Freediver ascending to the surface

Decompression Sickness เกิดกับนักดำน้ำฟรีไดฟ์ได้ไหม?

สำหรับนักดำน้ำแบบสคูบ้า (scuba diving) ที่พกพาเอาถังอากาศหนักสิบกว่ากิโลติดตัวลงไปด้วย ย่อมทราบดีว่าอากาศที่ตนเองพกพาลงไปหายใจที่ความลึกนั้นมีความกดดันสูงกว่าที่ผิวน้ำ และอากาศแบบนี้แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการ decompression sickness (DCS) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของกิจกรรมนี้

ส่วนคนที่เรียนฟรีไดฟ์ระดับเริ่มต้นมักจะไม่ค่อยได้รับรู้ถึงเรื่อง DCS นี้เพราะเป็นที่ทราบกันว่า การดำแบบฟรีไดฟ์ระดับเริ่มต้น ที่ความลึกไม่มาก ไม่ได้อยู่ที่ความลึกนั้นนานๆ แทบจะไม่มีความเสี่ยงต่ออาการนี้เลย

แต่ใครที่เคยเรียนดำน้ำลึกหรือเคยศึกษาเรื่อง DCS มาก่อน (และยังจำสิ่งที่เรียนนี้ได้อยู่) ย่อมต้องมีคำถามนี้เกิดขึ้นในใจอย่างแน่นอน เพราะอาการ DCS เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายดูดซึมก๊าซไนโตรเจนความกดสูงที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ และคายออกไม่ทันเมื่อขึ้นสู่ที่ตื้น ถ้าว่าตามกลไกนี้แล้ว นักดำน้ำฟรีไดฟ์ก็ย่อมเสี่ยงต่อการเป็น DCS ได้เช่นกัน ใช่หรือไม่?

โชคร้ายหน่อย ที่คำตอบคือ … ใช่

ปัญหานี้ได้รับการศึกษามาแล้วในหลายประเทศครับ แต่ข้อมูลที่ดีที่สุดมาจากการศึกษาชนพื้นเมืองในหมู่เกาะทัวโมทู (Tuamotu Archipelago) เฟรนช์โพลีนีเซีย (French Polynesia) ที่ซึ่งชนพื้นเมืองผู้ทำงานเก็บหอยมุก ต้องดำฟรีไดฟ์ลงไปยังความลึก 100-140 ฟุต (ราว 30-40 เมตร) ครั้งละประมาณ 100 วินาที วันละ 40-60 ครั้ง และมีเวลาพักที่ผิวน้ำครั้งละประมาณ 4-6 นาที พวกเขาลงสู่พื้นทะเลด้วยตะกั่วถ่วงน้ำหนักโดยใช้เวลา 30-50 วินาที เก็บหอยมุกใส่ตะกร้าที่ก้นทะเลโดยผูกเชือกโยงตะกร้าไว้กับเรือ เสร็จแล้วก็สาวเชือกดึงตัวเองขึ้นมาตามเชือกถึงผิวน้ำ ก่อนจะดึงตะกร้าหอยมุกจากก้นทะเลขึ้นมา

นักดำน้ำในกลุ่มนี้หลายคน มีความผิดปกติรุนแรงที่เรียกว่า Taravana ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับอาการ DCS ของเรานี่เอง นั่นคือ อัมพาต การมองเห็นผิดปกติ สูญเสียการได้ยิน เวียนศีรษะ และแน่นอนว่า บางคนก็เสียชีวิต ส่วนคนที่ไม่เสียชีวิตก็มีอาการทางสมองแบบถาวรหรือบาดเจ็บที่ไขสันหลัง อย่างไรก็ตาม ยังมีอาการบางอย่างของ Taravana ที่ไม่เข้าข่าย DCS และการศึกษาในครั้งนั้นก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน (งานวิจัยนี้เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1965)

การศึกษา DCS ในนักดำน้ำฟรีไดฟ์อย่างจริงจัง

การศึกษากลไกการเกิด DCS ในนักดำน้ำฟรีไดฟ์อย่างจริงจัง เริ่มขึ้นเมื่อ ดร. พี. พอเลฟ (Dr. P. Paulev) ประเทศเดนมาร์ค ได้สังเกตอาการของผู้ดูแลนักเรียนฟรีไดฟ์ที่ต้องคอยประกบพานักเรียนขึ้นจากความลึก 100 ฟุตสู่ผิวน้ำ ใช้เวลา 2 นาทีในการดำน้ำแต่ละครั้ง และพักน้ำ (surface interval) อีก 1-2 นาทีต่อครั้ง เป็นจำนวน 60 ครั้ง หลังจากผ่านไป 5 ชั่วโมง เขาสังเกตพบความเจ็บปวด ขยับขาไม่ได้ คลื่นไส้วิงเวียน การมองเห็นผิดปกติ และแขนขวาอ่อนแรง ซึ่งหลังจากเข้ารับการรักษาใน hyperbaric chamber ด้วยตารางการรักษา DCS แล้ว อาการเหล่านี้ก็หายไป

ดร. พี. พอเลฟ ลองคำนวณไนโตรเจนที่สะสมในเนื้อเยื่อของเขาหลังจากการดำฟรีไดฟ์ต่อเนื่องในคราวนั้น พบว่า การพักน้ำเป็นเวลาสั้นๆ ไม่เพียงพอให้ก๊าซไนโตรเจนได้ระบายออกจากกล้ามเนื้อ ผลลัพธ์จึงเหมือนกับการดำน้ำต่อเนื่อง

การศึกษาเพิ่มเติมโดย ดร. อี. แลนเฟียร์ (Dr. E. Lanphier) ชี้ว่า อัตราส่วนระหว่างเวลาดำน้ำกับเวลาพักน้ำ และอัตราเร็วของการขึ้นสู่ผิวน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิด DCS ในนักดำน้ำฟรีไดฟ์ เขาคำนวณได้ว่า ถ้าระยะเวลาดำน้ำกับเวลาพักน้ำเท่ากัน (อัตราส่วนระหว่างกันเท่ากับ 1) การดูดซึมไนโตรเจนก็จะเทียบเท่ากับการดำน้ำต่อเนื่องที่ความลึก 50% ของความลึกจริงที่ดำลงไป เช่น ถ้าดำฟรีไดฟ์ 100 ฟุตนาน 90 วินาทีและพักน้ำ 90 วินาที ก็จะเทียบเท่ากับการดำน้ำต่อเนื่องที่ความลึก 50 ฟุต และหากขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วสูง การดูดซึมไนโตรเจนก็จะเทียบเท่ากับ 65% ของความลึกจริง (ในตัวอย่างนี้ก็จะเทียบเท่ากับการดำน้ำต่อเนื่องที่ความลึก 65 ฟุต)

คำนวณได้อย่างนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเกาะทัวโมทู ผู้ซึ่งต้องดำฟรีไดฟ์ความลึก 30-40 เมตร โดยพักน้ำเพียงเวลาสั้นๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง จะเกิดอาการ (แบบเดียวกับ) DCS ขึ้นได้

กรณีตัวอย่าง DCS ในนักดำน้ำฟรีไดฟ์

ลองอ่านข่าวหรือบทความจากลิงค์ต่อไปนี้ดูครับ

(ตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับ DCS ในการดำฟรีไดฟ์นี้ยังมีอีกหลายกรณี ลองอ่านต่อไปได้จากลิงค์ข้อมูลอ้างอิงด้านล่างนี้ครับ)

วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกัน DCS ในนักดำน้ำฟรีไดฟ์

โดยพื้นฐานก็คือ ต้องเพิ่มระยะเวลาพักน้ำขึ้นอีก โดยเฉพาะกับไดฟ์ที่ลงไปลึกมากกว่า 30-40 เมตร แต่ส่วนใหญ่หลักสูตรเรียนฟรีไดฟ์ขั้นสูงๆ ของสถาบันต่างๆ ก็จะมีการให้ความรู้เรื่อง DCS และวิธีคำนวณเวลาในขั้นต่างๆ ของการดำฟรีไดฟ์เพื่อป้องกัน DCS อยู่แล้ว นักเรียนและนักดำน้ำฟรีไดฟ์ทุกคนพึงศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่อง DCS ในการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์นี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับเรื่อง DCS ในการดำน้ำแบบสคูบ้า โมเดลที่ใช้คำนวณยังไม่สามารถยกจากการดำสคูบ้ามาใช้ได้โดยตรง นักดำน้ำฟรีไดฟ์จึงควรติดตามอัพเดทความรู้เรื่องนี้กันต่อไปนะครับ

 

ข้อมูลจาก
เรียบเรียงโดยศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล
ปรับปรุงล่าสุด7 พ.ค. 2563