ปัญหาหลักของการดำน้ำสำหรับนักดำน้ำใหม่ก็คือ การควบคุมการลอยตัว ซึ่งสำหรับบางคน ปัญหานี้พาลจะทำให้เลิกดำน้ำกันเลยทีเดียว
จากประสบการณ์ที่ได้ช่วยดูแลนักดำน้ำใหม่หลายครั้ง ผมพบว่า มีความเข้าใจบางประการซึ่งถ้าปรับให้ถูกต้องแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการลอยตัวได้ และช่วยให้รู้วิธีฝึกที่จะทำให้ควบคุมการลอยตัวได้ดี รวดเร็วขึ้นมาก
การปรับอุปกรณ์ให้มีการลอยตัวเป็นกลาง เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
หลายคนเข้าใจว่า เมื่อหาน้ำหนักตะกั่วให้พอดีกับร่างกายขณะที่สวมอุปกรณ์ครบชุด ตามวิธีที่เคยเรียนมา จนได้การลอยตัวเป็นกลางแล้ว ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดการเกี่ยวกับการลอยตัวของเรา
แต่ที่จริง ขั้นตอนนี้เป็นเพียงการหาน้ำหนักตะกั่วที่เหมาะสมให้ร่างกายและชุดดำน้ำของเรามีการลอยตัวเป็นกลางโดยพื้นฐาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราควบคุมการลอยตัวได้ดีในระหว่างอยู่ใต้น้ำเท่านั้น แต่ในระหว่างการดำน้ำ การลอยตัวจะเปลี่ยนไปตามแต่การเติมลมเข้าออก BCD, การใช้อากาศในถังไปเรื่อยๆ, การตีฟิน, และการหายใจเข้าออกของเราเองด้วย
เราไม่ได้ใช้ BCD เพื่อการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงใต้น้ำ
นักดำน้ำใหม่มักจะเข้าใจว่า เมื่อจะขึ้นสู่ที่ตื้น ให้เติมลมเข้า BCD และเมื่อจะลงสู่ที่ลึก ให้ปล่อยลมออกจาก BCD อาจเพราะทุกครั้งที่เราเริ่มต้นไดฟ์ เราต้องปล่อยลมออกจาก BCD เพื่อลงสู่ใต้น้ำ
แต่ที่จริงแล้ว BCD ใช้เพื่อการชดเชยการลอยตัวโดยรวมของเรา ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการดำน้ำด้วย เนื่องจาก
- ถุงลมมีขนาดเล็กลง/ใหญ่ขึ้น ตามระดับความลึก/ตื้นในขณะนั้น และการลอยตัวจะเปลี่ยนไปมากหรือน้อย ขึ้นกับปริมาณอากาศที่อยู่ในถุงลม
- เมื่ออากาศในถังลดน้อยลงตอนท้ายไดฟ์
- รวมถึงกรณีที่ตะกั่วหนักเกินไปเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถเอาออกทั้งก้อนได้ เพราะถ้าเอาออกก็จะน้อยเกินไป
ซึ่งโดยปกติการลอยตัวที่เปลี่ยนไปจากเหตุเหล่านี้จะน้อยมาก และใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะเกิดความแตกต่างชัดเจน หรือมากพอที่จำเป็นจะต้องเติมลมเข้าหรือปล่อยลมออกเพื่อชดเชย อาจมีบางเหตุการณ์เท่านั้นที่การลอยตัวจะเปลี่ยนแปลงมาก เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนระดับความลึกหลายเมตร
สำหรับนักดำน้ำที่ปรับอุปกรณ์ได้เป็นกลางดีแล้ว จะไม่ได้เติมลมหรือปล่อยลมออกจาก BCD บ่อยนักในระหว่างไดฟ์
ปล่อยลมออกจาก BCD ผิดท่า ลมก็ไม่ออกหรือออกไม่หมด
บ่อยครั้งที่นักดำน้ำใหม่ลงจากผิวน้ำเพื่อเริ่มต้นไดฟ์ไม่สำเร็จ ทั้งที่ตะกั่วอยู่ครบ (และมักจะโดนครูใส่เผื่อไว้แล้วด้วย) หรือในระหว่างไดฟ์ที่นักดำน้ำกำลังลอยขึ้น ทั้งที่ตะกั่วอยู่ครบ ไม่ได้หายใจเข้าค้างนาน หยุดขยับตัวทุกอย่างแล้ว และ(คิดว่า)ปล่อยลมออกจาก BCD ออกหมดแล้ว เมื่อให้ครูหรือ DM พี่เลี้ยงเข้าไปดูจะพบว่า ยังมีอากาศเหลืออยู่ใน BCD พอสมควร อันเป็นเหตุให้มีแรงยกเกิดขึ้นนั่นเอง
ปัญหานี้มักจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
- การชูสาย inflator ไม่ตรงขึ้นด้านบนหรือไม่ชูขึ้นสุด สายอาจจะโค้งงอ ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านออกไปได้
- นักดำน้ำไม่อยู่ในท่าตัวตั้ง (เช่น อยู่ในท่านอน ลู่น้ำ ตามที่ถูกสอนมา) หรือตัวตั้งแล้ว แต่ไม่ได้ยกไหล่ด้านซ้ายที่อยู่ข้างเดียวกับสาย inflator ให้อยู่ในสูงสุด ทำให้อากาศของบีซีไปตกค้างอยู่จุดอื่น เช่น อยู่ที่เอวถ้าดำน้ำในท่านอน หรืออยู่ที่ไหล่ขวาถ้าตัวตั้งแต่ไม่เอียงตัว เป็นต้น อากาศจึงผ่านออกไปไม่หมด
เรามักจะเผลอเข้าใจว่า แค่กดปุ่ม อากาศก็จะไหลออกไปเอง (เพราะเรายังใหม่ ยังไม่เคยชินกับสิ่งนี้) ลืมไปว่า ถ้าดำน้ำในท่านอนอยู่ ก็ต้องขยับเป็นตัวตั้งก่อน จะท่านั่งหรือท่ายืนก็ได้หมดเลยครับ แล้วค่อยชูสาย inflator ขึ้นข้างบนให้สุด อย่าให้สายตกโค้งตรงกลางด้วย อากาศจึงจะออกได้หมด แต่สายเจ้ากรรม ก็มักจะโดนล็อคไว้ด้วยแถบผ้ายึดไว้กับ BCD อีกก็มักจะโค้งอยู่เล็กน้อยเสมอ
อีกเทคนิคหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ เมื่อตัวตั้งแล้ว ให้หงายตัวไปข้างหลังเล็กน้อย ชูสายขึ้นเหนือหัวและไปข้างหน้าเล็กน้อย สาย inflator จะเป็นท่อตรงมากขึ้น อากาศก็จะไหลออกได้สะดวก ถ้าจำเป็นต้องปล่อยจนหมดในคราวเดียวนั้นเลย ก็อาจจะเขย่าตัว หรือเอามืออีกข้างช่วยบีบไล่อากาศไปด้วย ก็จะดียิ่งขึ้นอีก
เราไม่ได้ใช้ฟินตลอดเวลา เพื่อการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงใต้น้ำ
ถัดจาก BCD ก็เป็นฟิน ที่นักดำน้ำใหม่มักจะใช้ในการเคลื่อนที่ไปทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะในแนวราบไปข้างหน้า หรือขึ้นลงใต้น้ำ
ฟินและขาของเราเมื่อทำงานร่วมกันนั้น มีแรงผลักเยอะมาก และทำให้เราเคลื่อนที่ไปได้เป็นเมตรในไม่กี่วินาทีเลยทีเดียว แต่ปกติการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงใต้น้ำ เราไม่ต้องการความเร็วสูงขนาดนั้น นอกจากมีความจำเป็นบางสถานการณ์เช่น ต้องสู้กับกระแสน้ำแนวตั้ง (up-current หรือ down-current) เป็นต้น
ที่จริงแล้ว เราใช้ฟินในการเคลื่อนที่ในแนวราบเป็นหลัก เช่น ไปข้างหน้า ถอยหลัง หรือสู้กับกระแสน้ำ ส่วนการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงในแนวดิ่ง อาจใช้ฟินบ้างเมื่อจำเป็นต้องขึ้นลงเร็วมากเท่านั้น แต่ปกติเราจะใช้สิ่งอื่นที่ควบคุมได้ละเอียดกว่านั้น
เราใช้ลมหายใจ ในการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงใต้น้ำ
เมื่อปรับอุปกรณ์ดำน้ำ และเติมลมเข้า BCD จนได้การลอยตัวเป็นกลางที่ความลึกนั้นๆ แล้ว หลังจากนั้นเมื่อเราต้องการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลง ซึ่งปกติจะไม่ต้องรวดเร็วหรือสูงขึ้น/ต่ำลงมากนัก เราจะใช้ลมหายใจของเราเป็นตัวควบคุมการลอยตัว ให้เป็น positive หรือ negative ตามต้องการ
ด้วยวิธีนี้ การเคลื่อนตัวขึ้นหรือลงจะเกิดขึ้นช้าๆ ไม่ทันทีทันใด ทำให้เราสามารถปรับความละเอียดในการเคลื่อนที่ได้มาก และช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งรอบข้าง เช่น การหล่นลงไปทับกองปะการัง การไม่ทำให้ทรายฟุ้งขึ้นมาจากพื้นหากใช้ฟินในการเคลื่อนที่ขึ้น หรือการลอยไปชนเพื่อนนักดำน้ำที่อยู่ด้านบนหรือด้านล่างของเรา
เราไม่ได้เติมลมเข้า BCD เมื่อจะขึ้นสู่ผิวน้ำ
เรื่องสุดท้าย ตอนจบของทุกไดฟ์ เมื่อจะขึ้นจากความลึกสู่การทำ safety stop หรือจากจุด safety stop สู่ผิวน้ำก็ตาม นักดำน้ำใหม่มักจะเผลอทำสิ่งเดียวกันนี้ นั่นคือ กดปุ่มเติมลมเข้าสู่ BCD
ที่จริงแล้วการทำแบบนั้นจะเป็นอันตรายอย่างมากในระหว่างการขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะหากใน BCD มีอากาศสะสมอยู่ เมื่อเราเคลื่อนสู่ที่ตื้นขึ้น ความกดลดลง ถุงลมจะขยายตัวมากขึ้น ทำให้แรงยกของ BCD มีมากขึ้น ส่งผลให้เรายิ่งเคลื่อนที่เร็วขึ้นอีก และส่วนใหญ่นักดำน้ำก็จะปล่อยลมออกไม่ทัน เมื่อถึงความลึกที่ต้องการ
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง (ซึ่งมีอยู่ในคอร์ส Open Water แล้วแน่นอน) คือให้ปรับการลอยตัวเป็น negative เล็กน้อยเมื่อเตรียมตัวจะขึ้นสู่ที่ตื้น แล้วใช้ฟินตีช้าๆ เบาๆ ขึ้นสู่ที่ตื้น หรือถ้าเราไม่ได้ต้องขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ใช้แค่การควบคุมลมหายใจเท่านั้นก็ได้
ความเคยชินบางอย่าง ทำให้เราควบคุมการลอยตัวได้ยาก
โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อต้องอยู่ในน้ำและไม่มีพื้นให้ยืนเหยียบ คือเราต้องตีขาไปด้วย เพราะไม่อยากจมลงไป แต่สำหรับการดำน้ำ เราต้องการจมลงใต้น้ำหรือเคลื่อนที่ไปในทิศทางอื่นๆ แต่ไม่ใช่การเคลื่อนที่ขึ้นสู่ผิวน้ำตลอดเวลา แน่ๆ ครับ ดังนั้น เราจึงต้องหยุดการตีขาใต้น้ำตลอดเวลาให้ได้
การหายใจถี่ หรือหายใจเข้าค้างไว้นานๆ เมื่ออยู่ในสถานการณ์น่าตื่นเต้น (หรือกังวล ตื่นกลัว) ก็เป็นอีกหนึ่งสัญชาตญาณหรือความเคยชินธรรมดาของมนุษย์ แต่มีผลต่อการลอยตัวด้วยเหมือนกัน เพราะทำให้ตัวเราค่อยๆ ลอยขึ้นทีละนิด จนบางครั้ง เมื่อรู้ตัวและผ่อนลมหายใจออกแล้ว ก็ยังหยุดการลอยตัวไม่ทัน
และอีกอย่างหนึ่งคือ ความเคยชินในการเติมลมเข้าเพื่อให้ลอย และปล่อยลมออกเพื่อให้จม ที่นักดำน้ำอาจเผลอเอามาใช้กับ BCD แม้จะเข้าใจทฤษฎีได้อย่างถูกต้องตามที่เล่าไปข้างต้นนี้แล้วก็ตาม
เรื่องความเคยชินนี้ ไม่มีวิธีแก้อื่นใด นอกจากการฝึกฝนทักษะเพื่อให้เกิดความเคยชินแบบใหม่มาแทนที่ แต่ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะเป็นหนึ่งในน้อยคนที่เป็นอย่างนี้นะครับ นักดำน้ำทุกคนต้องเคยผ่านจุดนี้มาแล้วแน่นอน
วิธีฝึกหัดเพื่อสามารถควบคุมการลอยตัวได้อย่างใจ
คราวนี้ก็มาถึง วิธีการฝึกหัดเพื่อแก้ไขปัญหาการลอยตัว กันละครับ
หากเข้าใจเรื่องการควบคุมการลอยตัวเพื่อการเคลื่อนที่ใต้น้ำ ดังที่เล่าไปข้างต้นนี้แล้ว สิ่งที่นักดำน้ำใหม่จะฝึกหัดเพื่อให้สามารถควบคุมการลอยตัวได้ดีขึ้น มีไม่กี่อย่างแล้วครับ ขอแบ่งเป็น 2 ส่วน เรียงไปตามลำดับที่จะให้นักดำน้ำใหม่ลองฝึกกันนะครับ
(หมายเหตุ: ทั้งหมดนี้ จะเริ่มฝึกได้หลังจากปรับน้ำหนักตะกั่วให้เป็นกลางกับชุดดำน้ำและร่างกายของเรา เรียบร้อยแล้วนะครับ)
เริ่มต้นจาก
- ฝึกควบคุมการขยับทั้งแขนและขาตลอดเวลา โดยไม่ได้ตั้งใจ ฝึกการเคลื่อนไหวใต้น้ำให้ช้าลง
- ฝึกลดการตีฟินใต้น้ำบ่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ใช้เมื่อจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในแนวนอนเป็นหลักเท่านั้น
- ฝึกปล่อยลมออกจาก BCD โดยชูสาย inflator ขึ้นเหนือศีรษะให้สูงสุด เอียงไหล่ข้างนั้นให้สูงขึ้นอีกหน่อย เขย่าตัวหรือเอาแขนอีกข้างไล่บีบถุงลม BCD ไปด้วย (ใครเบื่อทำสิ่งเหล่านี้เมื่อไหร่ ลองมองหา BCD ที่มีปุ่มกดเติมลม/ปล่อยลมแบบพิเศษ ได้ครับ คลิกเลย)
- ฝึกใช้ลมหายใจเป็นหลักในการเคลื่อนที่ขึ้นลง อดใจรอเวลาที่แรงยกหรือแรงจมจะทำงานจนเกิดผล พร้อมกับลดการใช้การเติมลมใน BCD แก้ความเข้าใจผิดหรือความเคยชินที่ว่า เติมลม BCD เพื่อเคลื่อนที่ขึ้น ปล่อยลม BCD เพื่อเคลื่อนที่ลง
ถ้าพอทำได้แล้ว ค่อยเพิ่มส่วนที่ละเอียดขึ้น
- ฝึกควบคุมความหนักเบาในการตีฟิน ให้เหมาะกับระยะที่ต้องการเคลื่อนที่ด้วย
- ฝึกปล่อยลมออกจาก BCD ด้วย dump valve ที่เอวหรือหัวไหล่ (มีใน BCD หลายรุ่น) แทนการใช้สาย inflator จะช่วยให้เราสามารถปล่อยลมได้โดยไม่ติดขัดเมื่อสาย inflator โค้งงอน และทำได้จากท่านอนด้วย
- ฝึกสังเกตความรู้สึกว่า มีแรงยกขึ้นหรือกดลงในระหว่างการดำน้ำ เพื่อจะได้รู้ว่าขณะนั้น การลอยตัวของเราเป็นอย่างไร มากหรือน้อยแค่ไหน ถ้ามากต้องแก้ด้วยการเติมลม/ปล่อยลมใน BCD ถ้าไม่มาก ก็ใช้ลมหายใจทำงานแทน
- ฝึกเติมลมหรือปล่อยลมใน BCD โดยกะปริมาณให้เหมาะสมกับความต้องการ (ทำได้แม้ปล่อยลมด้วย dump valve เช่นกัน) สังเกตแรงยกที่เกิดขึ้นหลังเติมหรือปล่อยลม และอย่าลืมว่า แรงยกไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่อย่างทันทีทันใด แต่จะค่อยๆ เกิดทีละน้อย ต้องหยุดเติมลม/ปล่อยลมเมื่อกะว่าพอดีแล้ว อย่ากดปุ่มค้างไว้จนเกิดการเคลื่อนที่ขึ้นแล้วจึงหยุด เพราะถึงตอนนั้น แสดงว่า เราเติมลม/ปล่อยลมเยอะเกินไปแล้ว
ส่วนตอนจบไดฟ์จะขึ้นสู่ที่ตื้น ให้ปรับการลอยตัวเป็น negative เล็กน้อย และระหว่างขึ้นสู่ที่ตื้น ให้สังเกตการลอยตัวสม่ำเสมอ หากพบว่าเริ่มมีแรงยกเกิดขึ้น (การลอยตัวเป็น positive) ให้ปล่อยลมออกจาก BCD อีก
เพียงเท่านี้ ไม่นานคุณก็จะดำน้ำได้อย่างใจ ควบคุมการลอยตัวได้เหมือนอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก เคลื่อนที่ได้ราวกับบินอยู่ในอวกาศเลยทีเดียว
ส่วนการควบคุมการลอยตัวตอนเริ่มต้นไดฟ์ ที่กลัวจะลงไปเร็วโดนเม่นทะเลจิ้มเอา และท้ายไดฟ์ ที่ลอยขึ้นไปเกินจุดที่จะทำ safety stop หยุดไม่ได้ทุกที จะมีเทคนิคเพิ่มเติมที่ต้องอธิบายอีกหน่อย ไว้จะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปนะครับ