คำถามที่มักถามบ่อยๆ เกี่ยวกับ Freediving

ปัจจุบันมีคนสนใจกีฬาเกี่ยวกับ ฟรีไดฟ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นกีฬาที่สนุก และท้าทายความสามารถ ทำให้คนท่องเที่ยวทะเล และดำน้ำลงไปชมธรรมชาติใต้ท้องทะเลได้อย่างใกล้ชิด และง่ายดาย หลายคนจึงอยากรู้จักกีฬาชนิดนี้มากขึ้น เกี่ยวกับ ฟรีไดฟ์

คำถามเกี่ยวกับฟรีไดฟ์อะไรบ้างที่น่าสนใจ ?

ว่ายน้ำไม่เป็นเรียนฟรีไดฟ์ได้หรือไม่?

ถ้าว่ายน้ำเป็นก็ดีครับ เหมือนคนขี่มอเตอร์ไซค์เป็นอยู่เเล้ว อยากไปเรียนขับรถยนต์เพิ่ม

เวลาฝึกขับรถออกถนนใหญ่ รู้กฎจราจรดีอยู่เเล้ว ไม่ตกใจกลัวเวลาเจอรถบนถนน

เเต่ทักษะที่ใช้ในการขับรถก็คนละเเบบ

ทักษะ ดำน้ำ กับว่ายน้ำ เเตกต่างกัน ว่ายน้ำเก่งไม่ได้เเปลว่าจะดำน้ำฟรีไดฟ์ได้เก่ง เเต่คนที่ว่ายน้ำเป็นจะคุ้นเคยกับการลงน้ำมากกว่าทำให้ไม่กลัว

สนใจเรียนฟรีไดฟ์ใครเคยเรียนรบกวนแชร์ประสบการณ์

ตอนนี้ในไทยก็มีสอน ฟรีไดฟ์หลายๆที่ ทั้งในกรุงเทพฯ กับตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะเต่า เกาะช้าง การไป เรียนตามเกาะมีข้อดีคือ อยู่ใกล้ทะเล เรียนทฤษฎีเสร็จก็ออกทะเลได้เลย ไปทะเลทุกวัน แต่ข้อเสียก็มี คืออยู่ไกลบ้าน ถ้าเกิดสอบไม่ผ่านต้องกลับมาสอบที่เกาะอีก ส่วนเรียนในกรุงเทพฯก็มีข้อดี คืออยู่ใกล้ ไปซ้อม ฟรีไดฟ์ กับครูหรือเพื่อนๆที่เรียนด้วยกันได้บ่อยๆ แต่จะเว้นช่วงก่อนไปสอบจริงที่ทะเล บางคนก็ลืมที่เคยเรียนไปแล้ว และไม่ค่อยได้ออกไปทะเลบ่อยๆ สมัยก่อนจะมีแต่ครูฝรั่งทำให้บางทีมีอุปสรรคทางภาษา แต่เดี๋ยวนี้ก็มีครูคนไทยสอนฟรีไดฟ์กันมากขึ้น

เวลาดำฟรีไดฟ์เคลียร์หูกันอย่างไร

การเคลียร์หูหลักๆของฟรีไดฟ์มี 2 วิธี คือแบบ valsava maneuver เหมือนกับ Scuba คือปิดจมูกแล้วเป่าให้ลมออกหู กับอีกวิธีคือ frenzel maneuver วิธีนี้เป็นวิธีที่แนะนำให้ฝึกสำหรับฟรีไดฟ์วิธีการคือ ใช้โคนลิ้นอัดอากาศเข้าไปในหูชั้นกลาง แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนถึงจะชำนาญ อุปสรรคสำคัญเวลาเคลียร์หูของคนฝึกฟรีไดฟ์คือ ท่อยูสเตเชียนปิดเลยเคลียร์หูไม่ได้ แต่ถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องก็จะสามารถทำได้ในที่สุด

อยากเรียนดำน้ำระหว่าง Scuba กับ Free dive ช่วยชี้แนะด้วยครับ

โดยรวมๆ ฟรีไดฟ์จะต่างกับ Scuba ตรงที่ Scuba เป็นการเรียนดำน้ำโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ถ้าสามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง โอกาสที่จะสอบตกมีน้อยกว่า แต่อุปกรณ์หลักของ ฟรีไดฟ์ คือร่างกายของผู้เรียนเอง คนส่วนมากจะเจอปัญหาเคลียร์หูไม่ได้ เพราะเวลาสอบ ฟรีไดฟ์ต้องเอาหัวลงพื้นแล้วเคลียร์หู ซึ่งจะยากกว่าดำแบบ Scuba ก่อนไปเรียนควรไปลองฝึกร่วมกับคนที่เคยเรียนมาแล้ว จะช่วยให้ไม่ตื่นเต้นเวลาสอบ เกี่ยวกับฟรีไดฟ์

สอบถาม อยากเริ่มต้นฝึก Free dive หรือ Snorkeling

ฝึก snorkeling เริ่มต้นจากหา อุปกรณ์ฝึก 3 อย่างคือ mask snorkel fins เอาแบบไม่ต้องแพงมาก ลองฝึกลอยตัวหายใจผ่านท่อ snorkel กลั้นหายใจแล้วมุดน้ำดู พอโผล่พ้นน้ำก็เคลียร์ท่อ snorkel ส่วนฝึกฟรีไดฟ์ต้องหาครูหรือเพื่อนที่เคยเรียนมาแล้วให้คอยดูเวลาเราซ้อมกลั้นหายใจหรือดำน้ำลงไปลึกๆ เพราะดำฟรีไดฟ์มีความเสี่ยงพอสมควรนอกจากต้องมีคนคอยช่วยแล้ว คนที่ช่วยต้องเรียนรู้ฝึกฝนวิธีที่ถูกต้องมาพอสมควร

ทำยังไงถึงกลั้นหายใจในน้ำได้นานๆ

เริ่มต้นจากเรียนรู้วิธีการหายใจที่ถูกต้อง และธรรมชาติของร่างกายในขณะที่กลั้นหายใจ หลังจากนั้นก็ให้ฝึกซ้อมเพื่อจะได้เกิดความเคยชินของจิตใจ พอฝึกบ่อยๆก็จะเริ่มกลั้นหายใจได้นานมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครมีเทคนิคในการดำน้ำไหมครับ

ปกติร่างกายจะลอยน้ำทำให้ดำน้ำลงไปลึกๆได้ยาก เทคนิคที่ทำให้ดำลงไปลึกๆได้ง่าย คือฝึก duck dive เป็นการทำให้ตัวตั้งฉากกับพื้นโลกแล้วเอาหัวมุดน้ำลงไปจะทำให้แรงดึงดูดของโลกดึงลงไปใต้น้ำได้ง่าย และไวมากขึ้น

คนที่ฝึกฟรีไดฟ์กลั้นหายใจได้นานที่สุดเท่าไหร่?

สถิติคนที่กลั้นหายใจได้นานที่สุดตอนนี้คือ Aleix Segura Vendrell กลั้นหายใจได้ 24 นาที 3.45 วินาที แต่เวลาหายใจโดยใช้ออกซิเจน 100 %

สถิติแต่ละแบบของกีฬาฟรีไดฟ์?

กีฬาฟรีไดฟ์วิ่ง แบ่งสถิติการดำน้ำ (ชาย, หญิง) เป็นประเภทต่างๆ ได้แก่

  • STA (Static apnea) | Stéphane MIFSUD – 11:35 min, Natalia MOLCHANOVA – 9:02 min
  • DYN (Dynamic with fins) | Mateusz MALINA – 300 m, Giorgos PANAGIOTAKIS – 300 m , Magdalena SOLICH-TALANDA – 243 m
  • DNF (Dynamic without fins) | Mateusz MALINA – 244 m, Magdalena SOLICH-TALANDA – 191 m
  • CWT (Constant weight) | Alexey MOLCHANOV – 130 m, Alessia ZECCHINI – 107 m
  • CNF (Constant weight no fins) | William TRUBRIDGE – 102 m , Alessia ZECCHINI – 73 m
  • FIM (Free immersion) | Alexey MOLCHANOV – 125 m, Sayuri KINOSHITA – 93 m
  • VWT(Variable weight) | Stavros KASTRINAKIS – 146 m, Nanja VAN DEN BROEK – 130 m
  • NLT(No limit) | Herbert NITSCH – 214 m, Tanya STREETER – 160 m

ฝึกฟรีไดฟ์เป็นอันตรายหรือเปล่า?

กีฬาทุกประเภท หากเรียนรู้และฝึกฝน มาแบบผิดๆย่อมก่ออันตรายได้ทั้งสิ้น โดยปกติฟรีไดฟ์มักฝึกกันในทะเล อันตรายมีหลายแบบ ทั้งจากสภาวะแวดล้อมและความประมาท ดังนั้น กฏพื้นฐานของฟรีไดฟ์ คือ never dive alone ห้ามดำน้ำคนเดียวต้องมีเพื่อนที่ผ่านการฝึกฟรีไดฟ์มาแล้วคอยดู คอยช่วยเหลือในยามฉุกเฉินตลอด

อยากฝึก ฟรีไดฟ์ ต้องทำอย่างไร?

ถ้าหากพึ่งเริ่มสนใจ ให้ลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดูก่อน หาข้อมูลต่างๆ เช่น ดูวิดีโอ หรืออ่านบทความ เพื่อจะได้มีความรู้พื้นฐาน หลังจากนั้นลองหาที่เรียน เพราะการเรียนจะทำให้เราได้ความรู้ครบถ้วนมากกว่า ได้ฝึกฝนทักษะอย่างถูกต้องและวิธีช่วยเพื่อนที่ดำน้ำกับเราให้ปลอดภัยจากคนที่ชำนาญแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรเรียนที่เดินทางไปฝึกซ้อมได้สะดวก เพราะหลังจากเรียนแล้ว การฝึกซ้อมเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็น เดี๋ยวนี้ ฟรีไดฟ์ เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ วันเสาร์ อาทิตย์มีกลุ่มฝึกซ้อมที่สระว่ายน้ำธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อเราเรียนจบมีความรู้แล้วก็สามารถไปเข้าร่วมกลุ่มฝึกซ้อมกับคนที่เรียนมาระดับเดียวกันได้