Losin Rock and Malaysia-Thailand Joint Development Area

โลซิน กองหินแห่งประวัติศาสตร์ของแหล่งก๊าซธรรมชาติไทย

กองหินโลซิน นอกจากจะเป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสมบูรณ์ของปะการัง จนมีนักดำน้ำทั้งไทยและต่างชาติหาทริปดำน้ำลึกไปกันมากมายทุกๆ ปีแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญด้านทรัพยากรพลังงานของไทยในฐานะเป็นจุดอ้างอิงที่ทำให้เราได้มีส่วนแบ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติ MTJDA (Malaysia-Thailand Joint Development Area) บริเวณขอบใต้สุดของอ่าวไทยอีกด้วย หากไม่มีกองหินโลซินแล้ว เราคงไม่สามารถอ้างสิทธิ์เพื่อแบ่งผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติมูลค่าหลายแสนล้านบาทนี้ได้เลย

เริ่มต้นจากความต้องการใช้ทรัพยากรใต้ทะเล

เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกองหินโลซินและการอ้างสิทธิ์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ เริ่มต้นในยุคที่มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันกันอย่างจริงจังราวปี พ.ศ. 2511 เมื่อทางการไทยประกาศพิกัดแนวเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยโดยประมาณ เพื่อกำหนดแปลงสำรวจให้เอกชนมายื่นขอนุญาตดำเนินการสำรวจได้

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง ทางมาเลเซียก็เริ่มออกแปลงสำรวจปิโตรเลียมของตนเองบ้าง โดยอาศัยแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของไทยเป็นแนวอ้างอิงและให้สิทธิ์แก่เอกชนลงมือสำรวจ จนในปีพ.ศ. 2514 บริษัท Esso Production Malaysia Inc. (EPMI) ก็ได้สำรวจพบก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ MTJDA นี้

ก่อนหน้านั้น การใช้พื้นที่ในทะเลเพื่อประโยชน์ของประเทศต่างๆ ในแถบนี้ยังไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องเขตแดนมากนัก แม้จะมีข้อตกลงเรื่องนี้อยู่ในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) แล้วก็ตาม แต่ละประเทศก็ยังไม่ได้มาทำความตกลงกันให้เรียบร้อย เรือประมงของแต่ละชาติยังคงออกเรือทำประมงกันได้ทั่วไป จนกระทั่งเมื่อมีความตื่นตัวในเรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมใต้พื้นทะเลนี่เอง (มีการสำรวจพบแหล่งน้ำมันในเขตไหล่ทวีปหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศอินโดนีเซียที่อยู่ใกล้ไทยกับมาเลเซียด้วย) ไทยเราและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม จึงเริ่มนัดประชุมทำข้อตกลงเรื่องอาณาเขตทางทะเลกันเป็นการใหญ่

แผนที่อาณาเขตที่เลือกใช้ต่างกัน

ในปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ซึ่งทางการไทยประกาศเชิญชวนให้เอกชนมายื่นคำขออนุญาตสำรวจปิโตรเลียมกันนั้น ได้มีการจัดทำแผนที่หมายเลข 68 A ขึ้นมาเพื่อแสดงขอบเขตแปลงสำรวจด้วย แผนที่นี้แสดงแนวขอบเขตไหล่ทวีป (continental shelf หรืออีกนัยหนึ่งคือเขตแดนทางทะเล) ของไทยโดยประมาณ ซึ่งมิได้กำหนดพิกัดของจุดต่างๆ อย่างชัดเจน และมิได้ระบุว่าไทยจะยึดเอาแผนที่ดังกล่าวเป็นขอบเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของประเทศไทยในอ่าวไทยแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์แต่ฝ่ายเดียว (unilateral claim) ไม่ใช่ข้อสรุปร่วมกันระหว่างประเทศ

Thailand Petroleum Exploration Map 68 A

เมื่อทางการไทยตระหนักว่า ต้องมีการเจรจาตกลงกันในเรื่องขอบเขตทางทะเลกันก่อนที่จะดำเนินการสำรวจต่างๆ ต่อไปจะเป็นการดีกว่าในระยะยาว จึงได้พิจารณาปรับปรุงแผนที่แนวขอบเขตไหล่ทวีปให้มีความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมใช้ในการตกลงร่วมกัน ก็ได้มีการสำรวจและจัดทำแผนที่ฉบับใหม่ออกมาในปี พ.ศ. 2514 (ฉบับ ป.2, ป.3, และ ป.4) โดยครั้งนี้ใช้อิทธิพลของกองหินโลซิน (หรือเรียกว่า “เกาะโลซิน” ในสมัยนั้น) ซึ่งยังถือว่าเป็นหมายที่ใช้เป็นแนวเขตแผ่นดินได้ตามนิยามของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 (ดู Part II: Territorial Sea and Contiguous Zone) ทำให้แนวเขตไหล่ทวีปเปลี่ยนไปจากแผนที่ 68 A คือกินพื้นที่ลงทางใต้มากขึ้นและได้พื้นที่เขตแดนทางทะเลเพิ่มขึ้นมาอีก

Thailand Petroleum Exploration Map P.4/2514

ฝ่ายมาเลเซียนั้น เมื่อไทยประกาศใช้แผนที่ 68 A (พ.ศ. 2511) ทางมาเลเซียเองพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองไม่เสียประโยชน์อะไรจากที่ควรจะเป็น ก็ได้ประกาศแนวขอบเขตไหล่ทวีปของตนเองในปีเดียวกัน โดยกำหนดแนวเขตสอดคล้องกับแนวของไทยในแผนที่ 68 A ด้วย ซึ่งก็ยังคงเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์แต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน (ไม่ได้มาตกลงร่วมกันก่อนประกาศ)

ดังนั้น การที่ไทยปรับปรุงแผนที่และประกาศแนวขอบเขตใหม่ในปี พ.ศ. 2514 นั้น พื้นที่ที่ไทยเราประกาศใหม่ย่อมทับซ้อนกับพื้นที่ของมาเลเซียไปโดยปริยาย และก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวโดย Esso (หรือ EPMI) ด้วย แน่นอนว่า ทางการมาเลเซียไม่ยอมรับแนวขอบเขตไหล่ทวีปตามแผนที่ใหม่และยืนกรานจะใช้แผนที่ของตนเองที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว

ผลของความขัดแย้งนี้ทำให้ทั้งมาเลเซียและไทยจำต้องให้เอกชนทุกรายยุติการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ดังกล่าวไว้ก่อน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) เป็นต้นมา จนกว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

เกาะโลซิน ส่งผลอย่างไรต่อเขตแดนทางทะเลของไทย

ในแผนที่ 68 A นั้น เส้นแนวเขตแดนทางทะเลของไทยจะเริ่มจาก ปากแม่น้ำโกลก ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซียตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับเส้นพรมแดนระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ ค.ศ. 1909 แล้วลากเส้นตรงตั้งฉากกับแนวปากแม่น้ำออกไปยังอ่าวไทย ใช้เป็นเขตแดนทางทะเลโดยประมาณ ที่ทางการไทยมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัยจากการทำผิดต่ออนุสัญญาเจนีวากับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเล (Convention on the Law of the Sea) ในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 เกาะโลซินยังคงเป็นเกาะตามนิยามในข้อตกลง ทั้งยังมีประภาคารซึ่งตั้งอยู่มานานมากแล้วด้วย (Part II, Section 2) เราสามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงลากเส้น baseline จากปากแม่น้ำโกลกไปยังเกาะโลซิน แล้วใช้เส้น baseline นี้เป็นแนวอ้างอิงเพื่อกำหนดเขตไหล่ทวีปได้ ซึ่งก็จะได้แนวเขตแดนตามที่ทางการไทยได้ปรับปรุงใหม่ในพ.ศ. 2514 ดังภาพ (เส้น baseline นี้ลากผ่านเกาะโลซิน เกาะกระ เกาะสมุย และเกาะอีกจำนวนหนึ่งในทะเลชุมพร)

Map displaying the baseline passing Ko Losin and all continental shelf lines claimed
แผนที่แสดงเส้น baseline และแนวเขตแดนทางทะเลที่ไทยอ้างสิทธิ์

การประชุมเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้ง

นับตั้งแต่พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ทั้งมาเลเซียและไทย ต่างก็มีความพยายามจะแก้ไขข้อขัดแย้งนี้เพื่อให้การสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินต่อไปได้โดยเร็ว เพราะต่างก็เผชิญปัญหาจากวิกฤตการณ์น้ำมันในตลาดโลกอยู่ จึงต้องการความมั่นคงทางพลังงานโดยเร็วที่สุด แม้ในยุคนั้นก๊าซธรรมชาติยังเป็นพระรอง ไม่น่าสนใจเท่ากับน้ำมัน ก็ตามที

  • พ.ศ. 2515 มีการนัดเจรจากันอย่างเป็นทางการ ซึ่งผลการเจรจาก็เป็นไปด้วยดี สามารถตกลงกันได้เรื่องการปรับตำแหน่งพรมแดนให้เหมาะกับสภาพปากแม่น้ำโกลกที่เปลี่ยนแปลงไป และลากเส้นเขตแดนในทะเลต่อออกไปได้ 25.5 ไมล์ทะเล ส่วนพื้นที่ทับซ้อนยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงพักค้างไว้ก่อนและตกลงจะเร่งนัดประชุมกันใหม่โดยเร็ว แต่หลังจากนั้นประเทศไทยก็เข้าสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองในพ.ศ. 2516
  • พ.ศ. 2519 ไทยพยายามจะนัดเจรจากับมาเลเซีย แต่ทางมาเลเซียแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ของตนติดภาระประชุมอื่นอยู่ (สาเหตุที่แท้จริงอาจเป็นเพราะมาเลเซียต้องการรอผลการประชุมอนุสัญญาเจนีวาเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลครั้งที่ 3 ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ (เสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1982 หรือพ.ศ. 2525) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกำหนดให้เกาะเล็กๆ ไม่มีเขตไหล่ทวีปและจะทำให้ไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเกาะโลซินในการอ้างแนวเขตได้)
  • พ.ศ. 2521 การเจรจาครั้งที่ 2 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ไม่ประสบผลเท่าไรนัก เพราะทั้งสองฝ่ายยังยืนยันในจุดยืนเดิมของตนเอง เกิดผลเพียงการลากเส้นกำหนดจุดที่แต่ละฝ่ายเห็นว่าควรจะเป็นเส้นเขตแดนทางทะเลของตนเองให้ชัดเจน ซึ่งพบว่าทับซ้อนกันอยู่ประมาณ 7,250 ตร.กม.
  • ปลายปี พ.ศ. 2521 นายกรัฐมนตรีฮุสเซ็น ออนน์ ของมาเลเซียเสนอให้มีการปรึกษาหารือในระดับนายกรัฐมนตรีในหลักการบางอย่างก่อน คือเสนอให้ทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าว และพักเรื่องการแบ่งเขตประเทศไว้ก่อน ซึ่งฝ่ายไทยก็เห็นด้วย
  • เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงได้มีการประชุมกันในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน (Joint Development Area: JDA) อย่างเป็นทางการและเกิดเป็น MOU Chiangmai หรือบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งองค์กรร่วมระหว่างไทย-มาเลเซียเพื่อแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว มีอายุ 50 ปี
Map displaying the baseline passing Ko Losin and MTJDA
แผนที่แสดงเส้น baseline และเขตพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area)

ปัจจุบัน การสำรวจและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินการโดย Malaysia-Thailand Joint Authority (MTJA) โดย 2 ประเทศแบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและรับผลประโยชน์จากการดำเนินการคนละ 50% และแบ่งปริมาณก๊าซที่ผลิตได้คนละ 50%

ส่วนเรื่องการกำหนดแนวเขตแดนทางทะเลร่วมกัน ยังคงเป็นคำถามที่รอการเจรจาสรุปกันต่อไปในอนาคต ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามสำหรับไทยเรา ในเมื่ออนุสัญญาเจนีวา ส่วนของข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเล ได้รับการปรับปรุงใหม่และประกาศใช้แล้วเมื่อปี ค.ศ. 1982 ซึ่งเกาะโลซินมีสถานภาพเป็นเพียงกองหินเท่านั้น และไม่สามารถใช้อ้างอิงเป็น baseline ได้อีกต่อไป

 

เขียนโดยศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
อ้างอิงจาก