ฟรีไดฟ์ สคูบ้า และสน็อคเกิล ต่างก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้สัมผัสความงามของท้องทะเล สัตว์หลากสีสัน ปะการังหลากสายพันธุ์ เหมือนๆ กัน แต่โดยพื้นฐานแล้ว นักฟรีไดฟ์แท้ๆ เลยจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของนักดำน้ำให้สูงขึ้นด้วย การฝึกฝนจึงเข้มข้นกว่านักดำน้ำสคูบ้าและสน็อคเกิลที่มีเป้าหมายเพื่อชื่นชมธรรมชาติใต้น้ำอย่างเพลิดเพลินเป็นหลัก ส่วนการฝึกฝนและวิธีปฏิบัติใต้น้ำก็มีทั้งสิ่งที่ทำเหมือนกัน และที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความแตกต่างโดยพื้นฐานของฟรีไดฟ์และสคูบ้า
ฟรีไดฟ์จัดเป็นกีฬา (sport) ซึ่งหมายความว่า เป็นกิจกรรมที่มีการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพร่างกาย และเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ ของผู้ร่วมแข่งขัน (และส่วนใหญ่ก็จะรวมไปถึงผู้ชมอย่างเราๆ ด้วยครับ) สำหรับนักกีฬาฟรีไดฟ์ก็จะมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาความสามารถในการลงใต้น้ำได้ลึกขึ้น หรืออยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น
ส่วนการดำน้ำแบบสคูบ้า (Scuba Diving) จัดเป็นกิจกรรมสันทนาการ (recreational activity) ที่มีเป้าหมายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือสนุกสนานเพลิดเพลินใจเป็นหลัก ส่วนการพัฒนาทักษะหรือสมรรถภาพร่างกายนั้นเป็นเพียงส่วนเสริมที่จะช่วยให้ดำน้ำได้สบายขึ้น ใช้อากาศน้อยลง อยู่ชมธรรมชาติใต้น้ำได้นานขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้ต้องการสมรรถภาพร่างกายขั้นสูงแต่อย่างใด
ขอแถมอีกนิด สำหรับการดำสน็อคเกิล (Snorkeling) ก็เป็นกิจกรรมสันทนาการเช่นกัน เพียงแต่ชมอยู่บนผิวน้ำด้วยมุมมองจากด้านบนเป็นหลัก หรือสามารถลงไปชมธรรมชาติได้ที่ความลึกไม่มากนัก และก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่การพัฒนาสมรรถภาพร่างกายเช่นเดียวกับการดำน้ำแบบสคูบ้า
ทักษะและอุปกรณ์ดำน้ำ ความเหมือนที่แตกต่าง
การดำน้ำแบบฟรีไดฟ์และสคูบ้ามีคุณสมบัติและวิธีการปฏิบัติหลายอย่างที่เหมือนกัน อาทิเช่น
- ต้องเคลียร์หู (ear equalization) เหมือนกัน และเทคนิคที่ใช้ในการเคลียร์หูก็เหมือนกัน (มีให้เลือกหลายวิธี)
- ถ้าใช้หน้ากากดำน้ำ ก็ต้องแก้ไขอาการ mask squeeze ด้วยวิธีการหายใจออกจากปอดเข้าสู่หน้ากากเหมือนกัน (ถ้านักดำน้ำฟรีไดฟ์ใช้แว่นตาว่ายน้ำธรรมดา หรือไม่ใช้แว่นหรือหน้ากากดำน้ำเลย ก็ไม่ต้องแก้ mask squeeze)
- อุปกรณ์พื้นฐาน เช่น หน้ากาก ท่อหายใจ ตีนกบ จะใช้เหมือนกันเลยก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดี นักดำน้ำฟรีไดฟ์ที่จริงจังแล้ว มักจะใช้อุปกรณ์ของฟรีไดฟ์ที่มีการออกแบบบางอย่างให้เหมาะกับกิจกรรมโดยเฉพาะ เช่น หน้ากาก low-volume และตีนกบใบยาว
- ความผ่อนคลาย มีสติ ไม่ตื่นเต้นตกใจ เคลื่อนไหวน้อย ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับการทำกิจกรรมทั้งสองอย่างนี้
- ได้พบเพื่อนใหม่ที่มีหัวใจเดียวกัน จะเป็นหัวใจรักท้องทะเล รักสัตว์ใต้ทะเล หรือจะรักกิจกรรมที่ท้าทายก็ได้ ทั้งฟรีไดฟ์และสคูบ้าจะพาคุณไปพบกับเพื่อนใหม่อีกกลุ่มนึง ไม่ต้องกลัวว่ามาเรียนคนเดียวแล้วจะเหงาเลยนะ
- และสุดท้าย กิจกรรมทั้งสองอย่างนี้จะพาคุณไปรู้จักกับโลกอีกครึ่งใบที่น้อยคนจะมีโอกาสลงไปสัมผัส
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในขณะเดียวกัน สองกิจกรรมนี้ก็มีจุดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งคุณควรคิดทบทวนดีๆ ว่าที่จริงแล้วคุณจะชอบแบบไหน สนุกกับกิจกรรมใดมากกว่ากัน อาทิเช่น
- ฟรีไดฟ์ ต้องกลั้นหายใจตลอดเวลาที่อยู่ใต้น้ำ … ส่วนสคูบ้า ห้ามกลั้นหายใจตลอดเวลา
- ฟรีไดฟ์ ไม่ปล่อยฟองอากาศออกมารบกวนสัตว์ทะเล ช่วยให้คุณเข้าใกล้พวกเขาได้มากกว่าสคูบ้า
- แต่หากเป็นสัตว์ที่ต้องรอคอยเวลาปรากฏตัวแล้วล่ะก็ การดำน้ำสคูบ้าจะมีเวลาให้คุณรอได้ยาวนานกว่ามาก หรือหากคุณจะดำฟรีไดฟ์หลายๆ ครั้งเอา การขึ้นลงบ่อยๆ ก็อาจทำให้สัตว์นั้นตระหนกกับอาการของคุณได้
- ฟรีไดฟ์ไม่ต้องเสี่ยงกับการดูดซึมไนโตรเจนเข้าสู่เนื้อเยื่ออันนำไปสู่อาการ decompression sickness (DCS) ที่อันตรายถึงชีวิต นักดำน้ำฟรีไดฟ์จะเคลื่อนที่ขึ้นที่ตื้นเร็วเท่าไหร่ก็ได้ ส่วนนักดำน้ำสคูบ้าต้องระวังการขึ้นที่ตื้นอย่างรวดเร็ว (ที่จริง DCS มีโอกาสเกิดกับนักดำน้ำฟรีไดฟ์แบบมืออาชีพหรือระดับแข่งขัน แต่สำหรับพวกเราที่ดำแบบสันทนาการมากกว่า จะถือว่าไม่มีโอกาสเกิดเลยก็ว่าได้)
- ฟรีไดฟ์ไม่ต้องเสี่ยงกับอาการปอดฉีก (lung overexpansion) เพราะอากาศที่มีใช้ก็เพียงแค่ 1 ความจุปอดของเราเท่านั้น เอาลงไปเท่าไหร่ ขึ้นมาก็ไม่เกินนั้น ไม่เหมือนกับสคูบ้าที่ต้องระวังปอดฉีกเมื่อจะขึ้นสู่ที่ตื้นหรือผิวน้ำ
- สำหรับนักเรียนฟรีไดฟ์ใหม่ที่มักจะพยายามลงสู่ความลึกด้วยความรวดเร็ว (กลัวลงลึกไม่ได้เพราะตัวลอย หรืออากาศไม่พอ) จะเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บในช่องหูหรือโพรงไซนัสมากกว่านักเรียนสคูบ้า เพราะอาจเคลียร์หูไม่ทัน ส่วนนักเรียนสคูบ้าจะถูกสอนให้ลงสู่ความลึกช้าๆ และเคลียร์หูบ่อยๆ
- ฟรีไดฟ์ใช้อุปกรณ์ไม่มากนัก หรือแม้แต่ไม่มีอุปกรณ์เลย ก็ยังดำฟรีไดฟ์ได้ … ส่วนสคูบ้า ต้องมีอุปกรณ์มากมายและมีความสำคัญเกือบจะทุกชิ้นเลยทีเดียว (อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าใช้จ่าย ใครจะสูงกว่าใคร เป็นเรื่องที่ต้องลองศึกษากันต่อไป)
- การดำฟรีไดฟ์ คุณจะอยู่ใต้น้ำได้เพียงไม่กี่นาที มีเวลาชื่นชมธรรมชาติได้ไม่มากนัก … ส่วนนักดำน้ำสคูบ้าจะดำน้ำได้ราว 40-70 นาทีต่อถังอากาศ 1 ถัง
- เมื่อเทียบกับคนที่เรียนดำน้ำฟรีไดฟ์ทั้งหมด มีเพียงไม่ถึง 1 ใน 5 ที่สามารถผ่านสู่ความลึก 10 เมตรได้ในการออกทะเลครั้งแรก ในขณะที่คนที่เรียนสคูบ้ามากกว่า 9 ใน 10 คนสามารถเรียนจนถึงออกทะเลจบคอร์สแรกได้ ดังนั้น จำนวนนักดำน้ำฟรีไดฟ์ที่จะได้ลงไปชื่นชมธรรมชาติใต้น้ำที่ลึกกว่า 7-8 เมตรจึงมีน้อยกว่านักดำน้ำสคูบ้ามาก
- ฟรีไดฟ์จะทำให้คุณได้พัฒนาทักษะและสมรรถภาพหลายด้านทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อการอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น หรือลึกขึ้น หรือทั้งสองอย่าง ในขณะที่อุปกรณ์มากมายของการดำน้ำสคูบ้าจะช่วยให้คุณไม่ต้องพัฒนาสมรรถภาพอะไรมากนัก (ที่จริงก็มีบ้างนะ แต่ไม่เข้มข้นมาก)
Umberto Pelizzari นักดำน้ำแชมป์โลกคนหนึ่ง เคยกล่าวไว้ว่า
“The scuba diver dives to look around. The freediver dives to look inside.”
ฟรีไดฟ์และสคูบ้า 2 กิจกรรมที่เสริมกันและกัน
ความแตกต่างในบางเรื่องอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้หมายความว่า ทั้ง 2 กิจกรรมจะเป็นตัวเลือกที่ให้คุณเลือกทำได้เพียงอย่างเดียว ที่จริงแล้วทักษะที่ได้จากกิจกรรมหนึ่งกลับมาช่วยให้คุณทำอีกกิจกรรมหนึ่งได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้นด้วย
โดยส่วนใหญ่ นักดำน้ำสคูบ้าจะพบว่า ตนเองสามารถเรียนดำฟรีไดฟ์ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าคนที่เรียนฟรีไดฟ์โดยไม่เคยดำน้ำลึกมาก่อน ด้วยความคุ้นเคยกับใต้น้ำที่ความลึกมาก ความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใต้ทะเล เช่น คลื่นผิวน้ำ (wave) และคลื่นใต้น้ำ (surge) หรือความขุ่นใสของทะเล และนักดำน้ำก็มีทักษะการใช้หน้ากากและตีนกบ รวมถึงมีทักษะที่สำคัญมากนั่นคือการเคลียร์หู (ear equalization) เพื่อลงสู่ความลึก มาก่อนแล้ว
ส่วนใครที่เรียนฟรีไดฟ์มาก่อน เมื่อมาเรียนสคูบ้าต่อ ก็จะพบว่า ตนเองมีทักษะการตีฟินที่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งยังมีท่วงท่าสวยงามเป็นเลิศ รวมถึงการใช้อากาศก็คงจะประหยัดมาก เพราะแต่ก่อนนั้นต้องอยู่ใต้น้ำให้ได้นานที่สุดด้วยลมหายใจเดียว และถ้าผ่านการสอบฟรีไดฟ์ในทะเลมาแล้ว แสดงว่าคุณสามารถเคลียร์หูได้อย่างสบายแน่นอน เพราะนักดำฟรีไดฟ์มักจะต้องลงสู่ความลึกอย่างรวดเร็ว จึงต้องเคลียร์หูได้ทันเวลาด้วย
ดำน้ำแบบไหน เริ่มต้นง่ายกว่ากัน?
เป็นคำถามที่ผู้สนใจจะเรียนดำน้ำหลายคนอาจตั้งคำถามก่อนตัดสินใจเรียน ซึ่งหากถามคนที่เคยเรียนดำน้ำทั้งสองอย่างมาแล้ว คำตอบที่ได้อาจแตกต่างกันไปตามความเห็นหรือประสบการณ์ของแต่ละคน และไม่ว่าใครจะเรียนดำน้ำแบบใดมาก่อน ก็จะพบแน่นอนว่า สิ่งที่เรียนมาก่อนจะช่วยให้สิ่งที่เรียนทีหลัง เรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้ง่ายขึ้นมาก เช่นกัน ดังนั้น คำตอบจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อาจสรุปได้ไม่ชัดเจนนักว่า กิจกรรมใดเริ่มต้นเรียนได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีข้อเท็จจริงบางประการที่พอจะช่วยให้ได้คำตอบที่เหมาะสมโดยเฉลี่ยหรือโดยสถิติได้ ได้แก่
- การดำน้ำแบบสคูบ้า เป็นการดำน้ำที่ใช้อุปกรณ์ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้มนุษย์ลงไปอยู่ใต้น้ำได้โดยง่ายและอยู่ได้นานๆ เพื่อชื่นชมธรรมชาติใต้น้ำ
… ส่วนการดำน้ำฟรีไดฟ์ เป็นกีฬาที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ในการอยู่ใต้น้ำให้ได้ลึกที่สุดหรือนานที่สุด โดยใช้อุปกรณ์น้อยที่สุด - ด้วยอุปกรณ์ดำน้ำแบบสคูบ้า (scuba equipment) ที่ง่ายต่อการใช้งาน ทำให้การฝึกแต่ละทักษะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาฝึกไม่นานก็สามารถลงน้ำลึกได้อย่างปลอดภัยพอสมควร
… ส่วนการดำน้ำฟรีไดฟ์ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติตัวที่ต่างจากการดำเนินชีวิตปกติ เช่น การกลั้นหายใจ แม้หลักสูตรที่มีในปัจจุบันของทุกสถาบันจะออกแบบขั้นตอนการฝึกทักษะให้เรียงตามลำดับการเรียนรู้ที่ควรจะเป็นแล้ว แต่นักดำน้ำก็ยังต้องใช้เวลาในการฝึกฝนแต่ละทักษะนานพอสมควร ถ้ามีการเร่งรีบจะทำให้ได้โดยเร็ว หรือมีข้อผิดพลาดในการสื่อสารเนื้อหาที่เรียน ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ตัวอย่างเช่น ทักษะการปรับสมดุลความดันในหู (เคลียร์หู) ที่หากเข้าใจผิดก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หูชั้นกลาง (พบบ่อยมากกับนักดำน้ำใหม่ที่เพิ่งเริ่มเรียนและอาจจะยังไม่เข้าใจสาเหตุและวิธีปฏิบัติได้ชัดเจน) เป็นต้น - การมีถังอากาศติดตัวลงไปด้วย ช่วยให้นักดำน้ำมีเวลาแก้ไขปัญหาในแต่ละจุด เช่น การเคลียร์หู การแก้ mask squeeze ได้อย่างเต็มที่ หากติดขัด สามารถลอยตัวขึ้นเล็กน้อย แก้ไข แล้วลงลึกต่อได้
… ส่วนการดำน้ำฟรีไดฟ์ หากเคลีย์หูไม่ทัน ต้องย้อนขึ้นมา เมื่อแก้แล้วจะลงต่อ ก็เสียเวลาและแรงไปบ้างแล้ว แต่ถ้าฝืนลงต่อโดยไม่เคลียร์หูให้ได้ก่อน ก็จะเกิดการบาดเจ็บ
รวมทั้งเมื่อมีอากาศให้ใช้งานได้ยาวนาน นักดำน้ำก็สามารถจัดการกับปัญหาไปทีละอย่างได้ ในขณะที่นักดำน้ำฟรีไดฟ์มักจะต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ต้องกดตัวมุดน้ำลงไป ตีฟินลงสู่ความลึก พร้อมๆ กับการเคลียร์หูหรือแก้ mask squeeze ไปด้วย - ถ้าเราดูที่ตัวอุปกรณ์แต่ละอย่าง จะพบว่าอุปกรณ์ดำน้ำฟรีไดฟ์สร้างความแตกต่างจากพฤติกรรมปกติมากกว่าอุปกรณ์สคูบ้า เช่น
– ฟินหรือตีนกบของฟรีไดฟ์จะยาวกว่าของสคูบ้า ทั้งเกะกะกว่า และกินน้ำมากกว่าจึงต้องใช้แรงมากกว่า
– หน้ากากดำน้ำแบบสคูบ้าเลือกได้หลากหลาย ส่วนหน้ากากดำฟรีไดฟ์ต้องใช้แบบ low volume จะดีต่อการอยู่ใต้น้ำได้นานกว่ามาก เป็นต้น
สะท้อนว่าการดำน้ำฟรีไดฟ์ต้องใช้เวลาในการฝึกทักษะหรือปรับตัวให้เข้ากับอุปกรณ์มากกว่าการดำน้ำสคูบ้า แม้จะมีจำนวนชิ้นน้อยกว่า
- เมื่อทำการฝึกฝนในทะเลจริง การดำน้ำฟรีไดฟ์จำเป็นต้องเลือกสภาพทะเลที่ค่อนข้างดี เช่น คลื่นลมเบา กระแสน้ำนิ่งหรืออ่อน ทัศนวิสัยไม่ขุ่นมาก เพราะการต้องใช้สมรรถภาพร่างกายตนเองมาก ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ หากมีความยากลำบากจากสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีก จะยิ่งเพิ่มความเครียดความกังวลตื่นเต้นแก่นักดำน้ำ และเพิ่มอุปสรรคในการฝึกหัดมากขึ้น เสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็อาจถึงแก่ชีวิต (นักเรียนดำน้ำควรสังเกตทัศนคติ ความรู้ และความรอบคอบด้านต่างๆ ของครูผู้สอนอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในกิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เหตุการณ์สุดวิสัย)
- อย่างไรก็ตาม เนื้อหาทางทฤษฎีของหลักสูตรฟรีไดฟ์จะมีปริมาณน้อยกว่าหลักสูตรสคูบ้าพอสมควร เนื่องจาก มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้น้อยกว่า มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ทะเลไม่มาก และต้องเลือกจุดำน้ำที่มีคลื่น ลม กระแสน้ำ น้อยที่สุด ฯลฯ ทำให้ไม่ต้องเรียนทฤษฎีในหลายเรื่อง และให้เวลากับการฝึกฝนพัฒนาสมรรถภาพในตัวเองได้มากกว่า
แต่ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ยากง่ายกว่ากันเพียงไหน ทั้ง 2 อย่างนี้ก็นับเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ไม่มากก็น้อย ผู้คนที่มีโอกาสได้ลงไปสัมผัสกับทิวทัศน์ใต้ท้องทะเล หรือสัมผัสกับความรู้สึกของตัวเอง เมื่อได้อยู่ ณ ที่นั้นแล้ว น้อยคนที่จะเกลียดกลัว ต่อต้าน หรือไม่ต้องการกลับไปหาอีก ส่วนใหญ่จะพบว่าตนเองได้เผลอใจหลงใหลไปกับการดำดิ่งลงสู่ความลึกเสียแล้ว อยากกลับไปเยี่ยมเยือนเพื่อนๆ สัตว์ทะเลอยู่เสมอๆ และรักทะเลขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียว
ถ้าคุณไม่กลัวจะเผลอใจไปหลงใหลกับกิจกรรมแบบนี้ ก็ลองทบทวนหัวใจตัวเองดูอีกครั้ง แล้วไปสมัครเรียนดำน้ำในแบบที่คุณชอบกันนะครับ
ปรับปรุงล่าสุด | 27 พ.ค. 2566 |
---|---|
อ่านเพิ่มเติม |