มันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย

#มันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย

20.7.60

สัปดาห์ที่แล้วฉันกับเพื่อนสนิทไปเรียนดำน้ำลึก (scuba diving) กันมา

ในเบื้องแรก สิ่งที่ดูน่ากลัวที่สุด สำหรับคนที่รู้แค่ทฤษฎี แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ตรง คือ ภาวะประเภทที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาล อย่างเช่น Decompression sickness, ปอดแตก (pneumothorax) เป็นต้น

คิดแล้วรู้สึกปอดแหกหน่อยๆ

ต่อเมื่อได้ลงน้ำ เราจึงประจักษ์ว่า โอกาสเกิดภาวะร้ายแรงแบบนั้น มันมีน้อยยยจริงๆ … มันไม่ได้เกิดกับใครง่ายๆ

คล้ายๆ กับที่ว่า คนหล่อหรือสวยจัดๆ ก็มีแค่หยิบมือของสังคม … และมักไม่ได้ตกมาเป็นแฟนเรา

ตอนเรียนภาคทฤษฎี

ข้อสอบข้อหนึ่งถามว่า
“ถ้าหากช่วงดำน้ำลงไป เกิดอาการหูอื้อ จัดการไม่ได้ จะต้องทำอย่างไร?”
ฉันกับเพื่อน ลังเลระหว่างคำตอบสองข้อ
1. หยุดอยู่กับที่ แล้วเคลียร์หูจนกว่าจะได้ ค่อยลงต่อ
2. ลอยขึ้นไปสูงขึ้น 1-2เมตร แล้วเคลียร์หูจนกว่าจะได้ ค่อยลงต่อ
เราไม่แน่ใจว่าหมายถึง ได้พยายามเคลียร์แล้วแต่ไม่สำเร็จ หรือ สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเจอปัญหานี้

ครูเฉลยข้อ 2. ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป หากข้อ 1. ไม่ได้ผล

เราสองคนจำวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้แม่น เพราะครูเน้นมากว่า ต้องเคลียร์หูให้ได้ เพราะถ้าไม่ได้จะเจ็บ …. ซึ่งจะเจ็บไปตลอด

คงไม่ใช่ตลอดชีวิต แต่อาจจะเป็นตลอดเวลาเกือบชั่วโมงในแต่ละไดฟ์ (ทั้งหมด 4 ครั้ง ใน 2 วัน) หรือตลอดสัปดาห์

พวกเราไม่ได้ถามละเอียดไปกว่านั้น เพราะในเมื่อเรามีวิธีรับมือ ก็ไม่ต้องกังวลอะไรเกินไป

เราสอบในทะเลครั้งแรก ที่เกาะง่ามใหญ่

ทักษะที่เคยฝึกในสระว่ายน้ำลึก 2 เมตร
เรามาทำมันที่ 12 เมตรใต้ทะเล

แต่เพียงไม่กี่เมตรจากผิวน้ำ ทั้งฉันและเพื่อนก็รู้สึกปวดหู

มันไม่ใช่แค่การอื้อแบบเวลาเครื่องบินขึ้น แต่มันคือความรู้สึกปวดจี๊ด

เราพยายาม “เคลียร์หู” อยู่ตลอด – เบ่งลมออกหู โดยหายใจออกทางจมูกที่ถูกบีบไว้ (Valsalva Maneuver) แต่อาการปวดก็แหลมเสียดขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะทางที่เราดิ่งลงไปเบื้องล่าง

ทั้งฉันและเพื่อนพยายามส่งสัญญาณมือว่า “ไม่โอเค” แล้วชี้ที่หู

ครูรับรู้ แต่ก็เพียงทำท่าบีบจมูกเบ่งลมออกหูตอบ … ก่อนจะพาเราทั้งคู่ลงลึกไปอีก

มืออูมๆ จากร่างอวบอ้วนราวร้อยกิโลของเขา ดึงเราลงไปห่างจากผิวน้ำเรื่อยๆ

ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน ที่จะบอกเค้าว่าหูเราปวด ปวด ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

ผลลัพธ์สุดท้าย ทุกครั้งเวลาขึ้นมาถึงผิวน้ำ คือ เลือดกำเดา และ หูที่ได้ยินเบาลง

ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ที่มีเพื่อนเป็นหมอหูคอจมูกอยู่จังหวัดนั้นพอดี เลยได้เห็นว่า แก้วหูไม่ได้ทะลุ แค่มีเลือดออกในหูชั้นกลาง

ถึงครู (และใครๆ) จะบอกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของการดำน้ำ

และฉันก็พอเข้าใจเรื่องความดัน กับ การแตกของเส้นเลือดฝอย

แต่พวกเราไม่เข้าใจครูสักนิดว่า

… ทำไมเวลาลงมือปฏิบัติจริง ถึงต่างจากที่ตัวเองย้ำนักย้ำหนาตอนสอนทฤษฎี

… ทำไมไม่สนใจความเจ็บปวดของคนอื่น

… ทำไมขัดขวางการแก้ปัญหาของเรา

การพูดปากเปล่าปาวๆ ว่าเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ มันไม่ได้ช่วยอะไร

เจ็บใจที่ต้องมาเจ็บตัวในเรื่องที่ป้องกันได้

ไม่อยากให้ใครไปเรียนดำน้ำ (กับครูคนไทยคนนี้) แล้วต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกเลย

…. เพราะมันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย

#hemotympanum #barotrauma

แมวดำเล่าเรื่อง

| เขียนเพิ่มเติม 22.7.60, 10.45น. |

บันทึกนี้ มีเจตนาเพื่อให้นักเรียนดำน้ำทุกท่าน ระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ตั้งแต่การเลือกผู้สอน จนถึงการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ใต้น้ำ

… ไม่อยากให้เพ่งเล็งที่ตัวบ.ดำน้ำ เพราะดูเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่าค่ะ

จุดประสงค์ของบันทึกนี้ คือ อยากให้เราและเพื่อน เป็น 2 คนสุดท้าย ที่ต้องเจ็บตัว ‘เกินกว่าเหตุ’ ในเรื่องที่สามารถ ‘ป้องกันได้’ ค่ะ

ลิงก์ต้นเรื่อง: facebook.com/KuroNekoStory

| ความเป็นไป 3.8.65 |

ผ่านไป 5 ปี

เราและเพื่อนยังมีอาการทางหูหลงเหลืออยู่ ชัดเจนเวลาขึ้นเครื่องบิน

เราหูอื้อแบบช่วงเครื่องบิน take off แต่เป็นเกือบตลอดการเดินทาง และเป็นแบบนี้มาหลาย flight แล้ว

เมื่อ 3 เดือนก่อน ไปทะเล ได้ดำน้ำตื้น
แค่ผลุบลงไปถ่ายรูปกับพี่เต่า ในระยะแค่เมตรกว่า (รูปในคอมเมนท์) ก็ปวดหูจี๊ดแล้ว

การเรียนดำน้ำลึกคราวนั้น คงต้องเป็นครั้งเดียวในชีวิตจริงๆ

แค่นี้ก็ปวดหูจี๊ดแล้ว 😢