Spleen Effect เคล็ดไม่ลับ ทำให้กลั้นหายใจได้นาน

ม้าม (spleen) เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องด้านซ้าย ด้านล่างของกระบังลม บริเวณด้านหลังของกระเพาะอาหาร สามารถขยายและหดตัวได้ หน้าที่หลักๆของมันคือ เป็นตัวกรองเลือดที่ได้รับความเสียหายออกจากระบบหมุนเวียนโลหิต

เมื่อเม็ดเลือดแดงเข้าไปในม้ามจะต้องไหลผ่านเข้าไปในเส้นเลือดมากมาย ที่มีลักษณะคล้ายเขาวงกต เม็ดเลือดที่ดีจะไหลผ่านม้ามออกไปได้ ส่วนเม็ดเลือดที่คุณภาพไม่ดีจะถูกย่อยสลายโดยเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในม้าม จะได้แร่ธาตุเหล็กออกมา เพื่อส่งไปผลิตเม็ดเลือดใหม่ที่ไขกระดูก

หน้าที่สำคัญอีกอย่างของม้าม คือ เป็นที่เก็บเลือดสำรอง เนื่องจากม้ามสามารถขยายและหดตัวได้ในเวลาที่ร่างกายต้องการเลือดมากขึ้น เช่น ประสบอุบัติเหตุสูญเสียเลือด ม้ามจะหดตัวเพื่อปล่อยเม็ดเลือดเข้ามาในระบบหมุนเวียนโลหิตเพิ่มมากขึ้น

Spleen Effect สำคัญต่อ Freedive อย่างไร

เนื่องจากม้ามมีเลือดเก็บสำรองไว้ มันจึงเป็นอวัยวะที่ช่วยในการดำน้ำฟรีไดฟ์โดยช่วยปล่อยเลือดที่เก็บสำรองไว้ออกมา เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดให้มากขึ้น เช่น แมวน้ำจะมีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มดำน้ำ ทำให้สามารถกลั้นหายใจได้นานถึงหนึ่งชั่วโมง แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ได้ดำน้ำบ่อยๆเช่น มนุษย์ จะสามารถเพิ่มระยะเวลาในการกลั้นหายใจได้อย่างไร

การทดลอง Spleen Effect ของมนุษย์

การดำน้ำของคนโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรกกลั้นหายใจแบบสบายๆ (easy-going phase) ไม่รู้สึกอึดอัด และช่วงที่สองจะรู้สึกอึดอัด (struggle phase) อยากหายใจเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนกระทั่งทนไม่ไหว

การทดลองจะแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนที่มีม้ามปกติ (Intact) 10 คน และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ถูกตัดม้ามออกไปแล้ว (splenectomized) 10 คน ทั้งสองกลุ่มไม่เคยฝึกกลั้นหายใจในน้ำมาก่อน โดยให้กลั้นหายใจ 5 ครั้ง (AFI 1 – 5) เพื่อทดสอบระยะเวลาที่กลั้นหายใจได้ และวัดปริมาณของเม็ดเลือดแดง (hemoglobin และ hematocrit)

ผลที่ได้จากการทดลอง

หลังจากกลั้นหายใจดำน้ำไป 5 ครั้ง พบว่าระยะเวลาในการดำน้ำ (apneic time) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกลุ่มของผู้ที่มีม้ามปกติ (intact) และผู้ที่ตัดม้ามออกไปแล้ว (splenectomized)

ระยะเวลาในการดำน้ำ (apneic time) ของคนปกติจะนานกว่า คนที่ไม่มีม้ามตั้งแต่ครั้งแรก (AFI : apneas with face immersion)

ส่วนช่วง easy-going phase ของคนทั้งสองกลุ่มจะเท่าๆ กันในสองครั้งแรก แต่ในกลุ่มของคนที่ม้ามปกติ เวลาในช่วง easy phase จะเพิ่มขึ้น ในครั้งที่3 (AFI 3) และระยะเวลารวมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปริมาณของเลือด และ ฮีโมโกลบินใน กลุ่มของคนที่ม้ามเป็นปกติจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และ จะค่อยๆ ลดลงสู่ระดับปกติ เมื่อผ่านไป 10 นาที หลังจากดำน้ำครั้งสุดท้าย ส่วนในกลุ่มของคนที่ตัดม้ามออกไป ปริมาณของเลือดแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ในกรณีของ ผู้ที่ฝึกฝนดำน้ำเป็นประจำ เช่น ama diver ปริมาณเลือดสำรองที่ปล่อยออกมา จะมีมากกว่าคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกฝน freedive เป็นประจำ และ spleen effect ยังมีผลนานกว่าคนปกติ ในขณะที่คนทั่วไปจะลดลงเมื่อผ่าน 3 นาทีไปแล้ว และกลับสู่สภาวะปกติเมื่อผ่านไป 10 นาที

วิธี Warm-up ก่อน Freedive

เนื่องจาก spleen effect มีประโยชน์ต่อการดำน้ำ ดังนั้นฟรีไดฟ์เวอร์จะ warm-up dive ก่อนจะกลั้นหายใจดำน้ำจริงๆ เพื่อเพิ่มปริมาณของเลือดแดงในร่างกาย โดยวิธีคือ

  • Breath up : ควรให้หน้าสัมผัสน้ำ เพื่อทำให้ mammalian dive reflex ทำงาน หายใจเข้าด้วยท้องน้อย 3-4 วินาที แล้วหายใจออกช้าๆ 6-8 วินาที การหายใจควรเป็นไปแบบสบายๆ ปริมาณเท่าๆกับการหายใจเข้า-ออกตามปกติ ทำซ้ำๆ ประมาณ1 นาทีครึ่ง หลังจากนั้นให้หายใจเข้าให้เต็มปอด 1 รอบ แล้วหายใจออกสบายๆ ไล่อากาศออกให้หมดปอด แล้วสูดหายใจให้เต็มปอดอีกครั้งก่อนกลั้นหายใจ
  • การกลั้นหายใจ warm-up สำหรับการฝึก ในสระน้ำ (pool training) ให้กลั้นหายใจลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำ แต่ถ้าฝึกในทะเลให้ ลงไปเกาะเชือกอยู่ที่ความลึก 10 เมตร รอจนมีอาการ urge to breath แล้วค่อยทำ recovery breath (*** never dive alone ควรฝึกกับ buddy เสมอ)
  • การทำ recovery breath ให้หายใจเข้าให้เต็มปอด กลั้นไว้ 2-3 วินาที แล้วค่อยปล่อยลมหายใจออกมา ให้ทำ recovery breath ซ้ำ 3 ครั้ง
  • การ warm-up dive ควรทำ 2-3 ครั้ง และไม่ warm up จนเหนื่อยเกินไป


อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม