DCS Case Kitthanes - Multiplace chamber

เปิดประสบการณ์กับการเป็น DCS Type 2 EP.1

เปิดประสบการณ์ใหม่หลังจากดำน้ำมา 20 ปี กับการเป็น DCS Type 2 ครั้งแรกในชีวิต หรือทางการแพทย์เวชศาสตร์เรียก Type 2 DCS

นักดำน้ำจะรู้จักคำว่า DCS กันอยู่ แต่มีกี่คนที่รู้จักมันจริงๆ

ในฐานะ instructor ขออนุญาตอธิบายหลวมๆ แบบนี้ครับ

Decompression Sickness (DCS) หรือ Bend

เกิดจากการที่ร่างกายสะสม N2 มากเกินกว่าปกติภายใต้แรงดันและร่างกายระบายออกไม่หมด แล้วไปสะสมตามเนื้อเยื่อและข้อต่อต่างๆ ส่วน N2 ที่ตกค้างก็จะขยายตัวขึ้นในขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำให้เกิดฟองก๊าซไปสะสมตามข้อต่อ ผิวหนัง กล้ามเนื้อหรือไปขวางทางเดินเลือด (ฟอง N2 เค้าไหลไปกับกระแสเลือด) ทำให้เกิดอาการต่างๆตั้งแต่เบาสุดคือปวดเมื่อยตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ มีอาการเพลีย หรือหนักสุดเป็นอัมพาตและตายได้ แล้วแต่ชนิดการเกิด โดยแบ่งง่ายๆ เป็น 2 type

  • Type 1 จะเป็นเรื่องของการปวดเมื่อยตามข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ (joint pain) / เป็นผื่นตามผิวหนัง (skin bend)
  • Type 2 จะเป็นเรื่องระบบประสาท (neuro) ชา อ่อนแรง อัมพาต ซึ่งรุนแรงกว่า Type 1 มาก
    ทั้ง 2 type รักษาด้วยการเข้า chamber

**case ของผมคือ Type 2** เพราะมีอาการชา มันชาที่ผิวมือขวาด้านบนช่วงนิ้วโป้งและนิ้วชี้ แต่จริงๆ มันเกิดที่ไขสันหลังส่วนคอแล้วส่งผลมาชาที่มือ อ.หมอ ผอ. บอกว่า case ผมถือว่ารุนแรงแต่โชคดีที่แสดงผลออกมาไม่มาก หลายคนหนักกว่านี้เยอะ

เมื่อวานหลายคนคงเห็นผมบอกว่ามือชา เลยไปหาหมอที่ รพ.พญาไท 3 แล้วได้วิตามินบีกลับมากิน แต่ลืมนึกถึงเลยจริงๆ ว่าตัวเองเสี่ยงจะเป็น DCS (ทำไมลืม??)

ต้นเรื่องเริ่มจากไปดำน้ำแสมสารมาช่วง weekend แล้วตื่นมาวันอังคารถึงเริ่มมีอาการ ทีแรกนึกว่าตัวเองนอนทับมือ แต่ผ่านไปครึ่งวัน ทั้งนวดแล้ว ยืดเหยียดแล้ว มันไม่หาย เลยไปหาหมอระบบประสาท แต่ลืมนึกเรื่อง DCS ไปเฉย มานึกได้ตอนเห็นหน้า อ.ยอดใน feed ปุ๊บ DCS กระเด้งมาในสมองเลย !!

พบทีมงานกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน

เช้าวันนี้ติดต่อ อ.ยอด เล่าให้แกฟัง แกเลยบอกว่ารีบไปที่ รพ.ทหารเรือเลย ไปพบทีมงานกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน ซึ่งทางกองมีโครงการที่จะรับ case แบบนี้สำหรับนักดำน้ำที่มีประกันดำน้ำมารักษา แบบไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน แต่ยังไม่ได้เริ่มสักที และผมเป็น case แรกของโครงการเลย (ควรดีใจใช่มั้ย??)

8.30 น. ไปถึงกองเวชฯ ทีมงานพร้อมแล้ว แต่ตัวผมยังไม่พร้อม คือยังไม่ได้ทำบัตร รพ. ก็ไปทำบัตรตามระเบียบของเวชระเบียนที่ตึกผู้ป่วยนอก แล้วกลับไปที่กองเวชฯ พบคุณหมอรอบเช้า ซักประวัติ ตรวจเช็คอาการต่างๆ แล้วรับใบส่งตัวไปเจาะเลือด / วัดคลื่นหัวใจ / x-ray ปอด / ตรวจฉี่ (ค่าตรวจทั้งหมด 800 นิดๆ ถ้าเป็นเอกชน 4,000 ไม่อยู่) กลับไปรอผลที่กองเวชฯ ระหว่างนี้คุณหมอก็มีแบบทดสอบการรับรู้ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อดูว่าสมองยังตอบสนองดีมั้ย ทดสอบการทรงตัวต่างๆ และนั่งรอ อ.หมอ ผอ.กองเวชฯ (อ.ธนษวัฒน์) ลงมาตรวจอีกท่าน (ช่วงนี้เที่ยงนิดๆ ละ)

พอดีวันนี้ตอนบ่ายมีนัดต้องพาอากู๋ไป รพ.เซนต์หลุยส์ ฉีด AZ เลยขอตัวไปทำหน้าที่ก่อนแล้วค่อยกลับมาเข้า chamber (พอดีทีมงานต้องประสานงานเรื่องเคลมประกันและเตรียมห้องก่อนด้วย เลยแว่บได้)

บ่าย 3.30 กลับเข้ามาที่กองเวชฯ เปลี่ยนชุดเขียว แทงน้ำเกลือ ดม O2 รอไปเข้า chamber

DCS Case Kitthanes - EP1 - 002

ทำไมได้น้ำเกลือ ?? เพราะผลเลือดตอนเช้ามันฟ้องว่าเลือดข้น คืองดน้ำรอไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน (ก็เพิ่งรู้ว่าไม่ต้องงดนะจ๊ะ) อ.หมอ ผอ. เลยกลัวจะ dehydrate แล้วมันจะยากต่อการคลาย N2 (จัดไป 2 ขวดตลอด 6 ชั่วโมง)

เข้า chamber

เดินถือน้ำเกลือไปที่ห้อง multiplace chamber แบบตู้ใหญ่ที่สามารถรองรับ 12 คนพร้อมกันได้ ใส่ collar เพื่อใช้ตอนให้ O2 ช่วงทำ treatment เสร็จแล้วก็ปีนขึ้นเตียงนอนแบบในรูป มีน้องเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยในห้องเพื่อคอยสังเกตอาการตั้งแต่เริ่มทำจนจบ

เอาล่ะความบันเทิงจะเริ่มละนะกับ “ตาราง 6+1” … เมื่อทุกคนพร้อม ประตูห้อง chamber ปิดลง เหลือผมนอนบนเตียง และมีน้องเจ้าหน้าที่อีกคนในห้อง

ตับแรก (ทีมงานเรียกแท่ง) เจ้าหน้าที่ control ด้านนอกส่งสัญญาณว่าจะปรับความดันไปที่ 60 ฟุต (18 m) ตอนนี้เหมือนดำน้ำจริงๆ เลย เคลียร์หูไปเรื่อยๆ จนถึงความลึก 60 ฟุต อุณหภูมิในห้องอุ่นขึ้นชัดเจน จากนั้น control สั่งให้ใช้ O2 ครอบหัว (นึกภาพเอาลูกบอลใสๆ มาครอบหัวไว้) มีท่อ 2 ท่อต่อมาที่ collar เพื่อจ่าย O2 ท่อนึง อีกท่อไว้ดูด CO2 ออกไป ก็นอนดม O2 ไปเพลินๆ 20 นาที แล้วทำ air brake 5 นาที (หายใจอากาศปกติในห้อง เอาที่ครอบออก) ทำ set นี้ 3 ตับ (ปกติเค้าทำ 2 ตับ … นี่ได้ extend มาอีกตับ เพราะมารักษาช้าไปวัน)

DCS Case Kitthanes - EP1 - 006

พอตับที่ 4 ให้ดม O2 20 นาที แล้วปรับความดันกลับขึ้นมาที่ 30 ฟุต (9 m) โดยปรับทุก 1 ฟุต / 1 นาที งั้นตอนนี้ก็ไต่ขึ้นมา 30 นาที แล้ว air brake 5 นาที

ถึงช่วงนี้ทุ่มนิดๆ ละนะ (จาก 3.30 น.)

ตับ 5 ที่ระยะ 30 ฟุตนี้เริ่มดม O2 60 นาที air brake 15 นาที โดนไป 2 ตับ

ตับ 7 ดมอีก 60 นาที แล้วไต่ระดับขึ้น surface อีก 30 นาทีเหมือนรอบที่แล้ว สิริรวม 6 ชั่วโมงนิดๆ กับการนอนนิ่งๆ ในห้อง chamber 7 ตับ (6+1)

ออกมาจะสี่ทุ่ม วิ่งไปฉี่ก่อนเลย อั้นมาเป็นชั่วโมง คุยกับคุณหมอต่อในแนวทางรักษาเพิ่มเติมของวันพรุ่งนี้

ตั้งแต่ตับแรกที่ 60 ฟุต น้องเจ้าหน้าที่จะคอยถามว่าอาการชาที่มือดีขึ้นมั้ย area ที่ชาแคบลงมั้ย เอาเข็มแหลมๆมาจิ้มๆ ใน zone ที่วงไว้ตั้งแต่ก่อนเข้า chamber ทำแบบนี้ทุกๆ air brake ซึ่งมันเห็นผลตั้งแต่ตับแรก จากวงกว้างๆ ที่เขียนด้วยปากกาไว้ มันเหลือแค่วงเล็กๆ รัศมี 1 cm แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นสุดขั้นตอนการบำบัด ตอนนี้อาการชาเหลือ 5% กลับบ้านได้ (ถ้าคนเป็นเยอะๆ คงได้นอน รพ.)

DCS Case Kitthanes - EP1 - 003
ได้แผนที่มาอัน … ในวงคือจุดที่ชา

แต่ อ.หมอ ผอ. บอกว่ามันอาจจะกลับมาได้ และการที่ผมมารักษาล่าช้าเกิน 24 ชั่วโมง ทำให้มันออกไม่หมด ยังต้องทำการรักษารอบ 2 ในวันพรุ่งนี้ (คนที่เป็นหนักๆ อาจต้องเข้าตู้ 3-5 ครั้ง) แต่ตารางการรักษาของวันพรุ่งนี้เป็น “ตาราง 5” เวลาจะสั้นลงเหลือ 2 ชั่วโมงนิดๆ และเปลี่ยนไปนอนตู้เดี่ยว monoplace chamber (นึกสภาพตู้กลมยาวๆ ใสๆ แบบแคปซูลไว้) แล้วส่งทำ MRI หาร่องรอยบางอย่างที่ อ.หมอ ผอ. สงสัย กับการตรวจอะไรอีกอันจำชื่อไม่ได้ (PFO) เพื่อจะได้รู้สาเหตุจริงๆ ว่ามันเกิดจากอะไร แกอยากเคลียร์ให้หมด หาปัญหาให้เจอเพราะผมยังต้องทำงานเรื่องดำน้ำต่อ จะได้รู้ว่าต้องระวังอะไรเป็นพิเศษรึเปล่า เพราะจาก dive profile 6 dive (download logbook ไว้ตลอด) ของช่วงที่ดำน้ำไม่มีอะไรบอกความผิดปกติเลย อยู่ในเงื่อนไขการดำน้ำที่ถูกต้องหมด แสดงว่ามันต้องมีปัจจัยเรื่องอื่นโดยเฉพาะร่างกายแน่ๆ

DCS Case Kitthanes - EP1 - 007

อีกเรื่องที่ อ.หมอ ผอ. สงสัย คือเรื่องอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น น้ำอุ่นทำให้ N2 ซึมเข้าร่างกายดีขึ้นกว่าน้ำเย็น (อ่ะ ความรู้ใหม่) กับเรื่องอาการปวดหลังปวดคอ แกบอกว่ามีหลาย case ที่เค้าเจอๆ กันมาจากหลายๆ ที่ว่าคนที่มีอาการปวดหลังปวดคอมีโอกาสเป็น DCS มากกว่าคนปกติ (ไว้อธิบายเรื่องนี้ใน content ต่อไปละกันครับ)

เอาล่ะอาจมีคนสงสัยว่าไปทำยังไงถึงเป็น DCS ??!!

ตอบจริงๆ ไม่รู้เลย เพราะการดำน้ำที่เพิ่งจบไป

  • พักน้ำเกิน 5 นาทีทั้ง 6 dive
  • ขึ้นน้ำก็ช้า ไม่ได้พุ่งขึ้นมา รอจนคนสุดท้ายขึ้นผิวน้ำ ถึงตามขึ้นมา
  • อยู่ไม่เกิน NDL ไม่ติด decomp.
  • surface interval เพียงพอก่อนลงดำ dive ถัดไป ทำทุกอย่างตาม safety zone ของการดำน้ำที่ถูกต้อง
  • ไม่ดื่ม ไม่สูบเป็นปกติชีวิต
  • ดำน้ำ conservative มากเพราะต้องดูแลนักเรียนตลอด dive

แต่เรื่องที่คิดว่าเข้าข่ายก็เยอะ

  • กลางคืนคืนแรกเหมือนหลับไม่สนิท นอนไม่พอ
  • เมาควันเรือนิดๆ ช่วงไล่เปลี่ยน tank ตลอด 6 dive
  • กระแสน้ำมีเบาๆ พอได้ออกแรง อันนี้ไม่เหนื่อย
  • ช่วงว่ายน้ำกลับเรือ มีบาง dive ไกลพอควร ตีฟินยาวเลย น่าจะเหนื่อยสะสมอันนี้มั้ยนะ
  • ขึ้นจากน้ำมาไล่เปลี่ยน tank ให้ลูกค้าและนักเรียน (เปลี่ยนเสร็จถึงเวลาดำต่อพอดี) พักแต่ไม่ได้พัก

อาการเป็นยังไง ??

  • เพลียนะ ปกติระหว่าง dive จะไม่ง่วง รอบนี้ง่วงในวันที่ 2 แอบหลับนกไปด้วย
  • เหมือนนอนไม่อิ่มตลอดเวลา
  • dive 1 กับ 4 ที่ลง Hardeep รู้สึกไม่สบายหัว มึนเบาๆ (ไม่ได้เมา N2 มั่นใจ) พอขึ้นผิวน้ำอ๊วกนิดๆ แล้วสบายหัว
  • ขากลับกทม.มีอาการง่วงตอนขับรถ (ปกติไม่ง่วง)
  • กลับกทม.มาแล้ววันต่อมาไม่อยากตื่น
  • มือชาในวันต่อมา

ลดความเสี่ยงการเป็น DCS ทำยังไง ??

  • มี dive comp เป็นของตัวเอง และใช้ให้ถูกต้อง ดูบ่อยๆ ไม่ต้องกลัวมันเขิน มันเป็นของเราแล้ว
  • การอยู่ใน safety zone … ไม่เกิน NDL / ขึ้นน้ำช้าๆ ต่ำกว่า 18 เมตรต่อนาทีได้ยิ่งดี / พักน้ำทุกครั้ง
  • งดสุรา บุหรี่เวลาไปดำน้ำ !! ค่ารักษาแพงกว่าค่าเหล้ากับบุหรี่เยอะ !! อดใจไว้ก่อน
  • ไม่ออกแรงมากไปเวลาดำน้ำ ไม่ดำน้ำแบบโยโย่
  • กินน้ำบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เลือดข้น N2 จะได้ระบายออกง่ายๆ
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ พักผ่อนให้พอ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ??

  • ใช้ O2 หายใจตอนอยู่บนเรือ (เรือมีให้ใช้ อย่าทะลึ่งไปดมเล่นถ้าไม่ป่วย เกิดฉุกเฉินคนจะใช้ไม่ได้ใช้ เจอบ่อยเวลาไป liveaboard)
  • งดดำน้ำ 24 ชั่วโมง สังเกตอาการ
  • ส่งแพทย์ด่วนที่สุด

ก่อนเข้า chamber ต้องทำไง ??

  • ทำใจสบายๆ
  • เข้าห้องน้ำปลดทุกข์หนักเบาให้สิ้นอย่าให้เหลือ เพราะอยู่ๆ จะขอเดินออกจากตู้ไปส้วมไม่ได้ ถ้าปวดก็ต้องทน
  • บอกกล่าวพ่อแม่ลูกเมียสามีที่บ้านให้พร้อมว่าอีกกี่ชั่วโมงถึงจะออกมา เดี๋ยวเค้าเป็นห่วง
  • กินให้อิ่มพอประมาณ เดี๋ยวหิว (ระหว่างทำ treatment มีส่งของกินเข้ามาได้นะ โคตรเจ๋ง)
  • อุปกรณ์สื่อสาร มือถือ นาฬิกา เครื่องประดับ ถอดหมดเอาเข้าตู้ไม่ได้ เสี่ยงเกิดประกายไฟ เพราะในตู้มีแต่ O2 ติดไฟได้
  • ถ้าเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เอาหนังสือไปอ่านได้ พกไปเลย แก้เบื่อได้

บรรยากาศในตู้ chamber ใหญ่เป็นไง ??

  • ถ้าเคยดูหนังเรือดำน้ำ แบบนั้นเลย ระหว่างปรับความดันจะมีเสียงกุ๊งกั๊งจากการบีบอัดความดันมีผลต่อตู้
  • ก็เย็นสบายดีนะ ไม่อุดอู้
  • มี CCTV และ intercom ไว้สื่อสารกับ control ได้
  • บรรยากาศน่าหลับแต่ไม่หลับ สงสัยได้ O2 เยอะมั้ง ตื่นตัวมาก
  • ใครกลัวที่แคบ ทำใจไว้กับการอยู่ในนั้นหลายชั่วโมง
  • คิดซะว่าขึ้นเครื่องบินไปลง Dubai (ซัดไป 6 ชั่วโมงขนาดนี้)

ค่ารักษาเป็นยังไง ??

  • ถ้าเป็น รพ.เอกชน อย่างน้อยนาทีละ 2,000 !! (6 ชั่วโมง 720,000 นะเธอ!!)
  • ที่กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน รพ.ทหารเรือ ชั่วโมงละ 24,000

งานนี้ถ้าจ่ายเองก็ 144,000 นะจ๊ะ

ดีที่ทำประกันดำน้ำส่วนบุคคลไว้ ซึ่งครอบคลุมการเข้า chamber แบบไม่จำกัดวงเงินไว้ … ประกันจ่ายไป (กองเวชฯ กำลังเคลมอยู่)

อยากบอกนักดำน้ำไว้ ไม่ว่าคุณจะดำน้ำบ่อยหรือนานๆ ดำน้ำ ก็ทำประกันเถอะ จ่ายเบี้ยเริ่มต้นปีนึง 4,000 นิดๆ … อุ่นใจแน่นอน

https://diveassure.com/th/home/
https://dan.org/membership-insurance/
https://www.padi.com/dive-insurance

อยากให้ content นี้เตือนนักดำน้ำที่ยังดื่มจัดสูบจัด ดำน้ำติด decomp. และชอบทำอะไรเสี่ยงๆ ได้คิดนะครับ หลายคนบอก ก็ทำแล้วไม่เป็นไร ใช่ครับมันยังไม่เป็นไง เกิดเป็นขึ้นมาค่ารักษาแพงนะครับ ถ้าต้องจ่ายเอง ไม่คุ้มจริงๆ กับผลที่เกิด ยิ่งถ้าออกทะเลไป liveaboard กว่าจะได้เข้าฝั่ง เดี๋ยวจะไม่ทันการณ์ ขนาดผมไม่ดื่มไม่สูบยังเป็นเลย นี่ยังไม่นับคนที่อาการหนัก ต้องนอนรักษาอาการต่อเนื่องใน รพ.อีก ค่าใช้จ่ายมันสูง

สำหรับวันนี้ขอกราบงามๆ ให้กับ

  • อ.ยอดที่ประสานงานให้ตั้งแต่เช้า
  • ทีมงานกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน รพ.ทหารเรือที่ดูแลตั้งแต่เช้ายันมึด (ออกเวรแล้วยังต้องมาทำ OT ดูแลผมอีก)
  • คุณหมอรอบเช้า
  • อ.หมอ ผอ. (อ.ธนษวัฒน์) รอบบ่ายถึงดึก

พรุ่งนี้มี EP.2 มาให้เสพกันต่อ
EP.นี้ เปิด public ให้ได้อ่านและ share กันเป็นวิทยาทานได้นะครับ

บทความจาก Facebook: Kitthanes Assawathanasirikul