หน้ากากเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการดำน้ำที่ช่วยให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ชัดเจน และช่วยไม่ให้แสบตาถ้าต้องให้ดวงตาสัมผัสกับน้ำทะเล นอกจากนี้ หน้ากากยังต้องครอบลงมาถึงจมูกไม่ให้เราสำลักน้ำ แต่ที่จริงยังมีหน้าที่สำคัญมากกว่านี้อีกเรื่อง ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไปในรายละเอียดอีกที
หน้าที่สำคัญเหล่านี้ทำให้หน้ากากดำน้ำต้องมีส่วนประกอบต่างๆ หลายอย่าง ที่เหมาะต่อการใช้งาน ทั้งขนาด รูปทรง วัสดุ ให้ตอบโจทย์การดำน้ำทุกรูปแบบ และความต้องการที่ต่างกันไปของนักดำน้ำแต่ละคน ลองมาทำความรู้จักกับส่วนประกอบต่างๆ ของหน้ากากดำน้ำกันดีกว่า
เลนส์ (Lens)
เลนส์ของหน้ากากดำน้ำส่วนใหญ่ทำมาจากกระจกนิรภัย (tempered glass) ซึ่งมีความแข็งแรง ทนแรงกดได้ดี เป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมดำน้ำ เมื่อแตกจะมีลักษณะเหมือนเม็ดข้าวโพด อันตรายน้อยกว่ากระจกทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีเลนส์ที่ทำจากโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ซึ่งดัดโค้งได้ ให้มุมมองสายตาที่กว้างขึ้น โดยไม่เพิ่มปริมาตรอากาศภายในหน้ากาก (low volume) อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา ในปัจจุบันมักจะใช้กับหน้ากากฟรีไดฟ์
การจัดวางเลนส์โดยพื้นฐานมี 2 แบบ คือแบบเลนส์ชิ้นเดียว (single-len) ที่ให้มุมมองโปร่งโล่ง และแบบเลนส์แยก 2 ชิ้น (double-len) อีกทั้งยังมีหน้ากากที่มีเลนส์ใสๆ อยู่ด้านข้างด้วย (ที่เรียกกันว่าแบบ 3-window และ 4-window) จะให้มุมมองด้านข้างเพิ่มเข้ามา แต่ก็จะทำให้มีปริมาตรมากขึ้นด้วย ทำให้ต้องใช้อากาศในการเคลียร์หน้ากากมากกว่าแบบอื่นๆ
เลนส์ของหน้ากากบางรุ่นถูกออกแบบมาให้สามารถเปลี่ยนเป็นเลนส์สายตาสำหรับคนที่สายตาสั้นหรือยาวได้ด้วย ทั้งยังเพิ่มฟังก์ชั่นเสริม เช่น เคลือบสารกันฝ้าหรือติดฟิล์มกันฝ้ามาให้ในตัว เพิ่มเลนส์ UV Cut ที่ช่วยถนอมสายตาจากแสง UV และเลนส์สีเหลือง (amber lens) ที่ช่วยชดเชยสีที่หายไปใต้น้ำ ช่วยให้มองเห็นสีของสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ตรงความจริงมากขึ้น
กรอบเลนส์ (Frame)
เป็นส่วนที่ยึดเกาะกับเลนส์และขอบหน้ากาก มักทำด้วยพลาสติก บางรุ่นก็ทำจากอลูมิเนียมเพื่อความสวยงาม อีกทั้งยังสามารถผลิตให้มีสีสันและดีไซน์หลากหลายแบบ
ในปัจจุบัน มีหน้ากากหลายรุ่นไม่มีกรอบมาเป็นตัวยึดเกาะเลนส์ แต่ใช้ซิลิโคนหุ้มขอบเลนส์เป็นชิ้นเดียวกับขอบหน้ากาก ทำให้มีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา หรือที่เราเรียกกันว่า frameless
รูปร่างของกรอบเลนส์ จะมีผลต่อทัศนวิสัยของนักดำน้ำ เช่น หน้ากากบางรุ่นมีรูปร่างที่ฉีกออกด้านข้างมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่มองเห็นด้านข้างได้อีก บางรุ่นยังเพิ่มระยะของกรอบด้านล่าง ทำให้มองเห็นด้านล่างได้มากขึ้น
ส่วนความหนาของกรอบเลนส์ (ระยะจากกรอบเลนส์ถึงขอบหน้ากากที่สัมผัสกับใบหน้า) ก็มีผลต่อทัศนวิสัยเช่นกัน คือยิ่งบาง (low profile) ก็จะเพิ่มองศาการมองเห็นได้มากขึ้น และยังมีผลต่อปริมาตรอากาศในหน้ากากด้วย คือยิ่งบางก็ยิ่งทำให้ปริมาตรอากาศน้อย (low volume) สามารถเคลียร์หน้ากากเวลาน้ำเข้าได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่จะกดทับบริเวณโหนกคิ้วหรือจมูกได้
ขอบหน้ากาก (Skirt)
เป็นส่วนที่ยึดเกาะกับใบหน้าของเรา มักจะเป็นซิลิโคนที่ให้ความนิ่มสบาย ยืดหยุ่นกระชับใบหน้า เป็นวัสดุที่ไม่ระคายเคือง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ทั้งยังแข็งแรงทนทาน หากดูแลรักษาดีๆ อาจมีอายุการใช้งานได้เกิน 10 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีขอบหน้ากากที่ทำจาก PVC ซึ่งราคาถูกกว่ามาก แต่ใส่แล้วอาจไม่นิ่มสบายนักและไม่กระชับใบหน้า น้ำรั่วเข้ามาง่าย เมื่อโดนแดดไปเรื่อยๆ จะแข็งตัวขึ้น ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
ขอบหน้ากากก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ผลิตสามารถออกแบบให้มีสีสันมากมาย ที่นอกจากจะให้ความสวยงามแล้วยังส่งผลต่อความรู้สึกในเรื่องการมองเห็นใต้น้ำด้วย นักดำน้ำบางคนมองว่าซิลิโคนสีทึบจะชวนให้รู้สึกอึดอัด ในขณะที่ซิลิโคนใสให้ความรู้สึกโปร่งสบายมากกว่า เหมือนกับมีทัศนวิสัยเพิ่มขึ้น
Nose Pocket
เป็นส่วนที่ต่อเนื่องกับขอบหน้ากากหรือเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของขอบหน้ากากก็ได้ เป็นส่วนที่สำคัญมากในการดำลงไปใต้น้ำ คือช่วยให้เราสามารถเติมอากาศเข้าไปในหน้ากากเพื่อลดการถูกบีบอัดจากแรงดันน้ำในที่ลึก (mask squeeze) นั่นเอง เป็นคำตอบให้กับบางคนที่สงสัยว่า ทำไมเราไม่สามารถใช้แว่นตาว่ายน้ำ (ไม่มีที่ครอบจมูก) ลงไปดำน้ำลึกได้
ส่วนนี้ยังเป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นส่วนที่เราใช้บีบจมูกเพื่อเคลียร์หูด้วย บางรุ่นทำร่องด้านข้างมาลึกให้สอดนิ้วเข้าไปบีบจมูกได้ง่าย บางรุ่นทำผิวส่วนนี้แบบหยาบๆ เพื่อให้ยึดเกาะกับนิ้วได้ง่าย ไม่ลื่น จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่เราต้องทดสอบการใช้งานให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหน้ากากดำน้ำ
สายรัดหน้ากาก (Mask Strap)
ส่วนใหญ่ทำจากซิลิโคนเช่นเดียวกับขอบหน้ากาก แต่มีแบบทำด้วย PVC ซึ่งราคาถูกกว่า แข็งกระด้างกว่า และอายุการใช้งานสั้นกว่า สายรัดของหน้ากากบางรุ่นทำจากผ้านีโอพรีน (Neoprene) ช่วยป้องกันผมติดกับสายรัด นอกจากนี้ก็ยังสามารถหาซื้อ mask strap cover ที่เป็นนีโอพรีนมาสวมเข้าไป เพื่อป้องกันผมติดสายรัดได้
ตัวล็อคสายรัดหน้ากาก (Buckle)
ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก ช่วยยึดและปรับระยะสายรัดให้หลวมหรือแน่นกับศีรษะของผู้ใช้ได้ตามต้องการ ซึ่งระบบล็อคสายจะออกแบบให้ปลอดภัยในระหว่างใช้งานใต้น้ำ โดยใช้กลไกที่ดึงให้แน่นได้ง่าย ดึงที่ปลายสายรัดได้ทันที แต่ปลดให้หลวมได้ยาก ต้องมีกลไกคลายล็อคก่อนจึงจะผ่อนสายให้หลวมได้
ส่วนวิธีการปรับหลวม/แน่นของตัวล็อคจะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น ตามการออกแบบของผู้ผลิต ซึ่งหลักๆ แบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
- แบบงัด ต้องระวังอย่างัดแรงทันที อาจทำให้หักได้ (แต่ส่วนใหญ่ก็แข็งแรงมาก แม้จะดูเล็กนิดเดียว)
- แบบบีบ ปรับได้ง่าย และไม่เสี่ยงทำตัวล็อคแตกหัก
นอกจากนี้ก็มีบางรุ่นใช้แบบอื่นเลย เช่น ถ้าเป็นสายแบบผ้าอาจรัดแบบเข็มขัด หรือแบบตีนตุ๊กแก
สำหรับใครที่ต้องการถอดสายออกมาทั้งหมดเพื่อสวมแถบผ้าครอบสายรัดหน้ากาก (mask strap cover) เห็นตัวล็อคสายแล้วอาจเกรงๆ ว่าจะไม่สามารถใส่กลับเข้าไปได้รึเปล่า ที่จริงตัวล็อคทุกแบบสามารถถอดเอาสายออกมาทั้งหมดแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ได้แน่นอน แต่บางแบบอาจต้องใช้แผ่นพลาสติกเล็กๆ ช่วยนำทางสายที่จะสอดออกมานิดนึง
ทั้งหมดนี้คือ ส่วนประกอบต่างๆ ของหน้ากากดำน้ำซึ่งทำหน้าที่ร่วมกัน ช่วยให้เราสามารถดำลงไปใต้น้ำ ได้อย่างปลอดภัย ชื่นชมกับธรรมชาติอันงดงามได้อย่างราบรื่น และมีความสุข