การดำน้ำ ช่วยให้ใช้ชีวิตเป็น และเข้าใจชีวิตมากขึ้น

จะว่าไปแล้ว ทักษะทุกอย่างในการใช้ชีวิต เมื่อเราทำเป็นประจำจนเกิดความเชี่ยวชาญ และพัฒนากลายเป็นความคุ้นเคย ย่อมน่าจะส่งผลให้เราได้รับประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากทักษะที่เพิ่มขึ้น เราจึงสงสัยใคร่รู้ว่า สำหรับการดำน้ำ Scuba นั้น จะมีผลดีในด้านอื่น สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบไปดำน้ำเป็นร้อยครั้งพันครั้งหรือไม่ ซึ่ง AWAY ได้รับเกียรติจาก ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ หรือครูเบิ้ม นักจิตวิทยาการกีฬา และยังเป็น dive instructor ที่มีประสบการณ์ ในการดำน้ำมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี มาร่วมสนทนาพูดคุยในประเด็นที่เราสงสัย

“หากจะถามว่า ทักษะในการดำน้ำมีผลต่อวิถีการใช้ชีวิต ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้นหรือไม่นั้น คงต้องยกตัวอย่างในเรื่องของคนที่ขับรถ กับคนที่ไม่ได้ขับรถก่อน เพราะคนที่ขับรถ ย่อมต้องมีการวางแผนการเดินทางใช่ไหมครับ ว่าจะไปไหน เลือกใช้เส้นทางไหนถึงจะดี คือคนขับรถที่ดีมักมีการเตรียมการ คิด และวางแผนล่วงหน้า จนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว คนที่ดำน้ำก็จะมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ที่พิเศษกว่าคือจะมีการเน้นในเรื่องประเด็นของ ความปลอดภัยมากกว่า เน้นเรื่องการให้ความสำคัญในการมีสมาธิ เพราะฉะนั้น ทักษะที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นอุปนิสัย เป็นทักษะที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดแล้ว คือสามารถทำได้ทันที เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ หรือมีผลกับเรื่อง ความปลอดภัย คนที่ดำน้ำมามากๆ จะมีทักษะในเรื่องนี้ค่อนข้างดีกว่าคนทั่วไป คือจะใจเย็น มีสติและมีสมาธิที่ดี สามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ ที่ไม่คาดคิดขึ้นอย่างทันท่วงที และโดยเฉพาะนักดำน้ำที่พัฒนาจากนักดำน้ำทั่วไป มาเป็น dive master ในส่วนนี้จะเห็นได้ชัดเจน พูดได้เลยว่าทั้ง 100% เต็ม อุปนิสัยการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปเลย จะกลายเป็นคนละคน รู้จักดูแลตัวเอง และห่วงใย คนอื่นมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำน้ำถูกสอนให้ต้องคอยดูแลบัดดี้ ไม่ปล่อยให้ คนที่อยู่ตรงหน้าเราต้องคลาดสายตา และด้วยหน้าที่ของคนที่มาเป็น dive master ที่ต้องเป็นครูสอนในเรื่องทักษะการดำน้ำ ก็จะมีความใจเย็น เข้าใจความแตกต่างของคน แต่ละคน รู้ว่าบางคนเขาใจร้อน บางคนเขาไม่มีกำลังใจ ก็ต้องหาวิธีที่จะช่วยให้เขา สามารถมีทักษะในการดำน้ำที่ดีจนได้ ถือว่าก้าวสู่การเติบโตเป็นคนที่มีความเมตตาสูง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้เริ่มมาดำน้ำ ย่อมเป็นพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนอุปนิสัย หลายๆ อย่าง ให้ใจเย็น กลายเป็นคนไม่เร่งรีบในการตัดสินใจ มีความใส่ใจ ที่จะดูแลคนอื่นมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือเรื่องระบบการหายใจ เพราะการดำน้ำนั้น ต้องหายใจ เข้าออกให้เหมาะสม และส่วนมากจะเป็นการหายใจยาว ลึก ช้า และสม่ำเสมอ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่มีโอกาสได้สอนคนที่มาเรียนดำน้ำ พบว่าคนเมือง ส่วนใหญ่หายใจสั้นมากๆ จนเป็นปกตินิสัย การหายใจสั้นนั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจาก ภาวะความเครียดจากการทำงาน ซึ่งบางคนอายุยังน้อยมากแค่ 20 ต้นๆ เท่านั้น แต่หายใจสั้นเหมือนคนแก่เลย แต่หลังจากที่ได้มาเรียนดำน้ำแล้ว ก็จะค่อยๆ มีการควบคุมการหายใจที่ดีขึ้น ใจเย็นขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นผลดี กับการนำกลับไปใช้ในชีวิตปกติครับ

Pichit Muangnaphoeดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์
  • นักจิตวิทยาการกีฬา
    ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
    คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • Dive Instructor
  • อดีตนักกีฬา Free Diving