ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Tax: VAT) นับเป็นเรื่องปวดหัวและปวดใจเรื่องต้นๆ ของหลายคนที่ทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังจะเติบโตจากระยะตั้งไข่ รายได้ไม่มาก เข้าสู่ระยะวัยรุ่นหรือระยะกลาง ที่รายได้เริ่มเพิ่มพูนงอกงาม กำลังจะก้าวข้ามเส้นรายได้ 1.8 ล้านต่อปี สู่การถูกบังคับให้ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีภาระต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนๆ
ส่วนใหญ่ที่พ่อค้าแม่ค้ารู้สึกกังวลหรือไม่ชอบ VAT กันก็เพราะว่า จากก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยต้องจ่ายภาษีอะไรเลย นอกจากภาษีรายได้ ณ ตอนสิ้นปี เหมือนคนทำงานกินเงินเดือนทั่วไปเท่านั้น กลายเป็นว่าต้องเสียภาษีอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา และยังต้องมีภาระนำส่งภาษีนี้ทุกเดือนด้วย ทำให้รู้สึกว่าต้องเหนื่อยมากขึ้น ถูกเรียกเก็บภาษีมากขึ้น และมีรายได้ในสัดส่วนที่ลดลง
แต่ถ้าเข้าใจหลักการและเหตุผลของระบบภาษีชนิดนี้ และกำหนดราคาซื้อขายได้สอดคล้องกับหลักการแล้วล่ะก็ เราอาจพบว่า ที่จริงเราไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นมากมายเลย และในหลายธุรกิจกลับกลายเป็นว่า ยอดภาษีหลายตัวรวมกันที่ธุรกิจต้องเสียกลับต่ำลงกว่าเดิมหรือได้จ่ายภาษีในจำนวนที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย ถ้าสงสัยว่าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ต้องมาลองทำความเข้าใจกันครับ (บอกไว้ก่อนว่า บทความนี้ไม่ได้สอนวิธีเลี่ยงภาษี หรือวางระบบภาษีให้เสียภาษีน้อยที่สุด แต่ให้ความเข้าใจถึงที่มาของภาษี เพื่อที่เราจะได้จ่ายภาษีได้อย่างสบายใจ และตรงตามยอดที่ควรจะเป็นจริงๆ)
คนที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ลูกค้าคนสุดท้าย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีในกลุ่มที่เรียกว่า ภาษีการบริโภค (consumption tax) ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบจ่ายภาษีจริงๆ คือผู้ที่บริโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ไม่ใช่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ใครบริโภคมาก ยิ่งต้องจ่ายมาก (งงมั้ยครับ นี่อาจเป็นมุมที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อนเลย)
เพียงแต่ขั้นตอนในการจัดเก็บและนำส่ง รัฐกำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ซื้อและนำส่งสรรพากร โดยที่เงินส่วนนั้นไม่ใช่ของผู้ขายสินค้าเลย ซึ่งนี่เป็นลักษณะของภาษีแบบทางอ้อม คือไม่ได้เก็บตรงที่คนรับภาระภาษีจริงๆ แต่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ เป็นผู้เรียกเก็บ
ถ้าลองสังเกตวิธีการคำนวณและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มดูจะพบว่า ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายนั่นเองที่ต้องจ่ายส่วนนี้เต็มๆ จากราคาสินค้าโดยไม่สามารถขอคืนจากใครได้ ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นห่วงโซ่ระหว่างกลางของเส้นทางการซื้อมาขายไป หากซื้ออะไรมาเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายก็จะขอคืนได้ (เกือบทั้งหมด) ดังนั้น ภาระภาษีส่วนนี้จึงไม่ตกอยู่กับธุรกิจหรือผู้ประกอบการแต่อย่างใด ถ้าเข้าใจวิธีตั้งราคาสินค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
เหตุผลและที่มาของภาษีมูลค่าเพิ่ม
หลักการก็คือว่า ภาษีทั้งหลายที่เราจ่ายให้รัฐบาลหรือส่วนกลางของประเทศไปนี้ ก็เพื่อนำไปก่อสร้าง พัฒนา และปรับปรุงดูแลสาธารณูปโภคใช้สอยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถนน ไฟทาง น้ำประปา ระบบขนส่ง รวมไปถึงระบบการจัดเก็บขยะ บำบัดน้ำเสีย/มลพิษ ต่างๆ นั้น ผู้ที่ใช้สอยสินค้าและบริการมาก ย่อมเป็นผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านั้นมากกว่า และก็ควรเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินรับผิดชอบต่อทรัพยากรตั้งต้นและการจัดการกับผลของการบริโภค มากตามไปด้วยนั่นเอง
ถ้าอยากให้ชัดเจนอีกนิดว่า มันต่างจากภาษีอื่นๆ อย่างไร ต้องลองนึกเทียบกับภาษีรายได้ (income tax) หรือภาษีเงินได้ ซึ่งเราทุกคนทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายให้รัฐกันทุกปี ดูครับ
ภาษีเงินได้ (Income Tax)
ภาษีรายได้จะคิดจากยอดรายรับเป็นหลัก อาจมีหักลบด้วยรายจ่ายได้บ้าง (สำหรับบุคคลทั่วไปหรือธุรกิจที่ไม่ได้ทำบัญชีชัดเจน จะถูกคิดแบบเหมาๆ ส่วนธุรกิจที่ทำบัญชีชัดเจนก็หักได้ครบตามจริง) เหลือเท่าไหร่ก็เป็นยอดเงินที่เอาไปคำนวณภาษี ซึ่งเท่ากับว่า ใครมีรายได้มาก ต้องจ่ายมากกว่า
สำหรับคนรายได้มากที่บริโภคน้อย ไม่มีขยะของเสียมาก ไม่ได้ออกไปไหนไม่ต้องใช้รถใช้ถนน อาจรู้สึกไม่สมเหตุผลที่จะต้องไปจ่ายมากเพื่อรับผิดชอบภาระที่ตัวเองไม่ได้สร้าง (แต่หลักการจ่ายภาษีตามรายได้นี้จะดูมีน้ำหนักเมื่อประเทศอยู่ในยุคก่อร่างสร้างเมือง ยังขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งใครมีมาก หาได้มาก ก็น่าจะมีน้ำใจช่วยจ่ายมากเพื่อส่วนรวม)
และถ้าอยากดูว่า มันเหมือนกับหรือดีกว่าภาษีการบริโภคแบบอื่นๆ อย่างไร ก็ต้องลองมารู้จักกับภาษีการขาย (sales tax) ซึ่งเป็นภาษีการบริโภคอีกชนิดหนึ่ง กันต่อครับ
ภาษีการขาย (Sales Tax)
ภาษีการขาย (sales tax) เป็นระบบภาษีที่คำนวณจากยอดขายของสินค้า (เหมือนกับ VAT) โดยผู้ขายที่ขายให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อขั้นสุดท้าย จะคิดภาษีนี้เพิ่มเข้าไปในรายการขายและมีหน้าที่นำเงินส่วนนั้นส่งหน่วยงานรัฐบาลต่อไป ส่วนการขายให้กับผู้ซื้อที่เป็นธุรกิจนำไปจำหน่ายต่อจะไม่มีการคิดภาษีนี้เพิ่มเข้าไป แต่ผู้ซื้อที่จะได้รับสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ ต้องเป็นผู้ที่ถือหนังสือตัวแทนขายต่อ (resale certificate) ที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐนั้นๆ มาแสดงกับผู้ขาย ซึ่งในทางปฏิบัติมีความไม่สะดวกหลายประการ เช่น ผู้ขายต้องเช็คว่า ครั้งใดต้องคิดภาษี ครั้งใดไม่ต้องคิด (ขึ้นกับว่าผู้ซื้อเป็นผู้บริโภคหรือไม่) และในการซื้อของธุรกิจก็ต้องแสดงหนังสือ resale certificate และเอกสารยืนยันว่าสินค้านั้นจะถูกนำไปขายต่อไม่ได้นำไปใช้เองด้วย จึงจะไม่ต้องคิดภาษี
ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของระบบภาษีการขาย โดยให้มีการคิดภาษีทุกรายการที่มีการซื้อขายเกิดขึ้น (ไม่ต้องรู้ว่าผู้ซื้อเป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ซื้อไปขายต่อ ไม่ต้องใช้ certificate หรือหนังสือยืนยันอะไร) แล้วให้ผู้ซื้อที่ทำธุรกิจหรือให้บริการต่อ สามารถขอคืนภาษีส่วนนี้ได้ โดยการนำยอดภาษีที่จ่ายตอนซื้อสินค้าไปหักออกจากภาษีที่ตัวเองเก็บจากลูกค้ามา ส่งสรรพากรเพียงแค่ส่วนต่าง ก็เท่ากับว่า ตนเองไม่ได้เสียภาษีอะไรในตอนซื้อสินค้าเลย และภาษีส่วนที่เก็บมาจากลูกค้า ก็ไม่ใช่เงินรายได้ของตนเองด้วย
นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับการประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2535 นั้น ก็ได้ยกเลิกระบบภาษีการค้าและภาษีอื่นๆ ที่ซ้ำซ้อนกันเองอยู่แล้วหลายตัว (สมัยนั้นมีภาษีการค้าหลายตัวที่จัดเก็บบนสินค้าชิ้นเดียวกัน ซึ่งเป็นความซ้ำซ้อนที่ผู้ประกอบการต้องทนรับมานาน) ไปพร้อมกันด้วย ทำให้ระบบภาษีของไทยเข้มแข็งขึ้น และยังสอดคล้องกับระบบภาษีที่ใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าหรือบริการต่างๆ ระหว่างประเทศด้วย
ต่างประเทศก็ใช้เหมือนกันหรือ?
ถ้านับจนถึงปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมานี้ ในบรรดา 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ มีประเทศที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม 166 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เรียกว่า Value-Added Tax และบางประเทศเรียกว่า Goods and Services Tax (GST) โดยมีอัตราภาษีตั้งแต่ 1% ถึง 27%
ประเทศไทยใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% (อย่างเป็นทางการ) แต่รัฐบาลประกาศให้เริ่มใช้ที่ 7% ไปก่อนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งก็เป็นอัตรานี้ตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในการส่งออกและนำเข้าสินค้า ประเทศที่ใช้ระบบภาษีแบบนี้ (VAT หรือ GST) จะกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าหรือส่งออกสินค้าก็จะไม่มีการจ่ายภาษีส่วนนี้ซ้ำในประเทศต้นทางและปลายทาง
เหตุที่ทำให้เราเข้าใจผิด
ผมขอสรุปเหตุแห่งความเข้าใจผิดเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่เคยได้รับข้อมูลมาและที่วิเคราะห์ด้วยตนเองออกมาได้ดังนี้ครับ
- ฐานความคิดเรื่องภาษี … หลายคนเข้าใจว่า เมื่อใดที่ตนเองต้องจ่ายอะไรเกี่ยวกับภาษี แปลว่า ตัวเราเองเป็นผู้จ่ายภาษี “ฝั่งซื้อเราก็จ่าย(ภาษี) ฝั่งขายเราก็เสีย(ภาษี)”
- ฐานความคิดเรื่องรายได้ … หลายคนเข้าใจว่า เงินที่ได้รับทุกอย่าง คือ รายได้ และเงินที่เราจ่ายทุกอย่าง คือ รายจ่าย
- การสื่อสาร ณ ตอนเปลี่ยนระบบภาษี … อาจทำได้ไม่ทั่วถึง หรือไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ (ก่อนหน้าจะใช้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มในปี พ.ศ. 2535 ยังมีความสับสนกันอยู่ว่า เมื่อประกาศใช้แล้วจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทันที 7% ซึ่งที่จริงควรเป็นว่า ต้องเอาราคาสินค้าเดิมไปถอดยอดภาษีอื่นๆ ที่กำลังจะเลิกใช้ ออกเสียก่อน แล้วจึงใช้ยอดที่เหลือมาคำนวณราคาขาย)
- ความเร่งรีบในการประกาศใช้ … อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สื่อสารไม่ทั่วถึง หรือยังเข้าใจไม่ถูกต้องเพียงพอ (รัฐบาลที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ มีอายุเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น คือระหว่างมีนาคม 2534 ถึงมีนาคม 2535)
- การวางแผนระยะปรับตัวในการใช้งานอาจสั้นเกินไปสำหรับคนไทย … ไทยเราประกาศใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 10% โดยช่วงแรกจะใช้อัตรา 7% ก่อนเพื่อเป็นการปรับตัว (แต่ในที่สุดก็ใช้อัตรานี้มาจนถึงปัจจุบัน) ในขณะที่ แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ยังเริ่มต้นที่ 3% ในปีค.ศ. 1994 และค่อยๆ ขยับมาเป็น 4%, 5% และ 7% ในปีค.ศ. 2003, 2004 และ 2007 ตามลำดับ
- คำว่า Value-Added Tax หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นคำที่สะท้อนมุมมองจากวิธีคำนวณ และมองจากมุมผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจเข้าใจว่า ตัวเองเป็นผู้เสียภาษี … ในขณะที่บางประเทศจะใช้คำว่า Goods and Services Tax แปลว่า ภาษีสินค้าและบริการ ซึ่งสะท้อนเหตุผลของภาษีได้ตรงมุมมองมากกว่า
- ข้อความที่สื่อสารออกมาทั้งจากสรรพากรเอง และจากบทความด้านธุรกิจต่างๆ ก็ใช้คำที่สะท้อนการได้หรือเสียประโยชน์ของผู้ประกอบการเองจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ผู้อ่านเข้าใจแบบนั้นตามไปด้วย เช่น “คนทำธุรกิจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขาย” หรือ “ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ขอคืนภาษีฯ” ซึ่งถ้าเปลี่ยนมุมมองใหม่เป็นว่า “สรรพากรมีหน้าที่จ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ผู้ประกอบการแจ้งยอดภาษีซื้อมาและมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนมาแสดง” น่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการมากกว่านี้มาก (ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการเรียกร้องการใช้สิทธิ์ แต่บอกว่าแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ทำอะไรให้แก่กัน)
เมื่อเข้าใจเหตุผลที่มาของภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ลองศึกษาวิธีการคำนวณและนำส่งภาษี รวมถึงผลดีผลเสียของการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มต่ออีกนิด เราก็จะคิดหาคำตอบได้ว่า สถานะทางธุรกิจของเราควรเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือยัง?