14 ข้อควรระวังที่คน เรียน Freedive ต้องรู้

การเรียนฟรีไดฟ์ จะทำให้เราเป็นอิสระมากกว่าที่เคย เมื่ออยู่ในทะเล ได้รู้สึกสนุกกับการไปเที่ยวทะเลสามารถดำลงไปชมความสวยงามใต้ท้องทะเลด้วยตัวเอง แต่ก็มีข้อควรระวัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ

1.ห้ามหายใจแบบ hyperventilation

Hyperventilation เป็นการหายใจที่มากเกินกว่าการหายใจแบบปกติตามธรรมชาติ ทำให้ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดลงต่ำเกินไป ซึ่งทำให้เวลาเราดำฟรีไดฟ์ไม่รู้ตัวว่าออกซิเจนกำลังจะหมดแล้ว ทำให้เกิดการหมดสติใต้น้ำ นอกจากการหายใจแบบ hyperventilation จะไม่ช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ยังไปขัดขวาง mammalian dive reflex ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าจะเป็นประโยชน์

แค่หายใจมากกว่าปกติเพียง 6 – 7 ครั้งก็อาจทำให้เกิดอาการ hyperventilation ได้ ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้ได้ถึงความผิดปกติ เช่น มือชา เท้าชา รู้สึกมึนๆนิดๆ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรงดดำน้ำสัก 3 – 4 นาทีเพื่อรอให้ร่างกายกลับสู่สภาวะปกติ ก่อนดำน้ำใหม่อีกครั้ง

2.อย่าดำน้ำคนเดียว ต้องมีเพื่อนที่ช่วยเราได้ never freedive alone

อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอในขณะฟรีไดฟ์ คือ หมดสติขณะดำน้ำ วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันก่อนที่เรื่องจะเกิด นักดำน้ำต้องรู้จักขีดจำกัดและธรรมชาติ ของร่างกายตนเอง โดยปกติการหมดสติขณะดำน้ำ ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง จนถึงแก่ชีวิต มันเป็นกลไกตามธรรมชาติ ที่ช่วยไม่ให้เราจมน้ำ สามารถแก้ไขอาการได้อย่างง่ายๆ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ไม่ควรดำน้ำคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ผ่านการเรียนฟรีไดฟ์ ไปดำน้ำกับเราด้วยเสมอเพื่อความปลอดภัย

3.ถ้าจะให้ดี ควรเอาบุย (buoy) ไปด้วย

เรือที่ผ่านไปมาในทะเล มองเห็นคนในทะเลได้ยากเนื่องจากสภาพแวดล้อมในทะเลแตกต่างจากบนบก ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงเวลาดำฟรีไดฟ์ ยิ่งเราดำขึ้นลงระหว่างผิวน้ำกับใต้น้ำ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าปกติเพราะตอนเราอยู่ใต้น้ำไม่มีอะไร เป็นที่สังเกตได้

ดังนั้นหากเราต้องไป ฟรีไดฟ์ควรนำบุยไปด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าบริเวณนี้มีคนกำลังดำน้ำอยู่ทำให้เรือที่ผ่านไปมาจะสังเกตได้ และระวังมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่พักหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

4.อย่าคาบท่อ snorkel ไว้ในปากเวลาฟรีไดฟ์

การคาบ snorkel ไว้ในปากอาจน้ำให้เราหายใจได้สะดวกตอนลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่จะเป็นอุปสรรคเวลาดำน้ำเนื่องจากทำให้เคลียร์หูไม่สะดวก และเมื่อกลับสู่ผิวน้ำแล้วยังเป็นอุปสรรคต่อการทำ Recovery breath เนื่องจากต้องใช้แรงเป่าเคลียร์น้ำในท่อ snorkel ออกไป และหายใจเอาอากาศเข้ามาใหม่ต้องใช้แรงมากกว่าปกติ นอกจากนี้หากหมดสติใต้น้ำ ก็อาจทำให้น้ำไหลเข้าปากได้

เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือของเพื่อน เพราะเวลาคนหมดสติปากมักจะปิดโดยอัตโนมัติ การเอาท่อ snorkel ออกจากปากก็จะทำได้ยาก ทำให้ recovery breath ไม่ได้

5.ห้าม เคลียร์หู (equalize) แรงๆ หรือฝืน equalize

การเคลียร์หูที่ถูกต้อง” จะต้องไม่ใช้ความพยายาม หรือแรงมากจนเกินไป ถ้าหากไม่มีอะไรไปกีดขวางการทำงานของท่อยูสเตเชียน อากาศจะสามารถผ่านเข้าไปในหูชั้นกลางได้ การเคลียร์หูแรงๆ อาจทำให้เยื่อแก้วหูได้รับบาดเจ็บ อาจถึงกับทะลุได้ หรือในกรณีที่ร้ายแรงหูชั้นในได้รับความเสียหาย ทำให้มีปัญหาในการได้ยิน

ดังนั้นถ้าหากดำน้ำลงไปแล้วพบความผิดปกติ ไม่สามารถเคลียร์หูได้ไม่ควรฝืนเป่าแรงๆ หรือลงลึกมากขึ้นเพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถสนุกกับการดำน้ำ ได้อีกหลายสัปดาห์

6.หลังจากดำน้ำแล้วให้พักบนผิวน้ำ ก่อนดำลงไปใหม่

หลังจากดำน้ำแล้วควรพักลอยตัวอยู่บนผิวน้ำนาน 2 เท่าของเวลาที่เราดำน้ำ หรือในกรณีที่ดำลงไปลึกๆ ก็ควรเพิ่มเวลาเป็น 3 เท่า จะช่วยให้ก๊าซต่างๆที่ละลายอยู่ในเลือดและอวัยวะในร่างกายเนื่องจากแรงดันใต้น้ำ ได้ออกมาทางลมหายใจ เพื่อป้องกันอาการ decompression sickness (DCS) ที่อาจเกิดขึ้นได้

7.อย่าใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนักมากเกินไป

อาการหมดสติ มักเกิดขึ้นเมื่อเราดำน้ำแล้วกำลังกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ (shallow water blackout) ดังนั้นหากเราถ่วงตะกั่วมากเกินไป ก็จะทำให้เราออกแรงมากขึ้นเมื่อว่ายกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ และหากหมดสติเราก็จะจมลงใต้น้ำ การถ่วงตะกั่วที่ดี ควรใช้น้ำหนักที่ทำให้เกิด neutral buoyancy ที่ 10 – 12 เมตร เพื่อช่วยให้ง่ายและประหยัดแรงเวลากลับขึ้นสู่ผิวน้ำ

8.ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ

เมื่อเราดำน้ำ ร่างกายจะเจอกับอุณหภูมิที่ลดลง และ จาก mammalian dive reflex ร่างกายจึงขับน้ำออกมาทางปัสสาวะทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงที่จะมีอาการขาดน้ำ เมื่อร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นมากเกินไป อาจทำให้หมดสติได้ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำเป็นระยะๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป

9.ไม่ควรฟรีไดฟ์ตอนท้องว่า หรือกินอิ่มมากเกินไป

ฟรีไดฟ์เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ในขณะดำน้ำร่างกายต้องเผาผลาญพลังงาน โดยเฉพาะเมื่อเราต้องไปฟรีไดฟ์ เป็นเวลานานๆควรทานอาหารที่ให้พลังงานจำพวก คาร์โบไฮเดรตไปบ้าง แต่ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารดึงเอาเลือดไปใช้ในกระบวนการย่อยมากเกิน จะทำให้ร่างกายมีออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือจุกในขณะดำน้ำได้

10.ควร warm up dive ก่อนทุกครั้ง

ในกีฬาเกือบทุกประเภท จะต้องมีการ warm up ก่อนเสมอ จุดประสงค์ก็เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเคลื่อนไหว ในส่วนของฟรีไดฟ์ ก็เช่นเดียวกันการ warm up dive ก่อนสักสองครั้งจะช่วยให้ร่างกายเกิดการปรับตัวและ กระตุ้น mammalian dive reflex ให้ทำงานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราดำน้ำได้ดีมากขึ้น และป้องกันการบาดเจ็บเนื่องจากแรงดันใต้น้ำด้วย

11.สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง

ถ้าหากคุณรู้สึกว่าเหนื่อยเกินไป มีอาการอ่อนล้า เป็นตะคริวหรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น เจ็บไซนัส หมดสติ ควรที่จะหยุดพักการดำน้ำวันนั้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้ระวัง ถ้าหากฝืนมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้

12.ทำตามข้อแนะนำในเวลา เรียนฟรีไดฟ์

ในการเรียนฟรีไดฟ์ คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติในขณะฝึกฟรีไดฟ์หรือในขณะดำน้ำเล่น สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกนิสัยให้เกิดความเคยชินเพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะดำน้ำ เช่น การดู buddy ห้ามลอดใต้ท้องเรือขณะดำน้ำ ครูผู้สอนมักแนะนำจากประสบการณ์ดำฟรีไดฟ์มานาน คำแนะนำไม่ได้มีเพื่อป้องกันคุณจากความสนุกของการดำน้ำ แต่เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น

13.รักษาธรรมชาติในทะเล และ ข้อบังคับของอุทยานแห่งชาติ

ในการไปเที่ยว ไปดำฟรีไดฟ์ แต่ละท้องถิ่นย่อมมีค่านิยม ความเชื่อที่แตกต่างกัน การไม่ไปทำลาย หรือ ละเมิดกฎข้อบังคับของท้องที่นั้นๆ เป็นสิ่งที่ผู้ไปเยือนควรปฏิบัติตาม และเป็นการอนุรักษ์ ธรรมชาติดีๆ ให้เหลือไว้เพื่อสามารถไปเยี่ยมชมกันได้นานๆ

14.เตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน

อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีใครคาดคิด และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเพื่อนโดนแมงกระพรุนไฟ หรือหมดสติ ดังนั้น การไปเที่ยวทะเล หรือฝึกฟรีไดฟ์ ควรมีแผนรับมือเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นเราจะสามารถตั้งสติรับมือได้อย่างรวดเร็ว