Diving with current - 001

ดำน้ำในกระแสน้ำแรงทำอย่างไร

เมื่อวานเจอคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้เลยอยากเล่าเรื่องนี้ ให้นักดำน้ำมือใหม่แบบผมฟัง

ถ้าเราดำๆ อยู่ แล้วเจอกระแสน้ำแรง หรือมีความจำเป็นต้องดำผ่านไปในบริเวณนั้น  (ไดฟ์หลีดคิดว่าจำเป็น) เราต้องทำอย่างไร

โดยปกติแล้ว ครูดำน้ำหรือไดฟ์หลีดส่วนใหญ่เมื่อดำน้ำไปพบกระแสน้ำแรง มักจะเปลี่ยนเส้นทางหลบหรือย้อนกลับ จะไม่พานักดำน้ำมือใหม่แบบผมผ่านเข้าไป เพราะแกขี้เกียจเหนื่อยใจกับการดูแลเรา 555

เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือกรณีที่แกประเมินความสามารถของนักดำน้ำในกลุ่มสูงเกินไป หรือแกพลาดนั่นเอง ซึ่งผมมักโดนบ่อยๆ ผมดำน้ำดูดีแต่แรงอาจมีไม่ถึง 5555

การดำน้ำในพื้นที่ที่มีกระแสแรง เรามีวิธีการดำให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ดังนี้

กรณีเป็นพื้นทะเลเป็นผืนทรายกว้างใหญ่ ไม่มีปะการังและไม่ลึกมาก (ไม่เกิน 10 – 15 เมตร)

เราจะดำให้ใกล้พื้นทะเลที่สุด เพราะอะไรน่ะเหรอครับ เพราะที่พื้นทะเลน้ำทะเลจะมีแรงเสียดทานกับพื้น
บริเวณนั้นกระแสน้ำจะไหลช้ากว่าระดับที่สูงขึ้นมาเหนือพื้นทะเล และที่ต้องดูว่าไม่ลึกมากจนเกินไป ก็เพราะว่า
No Decompression Time และอากาศจะได้ไม่หมดเร็วจนเกินไป ถ้าดำแบบนี้แล้วยังสู้กระแสน้ำไม่ได้
ให้เอาพอยเตอร์ปักพื้นทรายครับ แล้วตีขาแล้วขยับตัวไปเรื่อยๆ จนพ้นแนวกระแสน้ำ ผมเคยใช้วิธีนี้ ก่อนโดนดูดออกจากแนวเกาะ วิธีนี้ใช้ได้ดีครับถ้าเป็นพื้นทราย

กรณีที่พื้นมีโขดหินหรือปะการังขึ้นจำนวนมาก

วิธีเอาตัวรอดเวลาเจอกระแสน้ำแรง คือดำอยู่หลังโขดหินครับ เหมือนเล่นเกมตำรวจจับผู้ร้าย คือโขดหินจะช่วยบังกระแสน้ำให้เราเป็นจุดๆ เราจะได้พักเหนื่อยหลังโขดหิน เมื่อเห็นโขดหินอันต่อไปเราก็ดำไปหาโขดหินนั้นและพักเหนื่อย ทำแบบนี้จนหลุดจากแนวกระแสน้ำ แต่ข้อควรระวังคืออย่าดำเล่นสนุกจนไปทำปะการังเสียหายนะครับ

แต่ถ้ามันวิกฤตจริงๆ ก็เลือกจับโขดหินหรือเอาพอยเตอร์ปักทรายบริเวณหลังโขดหินก็ได้  เหตุการณ์แบบนี้ผมเคยเจอที่เกาะเต่าครั้งนึงตอนจะดำออกไปที่แหลมเพื่อไปดูทุ่งปะการังอ่อนแบบฝั่งอันดามันที่อยู่ที่เกาะเต่า แต่ไปไม่ถึง ต้องรีบหนีกลับมา เหนื่อยแทบแย่ 555

ในกรณีที่เป็นเกาะที่มีแนวปะการังอยู่ด้านข้างซ้ายมือหรือขวามือ

ให้ดำชิดแนวปะการังด้านนั้นด้วยเหตุผลเดียวกันกับข้อ 1 และ 2 แต่ระวังอย่าให้อุปกรณ์ดำน้ำเราไปเกี่ยวเข้ากับปะการังนะครับ เพราะส่วนใหญ่แนวผนังแบบนั้น ปะการังที่ยื่นออกมามักจะเป็นซีแฟนและปะการังอ่อน
อ้อ..มีหอยเม่นด้วยนะครับ ระวังหอยเม่นจะเสียหายด้วย 555 สภาพแบบนี้แถวเกาะบอน ริชิริว อันดามันเหนือจะเจอบ่อยครับ

ในกรณีที่เราดำตามหลังหลีดอย่างเวิ้งว้างอยู่กลางน้ำทะเลสีครามแล้วเจอกระแสน้ำแรง

ไม่มีอะไรให้หลบ ไม่มีอะไรให้เกาะ ไม่มีอะไรให้บัง พื้นทะเลก็อยู่ลึก ต่างจากระดับที่ไดฟ์หลีดดำอยู่มาก ถ้าเจอกรณีแบบนี้เตรียมตัวได้เลย มันแย่ที่สุด (ไดฟ์หลีดคงร้อนวิชา Rescue 5555)

เราต้องทำตัวให้อยู่ในแนวเดียวกับกระแสน้ำ อยู่ใน streamline ของกระแสจะได้ไม่ต้านกระแสมากจนเกินไปและไม่ต้องตีขาถี่แบบไม่หยุดพัก เพราะเราจะยิ่งเหนื่อยและหมดแรง

การเหนื่อยใต้น้ำไม่เหมือนบนบกนะครับ บนบกเราแค่หยุดแล้วก็หอบ อ้าปากหายใจแรงๆ สัก 3 นาที เราก็จะหายเหนื่อย แต่ใต้น้ำเราไม่สามารถอ้าปากสูดหายใจเพิ่มได้เหมือนบนบก และจะทำให้เราเป็นอันตรายมากกว่ามาก

แล้วแบบนี้ทำไงล่ะ?

มันมีทฤษฎีการลู่น้ำครับ เนื่องจากน้ำเป็นของไหล มันจะผ่านตัวเราไป โดยที่ทำให้ตัวเราเคลื่อนไปข้างหลังเล็กน้อย การตีขาอย่างมีประสิทธิภาพก็จะชดเชยการไหลไปข้างหลังได้ ไม่จำเป็นต้องตีถี่เหมือนว่ายน้ำ

ลองนึกถึงเครื่องบินสิครับ เครื่องบินต้องบินด้วยความเร็วเพื่อให้ยกตัวลอยขึ้นไปในอากาศได้ แต่ในทางกลับกันถ้าเราเอาอากาศเป่าไปที่ปีกเครื่องบิน เครื่องบินที่จะลอยขึ้นได้ และอาจจะอยู่ได้นิ่งๆ กับที่โดยที่มีอากาศไหลผ่านตัวมัน ทำนองเดียวกันครับ น้ำกับตัวเราก็เหมือนอากาศกับเครื่องบิน ถ้าเราทำตัวให้ถูกต้อง น้ำจะยกตัวเราขึ้นโดยที่ทำให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหลังเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้นการตีขาที่มีประสิทธิภาพแล้วหยุดพักเป็นจังหวะ จะทำให้ตัวเราอยู่กับที่ไม่ถอยไปข้างหลัง และหากเราตีเพิ่มขึ้นอีกสัก 2 – 3 ครั้ง ตัวเราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วเราก็หยุดพักในกระแสน้ำนั่นล่ะครับ
หัวใจสำคัญ คือ “ต้องรักษาตัวเองไม่ให้เหนื่อยใต้น้ำเด็ดขาด”

ผมรู้เพราะผมเหนื่อยบ่อยมากเพราะลากบัดดี้ผ่านกระแสน้ำบ่อย ไม่ลากก็ไม่ได้ เดี๋ยวไม่มีคนทำของอร่อยให้กิน 555

กรณีสุดท้าย หากกระแสน้ำแรงจนไม่ไหวจริงๆ

ให้ดำน้ำเข้าไปหาบัดดี้ ไดฟ์หลีด ครูดำน้ำ แล้วส่งสัญญาณบอกว่าไม่ไหว ขอขึ้น
ให้จับกลุ่มกันขึ้น อย่าขึ้นคนเดียว การอยู่กันเป็นกลุ่มจะช่วยให้เรือสังเกตเห็นได้ง่าย และช่วยเหลือกันได้ง่ายที่ผิวน้ำ และขึ้นมานอนชิวๆ บนเรือดีกว่าลงไปว่ายแข่งกับปลาไม่มีประโยชน์อะไร

ทะเลไม่ใช่ที่ของเรา ยิ่งใต้ทะเลยิ่งไม่ใช่ที่ของเราใหญ่เลย

ถ้าลงไปเหนื่อยอยู่ใต้น้ำ ร่างกายของน้องจะต้องการออกซิเจนเพื่อชดเชยให้ร่างกายหายเหนื่อย เราไม่สามารถอ้าปากเพิ่มออกซิเจนได้ ใต้น้ำร่างกายจะตอบสนองด้วยการหายใจสั้นๆ และถี่ๆ การหายใจลักษณะนี้อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Dead Air Space ขึ้นได้ มันคืออะไร เรื่องนี้น้องๆ ลองไปถามครูดำน้ำของน้องดูนะครับ เรื่องมันยาว

สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากไปยังนักดำน้ำมือใหม่แบบผมว่า การดำน้ำในกระแสน้ำ เป็นทักษะที่ไม่ค่อยมีการสอนและไม่มีให้ฝึกฝน เพราะส่วนใหญ่เราจะดำหลบกระแสน้ำแรง แต่หากถึงคราวจำเป็น เราจำเป็นต้องใช้ทักษะนี้เหมือนกัน ดังนั้นในการดำน้ำทั่วๆ ไปซึ่งกระแสน้ำไม่แรงมากนัก เราควรทดลองฝึกการดำน้ำลักษณะแบบนี้ดูบ้าง โดยใช้จินตนาการของเราว่าขณะนี้เรากำลังดำน้ำอยู่ในกระแสน้ำที่แรง แบบนี้จะปลอดภัยและสนุกดี

ปล. ผมขโมยรูปเพื่อนของผมกับบัดดี้ของผม กำลังแข่งว่ายน้ำกัน ตีขากันใหญ่เลย 5555 อุ๊ยไปหัวเราะเขาไม่ได้เป็นมารยาทไม่ดี

บทความจาก Facebook: Keng Krob