ทำไมเราจึงใช้เว็ทสูท? รู้จักทุกแง่มุมของเว็ทสูทและการเลือกซื้อ

เว็ทสูท (Wetsuit) เป็นอุปกรณ์ดำน้ำชิ้นหนึ่งที่เราจะพบว่า มีทั้งคนที่ใช้และไม่ใช้ และก็ไม่มีการบังคับกันว่าจะต้องใช้เสมอไป แล้วแต่ว่าใครสะดวกอย่างไรก็เลือกได้ตามต้องการ

สำหรับนักดำน้ำมือใหม่หลายคน จึงมีข้อสงสัยว่า เราควรใช้เว็ทสูทหรือไม่? เว็ทสูทมีประโยชน์อย่างไร?

คำถามแรกนั้น เป็นเรื่องยากที่จะตอบ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และความชอบส่วนบุคคลด้วย ในที่นี้ เราจึงขอพาคุณไปรู้จักกับทุกแง่มุมของ เว็ทสูท ตั้งแต่ว่า มันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีทางเลือกในการซื้อหาหรือใช้งานอะไรบ้าง เพื่อที่คุณจะสามารถตอบคำถามแรกได้ด้วยตัวเอง

เว็ทสูททำจากอะไร

เว็ทสูทผลิตจากยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า นีโอพรีน (Neoprene)1 ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญคือ มีรูพรุนเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไปในเนื้อยาง ทำให้การถ่ายเทความร้อนยากขึ้น มีความยืดหยุ่นพอจะใช้สวมใส่ร่างกายได้ และใช้งานได้ในอุณหภูมิหลากหลาย

สมัยแรกเว็ทสูททำจากนีโอพรีนล้วนๆ ซึ่งเกิดรอยปริหรือแตกได้ง่าย และเกาะติดกับผิวหนังของเราได้ง่ายด้วย นักดำน้ำสมัยก่อนต้องทาตัวด้วยแป้งฝุ่นก่อนสวม จนกระทั่งมีการเสริมชั้นผ้าไนลอน เข้าไปที่ผิวด้านใน (ด้านเดียว = single lining) ของเว็ทสูทนีโอพรีนเพื่อให้สวมใส่ง่ายขึ้น (แต่ด้านนอกก็ยังเกิดรอยปริได้ง่ายเช่นเดิม) และต่อมาก็เสริมผิวทั้ง 2 ด้าน (double lining) ด้วยใยผ้าชนิดต่างๆ เช่น ไนลอน โพลีเอสเตอร์ หรือสแปนเด็กซ์ (Spandex หรือ Lycra หรือ Elastane2) อย่างในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะได้คุณสมบัติเรื่องเพิ่มความคงทน ไม่ปริแตกง่าย และสวมใส่ได้ง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังมีผลพลอยได้คือสามารถผลิตเว็ทสูทที่มีสีสันได้ด้วย

เมื่อเราดูที่เว็ทสูท เราจะไม่เห็นเนื้อยางนีโอพรีนบนพื้นที่ส่วนใหญ่ของเว็ทสูทเลย เพราะได้รับการปิดผิวด้วยผ้าไว้แล้ว ต้องดูที่บริเวณรอบคอ ข้อมือ ข้อเท้า จึงจะเห็นพื้นผิวที่มีลักษณะเป็นยางจริงๆ นั่นคือ นีโอพรีน

ด้านซ้ายเป็นผิวแบบโพลีเอสเตอร์ผสมไลครา ด้านขวาเป็นเนื้อยางนีโอพรีน (ภาพจาก https://www.neoprene.asia/)
ด้านซ้ายเป็นผิวแบบไนลอนผสมไลครา ด้านขวาเป็นเนื้อยางนีโอพรีน (ภาพจาก https://www.neoprene.asia/)

ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตวัตถุดิบนีโอพรีนได้ปรับปรุงเนื้อวัสดุให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น

  • Air Neoprene เพิ่มชั้นนีโอพรีนที่กักฟองอากาศไว้ในภายในด้วย เหมือนหน้าต่างเครื่องบินที่มี 2 ชั้นมีช่องว่างอากาศตรงกลาง ช่วยลดการถ่ายเทความร้อนได้มากขึ้น
  • เพิ่มเส้นใยไทเทเนียม หรือ ผ้าสำลี (fleece หรือ jersey) ในชั้นผ้าซ้อนผิว (lining) เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่น
  • ปรับปรุงผิวเคลือบยางให้มีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น ป้องกันรังสี UV, กันลม, ผิวมันเงาลื่นเพื่อให้น้ำไหลผ่านเร็ว ลดการดูดซับน้ำ, ระบายเหงื่อออกได้แต่สะท้อนน้ำกลับเข้ามา
  • ปรับรูปแบบการตัดให้เข้ารูปมากขึ้น มีวิธีการเชื่อมต่อแผ่นวัสดุเข้าด้วยกันที่ทนทานมากขึ้น

คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้เว็ทสูทแต่ละรุ่นมีราคาแตกต่างกัน และมีความทนทานต่างกันด้วย (ซึ่งหากมีเวลา เราจะมาเล่าให้คุณฟังแบบละเอียดๆ อีกที)

เว็ทสูทปัจจุบันได้พัฒนาเนื้อวัสดุ และผิวปิดให้มีคุณสมบัติพิเศษมากมาย

เว็ทสูท มีประโยชน์อย่างไร?

เว็ทสูทช่วยลดการสูญเสียความร้อนของร่างกายเรา ที่จะระบายออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอกหากสัมผัสกับน้ำโดยตรง หรือมีเพียงเสื้อผ้าบางๆ ป้องกันเท่านั้น หากร่างกายเราสูญเสียความร้อนไปมาก ก็จะต้องสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายเอาไว้ให้เหมาะสมต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ

ส่วนใหญ่เว็ทสูทถูกใช้ในกิจกรรมทางน้ำต่างๆ เช่น การว่ายน้ำ การดำน้ำลึก การดำฟรีไดฟ์ หรือการเล่นเซิร์ฟ เป็นต้น เพราะน้ำสามารถพาความร้อนออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมอยู่กับน้ำนานๆ อาจสูญเสียความร้อนจนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งหากร่างกายสูญเสียความร้อนมากจนถึงขั้นมีอาการ hypothermia (ไฮโปเทอร์เมีย — สภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิต่ำเกินไป) เช่น หนาวสั่น ริมฝีปากคล้ำ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

เว็ทสูทมีประโยชน์อย่างนี้ได้โดยอาศัย 2 ปัจจัย คือ

  1. ตัววัสดุที่ใช้ทำเว็ทสูท คือ นีโอพรีน ซึ่งเป็นยาง และยังมีรูพรุนด้วย ทำให้นำความร้อนได้ไม่ดี
  2. ความยืดหยุ่นของนีโอพรีน ทำให้แนบสนิทพอดีกับขนาดร่างกาย และรัดรอบคอ แขน ขา ให้เหลือช่องว่างน้อยที่สุดได้ (หากใช้เว็ทสูทที่ขนาดพอดีและเข้ารูปดีพอ) เมื่อน้ำไม่ไหลเข้าออกจากเว็ทสูท ก็ไม่มีการถ่ายเทความร้อนผ่านน้ำออกไปสู่ภายนอกได้ ส่วนชั้นน้ำบางๆ ที่แทรกอยู่ระหว่างผิวหนังกับเว็ทสูท เมื่อรับความร้อนจากร่างกายจนมีอุณหภูมิเท่ากันแล้ว ก็จะไม่ดูดความร้อนจากร่างกายอีก

สำหรับประโยชน์ข้อหลักนี้ ต้องถือว่า ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความเคยชิน และอุณหภูมิของน้ำในบริเวณนั้นๆ ด้วย เช่น คนที่ขี้ร้อน หรือนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เคยชินกับอากาศหนาว เมื่อมาดำน้ำในน้ำทะเลแถบบ้านเรา ก็อาจจะรู้สึกร้อนและไม่ต้องการใช้เว็ทสูทก็ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่คนที่มีพลังงานในร่างกายเหลือเฟือจนรู้สึกร้อนมากๆ นักดำน้ำทั่วไปควรใส่เว็ทสูท  เพราะการสูญเสียความร้อนแม้ไม่มากจนมีอาการชัดเจน ก็ยังมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเช่นกัน อาจทำให้เราอ่อนเพลีย มีไข้อ่อนๆ และทำให้เราเบื่อหน่าย ไม่สนุกกับบรรยากาศรอบตัว เราจึงควรรักษาพลังงานในร่างกายไว้ให้พร้อมสำหรับทำทุกกิจกรรมที่ตั้งใจ

ประโยชน์เสริมอื่นๆ

เว็ทสูทยังมีประโยชน์ในด้านอื่นอีกด้วย ได้แก่

ป้องกันอันตรายจากการถูกขีดข่วน หรือสัตว์มีพิษ

ในที่นี้ก็เฉพาะอันตรายในระดับเล็กน้อยหรือปานกลางเท่านั้น หรือไม่ก็ลดปริมาณที่จะเกิดอันตรายได้บ้าง แต่ถ้าเป็นของแหลมคมขนาดใหญ่หรือยาว หรือสัตว์มีพิษตัวเล็กๆ เช่น แตนทะเล ที่อาจมีบางส่วนลอดเข้าไปในเว็ทสูทได้ หรือสัตว์ตัวใหญ่ มีฟันหรือเงี่ยงแหลมคม เว็ทสูทก็อาจช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เพิ่มการลอยตัว

เว็ทสูทมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เมื่อเราใส่เว็ทสูท จึงเพิ่มการลอยตัวให้เราอีกนิดไปด้วยในตัวเลย นักท่องเที่ยวทะเลบางคนที่ใส่เว็ทสูทแล้ว จึงอาจไม่ต้องใส่เสื้อชูชีพอีก ก็สามารถลอยตัวในน้ำระหว่างดำผิวน้ำ (snorkeling) ได้อย่างสบายใจ

คุณสมบัติข้อนี้อาจไม่ได้เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักดำน้ำลึกมากนัก เพราะการใช้เว็ทสูททำให้นักดำน้ำต้องเพิ่มตะกั่วถ่วงน้ำหนักอีก 0.5-1 กิโลกรัมด้วย

ช่วยลดแรงเสียดทานในการเคลื่อนที่

โดยปกติผิวหนังของมนุษย์จะมีส่วนเว้าส่วนนูน มีความไม่เรียบเนียนในที่ต่างๆ มากมาย ซึ่งเพิ่มความเสียดทานในการเคลื่อนที่ไปในน้ำ การใช้เว็ทสูทจะทำให้รูปร่างของเรามีลักษณะลู่น้ำมากขึ้น ทำให้ประหยัดพลังงานของผู้ใช้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งสำหรับการแข่งขันแล้ว การประหยัดพลังงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพ แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจมีประโยชน์อย่างมากต่อผลลัพธ์ในการฝึกหรือการแข่งขัน

ที่จริงแล้วสำหรับกีฬาที่ต้องใช้สมรรถภาพร่างกายสูงมาก เช่น การดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ (ซึ่งไม่ได้มีอุปกรณ์ช่วยให้อยู่ในน้ำได้สบายๆ เหมือนการดำน้ำสคูบ้า) หรือการว่ายน้ำแข่งขัน นักกีฬาหลายคนจะเลือกใช้เว็ทสูทที่มีการเคลือบผิวนอกเป็นมันลื่นให้น้ำไม่เกาะ (Super Composite Skin: SCS) เพื่อลดแรงเสียดทานจากน้ำโดยเฉพาะ

ในบางงานวิจัยพบว่า เว็ทสูทที่เคลือบผิวนอกให้น้ำไม่เกาะนี้ จะช่วยลดแรงเสียดทานจากน้ำได้ถึง 15% และนักว่ายน้ำระดับอาชีพบางคนพบว่า เว็ทสูทดีๆ สามารถลดเวลาในการแข่งขันได้ 5-10% เลยทีเดียว

ช่วยเพิ่มการรัดกล้ามเนื้อ (Compression)

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ จะทราบดีว่า ชุดรัดกล้ามเนื้อที่เพิ่มการบีบรัด (compression) อย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายได้ด้วย เว็ทสูทก็ช่วยทำหน้าที่นี้ได้เช่นกัน

คุณค่าเสริมที่ขึ้นกับความรู้สึก

นอกจากประโยชน์ที่เป็นจริงจากคุณสมบัติของเว็ทสูทเองแล้ว ก็ยังมีคุณค่าอื่นๆ ที่ขึ้นกับความรู้สึกของผู้สวมใส่ด้วย เช่น ช่วยให้ผู้อื่นรับรู้ถึงกิจกรรมที่คุณกำลังทำอยู่ได้ทันที ช่วยสร้างความมั่นใจในการสื่อสารหรือพบปะเพื่อนใหม่

อย่างน้อยที่สุด เมื่อเรารู้ถึงประโยชน์ของเว็ทสูทตามที่กล่าวไปข้างต้นนี้แล้ว การใช้เว็ทสูท ก็น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสบายใจ ปลอดจากความกังวลเรื่องความเจ็บไข้ ความหนาว หรืออันตรายจากแมงกะพรุน เป็นต้น

คุณสมบัติต่างๆ ที่สำคัญต่อการเลือกซื้อเว็ทสูท

ความหนาที่เหมาะกับการใช้งานของเรา

เว็ทสูทมีความหนาให้เลือกใช้งานตั้งแต่ระดับ 1 ม.ม. ไปจนถึง 10 ม.ม. โดยเว็ทสูทที่มีความหนาน้อยกว่า ก็จะกันสูญเสียความร้อนได้น้อยกว่า แต่ก็จะเคลื่อนไหวขยับร่างกายได้ง่ายกว่า เว็ทสูทที่มีความหนามากกว่า

ส่วนใหญ่การดำน้ำในแถบเอเชีย อุณหภูมิน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส (เดี๋ยวนี้อุณหภูมิน้ำทั่วโลกสูงขึ้น จนบางปีเราอาจได้เจอน้ำอุณหภูมิ 31-32 องศาเซลเซียสในอ่าวไทยบ้านเรา) นักดำน้ำทั่วไปนิยมใช้เว็ทสูทที่มีความหนา 2-3 ม.ม. ส่วนนักดำน้ำที่ขี้ร้อนอาจไม่ต้องใช้เว็ทสูทเลย

แต่ในบางพื้นที่ ซึ่งน้ำทะเลมีอุณหภูมิเย็นจัด (เช่น ที่บาหลีช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี น้ำทะเลจะมีอุณหภูมิต่ำลงเหลือ 20-24 องศาเซลเซียส) ต้องใช้เว็ทสูทหนา 5-7 ม.ม. แทน หรืออาจใช้เว็ทสูท 3 ม.ม. 2 ชั้นซ้อนกันก็ได้

นอกจากเว็ทสูทความหนาเดียวทั้งตัวแล้ว ยังมีเว็ทสูทที่ปรับให้มีความหนาต่างกัน โดยให้บริเวณหน้าอกมีความหนาปกติ เช่น 3 ม.ม. ส่วนบริเวณแขนขาที่มีการเคลื่อนไหวมาก ก็ปรับมีความหนาน้อยกว่าบริเวณหน้าอกถึงหน้าท้องสักเล็กน้อย เพื่อให้ขยับแขนขาได้ง่ายขึ้น เว็ทสูทแบบนี้จะบอกความหนาเป็น 2 ขนาดเช่น 3/2 ม.ม., 5/3 ม.ม. เป็นต้น

ส่วนเว็ทสูทที่หนา 1 ม.ม. ซึ่งนับได้ว่าเป็นเว็ทสูทที่ใส่สบาย เคลื่อนไหวง่าย ก็มักจะเพิ่มเส้นใยไททาเนียมเพื่อช่วยรักษาความร้อนไว้ในตัวเว็ทสูทได้มากขึ้นอีกนิด และสำหรับคนขี้ร้อน ก็สามารถเลือกใช้เว็ทสูทแบบนี้เพื่อเพิ่มการป้องกันอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องรำคาญกับความรู้สึกร้อนเหมือนเว็ทสูทที่หนากว่านี้ด้วย

ความหนาแน่นของเนื้อยางนีโอพรีน ส่งผลต่ออายุการใช้งาน

เว็ทสูทที่บอกความหนาเท่ากัน อาจมีความหนาแน่นของเนื้อยางไม่เท่ากัน และมีผลให้อายุการใช้งานต่างกันด้วย เพราะเนื้อยางที่ใช้งานภายใต้ความกดดันมากกว่าปกติ จะค่อยๆ ยุบตัวลง บางขึ้นและกันความร้อนได้น้อยลงนั่นเอง

แต่ปกติเว็ทสูทส่วนใหญ่อาจไม่ได้บอกความหนาแน่นของเนื้อยางที่ใช้มาให้ เราจึงอาจต้องคาดเดาเอาเอง จากราคาและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ หรือสอบถามจากนักดำน้ำหรือร้านขายอุปกรณ์ดำน้ำที่มีประสบการณ์และให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือ

ความยืดหยุ่นของวัสดุ และความอบอุ่นของเว็ทสูท

แม้โดยพื้นฐานแล้ว ยางนีโอพรีนที่เป็นวัสดุหลักของเว็ทสูทจะมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง แต่คุณสมบัติ 2 อย่างนี้มักจะไปด้วยกันไม่ได้ในเว็ทสูทที่เป็นผลผลิตขั้นสุดท้าย เพราะหากเราต้องการเว็ทสูทที่กันความร้อนได้มากขึ้น ก็มักจะต้องใช้เนื้อยางที่หนาขึ้น ซึ่งก็จะมีความอ่อนตัวยืดหยุ่นน้อยกว่าเนื้อยางที่บางกว่า รวมทั้งการใช้ผ้าประกบซ้อนลงบนผิวนีโอพรีนด้านเดียวหรือทั้ง 2 ด้าน ก็จะลดความยืดหยุ่นของเว็ทสูทลงไปด้วย

แต่ด้วยเทคโนโลยีเส้นใยสมัยใหม่ ผู้ผลิตเว็ทสูทยังสามารถปรับปรุงคุณสมบัติของเนื้อผ้าให้พิเศษมากขึ้นไปอีกได้ เช่น

  • การใช้เนื้อผ้าที่เสริมด้วยเส้นใยไทเทเนียมเก็บความร้อนมากขึ้น3 หรือใช้ผ้า fleece ทำให้ใช้ลดความหนาของนีโอพรีนลงได้ หรือ
  • ใช้เนื้อผ้าที่เสริมด้วยเส้นใยสแปนเด็กซ์ที่ยืดหยุ่นกว่าก็ได้ เมื่อรวมกับ

เว็ทสูทที่ยืดหยุ่นขึ้นจะช่วยให้การถอดใส่ทำได้ง่ายมากขึ้น (ความรู้สึกจริง คือง่ายขึ้นมากๆ) และการขยับตัวในท่วงท่าต่างๆ ในระหว่างดำน้ำ ก็สบายมากขึ้นด้วยจริงๆ

รูปแบบการตัดแบ่งชิ้นวัสดุที่เข้ารูปพอดี ช่วยเพิ่มความอบอุ่นและอิสระในการเคลื่อนไหว

เว็ทสูทที่มีการออกแบบชิ้นวัสดุเพื่อให้เข้ารูปพอดีกับร่างกายของนักดำน้ำ จะทำให้มีช่องว่างให้น้ำไหลไปมาได้น้อย ลดการสูญเสียความร้อนได้ และเพิ่มอิสระในการขยับร่างกายด้วย แต่จะทำเช่นนั้นได้ ก็มักจะต้องตัดแบ่งแผ่นผ้านีโอพรีนเป็นหลายชิ้น และเย็บต่อเข้าด้วยกันยุ่งยากขึ้น ทำให้มีราคาสูงขึ้นด้วย

รวมทั้งแต่ละแบรนด์อาจมีการออกแบบมาให้เข้าขนาดของร่างกายคนละสัดส่วนด้วย แม้ไซส์เบอร์เดียวกัน แต่บางแบรนด์ส่วนบนจะใหญ่กว่าส่วนล่าง หรือบางแบรนด์มีสัดส่วนท่อนแขนขาใหญ่หรือลีบกว่าอีกแบรนด์หนึ่ง

วิธีที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อเว็ทสูทได้ได้พอดีกับตัวเรา จึงต้องไปที่ร้านขายอุปกรณ์ดำน้ำที่มีเว็ทสูทให้เลือกหลายรุ่นหลายแบรนด์ เพื่อจะได้ทดลองสวมใส่ได้ครบ จบในที่เดียวได้เลย

ซิปปลายแขน-ขา ช่วยให้ถอดใส่ได้ง่ายขึ้น

เว็ทสูทพื้นฐาน ราคาประหยัด จะไม่มีซิปที่ปลายแขนขาของเว็ทสูท (หรือก็คือ ข้อมือและข้อเท้า) มาให้ด้วย ทำให้ยากต่อการสวมใส่อยู่บ้าง ถ้าหากคุณต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นอีกนิด ด้วยการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ขอแนะนำให้เลือกรุ่นที่มีซิปที่ปลายแขนและปลายขามาด้วย

แน่นอนว่าการมีซิปเพิ่มที่ปลายแขนหรือขา จะทำให้มีช่องที่น้ำจะไหลลอดเข้าออกได้มากขึ้น อาจทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนมากขึ้น แต่ที่จริงก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แลกกับความสะดวกในการถอดใส่ ก็ถือว่าคุ้มค่าอยู่เหมือนกัน

ขอบรอบคอ-แขน-ขา เป็นนีโอพรีน ช่วยป้องกันน้ำไหลเข้าออก

โดยปกติของเว็ทสูทในปัจจุบันที่เป็นแบบนีโอพรีนเสริมผิวนอกด้วยผ้าทั้ง 2 ด้านแล้ว บริเวณปลายขอบของเว็ทสูทที่หุ้มรอบคอ แขน และขา ของเรานั้นก็จะเป็นผิวแบบผ้าด้วยเช่นกัน แต่มีบางรุ่นที่ปรับให้ตรงปลายขอบเหล่านั้นเป็นแผ่นยางนีโอพรีนเปลือยๆ แทนผ้า ซึ่งผิวแบบนี้จะเกาะติดกับผิวหนังของเราได้ดีกว่าผ้า ช่วยล็อคปลายเหล่านั้นไม่ให้เคลื่อนไหวมาก ไม่เปิดช่องให้น้ำไหลเข้าออกได้ง่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความร้อนให้เราได้มากขึ้น

เว็ทสูทแยกชิ้น ท่อนบน-ท่อนล่าง ช่วยให้สวมใส่ง่ายขึ้น

แต่ก่อน เราจะเห็นเว็ทสูทเป็นชิ้นเดียวต่อกันทั้งท่อนบนท่อนล่าง ไม่ว่าจะเป็นเว็ทสูทสั้น หรือยาวเต็มตัว แต่เดี๋ยวนี้มีเว็ทสูทรุ่นที่แยกชิ้นท่อนบนกับท่อนล่างมาให้ใช้กันแล้วแทบทุกยี่ห้อ ซึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ ความสะดวกรวดเร็วในการสวมใส่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เว็ทสูทแบบนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ขี้หนาวมากๆ เพราะบริเวณชายเสื้อรอบเอวจะเป็นช่องทางให้น้ำไหลเข้าออกได้ง่าย เพิ่มโอกาสที่ร่างกายจะสูญเสียความร้อนมากขึ้น จึงต้องลองพิจารณาเลือกใช้กันตามความเหมาะสมของตัวเอง

เว็ทสูทแบบนี้สำหรับนักดำน้ำฟรีไดฟ์ อาจมีสายรัดเป้าติดอยู่ตรงกลางชายเสื้ออ้อมจากด้านหน้าไปติดด้านหลัง เพื่อกันไม่ให้ชายเสื้อไหลเลื่อนออกไปขณะดำดิ่งลงสู่ความลึก ซึ่งเป็นท่าทางที่นักดำฟรีไดฟ์มักจะต้องทำอยู่บ่อยๆ ต่างจากการดำน้ำสคูบ้าที่มักจะอยู่ในท่านอนเป็นส่วนใหญ่

สรุป

หวังว่าบทความนี้จะพอช่วยให้ทุกท่านได้รู้จักกับเว็ทสูทมากขึ้น ได้เข้าใจประโยชน์และคุณสมบัติต่างๆ ของเว็ทสูท และสามารถพิจารณาการใช้งาน การเลือกซื้อ ได้เหมาะกับกิจกรรมที่คุณทำอยู่ได้เป็นอย่างดี

หากสนใจเลือกซื้อเว็ทสูทเพื่อการดำน้ำลึก ลองแวะไปอ่านต่อที่ เว็ทสูท (Wetsuit) ตัวแรก เลือกยังไงดีนะ

แหล่งข้อมูล

Footnotes

  1. ชื่อในวงการวิทยาศาสตร์คือ Polychloroprene, “Chloroprene Rubber” หรือ “CR”
  2. หมายถึงวัสดุชนิดเดียวกัน โดย Spandex เป็นชื่อเรียกเส้นใยสังเคราะห์ชนิดนี้ ส่วน Lycra และ Elastane เป็นชื่อทางการค้าของแบรนด์ผู้ผลิตคนละราย นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น Acepora, Creora, INVIYA, ROICA, Dorlastane, Linel และ ESPA
  3. เส้นใยโลหะ โดยเฉพาะไทเทเนียม มีคุณสมบัติในการเก็บความร้อนไว้ในตัวเองได้ (เหมือนที่เราเห็นการใช้อะลูมิเนียมฟอยล์ในการเป็นผ้าห่มฉุกเฉิน ช่วยผู้ประสบภัย ลดการสูญเสียความร้อนในกรณีต่างๆ) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บความร้อนให้กับเว็ทสูทมากขึ้นที่ความหนาเนื้อผ้าเท่ากัน หรือทำให้ได้เว็ทสูทที่บางลงแต่เก็บความร้อนได้พอๆ กับเว็ทสูททั่วไปที่หนากว่า