เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพฟิน เรื่องใกล้ตัวที่น่ารู้

ถ้าลองมองดูฟินดำน้ำลึกแบบใบเดียว (paddle fins) ที่เราใช้ดำน้ำกันอยู่ทุกวันนี้ เราคงพอจะคาดเดาได้ว่า มันน่าจะได้รับการออกแบบมาจากรูปเท้าของสัตว์จำพวกกบหรือเป็ด หรือใบพายสำหรับพายเรือนั่นเอง ซึ่งเริ่มต้นก็คงเลียนแบบออกมาได้เป็นฟินแบนๆ ธรรมดาๆ เท่านั้น ก่อนจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นฟินที่มีลวดลายแปลกใหม่ มีการสอดแทรกคุณสมบัติที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ จนกลายเป็นฟินอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

การพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้โดยผู้ผลิตฟินแบรนด์ต่างๆ ได้ศึกษาวิจัยคิดออกแบบกันขึ้นมา ซึ่งทำให้เรามีฟินคุณภาพดี เบาแรง ได้ประสิทธิภาพสูง อย่างที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้นั่นเอง ในที่นี้จะขอเล่าถึงเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เพื่อเป็นความรู้ในการเลือกซื้อและใช้งานฟินของนักดำน้ำทุกท่าน

Channel Thrust และ Superchannel

เป็นเทคโนโลยีจากแบรนด์ Mares ที่ออกแบบให้ฟินมีรูปโค้งตรงปลายฟินขณะวาดฟินในน้ำ ทำให้เกิดเป็นโพรงน้ำ ให้น้ำที่ถูกดันไหลผ่านออกไป มีลักษณะที่พุ่งไปในทิศทางเดียวมากที่สุด ไม่กระจายออกด้านข้างซึ่งเป็นแบบที่เสียพลังงานไปเปล่าๆ

shown water flow thru fins with Channel Thrust Technology
Channel Thrust Technology

การสร้างลักษณะโพรงน้ำแบบนี้ ทำได้โดยแทรกวัสดุที่ยืดหดได้มากกว่าเนื้อใบฟินปกติ เข้าไปในใบฟิน (ในที่นี้คือ แทรกแผ่นยางเข้าไประหว่างเนื้อพลาสติก) เป็นร่องยาวไล่จากตรงกลางถึงปลายใบฟิน

เมื่อตีฟินให้กวาดน้ำไป ร่องเหล่านี้จะยืดตัวออก เปลี่ยนรูปร่างของใบฟินทั้งหน้าจากแผ่นแบนๆ ให้กลายเป็นโพรง เพื่อให้น้ำไหลผ่านไปตามแนวของโพรงนี้ ลองดูตัวอย่างได้จากฟินหลายรุ่นของแบรนด์ Mares

Fins: Mares Avanti Quattro Power
Fins: Mares Avanti Quattro Power

Fins: Mares Avanti Excel
Fins: Mares Avanti Excel

นอกจากนี้ ขณะที่นักดำน้ำวาดฟินถึงตำแหน่งกว้างสุดและกำลังจะเปลี่ยนทิศทางการวาดฟินนั้น โดยปกติจะเป็นตำแหน่งที่ใบฟินไม่เกิดแรงผลักน้ำแล้ว หรือแย่กว่านั้นคือ สร้างความต้านทานกับน้ำ เสียพลังงานของนักดำน้ำไปโดยไม่จำเป็น อีกด้วย

Positive and Negative Thrust Area of Fins Movement
ตำแหน่งที่ฟินสร้างแรงผลักน้ำ (+) และต้านน้ำ (-)

ด้วยใบฟินขณะทำงาน มีรูปร่างเป็นโพรงและเคลื่อนตามหลังขอบใบฟิน 2 ข้างไปอยู่นั้น จะยังเคลื่อนไปไม่ถึงตำแหน่งกว้างสุดของการวาดขา ยังไม่สร้างความต้านทานกับน้ำมากนัก ก็จะถูกวาดกลับ เปลี่ยนทิศการกินน้ำ และเริ่มทำงานในรอบใหม่ต่อไปได้ทันที เทคโนโลยีนี้จึงช่วยลดการต้านน้ำโดยรวมในระหว่างการดำน้ำได้อีกด้วย

Mares ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และตั้งชื่อเทคโนโลยีนี้รุ่นใหม่ว่า Superchannel ซึ่งจะพบได้ในฟินรุ่น Avanti Excel และ Avanti Superchannel

ที่ผ่านมามีแบรนด์อุปกรณ์ดำน้ำหลายแบรนด์ได้ซื้อสิทธินำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ผลิตฟินของตัวเองหลายรุ่น จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สิทธิบัตรเทคโนโลยี Channel Thrust นี้หมดอายุลงแล้ว จึงมีฟินจากแบรนด์อื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น

Optimized Pivoting Blade (OPB)

เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Mares อีกเช่นกัน หลังจากที่ได้เห็นว่า ตำแหน่งกว้างสุดของการวาดฟินนั้น ไม่เกิดแรงผลักน้ำ แต่กลับสร้างความต้านน้ำอีกด้วย จึงหาวิธีออกแบบให้ฟินสามารถหักงอได้มากกว่าฟินปกติ และจุดที่จะให้หักงอนี้อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด (optimized pivoting) ที่จะให้ผลแบบนั้น ซึ่งก็ได้ออกมา 2 แนวทางด้วยกัน คือ

  1. เพิ่มวัสดุที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ และออกแบบเป็นรูปโค้งที่ให้ตัวได้ ตรงตำแหน่งใกล้โคนใบฟิน ซึ่งต้องการให้เกิดมุมงอได้มาก เช่นในฟินตระกูล Volo
  2. ลดความหนาของแกน rib ข้างๆ ใบฟิน ซึ่งปกติทำด้วยวัสดุแข็งไม่ยืดหยุ่นมาก จุดที่ถูกลดความหนานี้เองจะเป็นจุดที่เกิดการหักงอได้มากกว่าจุดอื่นของใบฟิน แนวทางนี้ใช้อยู่ในฟินตระกูล Avanti Excel

ลองดูคลิปวิดีโอประกอบได้เลย (ในคลิปนี้จะมีเรื่อง Superchannel เพิ่มเข้ามาในครึ่งหลังด้วย)

หากต้องการเห็นการหักงอแบบนี้ในฟินจริงๆ ลองให้ร้านอุปกรณ์ดำน้ำที่คุณรู้จัก สาธิตให้คุณดูก็ได้ แต่ถ้าอยากเห็นชัดๆ ต้องลองสังเกตในน้ำดู จะชัดเจนกว่าการใช้มือกดเอง แล้วเราจะได้เห็นด้วยว่า ขณะใช้งานจริง ฟินหรือตีนกบ ต้องรับแรงที่น้ำกระทำกับมันมากเพียงไหน เพื่อผลักเราให้เคลื่อนที่ไปได้ในน้ำ

Mares ได้ขายสิทธิ์การใช้เทคโนโลยีนี้ให้แบรนด์อื่นไปใช้ผลิตฟินของตัวเองด้วยเช่นกัน ฟินที่ใช้เทคโนโลยีนี้ก็เช่น Sherwood Spinta

Vented Blade – ใบฟินที่มีรูตรงกลาง

หลายคนเห็นฟินบางรุ่นแล้วก็แปลกใจว่า รูหรือช่องที่น้ำผ่านได้ตรงกลางตัวฟิน หรือก็คือตรงโคนของส่วนใบฟิน ต่อกับปลายเท้าของ foot pocket นั้นมีไว้ใช้ทำอะไร

คำตอบก็คือ มีไว้ให้น้ำในบริเวณที่ไม่ก่อให้เกิดแรงผลักมากนัก หรือบางกรณีคือ เกิดความเสียดทาน ต้านการเคลื่อนที่ของเราด้วย ได้ไหลผ่านไปโดยไม่สร้างผลเสียกับเรา

ถ้าเราลองสังเกตดูการตีฟินของเราจะพบว่า บริเวณใกล้ปลายเท้า ทิศทางการผลักน้ำจะไปในแนวขึ้นลง ซึ่งจะเกิดเป็นแรงยกและกด ต่างจากช่วงปลายใบฟิน ที่จะเป็นการดันไปด้านหลัง เกิดแรงผลักให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้

หรือในขณะที่เราวาดขากลับขึ้นไป (recovery stroke) เป็นช่วงที่เราผ่อนคลายการออกแรง และไม่ได้คาดหวังผลของแรงผลักน้ำมากนัก ช่องระบายน้ำแบบนี้ก็ช่วยให้เราไม่ต้องออกแรงมากเกินไปตลอดเวลา ได้มีจังหวะผ่อนแรงเพื่อเตรียมตัวตีฟินในจังหวะถัดไป

เทคโนโลยีนี้มีใช้อยู่ในฟินหลายรุ่นด้วยกัน มีทั้งในแบบ วงกลม สี่เหลี่ยม หรือแบบอื่นที่สอดรับไปกับโครงสร้างของฟิน

 

ที่จริงยังมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง จากหลากหลายแบรนด์ผู้ผลิตฟินชั้นนำของโลก ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีก