การเคลียร์หู (ear equalization หรือฝรั่งบางคนก็เรียกสั้นว่า ear clearing) นับเป็นโจทย์สำคัญของนักดำน้ำฟรีไดฟ์เกือบทุกคน…โดยเฉพาะมือใหม่
เกือบทั้งหมดของนักเรียนที่ไปออกทะเลสอบ freedive Level 1 แล้วไม่ผ่าน ก็เพราะไม่สามารถเคลียร์หูได้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ผิวน้ำหรือที่ความลึกไม่กี่เมตรก็ตาม พอเคลียร์หูไม่ได้ ลงสู่ความลึกได้ไม่มาก ก็เป็นอันต้องยกเลิกการสอบไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ปัญหาเรื่องการเคลียร์หูนั้น นักฟรีไดฟ์ระดับมืออาชีพทุกคนบอกเหมือนกันว่า เป็นปัญหาจากเทคนิคและความรู้ มากกว่าที่เกิดจากสภาพร่างกายหรือความเจ็บป่วย ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ใครหลายคนเข้าใจ มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่อาการภูมิแพ้, การติดเชื้อในช่องหู, หรือสภาพภายในโพรงจมูก จะเป็นสาเหตุของปัญหานี้อย่างจริงจัง (ขอแถมให้ด้วยว่า ไม่ใช่ความคุ้นชินของร่างกายกับน้ำเป็นหลักด้วยครับ จึงไม่ได้แก้ไขด้วยการไปว่ายน้ำดำน้ำเล่นเพียงอย่างเดียว ต้องศึกษาให้เข้าใจ และฝึกให้ถูกวิธีด้วย แต่ความเคยชินของเรากับน้ำก็มีส่วนที่จะทำให้ฝึกฝนเทคนิคการเคลียร์หูได้สะดวกขึ้นจริงครับ)
เพื่อจะแก้ปัญหานี้ เราต้องทบทวนความรู้พื้นฐานให้เข้าใจกันเสียก่อน แล้วก็ดูว่าวิธีการที่เราใช้เป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ หรือมีรายละเอียดของวิธีการส่วนใดที่เราเข้าใจผิดไปหรือเปล่า
สำหรับความรู้พื้นฐานเรื่องการเคลียร์หู สามารถอ่านได้จากเรื่อง “ความรู้เรื่องการเคลียร์หู (Ear Equalization หรือ Ear Clearing)”
เคลียร์หูไม่ได้ แบบไหน?
เวลาใครบอกว่าเคลียร์หูไม่ได้นั้น ที่จริงแล้วไม่ได้มีแบบเดียว แต่แบ่งได้เป็นหลายลักษณะที่แตกต่างกัน ว่าอาการเป็นอย่างไร เกิดขึ้นที่ขั้นตอนไหน เราเคลียร์หูด้วยวิธีใด ตัวอย่างที่เกิดได้บ่อยๆ ได้แก่
- ไม่ได้เคลียร์หูบ่อยๆ เพียงพอ … ที่จริงแล้วความกดอากาศและน้ำจะเปลี่ยนแปลงตลอดทุกความลึก และเปลี่ยนแปลงในอัตราส่วนที่มาก ในที่ตื้น ดังนั้น ยิ่งอยู่ใกล้ผิวน้ำ เราจึงต้องเคลียร์หูกันบ่อยหน่อย คำแนะนำคือให้เคลียร์หูบ่อยเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องรอให้รู้สึกเจ็บแล้วค่อยเคลียร์นะครับ ทั้งนี้ ควรทำ pre-equalize ตั้งแต่ก่อนจะมุดหัว duck dive ลงสู่ความลึก และอาจใช้มือหนึ่งบีบจมูกไว้ตลอดเวลาที่ duck dive เพื่อให้พร้อมเคลียร์หูทุกจังหวะที่วาดแขนดันน้ำไปข้างหลังด้วยก็ได้
- เคลียร์หูช้าไป … ถ้าคุณลงสู่ความลึกเพิ่มขึ้นจนรู้สึกเริ่มเจ็บหูแล้วหรือแม้แต่รู้สึกตึงๆ ในหู แสดงว่าคุณเคลียร์หูช้าไปแล้ว และบ่อยครั้งก็เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะเคลียร์หูได้ที่ความลึกนั้น ยิ่งความลึกเปลี่ยนไปมาก เราก็ต้องดันลมแรงขึ้นเพื่อสู้กับแรงกดของน้ำที่ดันเข้ามาจากภายนอก วิธีแก้ไขปัญหานี้คือ ลอยตัวขึ้นมาเล็กน้อย (มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า ต่างกันมากแค่ไหน) วิธีการป้องกันปัญหานี้คือ เคลียร์หูแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ความลึกจะเปลี่ยนไปมาก
- เคลียร์หูไม่ได้เลย … เมื่อถึงจุดที่เคลียร์หูไม่ได้แล้ว ควรกลับสู่ผิวน้ำ สังเกตอาการ หาวิธีแก้ไข จนพร้อมแล้วค่อยลองลงใต้น้ำกันอีกครั้ง
- ไม่สามารถเคลียร์หูได้ในท่าเอาหัวลง … ท่านี้เป็นท่าที่ยากในการเคลียร์หู (เพราะอะไร?) แต่พอดีว่าการดำน้ำฟรีไดฟ์ ท่าที่ใช้เป็นหลักคือท่าเอาหัวลงเสียด้วย ดังนั้นสำหรับคนที่เคลียร์หูในท่านี้ได้ยาก แต่ทำในท่าตัวตั้งตามปกติได้ง่าย ให้ลองฝึกฝนในท่าตัวตั้งก่อน แล้วค่อยๆ ปรับมุมทีละน้อยเป็นแนวนอน ฝึกไปเรื่อยๆ ทำได้แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มมุมจนกลายเป็นท่าเอาหัวลงได้ในที่สุด
- เคลียร์หูได้ข้างเดียว โดยไม่รู้ตัว … บางครั้งคุณอาจจะเคลียร์หูได้สำเร็จเพียงข้างเดียว ส่วนอีกข้างหนึ่งเคลียร์ไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีน้ำมูกเป็นบางข้าง หรืออย่างผมที่เป็นโรคโพรงจมูกคดข้างหนึ่ง จึงเคลียร์ได้ยากกว่าอีกข้าง บางครั้งคุณอาจไม่รู้ตัวและเผลอลงสู่ความลึกต่อไป จนพบว่าเจ็บหูอยู่ข้างเดียว เราจึงควรสังเกตการเคลียร์หูทุกครั้ง ว่าทำได้สำเร็จทั้ง 2 ข้างหรือไม่ ถ้าข้างใดยากกว่าอีกข้างหนึ่ง อาจลองเอียงคอหรือขยับขากรรไกรล่างไปอีกฝั่งหนึ่ง (เช่น ถ้าติดข้างซ้าย ให้เอียงคอหรือขยับขากรรไกรไปทางขวา) เพื่อช่วยเปิดท่อยูสเตเชียนข้างที่ติดขัดนั้น จะพบว่าเคลียร์หูข้างที่ติดได้ง่ายขึ้น อย่าลืมฝึกดำลงอย่างช้าๆ มีเวลาเช็คความรู้สึกต่างๆ ได้ทัน
- มีเลือดกำเดาไหลออกมา เลือดกำเดาที่ไหลออกมาระหว่างการดำน้ำฟรีไดฟ์ (หรือสคูบ้าก็เช่นกัน) มักจะเกิดจากการ block ของโพรงไซนัสภายในกระโหลกศีรษะ อาจเป็นขาลงสู่ความลึก (sinus squeeze) หรือขาขึ้นสู่ความลึก (reverse block) ก็ได้ ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง “เลือดกำเดาไหล เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ“
สิ่งที่มีส่วนทำให้ปัญหานี้เกิดง่ายขึ้นหรือแก้ไขยากขึ้น
นอกจากความผิดพลาดในขั้นตอน วิธีการ หรือจังหวะการเคลียร์หูแล้ว ยังมีปัจจัยโดยอ้อมอื่นๆ ที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยุ่งยากขึ้นอีก ซึ่งในที่นี้จะขอเน้นที่การออกสอบในทะเล เพราะมักจะเกิดปัญหาได้บ่อยและส่งผลกระทบมากกว่า (เช่น เรื่องค่าใช้จ่าย เวลาที่เสียไป และอาจเสียกำลังใจจนเลือกที่ไม่ไปต่อเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าเข้าใจเรื่องนี้ และเตรียมตัวมาดีพอ ก็สามารถผ่านได้ไม่ยากเลย)
- สภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย สำหรับนักดำน้ำที่ไม่คุ้นเคยกับทะเล เมื่อต้องออกทะเลไปสอบ Freedive Level 1 มักพบกับความเครียดในใจกับเรื่องคลื่น ลม กระแสน้ำ เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง (ซึ่งอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)
- สุขภาพที่ไม่พร้อม การพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะมีน้ำมูกได้ง่าย เคลียร์หูยาก เมาเรือง่ายขึ้น ไปจนถึงอ่อนล้าไม่มีแรงตีฟิน หรือไม่มีสมาธิในการปฏิบัติแต่ละขั้น
- อุปกรณ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่คุ้นเคย เช่น หากคุณใช้เว็ทสูทในระหว่างการฝึกและต้องใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนักด้วย เมื่อออกทะเลก็ควรจะเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ไปด้วย หรือหน้ากากที่พอดีกับใบหน้าและบีบจมูกเพื่อเคลียร์หูได้ง่าย
- ความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดหรือไม่เพียงพอ เรื่องนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมากของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือ ป้องกันได้โดยตรงด้วยการศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ไม่แน่ใจตรงไหนถามครูให้ชัดเจน หรือค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลดีๆ
กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด
- เข้าใจว่า เราสามารถทำการเคลียร์หูยาวๆ ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง จนถึงความลึกสูงสุดได้เลย
… ที่จริงแล้วกับนักดำน้ำบางคนที่มีประสบการณ์ สามารถเคลียร์หูยาวๆ เพื่อลงสู่ความลึกอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วได้ แต่นั่นคือ ผู้ที่ฝึกฝนมานานและสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับหูของตนเองจนเข้าใจและปรับวิธีการที่เหมาะกับตนเองได้แล้วจริงๆ อย่างลีดดำน้ำที่เคยต้องรีบลงไปช่วยนักดำน้ำในบางสถานการณ์ หรือนักฟรีไดฟ์ที่ฝึกฝนจนชำนาญ แต่สำหรับกฎการดำน้ำโดยพื้นฐานแล้ว การเคลียร์หูต่อเนื่องนานๆ ถือเป็นข้อห้ามกันเลยทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่า นักดำน้ำใหม่ควรจะทำหรือฝึกทำหรือไม่ - เข้าใจว่า การเคลียร์หูเป็นเรื่องที่แตกต่างกันไปตามความลึก ยิ่งลึกจะทำได้ยากขึ้น ถ้าฝึกที่ความลึกหนึ่งได้แล้วก็ให้ขยับลงไปฝึกที่ลึกขึ้นๆ ต่อไป และถ้าได้ฝึกให้คุ้นเคยอยู่ที่ความลึกนั้นๆ แล้วก็จะทำได้ง่ายขึ้นเอง
… จริงอยู่ที่ความคุ้นเคยต่อความลึก ก็มีส่วนช่วยให้เคลียร์หูได้ง่าย แต่นั่นหมายถึง ความคุ้นเคยจนทำให้ผ่อนคลาย มีสติในการควบคุมว่าเราจะต้องทำอะไรเมื่อไหร่และทำได้คล่อง ไม่ใช่ความคุ้นเคยโดยตรงที่ทำให้ง่ายขึ้น
… ด้วยความเข้าใจแบบนี้ บางคนจึงคิดว่า ต้องรอไปออกทะเลก่อนจึงจะได้ฝึกเคลียร์หูที่ความลึกมากกว่า 5-6 เมตร (เพราะสระว่ายน้ำที่เราจะหาที่ฝึกได้ก็ลึกสุดแค่นี้) ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราสามารถฝึกการเคลียร์หูได้แม้แต่ในสระลึก 3 เมตร และเมื่อฝึกได้คล่องดีแล้ว จะไปดำน้ำในที่ลึกกว่านั้นก็ทำได้เหมือนกัน (แต่ในครั้งแรก ความไม่คุ้นเคยหรือกลัวว่าอากาศจะไม่พออยู่นานๆ ก็อาจทำให้เคลียร์หูได้ยากขึ้นได้)
… ที่จริงแล้ว การเคลียร์หูจะง่ายหรือยาก ขึ้นกับความแตกต่างของความดันของน้ำภายนอกกับความดันอากาศในหูชั้นกลาง ไม่ว่าจะอยู่ที่ความลึกใดๆ ถ้าไม่ได้เคลียร์หูเพื่อปรับสมดุลบ่อยๆ ปล่อยให้ความแตกต่างของความดัน 2 จุดนี้ต่างกันมาก การเคลียร์หูก็จะยากขึ้น แต่ถ้าเคลียร์หูบ่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ความลึกใดก็ทำได้ง่ายพอๆ กัน - นักดำน้ำลืมสังเกตความลึกอย่างจริงจัง รวมถึงสังเกตอาการตึงๆ ที่หูอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในไดฟ์แรกสุดในชีวิตของเขา
… เรื่องนี้นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ครูสอนดำน้ำต้องเตือนนักเรียนไว้อย่างจริงจัง ว่าอาการที่หูของเรา สำคัญยิ่งกว่าการจะลงตามเพื่อนไปได้ทัน ครูดำน้ำต้องเน้นย้ำว่า แม้ว่าครูอาจจะต้องรีบตามลงไปดูนักเรียนคนที่อาจลงไปก่อนอย่างรวดเร็ว คนอื่นก็จะต้องไม่รีบตามครูลงไป แต่ให้ดำลงไปตามที่ตัวเองจะเคลียร์หูได้ทัน เท่านั้น! และหมั่นดูความลึกบ่อยๆ แม้ลงมาเพียงนิดเดียว ถ้ามีจังหวะหยุดพักก็ให้เคลียร์หูได้เลย ไม่ต้องรอให้ตึงหรือเจ็บหูแล้วค่อยเคลียร์หู
เทคนิคการฝึกเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยป้องกันหรือแก้ไขปัญหา
ทบทวนความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้องแม่นยำ บางครั้งเวลาในการเรียนกับครูอาจไม่เพียงพอสำหรับเรา จึงควรทบทวนเพิ่มเติมจากระบบหลักสูตรออนไลน์ของแต่ละสถาบัน หรือค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ เอาให้รู้จริงเข้าใจจริง
ส่วนเทคนิคการฝึกในสระ เพื่อฝึกฝนการเคลียร์หูให้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น (เป็นเทคนิคส่วนตัวของผมเอง) ได้แก่
- ฝึกลงสู่ความลึกอย่างช้าๆ ไม่ต้องรีบ เพื่อฝึกที่จะเคลียร์หูได้เป็นระยะๆ สม่ำเสมอ อย่ากังวลว่าจะลงได้ไม่ลึกเพราะกลั้นหายใจได้ไม่พอ … พึงระลึกว่า ถ้าเคลียร์หูไม่ได้ ก็ลงสู่ความลึกไม่ได้แม้ว่าจะกลั้นหายใจได้นานก็ตาม และเมื่อเคลียร์หูได้ราบรื่น และจิตใจมีความสงบผ่อนคลาย จะกลั้นหายใจได้นานขึ้นด้วย
- เมื่อกลั้นหายใจได้นานขึ้น ลองฝึกว่ายเล่นต่อใต้น้ำโดยต้องรีบขึ้นสู่ผิวน้ำ และขณะที่ว่ายเล่น ให้มีการปรับเปลี่ยนความลึกทั้งน้อยลงและมากขึ้นด้วย เพื่อฝึกเคลียร์หูเมื่อมีการเปลี่ยนความลึกได้บ่อยครั้งขึ้น ไม่รอฝึกการเคลียร์หูตอนลงจากผิวน้ำอย่างเดียว วิธีนี้เราจะได้สังเกตความรู้สึกตึงหรือเจ็บภายในหูจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันเพียงเล็กน้อย ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวใต้น้ำอีกด้วย เมื่อต้องออกทะเลจริง ถ้าคุณเคลียร์หูไม่ได้ที่ความลึกใด สามารถลอยตัวขึ้นมานิดนึง เมื่อเคลียร์หูได้แล้วก็ค่อยลงสู่ความลึกต่อไปได้
บทความนี้เขียนขึ้นบนความตั้งใจให้นักเรียนดำน้ำฟรีไดฟ์ทุกคน ได้เข้าใจเรื่องนี้อย่างทั่วถึงเพียงพอ ได้เตรียมความพร้อมก่อนไปออกทะเลจริง และได้สอบผ่านหลักสูตรขั้นแรกอย่างราบรื่น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย มิใช่เพื่อให้เกิดความกังวลหรือกลัวจนตัดสินใจเลิกเรียนเลิกไปสอบ แต่เพื่อความปลอดภัยและความสนุกสนานในการดำน้ำฟรีไดฟ์ ไปจนถึงความภูมิใจอิ่มเอิบใจ เมื่อคุณทำได้และสอบผ่านเป็นนักดำน้ำฟรีไดฟ์เต็มตัว
แล้วมาดำฟรีไดฟ์กันนะครับ 🙂
เรียบเรียงโดย | ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล |
---|---|
อ้างอิงจาก |