พอยเตอร์ (pointer) อุปกรณ์ชิ้นไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่เป็นที่สงสัยกันมานานแล้วว่า ใช้ทำอะไรได้บ้าง มีประโยชน์อย่างไร ทำลายหรือรักษาท้องทะเลกันแน่? ทำไมแหล่งดำน้ำบางแห่งไม่อนุญาตให้เราเอาลงน้ำไปใช้ด้วย แต่บางแห่งก็ไม่ว่าอะไร
ชวนมาไขข้อข้องใจกันที่นี่
พอยเตอร์ เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นคนประดิษฐ์
คำถามนี้ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะตั้งแต่เริ่มต้นดำน้ำมาจนถึงตอนนี้เกิน 20 ปี ก็เห็นเจ้าสิ่งนี้มาตลอด ไม่รู้ว่าเกิดมีขึ้นมาสักกี่ปีก่อนหน้านั้น และทั่นผู้ใดเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นขึ้น
ใครรู้ช่วยทักมาบอกกันบ้างนะครับ
เราใช้พอยเตอร์ทำอะไรได้บ้าง
คำถามนี้พอตอบได้ น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน ผมลองรวบรวมข้อมูลที่มีนักดำน้ำเคยให้คำตอบไว้ในที่ต่าง มาได้ดังนี้
ใช้เคาะถังอากาศส่งสัญญาณบอกกัน
อันนี้นับเป็นวัตถุประสงค์หลักที่เจ้าสิ่งนี้ถูกประดิษฐขึ้นมา ซึ่งการเคาะถังส่งสัญญาณที่ว่านี้ ไม่ใช่เพื่อจะมาคอยเมาท์มอยอะไรกันนะครับ แต่เหตุหลักคือเพื่อความปลอดภัย หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า … เชื่อไหมครับ เคยมีคนรอยตายจากการเกี่ยวติดในเรือจม ด้วยเจ้าอุปกรณ์เล็กๆ ชิ้นนี้มาแล้วจริงๆ
แต่ปัจจุบันการใช้งานส่วนใหญ่ก็คือ เราจะเรียกเพื่อนนักดำน้ำมาดูของดี ของเจ๋งๆ ที่เจอใต้น้ำนั่นแหละ บางทีก็ส่งเสียงสับสันกันจนน่ามคาญ ก็บ่อยไป
แต่เคยมีบางคนคิดระบบสัญญาณที่สื่อสารความหมายกันได้บ้างเหมือนกัน และถ้าใช้กันเป็นสากลเมื่อไหร่ ก็จะเพิ่มประโยชน์ของพอยเตอร์ได้ไม่น้อยทีเดียว
ใช้ชี้ทิศทาง บอกนักดำน้ำคนอื่นๆ
ใต้ผืนน้ำนั้น การมองเห็นของเราแย่ลงกว่าบนบกมากมาย ทั้งเพราะสภาพแสงที่น้อยลง ทัศนวิสัยขุ่นมัวในบางโอกาส และบางทีก็อยู่ไกลกันมาก ทำให้นิ้วเล็กๆ ของเพื่อนนักดำน้ำไม่ดีพอจะบอกทิศทางกันได้ชัดเจนนัก พอยเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยทำหน้าที่นั้นได้
ใช้เกาะหินหรือปักลงพื้นทราย เพื่อประคองตัวขณะมีกระแสน้ำแรงๆ
ตอนที่มีกระแสน้ำหรือ surge พัดเราเข้าไปใกล้ก้อนหินหรือปะการัง หรือพื้นด้านล่าง หากเราประคองตัวด้วยการตีฟิน หรือใช้มือพุ้ยน้ำบ้าง ไม่สำเร็จ ยังประคองตัวไม่ได้ และเสี่ยงจะทำให้เข้าไปชนก้อนหินหรือปะการัง เราอาจใช้พอยเตอร์ช่วยค้ำยันได้บ้าง โดยต้องระวังจุดที่เราจะจรดพอยเตอร์ลงไปยัน ดูให้ดีว่าไม่จิ้มลงไปที่ปะการังหรือสัตว์ทะเลที่เกาะอยู่แถวนั้นด้วยนะ
ส่วนใหญ่ที่ผมเจอว่าจิ้มได้ ก็คือ เปลือกหอยที่เหลือฝาอยู่ด้านเดียวติดกับก้อนหินอยู่ ส่วนอีกฝานึงหายไปนานแล้ว จะค่อนข้างแข็งแรง รองรับการค้ำยันได้พอสมควร โดยเฉพาะถ้าเราไม่จิ้มแบบกระแทกลงไปแรงๆ
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันทุกครั้งที่เราต้องการเอาตัวออกห่างจากปะการังหรือพื้นด้านล่างนะครับ วิธีการหลักคือ ต้องคอยสังเกตระยะห่าง และทิศทางการเคลื่อนที่ รวมถึงทิศทางกระแสน้ำที่ดันเราอยู่ ก่อนที่เราจะเข้าใกล้เกินไป และฝึกฝนการควบคุมการเคลื่อนที่ในทุกทิศทางให้ได้อย่างที่ต้องการ ด้วยตัวเอง โดยไม่กระทบสิ่งอื่นๆ
ประคองตัวและเคลื่อนตัวระหว่างค้นหาสัตว์ทะเลที่หน้าพื้นทราย
จะใช้พอยเตอร์กดที่พื้นทราย แล้วค่อยๆ ออกแรงดึงหรือดันเพื่อเคลื่อนตัวเราเองไป โดยไม่เตะฟินให้พื้นทรายฟุ้งขึ้นมารบกวนนักดำน้ำคนอื่น
ใช้วัดขนาดของสัตว์ทะเล
พอยเตอร์บางอันมีการตีเส้นเป็น scale ไว้ตรงปลายด้วย ใช้เป็นไม้บรรทัดวัดขนาดหอยมือเสือ ปะการัง ทาก และอีกหลายอย่าง ด้วยครับ
ใช้เกี่ยวขยะหรือบางสิ่งที่มือเก็บไม่ได้
อันนี้สำหรับนักดำน้ำที่มีใจอนุรักษ์ ช่วยกันรักษาความสะอาดของท้องทะเลกัน ก็ได้พอยเตอร์เป็นอุปกรณ์เสริม ในการเขี่ยเอาบางสิ่งที่ไม่ควรใช้มือเปล่าๆ ของเราไปหยิบมัน เช่น หนวดแมงกะพรุนที่ลอยอยู่และอาจบังเอิญมาเกาะติดกับเพื่อนนักดำน้ำของเรา หรือเศษอวนที่ติดอยู่กับแนวปะการัง และเราก็ไม่แน่ใจว่า ตรงนั้นเป็นปะการังไฟ (fire coral) หรือไฮดรอยด์ (hydroid) รึเปล่า
ใช้ป้องกันตนเองจากปลาวัวบ้าง จากงูทะเลบ้าง
ผมก็เคยต้องสู้กับปลาวัวมาแล้วเหมือนกัน ได้พอยเตอร์ช่วยยัน ช่วยผลักให้มันออกไปห่างๆ จากผมหน่อย ดันกันไปดันกันมาไม่กี่ครั้ง มันก็ยอมแพ้ ว่ายหนีไป
แต่ผมไม่ได้ใช้ทิ่มแทงใหเค้าเจ็บปวด หรือทำร้ายเค้าถึงชีวิตนะครับ จึงคอยระวังไม่ได้จิ้มตัวเค้าตรงๆ
ทำไมแหล่งดำน้ำบางแห่งไม่อนุญาตให้ใช้
ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เพราะนักดำน้ำจำนวนไม่น้อย ใช้พอยเตอร์ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อปะการังหรือสภาพแวดล้อมของแหล่งดำน้ำมาก ซึ่งไม่เฉพาะแต่นักดำน้ำใหม่ที่ทักษะและความรู้การดำน้ำยังไม่ดีเท่านั้น แต่นักดำน้ำที่ดำมานานแล้ว แต่ไม่รู้ หรือไม่ใส่ใจระวังการใช้งานพอยเตอร์ ก็สร้างผลเสียได้มากเหมือนกัน
1. ใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเคลื่อนที่ของเรา
โดยการดันให้เราเคลื่อนที่ไปทางโน้นทางนี้ หรือประคองการจมลงพื้นของเรา เพราะเราควบคุมการลอยตัวได้ไม่ดี หากใช้เป็นประจำโดยไม่ยอมฝึกควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่และควบคุมการลอยตัวเองเลย เป็นการใช้ที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ และทำให้เราไม่พัฒนาทักษะของเราด้วย
2. ใช้เพื่อประคองตัวยามฉุกเฉิน แต่ขาดความรู้
บางคนรู้และพยายามใช้เฉพาะยามจำเป็นเท่านั้นแล้วล่ะ แต่กะแรงไม่ถูก จิ้มลงไปเต็มที่ กระแทกพื้นผิวเสียหาย หรือไม่มีความรู้เรื่องสัตว์ทะเล ดูไม่ออกว่าเป็นก้อนหินหรือปะการัง หรือสังเกตไม่ออกจริงๆ ก็จิ้มลงไปโดนสัตว์ทะเลด้วย
3. ใช้คุ้ยเขี่ยทุกสิ่งทุกอย่างทั่วไปหมด ตลอดทั้งแนวปะการัง
กฎข้อสำคัญของการดำน้ำ ที่นักดำน้ำทุกคนควรระลึกอยู่เสมอคือ ทะเลเป็นบ้านของสัตว์ทะเล เราเป็นแขก แวะเวียนมาชื่นชมบ้านของเค้า เราจึงควรทำตัวเป็นแขกที่ดี ไม่รบกวน ทำร้ายเจ้าบาน ทำลายบ้านของพวกเขา
หากอยากรู้จัก อยากเจอเขา ก็ควรมีมารยาทที่ดี ทักทายกันเบาๆ เพื่อการเรียนรู้ หรือจะดีมากขึ้นอีก ถ้าศึกษามาก่อนว่า สิ่งที่เราอยากเจอมีลักษณะบอบบางอย่างไร พฤติกรรมอย่างไร อาศัยอยู่ที่ไหน เราจะได้รู้ว่าควรค้นหาที่ไหน ทักทายเขาอย่างไรที่จะอยู่ในวิสัยของเพื่อนทักทายกัน และไม่ทำอันตรายกับเขา
นอกจากพอยเตอร์แล้ว อุปกรณ์ดำน้ำอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลคล้ายกัน ก็คือ ถุงมือดำน้ำ ซึ่งเมื่อนักดำน้ำสวมใส่แล้ว ก็มักจะกล้าจับต้องสิ่งต่างๆ แบบเดียวกับพอยเตอร์ เช่นกัน
เมื่อนักดำน้ำจำนวนไม่น้อย ใช้พอยเตอร์ในการดำน้ำ แล้วสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลอันเป็นที่รักและหวงแหนของเขา บ่อยขึ้นๆ ก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการป้องกัน ลดความเสียหาย เพื่อรักษาสมบัติทางทะเลของเขาเอาไว้ให้อยู่ได้นานๆ
ใช้อย่างไร ให้ได้ประโยชน์ โดยไม่เกิดโทษ
เรามาทำความเข้าใจการใช้งานพอยเตอร์ที่ถูกวิธีกันดีกว่า
- ไม่เคาะแทงก์ส่งเสียงเล่นๆ โดยไม่มีเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ ชัดเจน และเมื่อจะส่งสัญญาณจริงๆ ก็ไม่เคาะรัวๆ ยาวนาน เป็นการรบกวนเพื่อนนักดำน้ำ (เพราะเสียงเดินทางในน้ำได้ดีและไกลกว่าในอากาศมาก)
- หากจะใช้เพื่อค้ำยัน หรือควบคุมการเคลื่อนที่ ให้ตั้งใจว่าจะลองใช้ฟิน ขา แขน ดูก่อน ลองกะระยะ ความแรง ที่จะช่วยให้เคลื่อนที่อย่างที่ต้องการได้ โดยไม่กระทบสิ่งที่อยู่รอบตัว และไม่ต้องใช้พอยเตอร์ก่อน ถ้าเห็นว่าไม่ได้แล้วจริงๆ จึงค่อยใช้พอยเตอร์
- ก่อนวางหรือจิ้มพอยเตอร์ลงไปบนสิ่งใด สังเกตให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่และไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ตรงจุดนั้น
- วางหรือจิ้มปลายพอยเตอร์ลงไปเบาๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มแรงดัน จะทำให้การจิ้มพอยเตอร์ไม่สร้างความแตกหักเสียหายต่อสภาพแวดล้อมใต้น้ำ รวมทั้งยังช่วยป้องกันหรือลดผลเสียหายหากเราทำข้อแรกพลาดไป โดยจิ้มลงไปบนปะการังหรือสัตว์ทะเลเข้าไปเต็มๆ
- หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของสัตว์ทะเลที่เกาะหรืออาศัยอยู่บนก้อนหินและแนวปะการัง ซึ่งนอกจากจะทำให้เรารู้ชัด ระมัดระวังได้ผลจริงแล้ว ยังช่วยให้เราชื่นชมธรรมชาติได้อย่างอิ่มเอมใจมากขึ้นด้วย
แนวคิดสำคัญประการหนึ่ง ที่ช่วยลดโอกาสทำความเสียหายต่อสัตว์ทะเล คือ นักดำน้ำใหม่ ไม่ควรเข้าใกล้แนวปะการังมาก จนกว่าจะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ และการลอยตัวได้ดีพอสมควรแล้ว ซึ่งก็แทบไม่มีโอกาสจะเกิดเหตุจำเป็นจนต้องใช้พอยเตอร์ช่วยเลย ซึ่งเรื่องนี้ ไดฟ์หลีดอาจต้องตกลงกับนักดำน้ำกันดีๆ ให้เข้าใจและไม่ขัดใจกัน … ส่วนจะยังอนุญาตให้ถือพอยเตอร์ลงดำน้ำหรือไม่ (เพื่อเป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณต่างๆ รวมถึงกรณีฉุกเฉินด้วย) ก็แล้วแต่จะตกลงกับไดฟ์หลีดต่อไป
พอยเตอร์สร้างปัญหาขนาดนี้ ห้ามใช้เสียเลยดีไหม
พอยเตอร์เป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่มีประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ไม่ระวัง ไม่รับผิดชอบ ก็สร้างปัญหาได้มากเหมือนกัน
แต่ถ้าห้ามใช้เสียเลย ก็กลายเป็นว่า เราจะไม่มีอุปกรณ์ส่งสัญญาณใต้น้ำในยามคับขัน อุปกรณ์ประคองตัวยามจำเป็นจริงๆ และฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่มีประโยชน์ของเค้าไปด้วย
ต่อให้ไม่ใช้พอยเตอร์ เราทุกคนก็ยังมีมือ มีนิ้ว มีตีนกบ และบางคนยังมีตีนกบยาวๆ ที่คนใช้ชอบใจในความสนุกความมันส์ แต่ประคองระยะให้ห่างจากปะการังไม่ได้ก็บ่อย ผมยังเคยเห็นคนที่ใช้ octopus ดันลงไปบนก้อนหิน (หรืออาจจะเป็นก้อนปะการัง) เพื่อค้ำยันตัวเองเหมือนกัน การไม่มีพอยเตอร์จึงไม่ได้ลดโอกาสเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เลย (ต้องห้ามทั้งพอยเตอร์และถุงมือพร้อมกัน ซึ่งหลายแห่งก็มีกฎเกณฑ์เช่นนี้)
โจทย์สำคัญของการใช้พอยเตอร์ อยู่ที่การสอนให้นักดำน้ำแยกแยะระหว่างปะการัง ฟองน้ำ เปลือกหอย ก้อนหิน ให้ออกครับ ซึ่งเรื่องนี้ต้องหวังพึ่งครู ไดฟ์หลีด และเพื่อนนักดำน้ำ ที่จะช่วยกันให้ความรู้ สอนวิธีการ และสร้างความตระหนักรู้ที่เหมาะสมแก่นักดำน้ำใหม่ๆ และหวังว่านักดำน้ำใหม่จะรับฟัง ทำความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ในการดำน้ำของตัวเองด้วย
สิ่งที่ทำลายปะการังและธรรมชาติมากที่สุด ได้แก่ ความไม่รู้ กับความไม่ใส่ใจ
อย่างไรก็ตาม การตั้งกฎให้งดใช้พอยเตอร์และถุงมือดำน้ำในแหล่งดำน้ำบางแห่ง ก็นับว่าสมควรแก่เหตุผล เพราะการให้ความรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็น ไม่สามารถทำได้ในทันทีที่อธิบายกันเสร็จ มาตรการแบบนี้จึงยังจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะกับแหล่งดำน้ำที่มีความสำคัญ มีคุณค่ามาก มีสัตว์หายาก หรืออ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงสูง
แหล่งข้อมูล: ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ประกอบกับข้อมูลและความเห็นดีๆ จากโพสต์บน Facebook