ทำไม เรามักจะลอยขึ้นเร็ว จนหยุดที่ความลึกที่ต้องการไม่ได้

เป็นคำถามที่นักดำน้ำใหม่ๆ ประสบการณ์ยังน้อย มักจะสงสัยกันทุกคนว่าตัวเราเองก็ทำทุกอย่างตามที่เรียนมาแล้ว แต่ทำไมยังลอยขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วมาก ไม่สามารถหยุด​ ณ จุดที่ต้องทำ safety stop ได้ แต่กลับลอยขึ้นไปจนถึงผิวน้ำเลยทีเดียว

สาเหตุหลักของเหตุการณ์แบบนี้ ก็คือ

  1. ไม่ได้ปล่อยอากาศออกจาก BCD ให้เพียงพอก่อนเริ่มต้นการขึ้นสู่ผิวน้ำ
  2. ไม่ได้คอยปล่อยอากาศออกเป็นระยะๆ ระหว่างการขึ้นสู่ผิวน้ำ
  3. ปล่อยอากาศจาก BCD ไม่ออก แต่คิดว่าปล่อยออกจนหมดแล้ว
  4. ปุ่มปล่อยลมทำงานผิดปกติ อาจเกิดจากความเสียหายหรือขาดการบำรุงรักษา

1. ไม่ได้ปล่อยอากาศออกจาก BCD ก่อนเริ่มต้นการขึ้นสู่ผิวน้ำ

ทุกครั้งก่อนเริ่มขึ้นสู่ผิวน้ำ ควรปรับการลอยตัวให้เป็น negative เล็กน้อย ด้วยการปล่อยอากาศออกจาก BCD แต่ไม่ใช่ปล่อยออกจนหมดนะ แค่ negative เล็กน้อยเท่านั้น

2. ไม่ได้คอยปล่อยอากาศออกเป็นระยะๆ ระหว่างการขึ้นสู่ผิวน้ำ

ในระหว่างการขึ้นสู่ผิวน้ำ หมั่นสังเกตการลอยตัวของเราอยู่เสมอ พยายามปรับการลอยตัวให้เป็นกลางหรือ negative เล็กน้อยตลอดการขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยการปล่อยอากาศออกจาก BCD เป็นระยะๆ เพราะอากาศใน BCD (หากมีอยู่) จะขยายตัวเมื่อขึ้นสู่ที่ตื้นมากขึ้น และทำให้การลอยตัวของเราเพิ่มขึ้น เราจะลอยขึ้นเร็วขึ้นๆ จนอาจควบคุมไม่ได้

3. ปล่อยอากาศจาก BCD ไม่ออก แต่คิดว่าปล่อยออกจนหมดแล้ว

เป็นเรื่องปกติที่นักดำน้ำใหม่จะปล่อยอากาศออกจาก BCD ไม่ได้ เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับการดำน้ำหรือการใช้อุปกรณ์ เมื่อกดปุ่มปล่อยอากาศแล้ว ไม่มีอากาศออกมา และเผลอคิดว่าปล่อยอากาศออกจนหมดแล้ว จากนั้นเมื่อลอยตัวขึ้นเรื่อยๆ อากาศที่ยังเหลืออยู่ใน BCD ก็ขยายตัวขึ้น ทำให้นักดำน้ำลอยตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนคุมไม่อยู่

สาเหตุที่นักดำน้ำปล่อยอากาศ BCD ไม่ออก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ร่างกายไม่อยู่ในท่าตั้ง หรือไหล่ซ้ายข้างเดียวกับสาย inflator ไม่อยู่ที่จุดสูงสุดของตัว BCD อากาศไปคั่งค้างอยู่ในบริเวณอื่นของ BCD
  • ชูสาย inflator ไม่ตรง แต่แอ่นโค้งย้อยลงต่ำกว่าระดับไหล่ซ้าย ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านออกไปทางปลายสายได้

วิธีแก้ไขคือ ต้องฝึกการจัดท่าทางให้ตัวตั้งตรง ชูสาย inflator สูง อาจเอียงไหล่ซ้ายขึ้นเล็กน้อย แล้วค่อยกดปุ่มปล่อยอากาศ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ฝึกใช้ dump valve ที่อยู่ตรงไหล่ขวา หรือที่เอว เพื่อให้สามารถปล่อยอากาศได้ในท่านอน และปล่อยอากาศออกเยอะๆ ในเวลารวดเร็วได้ ถ้าต้องการ

4. ปุ่มปล่อยลมทำงานผิดปกติ

ปุ่มปล่อยลมที่ชำรุด หรือขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้มีอาการหลายแบบ เช่น

  • เติมลมเข้า BCD เองตลอดเวลา ซึ่งทำให้เพิ่มการลอยตัวของเราตลอดเวลาไปด้วย
  • กดปุ่มเติมลมหรือปล่อยลมออกได้ยาก ทำให้ไม่สามารถควบคุมการลอยตัวได้ตามต้องการ

หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้ dump valve ปล่อยอากาศออกแทนไปก่อน และอาจปลดสายอากาศ (low pressure) ออกจากสาย inflator แล้วค่อยๆ ขึ้นสู่ผิวน้ำ (ซึ่งจะต้องเติมลมเข้า BCD ด้วยลมหายใจของเราเอง แทนด้วย)

ส่วนวิธีป้องกันปัญหาแบบนี้ ก็ต้องหมั่นนำ BCD เข้ารับบริการซ่อมบำรุงตามระยะเวลาที่เหมาะสม ที่ศูนย์บริการที่น่าเชื่อถือ มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดำน้ำจริงๆ

 

นอกจากนี้ วิธีการลดหรือป้องกันอาการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วจนควบคุมไม่ได้นี้ ยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาการลอยตัวของมือใหม่ และฝึกควบคุมการลอยตัวให้ชำนาญ อีกด้วย ซึ่งถ้าทำได้ดีขึ้นแล้ว ก็จะตัดสาเหตุ 3 ข้อแรกข้างต้นไปได้เลย