ในชีวิตประจำวัน หลายคนคงไม่เคยสังเกตว่าปกติเราหายใจกันแบบไหน? เพราะตั้งแต่เกิดมาคนเรานั้นก็สามารถหายใจได้อยู่แล้ว เราเลยไม่ได้สังเกตวิธีการหายใจ ในวันนี้เราจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องการหายใจกัน เพื่อที่จะพัฒนาการดำน้ำของเราให้ดียิ่งขึ้น
เรามาทำความเข้าใจความหมายของสิ่งเหล่านี้กันก่อนนะ
Total Lung Capacity หรือ TLC
หมายถึง ปริมาตรความจุปอดทั้งหมด เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หายใจเข้า 100% เลย
Residual Volume หรือ RV
หมายถึง ปริมาตรของอากาศที่ยังเหลืออยู่ ในขณะที่เราหายใจออกจนสุด เข้าใจง่ายๆ คือ หายใจออกจนสุด แบบออกไม่ได้แล้ว จะเหลืออากาศอยู่ในปอดประมาณ 20% ของความจุปอดทั้งหมด
Tidal Volume หรือ TV
หมายถึง ปริมาตรอากาศในปอดที่เราใช้ในการหายใจเข้า – ออกปกติ เข้าใจง่ายๆ คือ ช่วงการหายใจปกติของเราเนี่ยแหละ
Inspiratory Reserve Volume หรือ IRV
หมายถึง ปริมาตรของอากาศที่สามารถหายใจเข้าไปได้เพิ่มจากการหายใจเข้าตามปกติ เข้าใจง่ายๆ คือ ช่วงที่เราหายใจเข้าไปเพิ่มอีกจากหายใจเข้าปกติ
Expiratory Reserve Volume หรือ ERV
หมายถึง ปริมาตรอากาศที่เราสามารถหายใจออกได้อีก จากการหายใจออกตามปกติ เข้าใจง่ายๆ คือ ช่วงที่เราพยายามหายใจออกมากกว่าการหายใจออกปกติ
คราวนี้เรามาดูกันที่การหายใจกันนะ
การหายใจที่ถูกต้องนั้นเราควรหายใจด้วยการใช้กล้ามเนื้อกระบังลม (diaphragm breathing) พูดง่ายๆ คือ หายใจเข้าแล้วพุงป่องนั้นแหละ
การหายใจปกติที่เราหายใจกันอยู่ (TV) เวลาหายใจเข้าปอดจะขยายประมาณ 60% ของความจุปอด และเวลาหายใจออกปกติก็จะเหลืออากาศประมาณ 40% ของความจุปอด พอจะเข้าใจกันแล้วใช่ไหม?
ช่วงจังหวะการหายใจของเรานั้นควรจะหายใจเข้า – ออกสม่ำเสมอ และเท่ากันในทุกครั้ง เช่น หายใจเข้าปกติใช้เวลา 3 วินาทีจนกระทั่งรู้สึกสบาย แล้วหายใจออกก็ใช้เวลา 3 วินาทีจนรู้สึกสบายเช่นกัน ลองฝึกกันดูนะ
ถ้าเราหายใจเข้ามากไปก็จะรู้สึกเกร็งและอึดอัด หายใจออกมากไปก็รู้สึกอยากหายใจเข้าทันทีจนเราไม่สามารถควบคุมจังหวะหายใจได้ ส่วนใครที่ยังหายใจแล้วไหล่ยกแบบนั้นไม่ควรทำนะ เพราะเราจะหายใจได้สั้นและรู้สึกอึดอัดมากกว่า
คราวนี้พอเราเข้าใจวิธีการหายใจและฝึกฝนสามารถควบคุมได้แล้ว ก็จะได้ประโยชน์กับการดำน้ำตั้งหลายอย่างเลย เช่น รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ควบคุม buoyancy ได้ดีขึ้น อัตราการใช้อากาศลดลง เหนื่อยน้อยลง แถมลดอาการการ panic ได้ด้วยนะ!!!
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักดำน้ำที่ผ่านมาอ่านนะ
บทความจาก Facebook: Tecrew