากาศผ่านลำคอเข้าไป
ในสภาวะปกติ หรือบนบก ความกดอากาศภายนอกกับภายในหูเท่ากัน เยื่อแก้วหูไม่ต้องรับแรงกระทำจากฝั่งใดทั้งสิ้น หรือถ้าต่างกันไม่มาก (เช่น เคลื่อนที่เร็วๆ หรือมีลมพัดแรง) การกลืนน้ำลายจะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออก และอากาศถ่ายเทกันได้ เท่ากับว่าเราได้เคลียร์หูไปเองโดยอัตโนมัติ (เสียงขลุกๆ กับความรู้สึกที่หู ซึ่งเราจะรู้สึกได้ตอนกลืนน้ำลายนั่นเอง)
แต่เมื่อเราดำลงสู่ความลึก (ไม่ว่าเป็นการดำน้ำแบบสคูบ้าหรือฟรีไดฟ์ก็ตาม) น้ำทะเลจะไหลเข้ามาในโพรงหูจนถึงเยื่อแก้วหู ความกดดันภายนอกจะสูงกว่าภายในหูชั้นกลาง น้ำก็จะดันเยื่อแก้วหูเข้ามา ถ้าความดันแตกต่างกันมาก เราจะรู้สึกตึงหรือเจ็บ แต่ถ้าความดันยังคงเพิ่มขึ้นจนต่างกันมากๆ เยื่อแก้วหูอาจจะฉีกขาดและทะลุได้ เราจึงต้องเคลียร์หูหรือปรับสมดุลความดันภายในหูกับภายนอกให้เท่ากัน เพื่อไม่ให้เยื่อแก้วหูฉีกขาด ด้วยการเติมอากาศผ่านท่อยูสเตเชียนเข้าไปนั่นเอง
การปรับสมดุลโพรงไซนัส (Sinus Equalization)
นอกจากโพรงอากาศในหูชั้นกลางแล้ว การเคลียร์หูยังทำเพื่อปรับสมดุลอากาศในโพรงอากาศในกระโหลกศีรษะหรือที่เราเรียกว่าไซนัส อีกด้วย ไซนัสเป็นโพรงอากาศที่ทำให้กระโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาโดยไม่เสียความแข็งแรง และทำให้เสียงของเรากังวาน
เมื่อเราดำลงสู่ความลึก ความกดดันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาตรอากาศในโพรงเหล่านี้หดตัวเล็กลง แต่เนื่องจากโพรงอากาศเหล่านี้มีช่องทางเชื่อมต่อกับปากและจมูก การปรับสมดุลอากาศจึงเกิดขึ้นพร้อมกันกับการเคลียร์หูได้โดยไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ
แต่หากคุณมีอาการหวัดหรือภูมิแพ้ หรือมีน้ำมูกหรือสิ่งอุดตันอยู่ตามช่องทางที่เชื่อมต่อกับโพรงอากาศเหล่านี้ ก็อาจทำให้ไม่สามารถปรับสมดุลอากาศได้สำเร็จ หากเกิดขณะดำน้ำลงสู่ความลึก จะเรียกว่า sinus squeeze หากเกิดขณะขึ้นสู่ที่ตื้นหรือผิวน้ำ จะเรียกว่า reverse block ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือเนื้อเยื่อบุในโพรงเหล่านี้จะเกิดการฉีกขาดและอาจมีเลือดออกมาพอสมควรได้ ส่วนความเจ็บปวดส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ามีเลือดกำเดาออก จะรู้ก็เมื่อเพื่อนดำน้ำเห็นและบอกให้ทราบ (ไว้มีโอกาสจะเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดอีกทีนะครับ)
อาการ sinus squeeze และ reverse block นี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์อื่นๆ ได้อีกเช่น บนเครื่องบิน หรือระหว่างการรักษาใน hyperbaric chamber เป็นต้น จึงมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น aerosinusitis หรือ barosinusitis และมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า barotrauma
วิธีการเคลียร์หู (Ear Equalization Method)
มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น
- Valsava Maneuver ทำโดยการบีบจมูกและดันลมเหมือนหายใจออก ลมจะดันไปออกที่หู วิธีนี้ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในขั้นเริ่มต้น เพราะฝึกหัดได้ไม่ยากและได้ผลเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ถ้าดันลมออกแรงเกินไป
- Toynbee Maneuver ทำโดยการบีบจมูกและกลืนน้ำลายไปพร้อมกัน การกลืนจะช่วยเปิดท่อยูสเตเชียนและลิ้นจะอัดอากาศเข้าไป เป็นเทคนิคที่ควรลองฝึกดู เพราะไม่บังคับธรรมชาติมากนัก จึงค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจไม่ได้ผลกับทุกคน
- Frenzel Maneuver ทำโดยการบีบจมูก ดันลิ้นไปด้านหลังติดลำคอ และพยายามออกเสียงตัว K หรือ ง (ng) วิธีนี้ช่วยดันกล้ามเนื้อลำคอให้เปิดท่อยูสเตเชียนและอัดลมเข้าไป
- Lowry Technique คือการทำทั้งวิธี Valsalva และ Toynbee พร้อมกัน ขณะที่ปิดจมูก เป่าและกลืนในเวลาเดียวกัน
- Edmonds Technique ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและคอ ให้ทำการดึงกรามลงมาด้านหน้าและด้านล่าง ขณะที่ทำ Valsalva Maneuver
- Voluntary Tubal Opening คือ การเกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและกล้ามเนื้อคอขณะที่ดันกรามไปด้านหน้าและด้านล่างคล้ายๆ กับการเริ่มต้นหาว กล้ามเนื้อดังกล่าวจะดึงท่อยูสเตเชียนให้เปิด วิธีนี้ต้องใช้การฝึกฝนมาก แต่เมื่อควบคุมได้แล้วจะสามารถเปิดท่อยูสเตเชียนไว้ได้เป็นเวลานานสำหรับการปรับแรงดันอย่างต่อเนื่อง
- กลืนน้ำลายหรือขยับขากรรไกร เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและอาจง่ายมากสำหรับบางคน ซึ่งมีท่อยูสเตนเชียนเปิดได้ง่ายมาก เพียงแค่กลืนน้ำลายหรือขยับขากรรไกรเท่านั้น ลองทำดูและคุณอาจพบว่าคุณเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้
ข้อปฏิบัติในการเคลียร์หูระหว่างดำลงสู่ความลึก
- ปรับความดันทันทีตั้งแต่เริ่มดำน้ำ และปรับความดันบ่อยๆ
- อย่ารอจนกระทั่งรู้สึกไม่สบายในหูแล้วค่อยปรับ ให้ปรับความดันก่อนจะรู้สึกไม่สบายในหู
- หากมีปัญหาในการปรับ ให้ลอยตัวขึ้นมาเล็กน้อยและลองใหม่ หากยังปรับไม่ได้ให้ยกเลิกการดำน้ำครั้งนั้น
- รักษาตำแหน่งของร่างกายให้อยู่ในท่าเอาขาลง เพราะจะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดง่าย
- อย่าพยายามทำการปรับแบบ Valsalva Maneuver อย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง เพราะจะทำอันตรายกับแก้วหู และไม่ควรเพิ่มแรงกดดันวิธีนี้นานเกินห้าวินาทีด้วย
ส่วนใหญ่เราจะพบปัญหาเกี่ยวกับการเคลียร์หูจะเกิดกับนักเรียนที่เพิ่งออกสอบในทะเลครั้งแรก เพราะยังไม่เคยลงน้ำลึกๆ มาก่อน (นักเรียนสคูบ้าส่วนใหญ่จะได้เรียนในสระลึกประมาณ 2-2.5 เมตร) และในบางกรณี นักเรียนดำน้ำบางคนถึงกับขอเลิกเรียนดำน้ำเพราะกลัวอาการเจ็บหูที่ตนเองพบและคิดว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่ดำน้ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้านักเรียนได้ทบทวนเรื่องการเคลียร์หูนี้อย่างถูกต้องถ่องแท้ และได้ฝึกฝนบ่อยๆ จนสัมผัสความรู้สึกต่างๆ ในระหว่างการเคลียร์หูได้อย่างชัดเจน ก่อนออกทะเล ก็จะสามารถทำได้อย่างไม่ยากเลย
ความเข้าใจในเรื่องกายวิภาคของหู โพรงไซนัส และการปรับสมดุลอากาศในจุดต่างๆ เหล่านี้ที่ชัดเจนถูกต้อง จะนำไปสู่การฝึกฝนได้ถูกวิธี ทำให้เกิดความปลอดภัยราบรื่นในการฝึก กลายเป็นความชำนาญ และทำให้ไม่เพียงแต่สอบผ่านได้โดยง่าย แต่ยังเกิดความเพลิดเพลิน มีความสุขในกิจกรรมการดำน้ำอีกด้วย
เรียบเรียงโดย | ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล |
---|---|
อ้างอิงจาก |
|