Neoprene, Elastane, Yamamoto, Geoprene, Yulex – เรื่องของวัสดุผลิตเว็ทสูท

ในอดีตเมื่อครั้งผมยังดำน้ำใหม่ๆ (ก็ราว 20 กว่าปีโน้นนนมาแล้ว) จำได้ว่า นักดำน้ำเรารู้กันง่ายๆ แค่ว่า เว็ทสูท ทำจากนีโอพรีน (Neoprene) ซึ่งเป็นยางที่มีรูพรุน ช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกายเรา ในระหว่างดำน้ำ แค่นั้นเอง

ต่อมาไม่นาน เราก็เริ่มได้ยินชื่อวัสดุใหม่ๆ บ้างอย่างเช่น Elastiprene ของเว็ทสูทแบรนด์ Pinnacle ซึ่งที่จริงก็ยังคงมีวัสดุหลักเป็นนีโอพรีน แต่เพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น (ด้วยเทคนิคประการใด ไม่อาจทราบได้ เพราะทางแบรนด์ก็ไม่ได้บอกไว้ชัดเจน)

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นเว็ทสูทรุ่นใหม่ๆ ของแบรนด์ดังหลายแบรนด์ แนะนำชื่อวัสดุใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน มากมายหลายชื่อกันเลยทีเดียว ทั้งอ้างว่า ดีกว่านีโอพรีนบ้าง ดีกว่าอีกอย่างหนึ่งบ้าง จนพลิกตำรากันไม่ทันว่าอะไรเป็นอะไร ดีกว่าอีกอย่างตามคำโฆษณานั้นหรือไม่ ตัดสินใจกันไม่ถูกว่า รุ่นไหน แบบใด จะเหมาะกับเรากันแน่

ผมจึงต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับชื่อวัสดุเหล่านี้ มาให้พวกเราชาวนักดำน้ำได้รู้จักกันจริงๆ จะได้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกใช้เว็ทสูทได้ตรงตามความต้องการจริงๆ ในที่นี้จะขอเล่าถึงวัสดุผลิตเว็ทสูทดังต่อไปนี้

แต่ก่อนจะไปเล่าถึงวัสดุผลิตเว็ทสูท ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า วัสดุที่เรียกว่า นีโอพรีน ซึ่งเราได้เรียนกันมาว่าเป็นวัสดุหลักของเว็ทสูทนั้น โดยพื้นฐานแล้วเราแทบไม่เคยเห็นมันจริงๆ เลย เพราะนีโอพรีนจะเป็นชั้นที่แทรกอยู่ตรงกลางของเว็ทสูท และถูกปิดผิวภายนอกด้วยผ้าไนลอน, โพลีเอสเตอร์ หรือเส้นใยแบบอื่นๆ เอาไว้ ซึ่งมีทั้ง

  • แบบปิดผิวสองด้าน (double lining) ซึ่งจะปิดผิวทั้งด้านนอกที่มีลวดลายสีสัน และด้านในที่สัมผัสผิวของเรา และ
  • แบบปิดผิวด้านเดียว (single lining) ปิดผิวด้านในด้วยผ้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านนอกต้องผ่านกรรมวิธีปิดรูพรุนของเนื้อยาง ทำให้เป็นผิวแบบ closed cell

ทำให้พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นเนื้อวัสดุนีโอพรีนดั้งเดิมกันเลย และบางครั้งก็เข้าใจว่า ผิวผ้าที่เห็นคือสิ่งที่เรียกว่า นีโอพรีน กันไปแทน

ที่จริง สมัยนี้ก็ยังมีแบบไม่ปิดผิวเลยทั้ง 2 ด้าน (no lining) แต่ก็จะมีกรรมวิธีทำให้ผิวด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านเป็นผิวแบบ close cell และอาจทำให้เป็นผิวมันลื่นพอจะกันน้ำภายนอกและสวมใส่กับผิวของเราได้ด้วย แต่ก็มีจุดอ่อนคือ อาจฉีกขาดได้ง่าย จากการจิกหรือดึงแรงๆ ระหว่างใช้งาน ใครจะซื้อเว็ทสูทแบบนี้ใช้งานต้องระวังมากๆ นะครับ

ใครสนใจเรื่องนี้แบบละเอียด ต้องคลิกไปอ่านเรื่อง รู้จักทุกแง่มุมของเว็ทสูท กันต่อครับ

จากนี้เราก็จะไปทำความรู้จักกับวัสดุชื่อต่างๆ กันได้แล้วครับ

นีโอพรีน (Neoprene)

ที่จริงคำนี้ก็เป็นชื่อทางการค้าที่ตั้งขึ้นโดยดูปองต์ (DuPont) ซึ่งเป็นบริษัทผู้คิดค้นประดิษฐ์วัสดุนี้ขึ้นในโลกเมื่อราวปีค.ศ. 1930 (ชื่อทางการค้าดั้งเดิมคือ DuPrene แต่ได้ปรับให้เป็นคำสามัญมากขึ้นเรียกว่า neoprene ด้วยเหตุผลทางตลาด)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของวัสดุนี้คือ โพลีคลอโรพรีน (Polychloroprene) มีชื่อย่อว่า CR (มาจากคำว่า Chloroprene Rubber) ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัตินิ่ม ยืดหยุ่นดี มีรูพรุน ใช้ผลิตเคสใส่แล็ปท็อป ยางหุ้มข้อมือและเข่า แผ่นยางฉนวนไฟฟ้า กางเกงเล็กกิ้ง (leggings) และเครื่องใช้อื่นๆ อีกหลายอย่าง รวมถึงเว็ทสูทและดรายสูทสำหรับนักดำน้ำอย่างที่เราใช้งานกันอยู่ ในวงการอุตสาหกรรม มีการผลิตจำหน่ายทั้งในรูปแบบยางแผ่นและแบบน้ำยางลาเท็กซ์

คุณสมบัติที่มีผลต่อการดำน้ำ ได้แก่

  • นำความร้อนได้ ไม่ดี จึงช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกายได้ดี
  • มีการลอยตัวเป็นบวกสูง นักดำน้ำจึงต้องชดเชยด้วยการใส่ตะกั่วน้ำหนัก
  • มีรูพรุน ทำให้ถูกบีบอัดจนบางลงที่ความลึก และลดคุณสมบัติการป้องกันการสูญเสียความร้อนไปมาก
  • ยึดเกาะกับผิวหนังดี และปริแตกง่าย อาจฉีกขาดได้ แม้เพียงถูกจิกข่วนด้วยเล็บ จึงทำให้ต้องปิดผิวด้วยผ้า เพื่อให้สวมใส่ได้ง่าย และป้องกันการปริหรือขาด (สมัยแรกๆ ยังไม่มีการปิดผิวยาง นักดำน้ำต้องโรยแป้งฝุ่นก่อนสวมเว็ทสูทกันเลย)

Elastane

คือชื่อเรียกเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ในบ้านเรา รู้จักกันในชื่อของ Lycra นั่นเอง ส่วนชื่อ Elastane เป็นที่รู้จักในประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน อิตาลี เนเธอร์แลนด์

สแปนเด็กซ์ เป็นเส้นใยสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติยืดหยุ่นมาก มักใช้เป็นเส้นใยเสริมในเนื้อผ้าชนิดอื่น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผ้ามากขึ้น มักใช้ผลิตชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย หรือเครื่องแต่งกายที่ต้องการอิสระในการเคลื่อนที่มาก

เมื่อนำเส้นใยนี้ไปผสมในผ้าที่ใช้ปิดผิวของนีโอพรีน ก็จะทำให้ได้ผ้านีโอพรีนที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นมากขึ้นจากเส้นใยเดิม (ไนลอน หรือโพลีเอสเตอร์) หากได้ยินคำเหล่านี้จากเว็ทสูทรุ่นใด ก็ทราบได้ว่า เป็นวัสดุชนิดเดียวกัน และให้คุณสมบัติยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าผ้านีโอพรีนพื้นฐาน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน อาจต้องดูที่ปริมาณส่วนผสมและคุณภาพของเส้นใยที่ใช้อีกที

Yamamoto Rubber

Yamamoto เป็นแบรนด์ผู้ผลิตนีโอพรีน สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเรื่องคุณภาพและความยืดหยุ่นสูง เสื่อมสภาพช้า อายุการใช้งานยาวนาน โดยมีจุดเด่นในเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ผลิตที่ไม่ใช้ปิโตรเลียมอันเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะนีโอพรีนของ Yamamoto ผลิตจากหินปูน (limestone) ความบริสุทธิ์สูงจากภูเขา Kurohime ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการแพ้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง ได้ง่ายเหมือนกับยางธรรมชาติ และยังใช้น้ำมันคาโนล่า (food-grade pure Canola oil) เป็นส่วนผสมแทนน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ทางบริษัทยังใช้พลังงานในกระบวนการผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด

ในขณะนี้ ทางบริษัทกำลังพัฒนาวิธีการใช้วัตถุดิบผลิตผ้าเจอร์ซีย์ (jersey) สำหรับปิดผิวยาง จากการรีไซเคิลพลาสติกในมหาสมุทร และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนากระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ใช้วัตถุดิบและพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยลงเรื่อยๆ ต่อไป

นอกจากนี้ นีโอพรีนของ Yamamoto ยังมีคุณสมบัติเพิ่มเติมให้แบรนด์ผู้ผลิตเว็ทสูทได้เลือกใช้อีก ได้แก่

  1. Super Composite Skin: SCS
  2. Titanium Alpha: Ti-Alpha

Super Composite Skin: SCS

เป็นกระบวนการปรับสภาพผิวของยางนีโอพรีน ให้มีคุณสมบัติต่อต้านน้ำเมื่อสัมผัสกับอากาศ (อยู่บนบก น้ำไม่เกาะ) และเป็นเนื้อเดียวกับน้ำเมื่ออยู่ใต้น้ำ ช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำ ส่งผลให้แรงเสียดทานของน้ำต่อนักดำน้ำลดลงไปด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ลื่นขึ้น เคลื่อนที่ไปในน้ำได้เร็วขึ้น นักดำน้ำฟรีไดฟ์อันดับต้นๆ ของโลกหลายคน เจาะจงใช้เว็ทสูทแบบนี้ของ Yamamoto ในการทำสถิติ (อยากอ่านรายละเอียดว่า ทำได้อย่างไร คลิกไปอ่านได้ที่ https://yamamoto-bio.com/material-e/scs.html)

และหากเลือกใช้เว็ทสูทที่เป็นผิว SCS ทั้งสองด้าน จะมีผลพลอยได้ตามมา คือ

  • เว็ทสูทแทบจะไม่ดูดซึมน้ำไว้เลย (เพราะผิวและเนื้อในปิดสนิทแบบ closed-cell ไม่มีช่องทางให้น้ำซึมเข้าในเนื้อเว็ทสูท เหลือแต่ตรงรอยต่อบางจุดเท่านั้น) ทำให้การลอยตัวไม่เปลี่ยนไปมากใต้น้ำ (เปลี่ยนเล็กน้อยเพราะความหนาที่ลดลงของเนื้อเว็ทสูทที่ถูกบีบอัดเท่านั้น) และน้ำหนักของเว็ทสูทไม่เพิ่มขึ้นหลังจากดำน้ำ (ขึ้นเครื่องบินเที่ยวกลับจากทริปดำน้ำ ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักเพิ่มเป็นกิโลจากเว็ทสูทที่ยังไม่แห้ง)
  • ลดการสูญเสียความร้อนจากร่างกายได้มาก
  • เว็ทสูทจะลื่นสวมใส่ง่าย ทำความสะอาดง่ายและแห้งไว อย่างไรก็ตาม หากใช้เว็ทสูทที่มีผิวเป็นแบบ SCS ทั้งสองด้าน จะต้องระวังการหยิบจับดึงรั้งในระหว่างสวมใส่ด้วย (ต้องค่อยๆ ดึงนะ) เพราะอาจเกิดรอยขีดข่วนปริแตกจนถึงฉีกขาดได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม เว็ทสูทบางรุ่นอาจเลือกที่จะผลิตแบบ SCS เพียงด้านนอกด้านเดียว และด้านในเปิดผิวนีโอพรีนเปลือยไว้แบบ open-cell ก็มี ดังนั้นระหว่างเลือกซื้อต้องพิจารณาเรื่องนี้กับการใช้งานของเรากันดีๆ นะครับ

Titanium Alpha: Ti-Alpha

ด้วยการเพิ่มชั้น titanium alloy เข้าไประหว่างชั้นของยางและผ้าเจอร์ซีย์ ซึ่งจะช่วยสะท้อนความร้อนของร่างกายกลับเข้าสู่ภายใน และป้องกันความเย็นจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในได้มากนัก เว็ทสูทจะช่วยรักษาความร้อนได้มากขึ้น

แหล่งข้อมูล: เว็บไซต์ Yamamoto Bio

จีโอพรีน (Geoprene)

คือชื่อทางการค้าที่ได้รับการโปรโมทโดยแบรนด์ Matuse ผู้ผลิตเว็ทสูทสัญชาติอเมริกา โดยใช้ยางนีโอพรีนแบบ closed-cell ของ Yamamoto ซึ่งป้องกันน้ำผ่านถึง 98% ดูดซึมน้ำเก็บไว้ในเนื้อเว็ทสูทน้อยมาก และยังแทรกชั้น titanium alloy ไว้ระหว่างชั้นยางนีโอพรีนและผ้าปิดผิว (lining) ด้วย ทำให้มีคุณสมบัติที่ดีเลิศ ครบถ้วนอย่างที่นักดำน้ำตัวจริง ต้องการใช้งาน ได้แก่

WARMER, LIGHTER, DRIES FASTER & LASTS LONGER
อุ่นกว่า, เบากว่า, แห้งเร็วกว่า, อายุการใช้งานยาวนานกว่า

นอกจากตัววัสดุแล้ว เว็ทสูทของแบรนด์นี้ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย เช่นในเรื่องการตัดเย็บ มีการปิดผิวตะเข็บด้วยแถบกาว เพิ่มควาทนทานยิ่งขึ้นไปอีก แต่อยู่นอกขอบเขตของหัวเรื่องหลัก จึงขอไม่พูดถึงเพิ่มเติมนะครับ สนใจคลิกไปดูต่อที่ Matuse: Geoprene Technology

Yulex

วัสดุใหม่ในวงการดำน้ำ ที่ใช้วัตถุดิบคือยางธรรมชาติจากน้ำยางของต้น Hevea (บ้านเราเรียกว่า ยางพารา) และประกาศตัวว่า มีข้อดีกว่านีโอพรีนและจีโอพรีนอย่างมาก ในเรื่องการลดการทำร้ายธรรมชาติ คือ

  • กระบวนการผลิต มีการปล่อย CO2 น้อยกว่าการผลิตนีโอพรีน ถึง 80%
  • ผลิตจากพืช (plant-based)
  • แหล่งผลิตคือ ป่าปลูก ที่ไม่มีการทำลายป่าธรรมชาติ (deforestation free)
  • หมุนเวียนวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ได้ (renewable)
  • ย่อยสลายแบบชีวภาพ (biodegradable)

ต่างจากนีโอพรีนและจีโอพรีน คือ

  • นีโอพรีน ผลิตจากปิโตรเลียมซึ่งไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สร้างมลภาวะและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) อันส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งโลก
  • ส่วนจีโอพรีน แม้จะอ้างว่า กรีนกว่า (คือส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยกว่า) นีโอพรีน แต่ก็ไม่ได้กรีนมากมาย เพราะวัตถุดิบหินปูนเมื่อผลิตเป็นจีโอพรีนแล้ว ก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตวัตถุดิบของ Yulex มีกระบวนการทำให้น้ำยางบริสุทธิ์มากขึ้น ลดสารเจือปน (impurity) และสารก่ออาการแพ้ (allergen) และโปรตีนหลายชนิด จนสามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องใช้ในการแพทย์ เช่น ถุงมืองานผ่าตัด (surgical gloves) ไปจนถึงเครื่องมือทดสอบต่างๆ ได้

ในปัจจุบัน มีแบรนด์สินค้าดังๆ ทั้งในวงการดำน้ำและโต้คลื่น ที่เริ่มนำยาง Yulex ไปใช้ผลิตสินค้าแล้วมากมาย เช่น Aqualung, Billabong, Decathlon, Fourth Element, Patagonia, Scubapro

แหล่งข้อมูล: เว็บไซต์ Yulex LLC

Fernotherm 3

วัสดุอีกชนิดหนึ่งจากแบรนด์ Enth Degree ที่ไม่ได้ใช้นีโอพรีนเลย แต่เป็นการรวมกันของวัสดุ 3 อย่างได้แก่

  1. ชั้นนอกสุดเป็นผ้าไนลอนผสมไลครา (Lycra) ให้ทั้งความทนทานแข็งแรงและความยืดหยุ่น พร้อมทั้งยังเคลือบผิวด้วยสารต้านน้ำ (water repellant) ช่วยให้แห้งไว ลดผลจาก wind-chill และป้องกัน UV 50+ ด้วย
  2. ชั้นกลางเป็นชั้นโพลียูรีเทรน (PU membrane) ที่ใช้เทคนิค dot lamination ช่วยให้ระบายความชื้นออกไปได้เมื่ออยู่บนบก และเก็บน้ำอุ่นๆ เอาไว้ระหว่างดำน้ำ
  3. ชั้นในเป็นผ้าฟลีซหนานุ่ม (soft-touch fleece) สวมใส่ง่าย และสบายตัว และช่วยเก็บความร้อนไว้ได้มากยิ่งขึ้น

นอกจาก Fernotherm 3 แล้ว แบรนด์นี้ยังมีเว็ทสูทที่ทำจากวัสดุแบบอื่นอีก ซึ่งอาจเหมาะกับกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการดำน้ำ หรือเหมาะกับผู้ที่ต้องการคุณสมบัติการเก็บความร้อน การระบายอากาศ และความยืดหยุ่นที่แตกต่างกัน

แหล่งข้อมูล: Enth Degree: Technology

ถ้าอ่านบทความนี้ แล้วยังไม่แน่ใจ อยากรู้จักวัสดุแต่ละอย่างกันให้ชัดเจน ลองแวะไปที่ร้าน Scuba Outlet ใกล้ๆ BTS เพลินจิต ได้เลยครับ

อัพเดทข้อมูลวัสดุผลิตเว็ทสูททุกชนิด ให้คลายความงุนงงสงสัยกันแล้ว จากนี้ก็คงจะไปเลือกซื้อเว็ทสูทให้ตรงกับใจที่ต้องการกันได้แล้วครับ