Wetsuit Freedive เเตกต่างจาก Scuba อย่างไร

ทำไมเราใช้ wetsuit freedive ? เวลาที่เราแช่น้ำนานๆ ร่างกายจะสูญเสียความร้อนออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากการถ่ายเทอุณหภูมิในน้ำมีมากกว่า เวลาที่เราอยู่บนบกถึง 25 เท่า ถ้าเราต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ wetsuit จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันเราจากความหนาวเย็นจนเป็นไข้ และเป็น อุปกรณ์ freedive ทำให้สามารถฝึกฝนได้อย่างสบายมากขึ้น

ข้อเเตกต่างระหว่าง Wetsuit Freedive กับ Scuba

หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมคนฝึก freedive ไม่นิยมใช้ wetsuit scuba เหตุผลก็เนื่องมาจาก ชุดของ scuba จะออกแบบมาให้น้ำสามารถซึมเข้าไปขังอยู่ในชุดได้ กลายเป็นชั้นแบ่งระหว่างร่างกาย กับชุด เมื่อคนดำ scuba เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ ร่างกายจะสร้างความร้อนขึ้นมา และเก็บความร้อนไว้ในชุดได้

แต่คนฝึก freedive หรือ spearfishing ไม่ต้องการเคลื่อนไหวร่างกายมาก เพื่อทำให้ร่างกายใช้ออกซิเจนให้น้อยที่สุด มักลอยอยู่นิ่งๆ ใช้เวลาในกการหายใจ เพื่อเตรียมตัวดำลงไปใต้น้ำ ดังนั้นหากใช้ wetsuit ของ scuba ก็จะไม่ช่วยในเรื่องของอุณหภูมิ และความยืดหยุ่นของชุด scuba จะน้อยกว่าชุดสำหรับ ฟรีไดฟ์ ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวกเท่าที่ควร

วัตถุประสงค์การใช้งานของ Wetsuit สำหรับ Freedive

การเลือกใช้งานจะขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมในการดำน้ำ เช่น ระยะเวลาที่อยู่ในน้ำ อุณหภูมิของน้ำ ยิ่งอุณหภูมิของน้ำต่ำเท่าไหร่ ความหนาของชุดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยปกติ ชุดจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนบนของร่างกาย และ hood กับ ส่วนของกางเกง วัสดุที่ใช้ในการทำชุดจะ ทำมาจาก neoprene แบ่งออกหลักๆได้ 3 ชนิด

  • Double-lining: ทำมาจาก neoprene หุ้มด้วยไนลอนทั้งสองด้าน ด้านในและด้านนอกชุด ข้อดีคือ ราคาถูกกว่าแบบอื่น และมีความทนทาน ง่ายต่อการดูแลรักษา สะดวกเวลาใส่และถอดออก แต่ก็มีข้อเสียคือ น้ำซึมเข้าไปได้ง่าย และชุดต้านน้ำ กว่าแบบอื่น
  • Single-lining: หรือเรียก อีกอย่างหนึ่งว่าแบบ open-cell มีไนลอนเพียงด้านเดียว ด้านที่สัมผัสร่างกายจะไม่มีไนลอน ทำให้neoprene แนบกับผิวหนังได้สนิท มีข้อดีคือ น้ำจะไม่เข้าไปในชุด เหมาะสำหรับ spearfishing และใส่ฝึกซ้อม freedive เนื่องจากชุดจะมีความ ทนทานกว่าแบบ no lining ข้อเสีย คือ ชุดต้านน้ำและไม่ยืดหยุ่น เท่าชุดแบบ smooth skin เเละการสวมใส่ทำได้ยาก ต้องเอาชุดจุ่มน้ำ หรือเอาเเชมพูทาตัวเพื่อทำให้ใส่ชุดได้ง่าย
  • No lining: รู้จักกันในชื่อของ smooth skin นิยมใช้ในการแข่งขัน ฟรีไดฟ์วิ่ง เพราะผิวของชุดลื่น ทำให้ไม่ต้านน้ำ เวลา free fall หรือ ว่ายไดนามิก ทำให้ประหยัดแรงและ ไปได้ไวกว่าเดิม ชุดมีความยืดหยุ่นดี ทำให้ขยับตัวได้สะดวก แต่ข้อเสียคือ ราคาแพง และต้องดูแลรักษาอย่างดีเนื่องจากเสียหายได้ง่าย ต้องใช้สบู่เหลวช่วยเวลาใส่ชุด

Wetsuit Freedive : Weight System (น้ำหนักถ่วง)

การใช้ตะกั่วเพื่อปรับแรงลอยตัว ขณะใส่ wetsuit

วัสดุที่ใช้ทำ wetsuit ทำมาจาก Neoprene ทำให้เวลาที่เราใส่ wetsuit ตัวเรามักจะลอยน้ำ และต้องใช้แรงมากเวลาดำลงไปใต้น้ำ ต้องคอยเตะขาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เปลืองออกซิเจนที่อยู่ในร่างกาย

ดังนั้น เราจึงต้องใช้ ตะกั่วเพิ่มน้ำหนัก เพื่อทำให้ตัวเราสามารถดำน้ำลงไปได้ง่าย และสามารถลอยตัวอยู่ใต้น้ำได้โดยไม่ต้องเตะขามากนัก

การเพิ่มน้ำหนักมักใช้ เข็มขัดที่ทำมาจากยาง เเละใส่ตะกั่วเเบบก้อน เนื่องจากเวลาเวลาดำน้ำเราเอาหัวลงพื้น ถ้าเข็มขัดทำมาจากไนลอน จะทำให้เลื่อนหลุดมาอยู่ที่อก ทำให้กลั้นหายใจไม่สะดวก

Neck Weight

นอกจากเข็มขัดเเล้ว ที่นิยมอีกอย่างคือ ตะกั่วคล้องคอ มักทำมาจากตะกั่วเเบบเม็ดเอามาใส่ในยางเเล้วเชื่อมติดกับตัวล็อค ข้อดีคือ เลือกน้ำหนักตะกั่วได้ เช่น neck weight 1.85 กิโลกรัม เเละยังช่วยให้มีสมดุลที่ดี ตัวไม่เอียงไปมาเวลา free fall เพราะน้ำหนักจะถูกถ่วงอยู่ที่คอ

วิธีการตรวจสอบเเรงลอยตัว (Buoyancy Check)

การถ่วงน้ำหนักที่เหมาะสม จะต้องไม่ใช้ตะกั่วมากเกินไป เพราะจะทำให้ตัวจมตลอดเวลา เเละ เวลาดำน้ำก็ต้องใช้เเรงมากเพื่อจะกลับขึ้นมาบนผิวน้ำ เป็นอันตรายเวลา blackout

หรือถ้าหากใช้น้ำหนักน้อยเกินไปก็ต้องออกเเรงมาก เวลาดำลงไปข้างล่าง ต้องคอยเตะขาอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตัวลอย ทำให้ใช้ออกซิเจนมาก

  1. วิธี check buoyancy ที่ผิวน้ำ ให้ลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำ ตัวตรงตั้งฉากกับพื้น เเล้วหายใจออกให้หมด ถ้าเเรงลอยตัวพอดี ผิวน้ำจะอยู่ระดับเดียว กับหน้ากาก ถ้าจมลงมิดหัวเเสดงว่าใส่ตะกั่วมากเกินไป
  2. วิธี check เเรงลอยตัวเวลา ฝึกดำลึก (depth training) เช่นฝึก free immersion หรือ constant weight มักเลือกตำเเหน่ง neutral buoyancy(ตัวจะไม่จมเเละไม่ลอย) ที่ 10-13 เมตร โดยให้ดำลงไปที่ความลึก 13 เมตร เเล้วเอามือกำเชือก buoy หลวมๆลอยตัวนิ่งๆ เพื่อดูว่าตัวจมหรือไม่ ถ้าจมก็ให้ดึงเชือกขึ้น มาเรื่อยๆจนถึงจุด ที่สามารถลอยตัวอยู่นิ่งๆได้ เเต่ไม่ควรน้อยกว่า 10 เมตร จะทำให้เราสามารถกำหนดระยะ free fall ของเราได้
  3. การ check buoyancy เวลาฝึกดำน้ำ เเบบ dynamic เป็นการฝึกดำทางยาวในสระว่ายน้ำ หรือหน้าชายหาด ให้เราหายใจเข้าให้เต็มปอด เเล้วมุดลงไปใต้น้ำ เตะขา 2 ที เเล้วปล่อยตัวให้ลอยนิ่งๆ ถ้าตัวลอยขึ้นผิวน้ำให้ใส่ตะกั่วเพิ่ม หรือถ้าจมติดพื้นก็ให้เอาตะกั่วออก