หน้ากากดำน้ำ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นในการใช้เวลาอยู่ใต้น้ำได้อย่างราบรื่น หน้ากากที่ไม่พอดีกับใบหน้าอาจทำให้เกิดปัญหากวนใจได้ตลอดทั้งทริป อาจใส่ไม่สบาย ไม่พอดีกับรูปหน้า หรือบีบจมูกเคลียร์หูยาก หน้ากากจึงมักจะเป็นของชิ้นแรกที่ใครหลายคนต้องมีเป็นของตัวเอง มากกว่าจะคอยเช่าเอาจากร้านดำน้ำ
ปัจจุบันนี้ หน้ากากดำน้ำที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด มีคุณสมบัติต่างๆ หลากหลายมากมาย ทั้งขนาด รูปทรง วัสดุ ไปจนถึงสีสัน เราขอเสนอแนวทางที่จะช่วยให้คุณเลือกหน้ากากที่เหมาะสมกับตัวเองได้ง่ายๆ โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. เลือกวัสดุที่ใช้ผลิตหน้ากาก
เลนส์หน้ากากดำน้ำส่วนใหญ่ทำจากกระจกนิรภัย (tempered glass) ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะแก่กิจกรรมแบบนี้ ทั้งแข็งแรง ทนแรงกดได้ดี เมื่อแตกจะมีลักษณะเหมือนเม็ดข้าวโพด อันตรายน้อยกว่ากระจกทั่วไป
สมัยนี้ มีหน้ากากบางรุ่นใช้เลนส์ที่ทำจากโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ซึ่งดัดโค้งได้ ให้มุมมองสายตาที่กว้างขึ้น โดยไม่เพิ่มปริมาตรอากาศภายในหน้ากาก (low volume) อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา ในปัจจุบันมักจะใช้กับหน้ากากฟรีไดฟ์
ส่วนขอบหน้ากากโดยรอบ (skirt) ที่ใช้ยึดเกาะกับใบหน้าของเรา ก็มักจะเป็นซิลิโคนที่ให้ความนิ่มสบาย ยืดหยุ่นกระชับใบหน้า เป็นวัสดุที่ไม่ระคายเคือง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ทั้งยังแข็งแรงทนทาน หากดูแลรักษาดีๆ อาจมีอายุการใช้งานได้เกิน 10 ปีเลยทีเดียว (แม้ว่าอาจจะมีสีเหลืองขึ้นทีละนิด แต่คุณสมบัติก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก)
นอกจากนี้ยังมีขอบหน้ากากที่ทำจาก PVC ซึ่งราคาถูกกว่ามาก แต่ใส่แล้วอาจไม่นิ่มสบายนักและไม่กระชับใบหน้า น้ำรั่วเข้ามาง่าย เมื่อโดนแดดไปเรื่อยๆ จะแข็งตัวขึ้น ทำให้อายุการใช้งานสั้น จึงเป็นวัสดุที่ควรหลีกเลี่ยง
กรอบเลนส์ของหน้ากากที่ใช้ยึดเกาะกับเลนส์และขอบหน้ากาก มักจะทำด้วยพลาสติก รุ่นที่กรอบบางจะมีน้ำหนักเบากว่ารุ่นที่กรอบหนาๆ (แต่รุ่นที่กรอบหนาอาจถ่ายรูปออกมาสวยกว่ารุ่นที่กรอบบาง) ในปัจจุบัน มีหน้ากากหลายรุ่นเป็นแบบ frameless ไร้กรอบพลาสติกมาเป็นตัวยึดเกาะเลนส์ แต่ใช้ซิลิโคนหุ้มขอบเลนส์เป็นชิ้นเดียวกับขอบหน้ากากไปเลย ทำให้มีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา
2. พิจารณาทัศนวิสัยของหน้ากาก
สำหรับนักดำน้ำบางคน ทัศนวิสัยมีผลต่อความรู้สึกในการดำน้ำค่อนข้างมาก บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ ใช้หน้ากากแบบใดก็ได้ แต่บางคนจะอึดอัด กังวลใจ จากการมองเห็นที่แคบลงเมื่อใส่หน้ากากดำน้ำ ก็ต้องเลือกหน้ากากที่มีทัศนวิสัยกว้างหน่อย อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้ว ทัศนวิสัยที่กว้างกว่าก็มักจะมีประโยชน์กว่า
ทัศนวิสัยของหน้ากากจะขึ้นกับลักษณะหลายอย่างของเลนส์หน้ากาก เช่น ขนาดและรูปร่างกรอบเลนส์ และระยะจากกรอบเลนส์ถึงขอบหน้ากาก
กรอบเลนส์ขนาดใหญ่ย่อมให้ทัศนวิสัยกว้างกว่ากรอบขนาดเล็ก หน้ากากบางรุ่นมีรูปร่างที่ฉีกออกด้านข้างมากขึ้นอีกเล็กน้อย (เช่น Mares X-Vision) ช่วยเพิ่มพื้นที่การมองเห็นด้านข้างได้อีกพอสมควร บางรุ่นยังเพิ่มระยะของกรอบด้านล่าง ทำให้มองเห็นด้านล่างได้มากขึ้นอีกด้วย
เลนส์แบบชิ้นเดียว (single-len) จะให้มุมมองที่โปร่งโล่ง เพราะไม่มีขอบเลนส์บังตรงกลางสายตาเหมือนอย่างเลนส์แยก 2 ชิ้น (double-len) ส่วนหน้ากากที่มีเลนส์ข้างด้วย (ที่เรียกกันว่าแบบ 3-window และ 4-window)จะให้มุมมองด้านข้างเพิ่มเข้ามาด้วย เป็นอีกทางเลือกสำหรับนักดำน้ำที่ต้องการทัศนวิสัยกว้าง และโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia) แต่ภาพตรงรอยต่อเลนส์ก็อาจจะบิดเบือนหรือมีจุดบอดได้ในบางรุ่น และหน้ากากแบบนี้ยังมีปริมาตรอากาศมาก ทำให้ต้องใช้อากาศมากในการเคลียร์หน้ากากหากปล่อยให้น้ำเข้ามามากหรือหน้ากากหลุดใต้น้ำ
ระยะจากกรอบเลนส์ถึงขอบหน้ากากที่สัมผัสกับใบหน้า ยิ่งมาก (คือห่างจากใบหน้ามาก) ก็จะยิ่งบดบังวิสัยทัศน์ด้านหน้ามากขึ้น ถ้าใกล้เข้ามาก็จะบดบังน้อยลง และผลพลอยได้ก็คือลดปริมาตรอากาศในหน้ากากด้วย (low volume) แต่ก็มีโอกาสที่จะกดทับบริเวณหว่างคิ้วได้ จึงควรทดลองสวมใส่และสังเกตความรู้สึกอีกที
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของซิลิโคนขอบหน้ากากที่อาจมีผลต่อความรู้สึกของนักดำน้ำอีกด้วย นักดำน้ำบางท่านพบว่า ซิลิโคนใสช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น จากการที่พอมองเห็นได้มากกว่าซิลิโคนสีทึบ แม้จะไม่ใช่ภาพที่ชัดเจนนักก็ตาม บางท่านพบว่า ซิลิโคนสีดำหรือสีเข้มทำให้รู้สึกอึดอัด เหมือนกับลดทัศนวิสัยลงไปมากกว่าซิลิโคนสีสว่างๆ แม้จะเป็นแบบสีทึบเหมือนกันก็ตาม
3. ทดสอบความพอดีของขอบหน้ากาก
สิ่งสำคัญที่สุดของหน้ากากดำน้ำคือ หน้ากากจะต้องพอดีรับกับใบหน้าของเรา ไม่ให้มีการรั่วไหลของน้ำเข้ามาในหน้ากากได้ และวิธีการเลือกซื้อหน้ากากที่พอดีกับใบหน้าของเรา มีเพียงวิธีเดียวคือ ทดลองใส่เอง
วิธีทดสอบความพอดีของหน้ากาก ลองทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- นำหน้ากากดำน้ำมาแนบเข้ากับใบหน้าโดยไม่ต้องรัดสายคาดหน้ากาก อย่าลืมรวบผมไม่ให้ผมแทรกเข้ามาตามขอบหน้ากาก
- จากนั้นสูดหายใจเข้าทางจมูก กลั้นหายใจเอาไว้ แล้วปล่อยมือให้หน้ากากแนบติดกับใบหน้าสักพัก (แต่ยังคงเอามือรองไว้ห่างๆ กันหน้ากากที่ไม่พอดีกับหน้าของเรา หลุดร่วงลงพื้น ไว้ด้วย)
- ลองก้มเงยหน้า หันซ้ายขวา ถ้าเห็นว่าติดแน่นดีแล้ว อาจลองเขย่าศีรษะแรงขึ้นอีกนิดก็ได้
- หากพบว่า เกือบจะเข้าพอดีกับใบหน้า แต่ยังมีจุดที่รั่วได้อยู่บ้าง และสนใจหน้ากากรุ่นนั้นมากจริงๆ อาจลองขยับตำแหน่งทีละนิด ไปรอบๆ ใบหน้า เพื่อหาตำแหน่งที่เข้ากับใบหน้า ก็ได้ (เน้นที่การขยับขึ้นหรือลง)
วิธีนี้จะเป็นการเช็คว่าแน่นกระชับดีหรือไม่ ถ้าขนาดไม่พอดี จะมีอากาศรั่วเข้ามา เมื่อเอาไปใช้งานจริง น้ำจะเข้ามาได้ง่าย
นอกจากเรื่องความแนบสนิทพอดีที่จะช่วยให้น้ำไม่รั่วเข้าหน้ากากแล้ว หากหน้ากากเล็กเกินไปอาจกดใบหน้าให้บาดเจ็บได้ ดังนั้น ระหว่างทดสอบ จึงควรสังเกตความรู้สึกบนตำแหน่งต่างๆ ที่หน้ากากสัมผัสกับใบหน้าไปพร้อมกันด้วย
4. ทดสอบความสะดวกในการเคลียร์หู (Ear Equalization)
สิ่งสำคัญถัดจากเรื่องความพอดีกับใบหน้า ก็คือ ความสะดวกในการปรับสมดุลความดันในหูชั้นกลาง (ที่เราเรียกสั้นๆ ว่าการเคลียร์หู)
หน้ากากแต่ละรุ่นมีรูปทรงและขนาดของ nose pocket แตกต่างกัน ขนาดของ nose pocket จะต้องเหมาะกับจมูกของเรา เมื่อใช้งานจริง จะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลียร์หู ทำให้ดำน้ำได้อย่างราบรื่น อีกทั้งความนิ่มของซิลิโคนก็มีผลต่อการบีบจมูกเช่นกัน
ในการเลือกหน้ากากดำน้ำ จึงต้องทดสอบโดยการสวมหน้ากากแล้วบีบจมูก เคลียร์หู เพื่อเช็คว่าเราสามารถบีบจมูกได้หรือสอดนิ้วเข้าไปได้ หรือไม่ ยากง่ายเพียงใด จะเป็นอุปสรรคในการดำน้ำมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ หากบีบตรงๆ แล้วทำได้ยาก อาจลองใช้วิธีดันนิ้วจากด้านล่างเพื่ออุดรูจมูก โดยไม่ต้องบีบจากด้านข้าง ถ้าคุณสามารถเคลียร์หูได้อย่างสะดวก ก็ใช้วิธีนี้ได้เหมือนกัน
5. เลือกสีสัน สไตล์ และฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆ
เมื่อได้หน้ากากที่เหมาะกับใบหน้าเราแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การเลือกสีกับสไตล์ที่ใช่ (ซึ่งบางที สิ่งนี้อาจเป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับใครหลายๆ คนที่อยากได้หน้ากากสวยถูกใจ ถ่ายรูปแล้วดูดี ก็จะระบุรุ่นและสีกันมาก่อน แล้วค่อยพิจารณาคุณสมบัติอื่นข้างต้นทีหลัง แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน)
หน้ากากบางรุ่นยังเพิ่มฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่น่าสนใจไว้ด้วย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
- ตัวล็อคสาย (buckle) แบบบีบด้วยสองนิ้ว ซึ่งใช้ง่ายกว่าแบบดั้งเดิมที่ใช้การงัดก้านล็อคสาย
- เลนส์กันฝ้า ข้อดีคือไม่ต้องคอยฉีดสเปรย์กันฝ้าบ่อยๆ มีทั้งรุ่นที่เคลือบสารกันฝ้าหรือติดฟิล์มกันฝ้ามาให้ในตัว และรุ่นที่มีฟิล์มกันฝ้าขายแยกต่างหาก
- เลนส์ UV cut ช่วยถนอมสายตาจากแสง UV และเลนส์สีเหลือง (Amber lens) ช่วยให้มองเห็นสีใต้น้ำได้ชัดขึ้น
- สายรัดหน้ากากแบบผ้า ช่วยเพิ่มความสบายในการใช้งาน เพราะไม่ยึดเกาะกับเส้นผม ต่างจากสายซิลิโคนทั่วไปที่มักจะดึงรั้งผม แต่แม้หน้ากากส่วนใหญ่จะให้สายรัดแบบซิลิโคน เราก็สามารถซื้อผ้าหุ้มสายรัด (mask strap cover) หลากลวดลาย หลายสีสัน มาใส่เพิ่มเองก็ได้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อพิจารณาสำคัญๆ ที่จะช่วยคุณสามารถเลือกหน้ากากที่ถูกใจ ใช้งานได้ดี ดำน้ำชมความงดงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล ได้อย่างราบรื่นปลอดภัย และอาจได้ใช้ไปอีกนานๆ