ด้วยความที่เป็นสินค้าที่มีราคาเริ่มต้นไม่สูงนัก แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ติดกับเนื้อตัวเราโดยตรง นักดำน้ำที่เริ่มดำน้ำจริงจังแล้วส่วนใหญ่จึงมักจะหาซื้อเว็ทสูทดำน้ำไว้เป็นของส่วนตัวมากกว่าจะเช่าจากร้านดำน้ำ บางคนก็มีเป็นของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นเรียนดำน้ำกันเลยทีเดียว
มาดูกันดีกว่าว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อเว็ทสูทตัวแรกของเรา
1. เริ่มจาก อุณหภูมิน้ำ และความขี้หนาวขี้ร้อนของเรา
ลองดูว่า ปกติเราน่าจะไปดำน้ำแถบไหนบ้าง แล้วน้ำทะเลแถวนั้นมีอุณหภูมิประมาณเท่าไหร่ อย่างในบ้านเราน้ำทะเลมีอุณหภูมิระหว่าง 28-30 °c บางปีร้อนหน่อยก็ถึง 31 °c แต่น้อยปีที่จะมีน้ำเย็นเข้ามาจนทำให้ลดต่ำกว่า 27 °c มาก
สำหรับอุณหภูมิน้ำระดับนี้ คนที่ไม่ขี้หนาวอาจใช้เว็ทสูทความหนาประมาณ 1-1.5 ม.ม. (ซึ่งมักจะเรียกว่า skin suit ให้รู้กันไปเลยว่า บางจริงๆ นะ) ก็ได้ หรือคนที่ขี้ร้อนอาจใช้แค่ rashguard ก็เพียงพอ (ชาวเมืองประเทศหนาว มาดำน้ำบ้านเรา ใส่แค่ชุดว่ายน้ำหรือชุดบิกินี่ก็แฮปปี้แล้ว)
นอกจากนี้ บางคนที่ไม่ขี้หนาวอาจเลือกใช้เว็ทสูทแบบแขนสั้นขาสั้น แทนเว็ทสูทแบบเต็มตัว ก็ได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้ความอบอุ่นบริเวณท้องและหน้าอกซึ่งเป็นส่วนแกนกลางของลำตัว มีอวัยวะภายในหลายอย่างที่ไม่ควรให้สูญเสียความร้อนไป
แต่สำหรับคนไทยทั่วไป เว็ทสูทความหนา 2-3 ม.ม. เป็นขนาดมาตรฐานที่เหมาะกับการดำน้ำในอุณหภูมิระดับนี้ และบางคนที่ขี้หนาวมาก อาจใช้เว็ทสูทแบบผสม 3/5 (หรือ 5/3 คือเพิ่มความหนาช่วงท้องและอกเป็น 5 ม.ม.) เลยก็ได้ รวมถึงคนขี้ร้อนก็อาจใช้แบบ 2/3 (หรือ 3/2 แล้วแต่จะเรียก)
ต่อจากนั้น ถ้าเห็นว่าเราน่าจะไปดำน้ำที่น้ำเย็นกว่านี้ เช่น แถบบาหลี หรือ ฟิลิปปินส์ ที่อุณหภูมิน้ำอยู่ระหว่าง 25-28 °c เพิ่มความหนาเว็ทสูทเข้าไปอีก 2-3 ม.ม. จากที่เล่าไปข้างต้นนี้ ก็จะเหมาะสมกับการใช้งานได้พอดี
2. เลือกคุณสมบัติวัสดุ และวิธีการตัดเย็บ
แม้เว็ทสูทจะทำจากนีโอพรีนเป็นหลักเหมือนๆ กัน แต่เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ทำเว็ทสูทเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง ทำให้ได้เว็ทสูทนีโอพรีนที่ดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน จะขอยกมาเล่าไว้ 2-3 อย่างที่สำคัญๆ ก่อน แล้วไว้ถ้ามีเวลาจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มอีก
หมายเหตุ แผ่นยางนีโอพรีนมีความยืดหยุ่นดี แต่ก็มีโอกาสฉีกขาดได้หากถูกดึงแรงๆ จึงมีการปิดผิว 2 ด้านด้วยผ้าชนิดต่างๆ ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ผ้านีโอพรีน” เพื่อหมายถึงแผ่นยางนีโอพรีนที่ปิดผิวด้วยผ้าแล้ว
ความหนาแน่นของเนื้อนีโอพรีน – แน่นกว่า ทนทานกว่า
จากข้อแรก เราเลือกเว็ทสูทโดยดูความหนาของนีโอพรีนเป็นหลัก แต่นีโอพรีนหนาเท่ากัน อาจมีความหนาแน่นของเนื้อยางไม่เท่ากันก็ได้ และสำหรับเว็ทสูทดำน้ำลึกซึ่งใช้งานภายใต้ความกดดันมากกว่าปกตินั้น เมื่อใช้ไปนานๆ เนื้อนีโอพรีนก็จะยุบตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับบางลงเรื่อยๆ นั่นเอง และความสามารถในการป้องกันการสูญเสียความร้อนก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นความหนาแน่นของนีโอพรีนที่ใช้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดอายุการใช้งานของเว็ทสูทด้วย
แต่โดยทั่วไป เราจะไม่ได้ทราบข้อมูลโดยละเอียดของเนื้อยางนีโอพรีนที่ใช้ทำเว็ทสูท จึงมักจะต้องเดาเอาเองจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์ น้ำหนัก และราคาของเว็ทสูทรุ่นนั้นๆ เพราะยิ่งใช้นีโอพรีนความหนาแน่นกว่า ก็จะมีน้ำหนักมากกว่า และมีต้นทุนสูงกว่าตามไปด้วย จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมเว็ทสูทคนละแบรนด์ ที่มีความหนาเท่ากัน มีฟีเจอร์พอๆ กัน อาจมีราคาต่างกันเป็นเท่าตัว และอายุการใช้งานก็ต่างกันมากด้วย
เส้นใย Spandex ช่วยให้เนื้อผ้ายืดหยุ่นขึ้น
ปกติเนื้อผ้าที่ใช้ซ้อนผิวทั้ง 2 ด้านของนีโอพรีน มักจะเป็นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ธรรมดา แต่บางรุ่นอาจผสมเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex, Lycra หรือ Elastane คือชื่อของวัสดุชนิดเดียวกัน) เข้าไปด้วย ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นดีขึ้นมาก สวมใส่ง่ายขึ้น ขยับตัวใต้น้ำก็ง่ายขึ้นด้วย เป็นคุณสมบัติเพิ่มเติมที่เราอาจเลือกได้
ผ้านีโอพรีนผิวเรียบ (Smooth Skin) กันน้ำและกันลม
ผ้านีโอพรีนอีกแบบหนึ่งที่ให้ความอบอุ่นได้ดีกว่า พร้อมทั้งลดการต้านน้ำด้วย ก็คือ ผ้าแบบ smooth skin ซึ่งจะปิดผิวผ้าด้านเดียว (single-lining) คือด้านในที่ติดกับร่างกายของเรา อาจเป็นผ้าธรรมดา, ผ้าผสมสแปนเด็กซ์ หรือผ้าเจอร์ซีย์ก็ได้ ส่วนด้านนอกจะใช้ความร้อนและกระบวนการต่างๆ ปิดรูพรุนของยางนีโอพรีนหรือปรับปรุงผิวให้เรียบลื่น ทำให้มีคุณสมบัติกันน้ำ (waterproof) และกันลม (chillproof) ช่วยลดการสูญเสียความร้อนทั้งใต้น้ำและบนเรือได้มากขึ้น (แต่น้ำยังคงเข้าไปในเว็ทสูทจากทางคอและแขนขาได้)
ผ้านีโอพรีนแบบนี้ มีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น
- mesh มีผิวเรียบ แต่ออกด้านๆ (matte) ไม่ลื่นหรือมันวาว ให้ผิวสัมผัสเนื้อยางสากๆ อยู่บ้าง ทำให้ยึดเกาะได้ดี ลวดลายที่อยู่บนผิวแบบนี้ อาจมีหลายแบบแล้วแต่แบรนด์จะเลือกผลิตออกมา แต่ลายเหล่านี้ไม่ใช่เส้นใย เป็นเพียงการกดประทับให้เป็นรอยบนผิวยางเท่านั้น
- smooth skin และ glide skin ผิวเรียบ เป็นมันวาว ลื่นกว่าแบบ mesh และผลิตได้หลายระดับความลื่น มันวาว ที่แบรนด์ต้องการ
อาจใช้ตัดเย็บเว็ทสูททั้งตัว หรือใช้เฉพาะส่วนที่ต้องการเพิ่มความอบอุ่นมากหน่อย เช่นแผ่นอกและแผ่นหลัง ดังที่เห็นในเว็ทสูทบางรุ่น
ผิวยางนีโอพรีนด้านที่มีการใช้กระบวนการปิดรูพรุน จะเรียกว่า closed cell ส่วนด้านที่ไม่ผ่านกระบวนการใดๆ และไม่มีการปิดผิวด้วยผ้า จะเรียกว่า open cell ซึ่งก็คือผิวยางนีโอพรีนดั้งเดิมที่มีรูพรุนเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นผิวนั่นเอง
นอกจากผ้านีโอพรีนแบบ single-lining แล้ว ยังมีรุ่นที่เป็น no-lining คือไม่ปิดผิวด้วยผ้าเลย แต่อาจทำให้ผิวด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ด้านเป็นผิวแบบ smooth skin (คือเป็น closed cell + open cell หรือเป็น closed cell ทั้ง 2 ด้าน) ซึ่งนีโอพรีนแบบ no-lining นี้มีโอกาสจะฉีกขาดได้ง่ายหากดึงแรงมากๆ หรือจิกนิ้วหรือเล็บลงไปในเนื้อยางแรงเกินไป จึงต้องสวมใส่หรือถอดเว็ทสูทอย่างระมัดระวัง
เส้นใยผสมชนิดใหม่เพิ่มความอบอุ่น และสวมใส่ง่าย สบายขึ้น
เส้นใยโลหะ โดยเฉพาะไทเทเนียม (Titanium) มีคุณสมบัติในการเก็บความร้อนไว้ในตัวเองได้ (เหมือนที่เราเห็นการใช้อะลูมิเนียมฟอยล์ในการเป็นผ้าห่มฉุกเฉิน ช่วยผู้ประสบภัย ลดการสูญเสียความร้อนในกรณีต่างๆ) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บความร้อนให้กับเว็ทสูทมากขึ้นที่ความหนาเนื้อผ้าเท่ากัน (ข้อมูลจากผู้ผลิตบางแห่งบอกว่า อุ่นขึ้นประมาณ 25% เทียบกับเว็ทสูทพื้นฐาน) หรือทำให้ได้เว็ทสูทที่บางลงแต่เก็บความร้อนได้พอๆ กับเว็ทสูททั่วไปที่หนากว่า และเว็ทสูทที่บางกว่า ก็ยืดหยุ่นกว่า ทำให้เราขยับแข้งขาได้ง่ายขึ้นมากเลย
ผ้าฟลีซ (Fleece) และเจอซีย์ (Jersey) เป็นเนื้อผ้าซ้อนผิวด้านในของเว็ทสูทที่ช่วยเพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ใกล้กับร่างกาย และยังช่วยให้สวมใส่ง่ายขึ้น รู้สึกนุ่มสบายมากขึ้นด้วย โดยเนื้อผ้า 2 ชนิดนี้มีคุณสมบัติแตกต่างกันคือ ผ้าฟลีซจะมีใยผ้าหนานุ่มกว่า เก็บความร้อนได้ดีกว่าผ้าเจอร์ซีย์ แต่ผ้าเจอร์ซีย์มีน้ำหนักเบากว่า อายุการใช้งานมักจะยาวนานกว่า และปลายเส้นใยไม่ขมวดเป็นปมได้ง่ายเหมือนผ้าฟลีซ รวมทั้งแห้งเร็วกว่า และสามารถใส่สารเพิ่มคุณสมบัติอื่นเช่น ป้องกันแบคทีเรีย ป้องกันการเกิดกลิ่นอับ ได้ด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีอาจผสมเส้นใยไทเทเนียมลงในผ้าเจอร์ซีย์เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการกักเก็บความร้อนได้อีกด้วย
รอยต่อและตะเข็บที่เย็บอย่างแน่นหนา ใช้งานได้ยาวนานกว่า
วิธีการเชื่อมต่อชิ้นผ้านีโอพรีนเข้าด้วยกันเป็นชุดเว็ทสูท ทำได้ทั้งแบบเชื่อมด้วยกาวอย่างเดียว (welding: เป็นกาวที่ต้องให้ความร้อนด้วย) หรือใช้กาวแล้วเย็บด้วยด้ายซ้ำอีกที ซึ่งตะเข็บการเย็บก็มีอย่างน้อย 3 แบบ ให้ความคงทนและความสบายตัวแตกต่างกันไป
- Overlock เป็นตะเข็บที่เย็บง่ายที่สุด แต่มีข้อเสียคือ น้ำรั่วไหลเข้าออกผ่านตะเข็บได้ง่าย และเนื้อเว็ทสูทตามแนวตะเข็บจะขาดความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังมักจะขีดข่วนร่างกายของผู้สวมใส่ ทำให้ไม่ค่อยสบายตัว ไปจนถึงสร้างรอยแผลบนผิวหนังได้
- Flatlock ใช้วิธีการเฉือนเนื้อนีโอพรีน 2 ชิ้นให้มีหน้าสัมผัสเอียงรับกัน แล้วเย็บทับเชื่อมเข้าด้วยกัน ทำให้ไม่มีรอยนูนทั้งด้านในและด้านนอก นิยมใช้กับเว็ทสูทหน้าร้อน หรือที่ไม่ต้องการรักษาความอบอุ่นมากนัก เพราะรูจากรอยเย็บยังคงทำให้น้ำรั่วเข้าออกได้ รวมถึงช่วยระบายความร้อนได้เมื่อไม่ได้อยู่ในน้ำ
- Blindstitch (หรือ Glued and Blindstitch: GBS) ใช้วิธีเชื่อมด้วยกาวก่อน แล้วจึงเย็บลงไปลึกเพียงไม่เกินความหนาของนีโอพรีน ทำให้ไม่มีรอยตะเข็บที่ด้านนอกของเว็ทสูท จึงไม่มีน้ำรั่วเข้าออกได้ (watertight ไม่ใช่ waterproof) รอยตะเข็บแน่นหนาด้วยการเชื่อมทั้งกาวและด้าย และอาจเสริมด้วยเทปกาวปิดรอยตะเข็บ (Melco tape) ให้เรียบสบายผิว หรือเชื่อมด้านนอกด้วย Liquid seam ก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในเว็ทสูทส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ บางรุ่นอาจมีการเสริมจุดเชื่อมต่อที่เป็นแบบ 3 ชิ้นมาชนมุมกัน โดยใช้ผ้าเทปกลมๆ เล็กๆ มาเชื่อมปะ เพื่อเพิ่มการรับแรงดึงจากหลายทิศทางด้วย (เรียกว่า Melco dot หรือ spot tape)
เว็ทสูทที่มีขั้นตอนการเชื่อมต่อมาก มีตะเข็บที่แน่นหนา ก็ยิ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ราคาของเว็ทสูทแพงกว่ารุ่นหรือแบรนด์ทั่วไป แต่ก็ให้ผลเป็นความแน่นหนา ทนทาน มีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันตามไปด้วย
รูปแบบการตัดเนื้อผ้า ช่วยให้เข้ารูปมากขึ้น
การตัดเนื้อผ้านีโอพรีนให้เข้ารูปร่างของมนุษย์อย่างพวกเรา อาจทำได้หลายแบบ และถ้าจะให้เข้ารูปมากที่สุด ก็มักจะต้องตัดเป็นหลายชิ้นมาเย็บต่อกัน ซึ่งยิ่งเข้ารูปมาก ก็จะทำให้ขยับตัวได้ง่ายมากขึ้น รู้สึกสบายตัวมากขึ้น และมีพื้นที่ให้น้ำไหลไปมาได้น้อยลง ลดการสูญเสียความร้อนได้มากขึ้นด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็แลกมาด้วยขั้นตอนการออกแบบที่สูงขึ้น ใช้เนื้อผ้ามากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ตามมาด้วยราคาที่แพงกว่ารุ่นที่มีรูปตัดของวัสดุน้อยชิ้นกว่า นั่นเอง
3. เลือกฟีเจอร์และฟังก์ชั่นอื่นๆ
นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานคือความหนาของเว็ทสูท (ซึ่งเท่ากับความหนาของเนื้อนีโอพรีน + ผิวผ้าทั้ง 2 หน้า) แล้ว ยังมีฟีเจอร์เสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวกขึ้น หรือมีความอบอุ่นมากขึ้นได้ด้วย
เพิ่มซิปที่ข้อมือข้อเท้า
การมีซิปที่ข้อมือและข้อเท้าเพิ่มขึ้นมาจะช่วยให้การสวมใส่ทำได้ง่ายขึ้นมาก แม้อาจจะลดความแนบสนิทที่ปลายแขนและขาลงไป ทำให้อาจมีน้ำผ่านเข้าออกได้ง่ายขึ้นเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่นักดำน้ำบางคนชอบมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อมือข้อเท้าใหญ่หน่อย
และการมีซิปเพิ่มขึ้นถึง 4 จุดนี้ ก็ทำให้ราคาของเว็ทสูทแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกพอสมควรด้วย ต้องลองพิจารณากันเองว่าคุ้มค่ากับความสะดวกในการถอดใส่ที่เพิ่มขึ้นมั้ย แล้วแต่ใครชอบแบบไหน เลือกกันได้เลย
เพิ่มขอบนีโอพรีนที่รอบคอ ข้อมือ และข้อเท้า
เว็ทสูทรุ่นพื้นฐานทั่วไปจะไม่มีการเก็บขอบที่คอหรือปลายแขนขา ทำให้เกิดช่องให้น้ำไหลผ่านเข้าออกได้ง่าย หรือหากขนาดข้อมือข้อเท้าของเราเล็กกว่าของเว็ทสูทมาก จึงมีการปรับปรุงให้มีแผ่นนีโอพรีนที่สามารถแนบสนิทและยึดเกาะกับผิวหนังของเรา รอบๆ บริเวณเหล่านี้ด้วย ช่วยลดการไหลของน้ำเข้าออกจากเว็ทสูทได้มากขึ้น
ข้อควรระวังในการเลือกซื้อเว็ทสูทแบบนี้ คือ หากรัดข้อมือหรือข้อเท้ามากเกินไป อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และเกิดอาการชามือและเท้าได้ (ส่วนที่คอ มักจะไม่มีปัญหานี้ เพราะจะมีแถบให้ปรับระยะของขนาดรอบคอได้พอสมควร มีแต่ต้องระวังตัวเองอย่าปรับระยะแถบรัดจนแน่นเกินไป)
เว็ทสูทแยกชิ้น ท่อนบน ท่อนล่าง
สมัยนี้มีเว็ทสูทแยกชิ้นเป็น 2 ท่อน บนกับล่าง แบบเดียวเสื้อกับกางเกงที่เราใส่ในชีวิตประจำวัน ให้เลือกใช้ด้วย โดยมีข้อดีคือ ถอดใส่ง่ายเหมือนใส่เสื้อผ้าทั่วไป แต่มีจุดอ่อนสำคัญคือ เพิ่มพื้นที่ให้น้ำไหลเข้าออกได้มากขึ้นตรงรอบเอวของเรานั่นเอง เว็ทสูทแบบนี้จึงมักจะต้องทำให้ขอบเอวทั้งท่อนบนและท่อนล่างแน่นกระชับกับร่างกายเราให้มากที่สุด และมักจะออกแบบให้ชายของท่อนล่างยาวขึ้นมาเกือบถึงกลางท้อง เพื่อช่วยเพิ่มความแนบสนิทกับท่อนบน ลดการไหลของน้ำได้มากขึ้นนั่นเอง
สำหรับเว็ทสูทแบบนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกนิด คือ ท่อนบนของบางรุ่นจะเป็นแบบสวมหัว แต่บางรุ่นก็ทำเป็นซิปหน้า ซึ่งจะสวมใส่ได้ง่ายกว่าแบบสวมหัว แต่ก็มักจะแพงกว่าด้วย
4. เลือกขนาดที่พอดีตัวมากที่สุด
ขนาดเว็ทสูทที่พอดีตัว เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ฟีเจอร์และฟังก์ชั่นทั้งหมดของเว็ทสูท ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเว็ทสูทไม่พอดีหรือใกล้เคียงกับขนาดตัวเรา มีช่องว่างให้น้ำสะสมและไหลไปมาได้มาก ถ้าเพิ่มปัจจัยคือมีช่องให้น้ำไหลเข้าออกได้ง่ายอีกเพียงอย่างเดียว การใส่หรือไม่ใส่เว็ทสูทก็อาจจะไม่ต่างกันแล้ว
ขนาดเว็ทสูทที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่ ไซส์ S, M, L, XL เท่านั้น เพราะนอกจากไซส์แบบคร่าวๆ นี้อาจจะมีขนาดจริงต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์แล้ว แม้แต่เว็ทสูทที่บอกขนาดเป็นตัวเลขแบบยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งละเอียดขึ้นอีกระดับนึงแล้ว ก็ยังอาจมีสัดส่วนท่อนบน ท่อนล่าง ระยะความยาวหรือขนาดของรอบแขนรอบขา แตกต่างกันได้อีกมากด้วย หรือแม้เราจะเทียบขนาดร่างกาย กับ size chart เฉพาะของรุ่นที่สนใจแล้วก็ตาม ก็ยังไม่แน่ว่า ความยืดหยุ่นของวัสดุ จะทำให้เราอึดอัดหรือขยับตัวได้ยากแค่ไหนตอนใช้งานจริง
วิธีการพิจารณาเรื่องขนาดที่พอดีตัว ที่ดีที่สุด ก็คือ ต้องไปลองใส่เองนั่นแหละ
ถ้าจะไปเลือกซื้อ ลองใส่ เว็ทสูทเองจริงๆ ทั้งที ให้ได้ลองเว็ทสูทหลากหลายแบรนด์ หลายรุ่น หลายขนาด รวมถึงมีคนแนะนำที่มีความรู้และเชี่ยวชาญจริงๆ ในเรื่องนี้ด้วย ลองแวะมาที่ Scuba Outlet ดูได้ ร้านนี้อยู่ใกล้กับ BTS เพลินจิตเลย เดินทางสะดวกมาก แถมยังมีสินค้าหลากหลายชนิดให้เลือกด้วย มาที่เดียวมีของครบ เลือกได้จบจริงๆ
แหล่งข้อมูล
- ทำไมเราจึงใช้เว็ทสูท
- Wetsuit Lining – srface.com
- Wetsuit Buying Guide – kingofwatersports.com