DCS Case Kitthanes - EP2 - chamber

เปิดประสบการณ์กับการเป็น DCS Type 2 EP.3 + Final

ผ่านไป 48 ชั่วโมงแล้วหลังจากจบการรักษา DCS Type 2 กับ 2 ตาราง 6 และ 5

ตอนนี้อาการชาที่มือจาก DCS หายเกลี้ยง เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น ใช้ชีวิตได้ปกติ แถมด้วยการบาดเจ็บเรื้อรังบางอย่างหายไปเฉยเลย

ก่อนอื่นขอขอบคุณนักดำน้ำมากมายที่ส่งความห่วงใยและคำอวยพรให้หายไวๆ มานะครับ และขอบคุณที่ share EP.1 กันถล่มทลาย ทำให้หลายๆ คนสนใจและใส่ใจกับพฤติกรรมการดำน้ำของตัวเองมากขึ้น แต่หลายคนเท่าที่ตามไปอ่านก็กลัวไปเลย

อย่ากลัวเลยครับ มันไม่ได้เกิดง่ายๆ แค่ขอให้ดำน้ำอย่างมีสติอยู่ในกฎความปลอดภัยตามที่เรียนมาตั้งแต่ open water รักษาร่างกายให้แข็งแรงเสมอ พักผ่อนให้พอ ทานน้ำเยอะๆ งดสูบงดดื่มเวลาไปออกทริป เราทุกคนก็เลี่ยงการเกิด DCS ได้ครับ แต่จำไว้เสมอนะครับ “เราทุกคนเป็น DCS ได้” (ขออย่าได้เป็นกันเลย please)

case ของผมนี่คิดมาหลายวัน น่าจะให้น้ำหนักเรื่องความไม่ฟิตของร่างกายตัวเองมาอันดับแรก หลังจากนี้ต้องกลับมาฟิตร่างกายใหม่หมดในช่วงที่ยังต้องงดดำน้ำ

ติดค้างไว้ 2 เรื่อง ขอมาต่อใน EP. นี้ละกันครับ

เรื่อง 1 คนปวดหลังเสี่ยง DCS มากกว่า !!!

อ.หมอ ธนษวัฒน์ ผอ.กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน รพ.ทหารเรือ ให้ข้อสังเกตไว้เรื่องนี้ตอนที่คุยกันช่วงรักษาวันแรก แกบอกว่าจากข้อมูลสถิติที่เจอมาจากหลายๆ ที่ มีจุดน่าสนใจเรื่องของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในคนที่มีปัญหาการเจ็บหลังปวดหลัง เพราะกระดูกสันหลังอยู่ตรงนั้น และกระดูกสันหลังเป็นศูนย์กลางของระบบประสาทในร่างกาย (กรณีของผมน่าจะเกิดแถวกระดูกคอ มาออกอาการที่มือ) การที่สันหลังบาดเจ็บ ทำให้มีเรื่องของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณนั้นทำงานหนัก พอเราไปดำน้ำ N2 ก็จะสะสมบริเวณนั้นมากตามไปด้วย ถ้ามันออกไม่หมดก็ส่งผลต่อการเป็น DCS ตามมานั่นเอง

วันจันทร์ที่ 14 นี้ผมจะได้เห็นจากการทำ MRI ละว่ามีปัญหาตรงนี้จริงมั้ย จะได้วางแผนการรักษากันต่อไป

เรื่อง 2 … เป็นข้อมูลที่หลั่งไหลมาจากนักดำน้ำหลายท่านทั้งที่มีประสบการณ์การเป็น DCS และเคยเป็นผู้ดูแลรักษาคนเป็น DCS

ซึ่งก็พยายามเกลาออกมาเป็นภาษาง่ายๆ ให้อ่านกันนะครับ (ถ้ามีตรงไหนตกหล่น ผิดพลาด รบกวนชี้แนะได้ครับ)

อันแรกขอยกให้เป็นเรื่องของสาวๆ ก่อน แม้จะยังไม่มีตำราไหนบอกชัดเจน แต่คนทำงานหน้างานหลายปีเค้ามีสถิติที่น่าสนใจ

Period หรือประจำเดือน

นักดำน้ำสาวๆ กับการมี period ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ บางครั้งการไปดำน้ำในทริปอาจตรงกับช่วงนั้นพอดี บางคนใช้ยาเลื่อนช่วย

เอาหล่ะ … ดำน้ำได้มั้ยถ้าไปช่วงนั้นพอดี??

คำตอบคือได้ !!
แต่ … ร่างกายที่อ่อนแอและอ่อนเพลีย เสียน้ำเสียเลือดมากเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด DCS ได้เช่นกัน สาวๆ ควรทานน้ำชดเชยมากๆ โดยเฉพาะน้ำเปล่า พักผ่อนระหว่าง dive ให้เต็มที่ งดสูบงดดื่มได้จะดีมาก แต่ถ้ามันเพลียมากก็งดดำน้ำนะครับ อย่าไปเสียดายค่าทริป เพราะชีวิตสำคัญกว่ามาก

ใครเคยไปเกาะห้าใหญ่บ้าง ???

จุดนี้จะมีโพรงถ้ำที่สามารถไต่ขึ้นไปดูผิวน้ำในถ้ำได้ จากประสบการณ์ของคนที่รับรักษา case DCS นักดำน้ำที่ส่งมาจากเกาะห้าใหญ่ น่าสนใจตรงนี้ การอยู่ที่พื้นถ้ำความลึกประมาณ 20m+ แล้วว่ายขึ้นไปดูผิวน้ำในถ้ำ ซึ่งสูงขึ้นไปหลายเมตรแล้วกลับลงมาที่ความลึก ส่วนใหญ่จะขึ้นเร็วลงเร็ว อันนี้เป็นปัจจัยการเกิด DCS แน่นอน

ขึ้นได้มั้ย ??

ส่วนตัวไม่ขึ้น มองจากข้างล่างก็พอละ เพราะปกติจะมีลูกทัวร์กับนักเรียนไปด้วย ซึ่งมีทั้งมือใหม่มือเก่า เอาจริงๆ ดูแลไม่ทันแน่ๆ ด้วยเหตุผลของการขึ้นและลงในความลึกต่างกันหลายเมตร เราควบคุมในกลุ่มเราไม่ทันทุกคนจริงๆ ลูกทัวร์ผมเลยไม่เคยได้ขึ้นไปซะที แต่พาไปดู ghost pipe fish แทนนะจ๊ะ

เอาเป็นว่าถ้าอยากขึ้นไปดู ขอให้ประเมินความสามารถของตัวเองเป็นหลัก ขึ้นช้าๆ ลงช้าๆ ไว้ก่อนนะครับ

Sidemount

อ.วัฒน์ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับนักดำน้ำ sidemount ในเรื่องการแบก 2 tank หรือมากกว่าขึ้นบันไดเรือ การที่ร่างกายรับ load มากขึ้นจากน้ำหนักของ tank ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดฟองอากาศมากกว่าปกติที่บริเวณข้อเท้าข้อเข่า ซึ่งปอดจะฟอกไม่ทัน อันนี้ก็เสี่ยงกับการเป็น DCS เช่นกัน และเสี่ยงการบาดเจ็บของข้อเข่าข้อเท้าด้วย

ให้ดีถ้าคลื่นผิวน้ำหรือกระแสน้ำไม่ได้โหดร้าย ถอด tank ส่งให้เรือก่อน แล้วค่อยขึ้นเรือตัวเบาๆ ไปนะครับ

ฝากให้นักดำน้ำดูแลสุขภาพให้ดี ออกกำลังกายให้พอ ทานน้ำเยอะๆ ดำน้ำอย่างมีสติและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ พักน้ำให้นานเท่าที่จะทำได้

ขอให้ทุกคนดำน้ำอย่างสนุกและปลอดภัย มีโอกาสเจอกันในทริปทักทายกันได้ครับ
ขอบคุณที่ติดตามและห่วงใยครับ !!

1 week หลังจากเข้ารักษา DCS type 2 ที่กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน รพ.ทหารเรือ

อาการชาที่ผิวมือขวาหายเป็นปลิดทิ้ง

ขอบคุณ อ.พี่ยอด ที่ประสานงานให้ได้เข้ารักษาที่กองเวชฯ ตั้งแต่ต้นจนจบ คอยติดตามเคลมประกันของ Dive Assure จนสำเร็จ ช่วงวันแรกของการเข้ารักษา การติดต่อประกันค่อนข้างติดขัดและรอนานกว่าจะได้รับการติดต่อกลับ เนื่องจาก Dive Assure ไม่ได้มีสำนักงานในไทย มีเพียงตัวแทนประสานงาน ทำให้เกิดความสับสนพอควร ผมได้ช่วย email ประสานงานกับ Dive Assure อยู่ 2 ครั้ง ตอนนี้ทางประกันจ่ายค่ารักษาให้ทางกองเวชฯ เรียบร้อยแล้ว

ขอบคุณ อ.หมอ ธนษวัฒน์ ผอ.กองเวชฯ / คุณน้องหมอที่ตรวจผมช่วงเช้า / ทีมงานห้องกองเวชฯ ทุกท่านที่ดูแลรักษาผมกันจนดึกในวันแรก

ขอบคุณกองเวชฯ ที่ทำการรักษาผมก่อนทั้งที่ยังไม่ได้รับการ confirm จากประกัน มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าไป รพ.เอกชน ผมคงต้องนอนรอไปอีกหลายชั่วโมงแน่ๆ
case ผมถือเป็น case แรกของกองเวชฯ ในการรับรักษานักดำน้ำแบบเคลมตรงกับประกัน อาจจะติดปัญหาเรื่องประสานงานเคลมประกันนิดหน่อย แต่ตอนนี้ทีมงานกองเวชฯ พร้อม 100% ในการรับ case แล้วนะครับ

ฝาก share และบอกต่อเพื่อนๆ นักดำน้ำทั้งประเทศให้ทราบ ถ้าคุณจะต้องรักษา DCS จะต้องเข้า chamber ขอให้นึกถึง “กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน รพ.ทหารเรือ” อันดับแรกนะครับ ค่ารักษาไม่แพงเท่า รพ.เอกชน ทีมงานเก่ง (เรียนและฝึกมาทางนี้โดยตรง ประสบการณ์เยอะ) และดูแลดีมากๆ ทุกขั้นตอน ยิ่งถ้าคุณมีประกันดำน้ำ ยิ่งดี

ขอบคุณ Dive Assure ที่เจ็บจริงจ่ายจริง
ขอบคุณที่ทำให้ผมหายป่วย DCS type 2 ครับ (ไม่เข้าละนะ)
ปล.1 ซื้อประกันดำน้ำกันไว้นะครับ
ปล.2 ดำน้ำให้สนุกและปลอดภัยกันนะครับ
** เบอร์ติดต่อกองเวชฯ 0818114669 **

บทความจาก Facebook: Kitthanes Assawathanasirikul