โรคเบาหวานและการดำน้ำสันทนาการ

โดยทั่วไปแล้ว คนที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานทุกคน ควรได้รับการตรวจสุขภาพ ก่อนการเริ่มดำน้ำสันทนาการ

เนื่องจากคนที่เป็นเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยจากการดำน้ำ เช่น

มีโอกาสควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ทำให้น้ำตาลสูงหรือต่ำจนเกินไปจนเกิดภาวะ หมดสติใต้น้ำ ซึ่งเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตใต้น้ำค่อนข้างสูง

หรือคนที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาหลอดเลือด ทั้งหลอดเลือดเส้นใหญ่ ๆ ที่สมองหรือหัวใจ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหัวใจขาดเลือดได้ หรือเส้นเลือดขนาดเล็ก ๆ เช่นที่ดวงตา ก็จะมีโอกาสที่การมองเห็นผิดปกติได้ หรือมีปัญหาที่เส้นประสาททำให้มีอาการชาบริเวณปลายมือ ปลายเท้าได้

การเป็นเบาหวาน ไม่ใช่ข้อห้ามของการดำน้ำสันทนาการ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นเบาหวานทุกคนจะสามารถดำน้ำสันทนาการได้

เราอาจจะแบ่งคนไข้เบาหวานตามการรักษาเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1. คนไข้เบาหวาน ที่รักษาด้วยการคุมอาหารอย่างเดียว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
2. คนไข้เบาหวาน ที่รักษาด้วยการใช้ยารับประทาน แต่ไม่ต้องใช้ยาฉีด (อินซูลิน)
3. คนไข้เบาหวาน ที่รักษาด้วยยาฉีด (อินซูลิน)

แล้วใครบ้างที่จะสามารถดำน้ำได้

  • คำแนะนำแรก ควรจะเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปี (อาจจะมากกว่า 16 ปีได้ ถ้าผ่านการฝึกอบรมเป็นพิเศษแล้ว)
  • ต้องมีการรักษาที่ดี ควบคุมโรคและระดับน้ำตาลได้ในระดับดี (ไม่ใช่บอกว่า รักษาด้วยการคุมอาหาร แต่จริงๆ น้ำตาลสูงพุ่งปรี๊ด เพราะไม่ยอมกินยา)
  • ควรมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ควรงดดำน้ำ หลังจากมีการเริ่มรักษา หรือการเปลี่ยนแปลงการรักษา โดยใช้ยากิน อย่างน้อย 3 เดือน และยาฉีดอินซูลิน อย่างน้อย 1 ปี
  • ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ควรมีประวัติภาวะน้ำตาลต่ำ หรือน้ำตาลสูงผิดปกติ
  • ควรจะต้องรู้ตัวว่า อะไร คืออาการ หรือความเสี่ยง ของการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เช่น ควรจะทานอาหารทุกมื้อ ก่อนใช้ยา ควรต้องมีเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วของตัวเอง หรือควรต้องรู้ตัวเองว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เช่น ใจสั่น เวียนหัว
  • ต้องมีการตรวจติดตามโดยแพทย์ที่ทำการรักษาเบาหวานเป็นประจำ ต้องมีการตรวจน้ำตาลสะสมไม่ให้เกิดค่า ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ตาเสื่อม ไตเสื่อม ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าชา

เป็นเบาหวาน จะดำน้ำได้อย่างไร ?

  • นักดำน้ำต้องผ่านการประเมินโดยแพทย์ว่าสามารถดำน้ำได้
  • นักดำน้ำ ควรเลือกดำน้ำในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น เช่น ไม่ดำหากมีกระแสน้ำแรง ไม่ดำหากอุณหภูมิน้ำต่ำเกินไป ไม่ดำในถ้ำ หรือดำแปลก ๆ
  • นักดำน้ำ ไม่ควรดำน้ำที่ความลึกมากกว่า 30 เมตร
  • นักดำน้ำ ไม่ควรดำน้ำที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง
  • นักดำน้ำ ไม่ควรดำน้ำที่ก่อให้เกิดการต้องทำ Decompression stop
  • นักดำน้ำ ต้องมี buddy ที่รู้ว่านักดำน้ำป่วยเป็นอะไร และ buddy ควรจะรู้วิธีการตอบสนองในกรณีที่นักดำน้ำเกิดภาวะหมดสติ จากระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำ (และ buddy เองก็ห้ามเป็นเบาหวานเหมือนกัน)
  • นักดำน้ำ ต้องมีการเตรียมพร้อมก่อนดำน้ำทุกครั้ง
  • dive lead ต้องรู้ว่านักดำน้ำป่วยเป็นโรคเบาหวาน และต้องรู้ว่าอาการผิดปกติจากภาวะน้ำตาลต่ำเป็นอย่างไร ต้องรู้ว่าจะสื่อสารกับนักดำน้ำกรณีเกิดอาการผิดปกติอย่างไร และต้องรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้

แล้วตัวนักดำน้ำเอง ต้องเตรียมตัวอย่างไร

  • ต้องรู้ตัวเอง ว่าตัวเองพร้อมที่จะดำน้ำหรือไม่ (ไม่ไหว อย่าฝืน)
  • ก่อนดำน้ำทุกไดฟ์ ต้องมีการตรวจน้ำตาลอย่างน้อย 3 ครั้งก่อนดำคือ 60, 30 นาที และก่อนดำทันที โดยให้คงระดับน้ำตาลไว้ที่ 150-300 mg/dL
  • หากระดับน้ำตาล <150 หรือ >300 ให้ชะลอการดำออกไปก่อน
  • บนเรือ ควรเข้าถึงการรักษาได้ อย่างน้อย ต้องมีการเตรียมน้ำหวานที่สามารถหยิบดื่มได้ทันที ถ้าเป็นไปได้บนผิวน้ำควรมียา Glucagon ฉีดเตรียมไว้ (ไม่ได้หาง่ายเท่าไหร่นักในประเทศไทย)
  • ถ้าเมื่อไหร่ใต้น้ำรู้สึกว่าตัวเองจะมีภาวะน้ำตาลต่ำ ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเลยพร้อม buddy และกินน้ำหวาน และขึ้นจากน้ำโดยเร็ว
  • นักดำน้ำควรมีการตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำหลังดำน้ำในช่วง 12-15 ชั่วโมง เพราะหลังดำน้ำ ก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้
  • ในวันที่ดำน้ำ อย่าลืม ดื่มน้ำเยอะ ๆ
  • ต้องมีการบันทึก Log ทุกครั้งที่ดำน้ำ โดยเฉพาะการรักษาที่ได้อยู่ในแต่ละไดฟ์ ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะ และภาวะผิดปกติ
เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก12 ก.พ. 2566