อาการนี้ นักดำน้ำหลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์กับปัญหานี้มาก่อน หรืออาจเคยสังเกตเห็นจากเพื่อนนักดำน้ำ ว่ามีเลือดไหลออกจากจมูกมาขังอยู่ใน nose pocket หรือ skirt ของหน้ากากดำน้ำ และอาจสงสัยว่า สาเหตุนั้นมาจากอะไร และจะป้องกันอย่างไร
สาเหตุ
เกิดจากเยื่อบุโพรงไซนัสที่หน้าผาก (frontal sinus) เกิดการฉีกขาด ขณะดำลงสู่ใต้ผิวน้ำ ปัญหามักเริ่มจากการที่ช่องเปิดของโพรงไซนัส (sinus ostia) ที่เปิดเข้าสู่โพรงจมูกมีการอุดตัน การอุดตันอาจเกิดจากการมีเยื่อเมือกหรือน้ำมูกไปอุดกั้น ostia นั้นอยู่ เมื่อมีการดำลง ความดันบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาตรของอากาศที่อยู่ในโพรงไซนัสหดตัวลง และนักดำน้ำไม่สามารถปรับความดันภายในโพรงไซนัสนั้นให้เท่ากับบรรยากาศที่เปลี่ยนไปได้ เนื่องจากมีการอุดตันข้างต้น … ปริมาตรอากาศที่ลดลงจะทำให้เกิดแรงดึงไปยังเยื่อบุผิวของโพรงไซนัส (mucosa) เป็นผลให้เลือดในหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุมีเพิ่มมากขึ้น จนเกิดอาการบวดของเยื่อบุ จนเมื่อแรงดันบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ปริมาตรอากาศลดลงมากขึ้น และแรงดึงที่กระทำต่อเยื่อบุมากขึ้น ในที่สุดเยื่อบุก็จะเกิดการฉีกขาด ทำให้มีเลือดไหลออกมาสู่โพรงไซนัสนั้น แต่เนื่องจากยังมีการอุดตันของช่องเปิดโพรงไซนัส เลือดจึงถูกขังอยู่ภายใน และยังไม่ไหลออกมา จนกระทั่งเมื่อนักดำน้ำเริ่มว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ เมื่อความดันบรรยากาศเริ่มลดลง อากาศในโพรงไซนัสเริ่มขยายตัว ปริมาตรที่เพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดแรงดันภายในโพรงไซนัสมากพอที่จะดันเยื่อเมือกที่อุดอยู่ที่ ostia ให้หลุดออก จึงทำให้เลือดที่ถูกขังอยู่ภายใน ไหลลงสู่โพรงจมูก แล้วไหลออกทางรูจมูก จนสังเกตเห็นได้ อาจจะตั้งแต่ใกล้ถึงผิวน้ำหรือที่ผิวน้ำ
อาการแสดง
เริ่มจากอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณไซนัสขณะดำลง ซึ่งเป็นอาการแสดงว่า นักดำน้ำท่านนั้นมีปัญหาเรื่องไม่สามารถปรับความดันในโพรงไซนัส ให้เท่ากับความดันบรรยากาศภายนอกที่ความลึกนั้นๆ ได้ อาการมักเกิดที่บริเวณหน้าผากอันเป็นบริเวณของ frontal sinus … อาการปวดที่พบมักเป็นลักษณะหน่วงๆ ตึงๆ แน่นๆ อาการปวดนี้จะเบาลง ถ้านักดำเปลี่ยนความลึกมาสู่ระดับที่ตื้นมากขึ้น และพบว่าจะมีเลือดหรือน้ำมูก ไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงลำคอขณะว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ
การป้องกัน
– หลีกเลี่ยงการดำน้ำ เมื่อมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เป็นหวัด ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ทอลซิลอักเสบ หรือโพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น เพราะภาวะเจ็บป่วยดังกล่าว มักมีอาการบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจ และมีสารคัดหลั่งพวกน้ำมูกและเสมหะที่จะนำไปสู่การอุดตันของช่องเปิดโพรงไซนัสได้ หรือถ้าจำเป็นต้องดำน้ำ ควรพบแพทย์เพื่อรับยาในการรักษาและควบคุมอาการอย่างเหมาะสม
– การสูบบุหรี่ จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจมีการระคายเคือง มีสารคัดหลั่งมาก และทำให้การปรับความดันในไซนัสหรือในหูชั้นกลางเป็นไปได้ยากกว่าปกติ
– หากมีโรคประจำตัวพวกภูมิแพ้ ที่มีอาการคัดจมูกบ่อยๆ อาจต้องควบคุมด้วยการใช้ยาพ่นจมูกกลุ่มที่เป็น steroid อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก่อนการไปดำน้ำ
– การดำลงสู่ผิวน้ำ แนะนำให้ดำลงในลักษณะ feet-first จะเหมาะสมที่สุด เพราะจะปรับแรงดันในช่องหูและโพรงไซนัสต่างๆ ได้ง่ายกว่า head-first มาก
– การซื้อยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้รับประทานเอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำจะปลอดภัยที่สุด แต่หากจำเป็นต้องซื้อมาทานเอง แนะนำให้เลือกตัวที่ไม่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงซึม เพราะจะเป็นอันตรายเมื่อฤทธิ์ยาไปเสริมฤทธิ์กันกับ nitrogen narcosis
– หากมีข้อสงสัย หรืออาการที่เป็นบ่อยและรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำครับ
เขียนโดย | หมอเอ๋ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 27 ธ.ค. 2554 |