DAN Covid-19 Recommend

Covid-19 and Diving Operations

ข้อแนะนำต่างๆ ที่เขียนไว้ในนี้ เป็นการสรุปเนื้อหา ที่รวบรวมจากคู่มือ 10 Recommendations on risk prevention and mitigation – VERSION 04.05.2020 ของ DAN Europe และข้อมูลอื่นๆ ในเว็บไซต์ของ DAN ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งยังไม่ได้รวมข้อปฏิบัติอื่นๆ อีกมาก ที่เรือในไทยเองได้ดำเนินการเพิ่มเติมขึ้นมามากกว่าที่แนะนำโดย DAN ซึ่งอาจจะนำมาเขียนในบทความถัดไป

ความปลอดภัยภายในร้านดำน้ำ

ความปลอดภัยของลูกค้า และพนักงานร้าน

  • ผู้ที่มีอาการ หรือเข้าข่ายมีความเสี่ยงติดเชื้อ ควรงดการดำน้ำ
  • มีการติดป้ายมาตรการป้องกัน และวิธิปฏิบัติ อย่างชัดเจน ตั้งแต่หน้าร้าน
  • ให้ลูกค้าลงทะเบียนทางออนไลน์ หากต้องใช้แบบฟอร์มกระดาษ ควรมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องรับบัตรเครดิต
  • เน้นการชำระเงินแบบ e-payment
  • ปฏิบัติตามกฎ Physical Distancing อย่างเคร่งครัด
  • ระมัดระวังเรื่องของใช้ส่วนตัวที่ทางร้านจัดให้ลูกค้า เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อคลุมอาบน้ำก่อนลงสระ ควรมีการเก็บให้มิดชิด และไม่วางทิ้งไว้ในส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง

การดูแลความสะอาดส่วนบุคคล (Personal Hygiene)

  • ล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ แต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 20 วินาที
  • รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล
  • งดเอามือมาสัมผัส ตา จมูก และปาก
  • ป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก และจมูก ตลอดเวลา
  • หน้ากากอนามัย ไม่ควรใช้แบบที่มีวาล์วระบายลมหายใจออก เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายออกไปได้

การดูแลทำความสะอาดพื้นผิว และอุปกรณ์ต่างๆ

  • ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออยู่เสมอ ด้วยการทำ list พื้นที่หรืออุปกรณ์ส่วนกลางต่างๆ เช่น มือจับประตู ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องเขียน และกำหนดระยะเวลาในการทำความสะอาดอย่างชัดเจน
  • บางพื้นที่ อาจจะต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังมีการใช้งาน เช่น ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า
  • แนะนำให้ใช้ Alcohol หรือ  Sodium Hypochlorite (คลอรีนน้ำ, น้ำยาฟอกขาว) เนื่องจากหาได้ง่าย และราคาถูก
  • หากเป็นไปได้แนะนำให้ใช้สบู่ในการทำความสะอาด เนื่องจากทั้งแอลกอฮอล์ และสารฟอกขาว มีโอกาสที่จะทำลายพื้นผิวบางอย่างได้

อุปกรณ์เช่า และอุปกรณ์ดำน้ำส่วนตัว

อุปกรณ์ดำน้ำส่วนตัว

  • ควรล้างอุปกรณ์ดำน้ำด้วยวิธีน้ำไหลผ่าน ไม่ล้างในถังล้างรวม
  • ในการตากแห้ง ควรให้มีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ ไม่ควรให้อุปกรณ์ซ้อนทับกัน

อุปกรณ์ดำน้ำเช่า

  • ล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • แนะนำให้ใช้ Sodium Hypochlorite (คลอรีนน้ำ) ละลายในน้ำอุณหภูมิปกติ ในอัตราส่วน 1:50 โดยแช่ทิ้งไว้ 5 นาที ตัวอย่างการใช้งาน
    • กรณีใช้คลอรีนน้ำ 5% สัดส่วนการใช้งาน 100ml ต่อน้ำ 4900 ml
    • กรณีใช้คลอรีนน้ำ 10% สัดส่วนการใช้งาน 50 ml ต่อน้ำ 4950 ml
  • หลังจากนั้น นำอุปกรณ์ไปล้างด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง
  • ผู้ล้างอุปกรณ์ควรใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย และหน้ากากป้องกันตา และทำงานในที่อากาศถ่ายเทสะดวก
  • เน้นการล้าง BCD, Regulator (second stage), Mask, Snorkel
  • หากมีการลองหน้ากาก (Fit test) ก่อนการใช้งาน ให้ทำความสะอาดหลังจากลองด้วย
  • แยกพื้นที่ให้ชัดเจน ระหว่างชุดเช่าที่รับคืน กับชุดใหม่ที่ไม่ได้ปล่อยเช่า อย่าให้มีการปนกัน
  • แยกชุดดำน้ำของลูกค้าแต่ละคน ใส่กระเป๋าแยกตามคน ไม่ขนย้ายรวมกันไป
  • เน้นย้ำกับนักดำน้ำ ในระหว่างประกอบอุปกรณ์ ห้ามสัมผัสบริเวณ Tank Valve Outlet และ Regulator Inlet เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเข้า Regulator

การทำ Buddy Check

แนะนำให้ใช้วิธี Visual Buddy Check ด้วยการให้ buddy เช็คอุปกรณ์ตัวเอง พร้อมกับการยืนยันด้วยการพูด และเราเป็นผู้ดู โดยไม่ต้องมีการสัมผัสที่อุปกรณ์ของบัดดี้

การแชร์อากาศ

กรณีที่ต้องมีการแชร์อากาศ ให้แชร์ด้วย Alternate Air Source ไม่แชร์ด้วยวิธี Buddy Breathing

มาตรการต่างๆ ที่ควรทำบนเรือ

  • จัดให้มี Physical Distancing อย่างจริงจัง
  • งดนำของอื่นที่ไม่จำเป็นขึ้นเรือ
  • นำอุปกรณ์ดำน้ำขึ้นเรือ เมื่อพร้อมประกอบชุด
  • Staff ของเรือควรสวมถุงมือ และหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • Mask, Snorkel และ Second Stage ควรป้องกันด้วยการซีล หรือใส่ในถุงพลาสติก จนกระทั่งถึงเวลาใช้งาน
  • ไม่ล้างหน้ากากในถังน้ำรวม แนะนำให้ล้างในทะเล
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ Anti Fog โดยเฉพาะ และห้ามการใช้น้ำลาย
  • ในระหว่างเรือแล่น อาจมีลมพัด ซึ่งทำให้ละอองน้ำลายปลิวไปได้ไกลกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ของผู้อื่น
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดให้เพียงพอ เช่น เจลล้างมือ สบู่ล้างมือ สเปรย์ทำความสะอาด
  • แนะนำให้นักดำน้ำหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ หากนักดำน้ำมีเชื้ออยู่แต่ไม่แสดงอาการ
  • งดการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน
  • เน้นมาตรการ Physical Distancing ทั้งบนเรือ ก่อนลงน้ำ และบนผิวน้ำ ระหว่างรอเรือ รวมถึงระหว่างจับเชือกรอขึ้นเรือ โดยอาจจะทำตำแหน่งการจับ ด้วยการทำสัญลักษณ์ หรือใช้เทปปิดเป็นระยะ ให้นักดำน้ำจับ เพื่อรักษาระยะห่างบนผิวน้ำ
  • แนะนำให้นักดำน้ำเปลี่ยนแท็งก์หลังจบไดฟ์ ด้วยตัวเอง หาก staff ของเรือเป็นผู้ทำให้ ควรล้างมือหรือสวมถุงมือด้วย
  • ไม่ใช้สารทำความสะอาดที่เป็น Alcohol-Based ในบริเวณที่มีการอัดอากาศ เพื่อป้องกันการติดไฟ ควรใช้สบู่และน้ำเปล่าในการทำความสะอาดแทน

คำถามที่มีการถามบ่อยๆ

จำเป็นต้องเปลี่ยน Mouthpiece ใหม่ทุกครั้งหรือไม่ ???

การมี Mouthpiece ส่วนตัว เป็นการลดความเสี่ยงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเชื้อยังสามารถอยู่ใน Second Stage Unit จากการหายใจออกของผู้ใช้ก่อนหน้านี้ การล้าง Regulator ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงมีความสำคัญมาก และสำคัญมากกว่าการเปลี่ยน Mouthpiece เสียอีก

มีโอกาสติดเชื้อไวรัสจากการอัดอากาศหรือไม่

ในทางทฤษฎี Filter ที่ใช้กรอกอากาศเข้าเครื่องอัดอากาศ ไม่สามารถป้องกันละอองน้ำลายขนาดเล็กได้ และในฝั่ง Filter ขาออกจากเครื่องอัดอากาศที่มีการกรองความชื้น กรองกลิ่น และกรองน้ำมัน ซึ่งเชื้อน่าจะไม่สามารถผ่านมาได้ แต่ก็ยังไม่สามารถรับประกันการปลอดเชื้อได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ควรติดตั้งช่องทางดูดกาศเข้าในที่ที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนทุกสิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในขณะอัดอากาศ อุณหภูมิของอากาศที่อยู่ในเครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) สามารถขึ้นสูงถึง 120 องศาเซลเซียส ซึ่งเพียงพอที่ทำลายไวรัสได้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่ไวรัสจะผ่านมาสู่ถังอากาศในกระบวนการอัดอากาศนี้

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงๆ กลับอยู่ที่ผู้อัดอากาศมากกว่า เนื่องจากเป็นผู้ที่สัมผัสกับ Tank Valve และสายอัดอากาศ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับผู้อัดอากาศให้มากที่สุด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด และสวมถุงมืออยู่เสมอ และที่สำคัญ ต้องจัดให้มี Physical Distancing ในบริเวณอัดอากาศด้วย

สิ่งที่ต้องระวังคือ หลีกเลี่ยงการใช้สารทำความสะอาดที่เป็น Alcohol-Based ในบริเวณนี้ เพื่อป้องกันการติดไฟ ควรใช้สบู่และน้ำเปล่าในการทำความสะอาดแทน

Coronavirus สามารถอยู่ในน้ำจืด และน้ำทะเลได้หรือไม่

ประเด็นนี้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย จึงยังไม่มีข้อสรุปออกมาในตอนนี้ แต่จากงานวิจัยไวรัส SARS-CoV-1 ยังสามารถติดเชื้อได้บนผิวน้ำ (ทะเลสาบ, แม่น้ำ) รวมถึงน้ำทะเลก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ แต่งานวิจัยพบว่า เชื้อ SARS-CoV-2 จะอยู่ในสระคลอรีน ได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วเชื้อก็จะไม่ทำงาน (inactivated) แต่ยังไม่มีการระบุเวลาที่ชัดเจน

จากหลักฐานต่างๆ เท่าที่มี DAN จึงเน้นย้ำว่า ให้นักดำน้ำทุกคน ปฏิบัติตามกฎ Physical Distancing อยู่ตลอดเวลา ทั้งบนเรือ บนผิวน้ำ รวมถึงการล้างและตากอุปกรณ์ดำน้ำตามคำแนะนำให้หัวข้อก่อนหน้าด้วย

DAN แนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่ แต่ทำไมไม่แนะนำให้ล้างอุปกรณ์ดำน้ำด้วยสบู่

น้ำยาฆ่าเชื้อเช่น Alcohol, คลอรีนน้ำ เป็นการฆ่าเชื้อให้ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป แต่เชื้อยังคงอยู่ในบริเวณนั้น ในขณะที่การล้างด้วยสบู่ ไม่ได้ทำให้เชื้อตาย แต่เป็นการเอาเชื้อออกไปจากพื้นผิว ดังนั้นการล้างด้วยสบู่พร้อมกับให้น้ำไหลผ่าน จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด

DAN แนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ล้างมือด้วยสบู่ แต่สำหรับอุปกรณ์ดำน้ำ จะมีซอกมุมต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถทำให้น้ำไหลผ่าน และชะล้างสิ่งที่ไม่ต้องการออกทั้งหมดได้ ดังนั้น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ที่มา