Mistake when use Nitrox - Tecrew - 680606

ข้อผิดพลาดที่นักดำน้ำมักลืม เมื่อใช้ Nitrox

สวัสดีเพื่อนๆ ชาว TECREW วันนี้ admin จะมาพูดถึงสิ่งที่นักดำน้ำมักทำผิดพลาดกันเมื่อใช้ Nitrox

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เราใช้ Nitrox กันไปทำไม? ส่วนใหญ่เราใช้อากาศ Nitrox กันเพื่อเพิ่มระยะเวลา NDL ทำให้สามารถอยู่ในความลึกได้นานมากขึ้นกว่าการใช้อากาศปกติ มักใช้กับ dive site ที่มีความลึกระหว่าง 18 – 30 เมตร

คราวนี้เรามาดูกันว่านักดำน้ำมักทำผิดพลาดเรื่องอะไรกันบ้าง? เมื่อใช้อากาศ Nitrox

1. ไม่วัดปริมาณ Oxygen ด้วยตัวเอง (Analyzed gas)!!!

การไม่วัดปริมาณ Oxygen ด้วยตนเองนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเรานั้นไม่สามารถแยกออกเลยจากการหายใจว่า อากาศที่เราหายใจอยู่นั้นคืออะไร? ถ้าเราไม่วัดด้วยตนเอง ก็ย่อมมีโอกาสหยิบถังผิด ซึ่งส่วนผสมอาจจะไม่ใช่ส่วนผสมที่เราจะใช้ดำน้ำ หรือมีโอกาสที่คนเตรียม gas หลงหยิบผิดถัง หรือติด tag ผิด ซึ่งความเสี่ยงต่างๆ ก็จะตกอยู่ที่ตัวนักดำน้ำเอง เพราะเหตุนี้เราจึงควรตรวจวัดปริมาณ Oxygen (Analyzed gas) ก่อนใช้ทุกครั้งเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

2. ไม่รู้ MOD ของอากาศที่ตนเองใช้!!!

อากาศผสม Nitrox นั้น ในแต่ละส่วนผสม ก็ย่อมมีข้อจำกัดของการใช้งานเสมอ ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ MOD (Maximum Operating Depth) หรือความลึกสูงสุดที่เรานั้นสามารถใช้ gas ในการหายใจได้ โดยข้อจำกัดนี้มีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศ Oxygen เป็นพิษในที่ลึก (CNS Oxygen Toxicity) เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะเริ่มการดำน้ำเราควรย้ำเตือนตัวเองเสมอถึงปริมาณส่วนผสมของ Oxygen ที่เราใช้ และความลึกสูงสุดที่เราสามารถใช้ได้ โดย dive computer หลายรุ่นจะแสดงเมื่อเราเข้า mode ดำน้ำ เราควรตรวจเช็คเสียก่อนที่จะเริ่มดำน้ำ

3. ไม่เช็ค dive computer ก่อนเริ่มดำน้ำ

ในหลายๆ ครั้ง เราไม่ได้ใช้อากาศผสม Nitrox ทุก dive แต่ใช้เป็นบาง dive ตามความเหมาะสมของสภาพ dive site ที่เราจะลงไปดำน้ำ ทำให้เรามีโอกาสผิดพลาดโดยการลึมปรับตั้ง dive computer เป็นอากาศที่มีส่วนผสมตรงกับที่เราใช้ดำน้ำจริง เช่น dive computer ตั้งเป็น Air แต่ความเป็นจริงแล้วใช้ Nitrox หรือ dive computer ตั้งเป็น Nitrox แต่แท้จริงแล้วเราใช้ Air ดำน้ำ ซึ่ง 2 กรณีนี้ก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

dive computer ตั้งเป็น Air แต่ความเป็นจริงแล้วใช้ Nitrox

กรณีนี้ dive computer จะให้เวลา NDL น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้เรานั้นปลอดภัยมากขึ้นจากกรณีการสะสมของ Nitrogen ในร่างกาย แต่หากเราลึม เราก็จะไม่รู้ความลึกสูงสุดที่เราสามารถใช้อากาศผสมนั้นได้ และ dive computer ก็จะไม่เตือนเราด้วย ซึ่งถ้าหากเราลงลึกเกินไปก็มีความเสี่ยง CNS Oxygen Toxicity

dive computer ตั้งเป็น Nitrox แต่แท้จริงแล้วเราใช้ Air

กรณีนี้ เราไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดอะไรได้เลยในขณะดำน้ำ เนื่องจาก dive computer คิดว่าเราใช้อากาศผสม ที่มีปริมาณ Oxygen สูงกว่า จึงคำนวณให้ NDL ที่มากกว่าความเป็นจริง ถ้าเราดำน้ำตาม NDL ที่ dive computer ให้ เราก็มีความเสี่ยงที่จะดำน้ำนานเกิน NDL จริง ซึ่งจะก่อให้เกิดการสะสมของ Nitrogen ที่มากเกินไป จึงทำให้เราไม่สามารถอ้างอิง NDL ได้เลยจากกรณีนี้

อีกทั้งเมื่อจบ dive แล้ว dive computer ของเรานั้นก็จะคำนวณ Nitrogen tracking ผิด เราจึงไม่ควรใช้ dive computer ตัวนั้นในการอ้างอิง NDL ใน dive ถัดไป แต่เราควรพักน้ำเพื่อเคลียร์ Nitrogen ที่สะสมในร่างกายเรานั้นออกจนหมดเสียก่อนแล้วจึงกลับมาดำน้ำใหม่ โดยทั่วไปก็พักการดำน้ำ 24 ชั่วโมง เพราะหากเราฝืนดำน้ำ เราก็อาจมีความเสี่ยงที่จะสะสม Nitrogen เกินไปจนเกิดเป็น DCS ได้

จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กรณีนั้นล้วนส่งผลถึงการ Nitrogen tracking ของ dive computer ทั้งสิ้น เราจึงควรตรวจเช็ค ประเภทของอากาศบน dive computer ก่อนการดำน้ำว่าตรงกับที่เราใช้หรือไม่

ทุกคนคงได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อย ใครที่อยากให้ TECREW เขียนเรื่องอะไรก็ส่ง inbox มานะ ส่วนใครที่ยังไม่ได้กดติดตามก็ฝากกดติดตามเป็นกำลังใจให้เพจ TECREW กันด้วยนะ

บทความจาก Facebook: Tecrew