กระแสน้ำแนวตั้ง (Vertcal Current)

ในชั้นเรียนดำน้ำ เราเคยเรียนการจัดการกับกระแสน้ำกันทุกคน ว่าให้เริ่มดำน้ำไปในทิศทางสวนกระแสน้ำ และกลับมาในทิศทางตามกระแสน้ำ หากกระแสน้ำนั้นไม่รุนแรงเกินไป แต่ในบางกรณี เราอาจจะพบกับกระแสน้ำในรูปแบบอื่น ไม่ใช่การพัดไปในแนวนอนแบบที่เราเคยเรียนรู้กันมา เข่น กระแสน้ำแนวตั้ง หรือที่เรียกกันว่า Vertical current

กระแสน้ำแนวตั้งนี้ทั่วไปมีสองแบบ คือกระแสน้ำดึงขึ้น (Upwelling) และกระแสน้ำดันลง (Downwelling) ซึ่งการพบกับกระแสน้ำแบบนี้จะดูเป็นเรื่องตื่นเต้น ท้าทายกว่าการดำน้ำทั่วไป และอาจจะไม่เหมาะกับนักดำน้ำมือใหม่ ประสบการณ์และการเรียนรู้ยังน้อยครับ

การเกิดกระแสน้ำแนวตั้งนั้นอาจจะมีปัจจัยหลากหลายแตกต่างกัน โดยส่วนมากมักจะในสถานที่ที่มีการทำให้เกิดการขวางทางของกระแสน้ำ เช่นตามกำแพงใต้น้ำ ซากเรือจมที่ขวางเส้นทางน้ำ หรือจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่มีพื้นที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันอย่างมาก เป็นต้น

กระแสน้ำกดลงนั้น จะกดเราลงไปลึก ไม่สามารถขึ้นสู่ความตื้นได้ จะทำให้เกิดปัญหาการดำลึกเกินแผนที่วางไว้ หรือเกินกำหนดของตารางดำน้ำ ส่วนกระแสน้ำดันขึ้นนั่นจะยิ่งอันตรายกว่า เพราะมันจะดันตัวนักดำน้ำขึ้นมาอย่างรวดเร็วสู่ผิวน้ำ และนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับโรค DCI การที่เราจะแก้ไขสถานการณ์ก็จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างแน่นอน รวดเร็ว หากพบกับกระแสน้ำแนวตั้ง โดยทั่วไปนักดำน้ำควรแก้ไขด้วยการถอยกลับมาและว่ายกลับไปในทิศทางเดิม หากพบว่าตนตกอยู่ในการดูดลงหรือดันขึ้นของกระแสน้ำ ให้รีบหนีออกมาให้พ้นก่อนที่แรงดูดหรือดันจะแรงเกินไป

สำหรับกระแสน้ำดันลง
สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำใจให้สงบ และตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ต้องทำคือให้ว่ายขึ้นเฉียงประมาณ 45 องศาในทิศทางออกจากกระแสน้ำ เติมลมเข้าใน BCD โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมากเกินไป เราจะสามารถจัดการกับมันได้ภายหลังจากเราแก้ไขสถานการณ์ได้แล้ว เพียงแต่ให้ถือ Inflator ไว้เตรียมที่จะปล่อยลมเมื่อเราพ้นจากเงื้อมมือของกระแสน้ำแล้ว นอกจากนั้น หากเราไม่สามารถขึ้นได้ด้วยวิธีนี้เพราะกระแสน้ำกดแรงเกินไป เราก็จะต้องคิดถึงการเกาะกับวัตถุใต้น้ำที่ทำให้เราสามารถดึงตัวขึ้นมาได้
ภายใต้กระแสน้ำกดลงนี้ โอกาสเดียวของเราคือออกมาให้พ้นจากแรงกดของมัน โชคดีที่ธรรมชาติของกระแสน้ำกดลงนี้ กระแสจะอ่อนกำลังลงเมื่อลงไปลึกมากขึ้น บางสถานการณ์เราต้องปล่อยตัวให้ไหลไปกับมันและขึ้นมาเมื่อกระแสน้ำเบาลงพอ ความผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นคือนักดำน้ำไปว่ายต้านกระแสน้ำจนออกแรงเกินความสามารถของตนเอง และนำไปสู่อาการทางกายคือเหนื่อยเกินไป หรืออาการทางใจคือตกใจ

สำหรับกระแสน้ำดันขึ้น
อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือการถูกทำให้พุ่งขึ้นสู่ความตื้นด้วยความเร็วที่สูงเหินไป อาจจะก่อให้เกิดโรคเบนด์หรือการบาดเจ็บจากการขยายตัวของอากาศได้ เมื่อเราเจอกระแสน้ำดันขึ้น เราต้องทำใจให้สงบ และว่ายออกไปจากกระแสน้ำนั้นด้วยเทคนิคการว่ายลงเป็นมุม 45 องศาในขณะเดียวกันก็ปล่อยลมออกจากบีซีดีด้วย ถ้าบีซีดีของเราเป็นแบบมี Dump Valve ด้านล่างก็จะทำให้การปล่อยลมนี้สะดวกขึ้น ให้ว่ายไปแบบนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะพ้นจากกระแสน้ำ เมื่อพ้นแล้ว ควรหยุดทำ Safety Stop ในความลึกนั้นสักครู่สั้นๆ และขึ้นตามปกติต่อไป กระแสน้ำแนวตั้งนี้มีไม่มากนัก เราควรศึกษาว่าสถานที่ใดมีกระแสน้ำดังกล่าวนี้ และระมัดระวังเมื่อไปดำน้ำตามสถานที่เหล่านั้นครับ

แหล่งความรู้: Dive Training magazine