Banner for Value-Added Tax

รู้จักกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อนเริ่มขยายธุรกิจ

สำหรับเจ้าของธุรกิจที่เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ทำกันเองส่วนตัวหรือกับเพื่อนฝูง ไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง จนเติบโตมียอดขายเป็นแสนต่อเดือนหรือเป็นล้านต่อปี จะเริ่มมีคำถามในใจว่า ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เข้าแล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไรต่อธุรกิจ

ลองมารู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่มกันทั้งหลักการและวิธีการ ไปจนถึงผลดีผลเสียในการเข้าระบบกันเลยครับ จะได้ตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้น

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?

ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้บริโภคสินค้าหรือบริการ โดยมีขึ้นเพื่อแทนที่ระบบภาษีหลากหลายประเภทที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น ภาษีการขาย (sales tax) ภาษีบริการ (service tax) รวมทั้งระบบภาษีแบบเดิม แม้แต่ภาษีตัวเดียวก็อาจจะมีหลายอัตรา มีเงื่อนไขในการเทียบว่าเข้าข่ายภาษีประเภทนั้นประเภทนี้หรือไม่ แตกต่างกันไป ทำให้ระบบภาษีทั้งหมดยากต่อการเข้าใจและปฏิบัติตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มจะจัดเก็บเป็นอัตราคงที่อัตราเดียวโดยคำนวณจากมูลค่าสินค้าหรือบริการ (บางประเทศก็มี 2-3 อัตราสำหรับสินค้าบางชนิด)

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่จัดเก็บตามการบริโภค (consumption tax) ซึ่งภาษีลักษณะนี้จะอยู่บนหลักการว่า เมื่อมีการบริโภคเกิดขึ้น ก็จะมีการใช้ทรัพยากรและสาธารณูปโภค และก่อให้เกิดผลเช่น ขยะ มลภาวะ ภาระการจัดการต่างๆ ตามมา จึงต้องมีการจัดเก็บภาษีตามการบริโภคเพื่อมาจัดการแหล่งทรัพยากรไปจนถึงจัดการกับภาระที่ตามมาด้วย นั่นแปลว่าผู้ที่จ่ายภาษีตัวจริงคือผู้ที่บริโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ส่วนผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ให้บริการ ไม่ต้องรับภาระภาษีนั้นแต่อย่างใด (ยกเว้นสินค้าที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานภายในกันเอง ไม่เกี่ยวกับกิจการที่ผลิตหรือให้บริการโดยตรง เช่น อาหารที่เลี้ยงพนักงานเป็นสวัสดิการ การเลี้ยงรับรองเป็นครั้งคราว ค่าน้ำมันหรือค่าเดินทางผู้บริหาร เป็นต้น) ดังนั้น ใครที่บริโภคมากก็ต้องจ่ายภาษีมากตามไปด้วย

เจ้าของธุรกิจที่ยังใหม่กับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหลายคน สงสัยว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่ภาระของผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการได้อย่างไร? ในเมื่อทุกเดือนที่ขายของก็ต้องนำส่งภาษีฯ ให้แก่สรรพากร ในขณะที่ตอนซื้อสินค้า เราก็ต้องจ่ายเพิ่มจากมูลค่าสินค้าอีก 7% ด้วย … ต้องลองดูที่วิธีคำนวณและเก็บภาษีครับ

วิธีคำนวณ เรียกเก็บ และนำส่งภาษี

มูลค่าภาษีฯ คำนวณได้โดยเอามูลค่าสินค้าคูณ 7% เข้าไป และยอดเงินที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจริงๆ คิดเป็น 107% ของมูลค่าสินค้า ตัวอย่างที่ยกได้ง่ายๆ เช่น สินค้ามูลค่า 100 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายจริง 107 บาท

แต่สถานการณ์จริงมักไม่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามักจะตั้งราคาที่ผู้ซื้อต้องจ่ายให้เป็นเลขกลมๆ เช่น ยอดจ่ายเงิน 1,000 บาท เป็นมูลค่าสินค้าจริงๆ 934.57 บาท มูลค่าภาษีอีก 65.43 บาท ซึ่งอาจจะเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร การทอนเงิน หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ครับ

สำหรับการเรียกเก็บภาษี รัฐกำหนดให้ผู้ขายมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ ในแต่ละขั้นตอนของการซื้อขาย ดังนั้น เราก็มีหน้าที่เรียกเก็บเงินส่วนนี้จากผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการของเรา และเมื่อเราซื้อสินค้าหรือบริการจากคนอื่นเพื่อมาใช้ในกิจการของเรา เราก็ต้องชำระเงินส่วนนี้ให้กับเขาไปด้วย ดังนั้น ในฐานะคนทำธุรกิจ เราจะมีตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ตัวคือ ฝั่งขายกับฝั่งซื้อ … ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มฝั่งขาย เรียกว่า ภาษีขาย (Output Tax) โดยธุรกิจเป็นผู้รับเงินมาจากผู้ซื้อ และยอดฝั่งซื้อเรียกว่า ภาษีซื้อ (Input Tax) โดยธุรกิจเป็นผู้จ่ายไปในการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการของตน

การนำส่งภาษี เราจะนำยอดภาษีขายที่เป็นเงินของรัฐ หักด้วยยอดภาษีซื้อที่เราจ่ายออกไปก่อนและมีสิทธิขอรับเงินคืนได้ แล้วจึงนำส่งเฉพาะส่วนต่างของยอดภาษีเท่านั้น เท่ากับว่า ธุรกิจไม่ได้มีค่าใช้จ่ายภาษีในฝั่งซื้อ ส่วนภาษีฝั่งขายก็ไม่ใช่รายได้ของธุรกิจด้วย เงินภาษีทั้ง 2 ส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรหรือขาดทุนของธุรกิจแต่อย่างใด

เหตุที่ต้องวางระบบการจัดเก็บและนำส่งแบบนี้ (ให้ธุรกิจจ่ายภาษีไปก่อน แล้วมาขอคืนทีหลัง ไม่ใช้วิธีเรียกเก็บภาษีเฉพาะผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคจริงเท่านั้น) เพราะในแต่ละครั้งของการซื้อขาย ผู้ขายไม่ทราบว่าผู้ซื้อเป็นธุรกิจหรือไม่ ถ้าจะแยกให้ได้ก็จะเสียเวลาหรือมีขั้นตอนเพิ่ม (เคยมีการใช้ระบบแบบนี้อยู่แล้วในอดีต และถูกปรับมาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน)

การจัดเก็บและนำส่งภาษีแบบนี้ เรียกว่า ภาษีทางอ้อม (indirect tax) คือ คนที่จ่ายภาษี (หรือเรียกให้ถูกว่า คนที่นำเงินไปส่งสรรพากร) ไม่ใช่คนที่รับภาระภาษีจริงๆ แต่เป็นคนกลางในระบบการค้าขาย สรรพากรไม่ได้ติดต่อกับผู้ที่รับภาระภาษีโดยตรง แต่ให้คนระหว่างทางเป็นผู้ช่วยดำเนินการให้ และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียภาษีส่วนนี้

ภาระภาษีเกิดขึ้นเมื่อใด (จุดที่ต้องเรียกเก็บภาษีจากผู้ซื้อ)

ในระหว่างกระบวนการตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้น กฎหมายกำหนดให้ภาระภาษีเกิดขึ้นเมื่อ…

  1. มีการนำส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ (ไม่ว่าจะได้รับชำระเงินแล้วหรือไม่ก็ตาม) สำหรับธุรกิจขายสินค้า
  2. มีการชำระเงินให้แก่ผู้ขาย (ไม่ว่าเป็นการมัดจำ หรือชำระครั้งใดๆ) สำหรับธุรกิจบริการ

เมื่อการซื้อขายดำเนินถึงขั้นตอนเหล่านี้ ธุรกิจจะต้องออกเอกสารที่แสดงยอดค่าบริการ และยอดภาษีฯ ให้แก่ผู้ซื้อเพื่อเรียกเก็บเงิน และต้องนำส่งเงินภาษีตามยอดนั้นแก่สรรพากรตามงวดที่กำหนดไม่ว่าจะได้รับการชำระภาษีมาแล้วหรือไม่ก็ตาม เพราะภาระภาษีได้เกิดขึ้นแล้ว

การออกเอกสาร ใบกำกับภาษี หรือ Tax Invoice ก็จะออกให้ตามขั้นตอนเหล่านี้ โดยจะออกเป็นใบกำกับภาษีแยกออกมาเฉพาะเลย หรือจะใช้ร่วมกันกับเอกสารอื่น เช่น สำหรับธุรกิจขายสินค้าอาจออกเป็น “ใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี” และสำหรับธุรกิจบริการอาจออกเป็น “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี” ก็ได้

นอกจากนี้ หากมีการคืนสินค้าหรือยกเลิกการเก็บค่าบริการ ธุรกิจก็สามารถลดยอดภาษีขายที่ออกให้ไปแล้วได้ โดยการออก “ใบลดหนี้/ใบกำกับภาษี (Credit Note/Tax Invoice)” ให้แก่ลูกค้าและเก็บไว้ยื่นนำส่งภาษี ภาษีส่วนนี้นับเป็นภาษีขายจึงต้องนำส่งให้ทันภายในงวดเดือนที่ออกเอกสารด้วย

การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เราจะมีงาน 2 อย่างที่ต้องทำทุกเดือน คือ

  1. ทำบัญชีสรุปยอดภาษีขายและภาษีซื้อในแต่ละเดือน พร้อมรวบรวมกับเอกสารใบกำกับภาษีขายและซื้อเก็บไว้ที่สำนักงาน
  2. คำนวณยอดส่วนต่างระหว่างภาษีขายและภาษีซื้อของเดือนนั้นๆ นำส่งเงินให้แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (หรือถ้ายื่นออนไลน์ก็ได้ถึงวันที่ 23)

สำหรับภาษีขายต้องยื่นให้ทันเดือนต่อเดือน (เช่น รายการขายในเดือนมกราคม ต้องนำส่งในงวดเดือนมกราคม คือ ภายใน 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้น) ส่วนภาษีซื้อสามารถยื่นขอคืนภาษีได้ภายใน 6 เดือน (เช่น รายการซื้อในเดือนมกราคม สามารถยื่นขอคืนภาษีได้ภายในงวดเดือนมิถุนายน คือ ภายใน 15 กรกฎาคม เป็นต้น)

เมื่อคำนวณยอดส่วนต่างระหว่างภาษีขายกับภาษีซื้อได้แล้ว หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ (มีภาษีที่เราเรียกเก็บจากลูกค้าไว้ เกินอยู่) เราต้องนำเงินส่งให้สรรพากร แต่ถ้ายอดภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย (ภาษีที่เราจ่ายจากการซื้อของมาใช้ในกิจการมากกว่าที่เรียกเก็บจากลูกค้า) เราสามารถเลือกได้ว่า จะขอคืนเป็นเงิน หรือจะเครดิตไว้ใช้ในเดือนถัดไป ซึ่งสำหรับธุรกิจปกติ ก็ต้องเครดิตไว้ใช้ในเดือนถัดไป เพราะทุกๆ ธุรกิจที่มีกำไร เมื่อดำเนินงานไปเรื่อยๆ ยอดขายจะต้องมากกว่ายอดซื้อ ยอดภาษีขายก็จะมากกว่าภาษีซื้อตามไปด้วย ในที่สุด ยอดนำส่งภาษีจะต้องกลับมาเป็นบวก และเราต้องเป็นผู้นำส่งเงินให้สรรพากรอย่างแน่นอน

ยกเว้นบางธุรกิจที่จะมียอดภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อมาก เช่น โรงงานผลิตสินค้าเพื่อส่งออกทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ และธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษี เช่น ขายหนังสือ เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้จะมียอดภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย และจะเป็นการยื่นขอคืนภาษีมากกว่านำส่ง

อัตราภาษี

เมื่อตอนประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น กำหนดให้ใช้อัตรา 10% จากยอดขาย แต่เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับระบบภาษีใหม่ จึงได้กำหนดให้ใช้อัตรา 7% ไปพลางก่อน ซึ่งก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตรานี้มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เราไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แบ่งเป็น สินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี (คือ โดยหลักการควรเก็บ แต่ยกเว้นให้ด้วยเหตุสมควร) กับสินค้าที่เรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0 (ไม่ได้ยกเว้น แต่โดยหลักการของภาษีชนิดนี้ ควรเก็บที่อัตราต่ำมาก)

สินค้า/บริการที่เก็บภาษีอัตราร้อยละ 0 ได้แก่

  • สินค้าส่งออก
  • การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ (แต่ไม่รวมการจัดนำเที่ยวในต่างประเทศ)
  • การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล
  • การขายสินค้าหรือการให้บริการกับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีลักษณะเฉพาะบางประการ
  • การขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างคลังสินค้าหรือธุรกิจในเขตปลอดอากร (ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่รอการส่งออก)

อ้างอิง ประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1

สินค้า/บริการที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่

  • การขายพืชผลทางการเกษตร ทั้งในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้ (เช่น แช่แข็ง) แต่ไม่รวมอาหารบรรจุกระป๋องหรือหีบห่อแบบอุตสาหกรรม
  • การขายสัตว์ ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งส่วนของสัตว์หรือวัตถุพลอยได้ ทั้งในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้
  • การขายปุ๋ย ปลาป่น อาหารสัตว์ ยาและเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพืชหรือสัตว์
  • การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน
  • การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาตามกฎหมาย
  • การให้บริการทางศิลปะและวัฒนธรรม การบัญชี การว่าความ การรักษาพยาบาล การวิจัยหรือบริการทางวิชาการ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
  • การให้บริการขนส่งภายในประเทศ
  • การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ที่ไม่ใช่อากาศยานหรือเรือเดินทะเล
  • การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
  • การจ้างแรงงาน
  • การบริการอื่นๆ อีกหลายลักษณะ

อ้างอิง ประมวลรัษฎากร มาตรา 81

สินค้าปลอดภาษี (Duty Free Trade) อยู่ในส่วนไหน?

สินค้าปลอดภาษี ก็คือ สินค้าส่งออก จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคไม่ต้องเสียภาษีโดยสิ้นเชิงหรอกครับ เพราะเมื่อนำเข้าไปยังประเทศใด ก็ต้องไปดูกฎหมายประเทศนั้นอีกทีว่า ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่ ถ้าใช้ ก็มักจะมีการเรียกเก็บภาษีตามอัตราของประเทศนั้นๆ เมื่อนำเข้าประเทศด้วย ดังนั้น ถ้าจะให้ชัดเจนก็ต้องเรียกว่า สินค้าปลอดภาษีเนื่องจากการส่งออก

ถ้าย้อนกลับไปดูหลักการของภาษีการบริโภค ก็จะพบว่า ภาษีกลุ่มนี้ควรจะถูกเก็บในประเทศที่เกิดการบริโภคขึ้น ประเทศที่ใช้ระบบ VAT จึงกำหนดให้ไม่เก็บภาษีสำหรับสินค้าส่งออก แต่เรียกเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้า ส่วนที่เราสามารถซื้อของจากต่างประเทศแล้วเอาเข้ามาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ก็เพราะทางรัฐได้ยกเว้นการเก็บภาษีให้เมื่อมูลค่ารวมไม่เยอะมากนั่นเอง หรืออีกเหตุหนึ่งก็เนื่องจากการตรวจสอบคนที่เดินทางเข้าออกสนามบินให้ได้ทุกคนเป็นไปไม่ได้ จึงทำได้แค่สุ่มตรวจหรือใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็สามารถผ่านได้สบายๆ

ส่วนผู้ที่ซื้อสินค้าปลอดภาษี ก็จะต้องแสดงอย่างชัดเจนว่าจะนำสินค้าออกไปใช้บริการในประเทศอื่นจริงๆ เช่น ซื้อจากร้าน duty free ในสนามบินขณะกำลังจะออกจากต่างประเทศ หรือซื้อจากร้านค้าที่ลงทะเบียนไว้กับสรรพากรโดยจ่ายภาษีไปก่อนแล้วมาขอคืนภาษี (tax refund) ที่สนามบิน ก็ต้องนำสินค้ามาแสดงว่าเป็นสินค้าใหม่ ยังไม่ได้ใช้งาน

หมายเหตุ: ในที่นี้กล่าวเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่ในการนำเข้า/ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ยังมีภาษีศุลกากรซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตั้งราคาสินค้าและบริการอย่างไรดี

เมื่อเข้าใจโครงสร้างมูลค่าสินค้าและมูลค่าภาษีแล้ว จะเห็นได้ว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรขาดทุนของเรา คือเฉพาะส่วนของมูลค่าสินค้าเท่านั้น ดังนั้น ในการขายสินค้า ให้ตั้งราคาสินค้าโดยคิดเฉพาะส่วนของมูลค่าสินค้าเป็นรายได้ของเรา ส่วนของภาษีอีก 7% เป็นเงินที่ลูกค้าจ่ายไปยังสรรพากรโดยผ่านเราเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของเราที่ซื้อสินค้าเข้ามานั้น ก็จะคิดเฉพาะส่วนของมูลค่าสินค้า ต้องไม่รวมส่วนของภาษี 7% เข้ามา

เช่น ถ้าซื้อสินค้าเข้ามาในราคา 100 บาทมีภาษี 7 บาท (เราจ่ายเงินไป 107 บาท) ขายไปในราคา 150 บาทมีภาษี 10.50 บาท (ลูกค้าจ่ายเงินให้เรา 160.50 บาท) ต้นทุนจริงของเราคือ 100 บาท และรายได้จริงของเราคือ 150 บาท ส่วนกำไรของเราก็จะเท่ากับ มูลค่าสินค้าตอนขาย ลบด้วยมูลค่าสินค้าที่ซื้อเข้ามาใช้งาน ซึ่งตัวอย่างนี้ก็จะเท่ากับ 150 – 100 บาทคือ 50 บาทนั่นเอง

ด้วยตัวอย่างข้างต้นนี้ สำหรับธุรกิจที่ซื้อขายสินค้าและตั้งราคาแบบเดียวกันกับเรา โดยไม่ได้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เขาจะมีต้นทุนสินค้าที่ 107 บาท (ไม่สามารถขอคืน VAT ได้) และจะขายไปในราคา 160.50 บาท เท่ากับได้กำไร 160.50 – 107.00 บาทเท่ากับ 53.50 บาท มากกว่าผู้ที่เข้าระบบอยู่เล็กน้อย (ในกรณีนี้คือ 3.50 บาท)

ธุรกิจที่เข้าระบบฯ จะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • ต้นทุนการทำธุรกิจต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการไม่เข้าระบบ เพราะสามารถนำส่วนของภาษีฯ มาขอคืนได้ ต้นทุนที่ต้องจ่ายจริงตรงตามมูลค่าสินค้า ไม่ต้องรับภาระส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง
  • เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจกับผู้ที่เข้าระบบอยู่แล้ว เพราะธุรกิจที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องการซื้อขายกับธุรกิจในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีเอกสารภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องมากกว่า มีเอกสารนำมาใช้ขอคืนภาษีได้ และธุรกิจเหล่านั้นก็มักจะเป็นธุรกิจที่ผ่านระยะทดลองธุรกิจไปสู่ระยะเติบโตแล้วอย่างแน่นอน (คือมียอดรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่นอนครับ)
  • สำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์, ห้างหุ้นส่วนแบบต่างๆ หรือบริษัทจำกัด การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่สถานะทางธุรกิจของคุณได้ในระดับหนึ่ง (ผมไม่ชูประโยชน์ในส่วนนี้ สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่งไว้แล้ว เพราะเท่ากับว่าคุณก็ได้รับความน่าเชื่อถือทำนองเดียวกันจากการจดทะเบียนนั้นอยู่แล้ว)

ธุรกิจที่เข้าระบบฯ เสียประโยชน์อะไรบ้าง

เท่าที่ผมคิดได้ตอนนี้ มี 2 เรื่องเล็กๆ คือ

  1. มีภาระงานเพิ่มขึ้นในการออกเอกสาร จัดเก็บเอกสาร สรุปยอด และนำส่งสรรพากร ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นภาระอะไรมากมาย ในเมื่อต้องเอกสารการขายปกติและต้องทำบัญชีบริษัทอยู่แล้ว
  2. ถ้าเทียบว่าต้นทุนสินค้าที่จ่ายเงินซื้อมาเท่ากัน และราคาขายที่ลูกค้าปลายทางต้องจ่าย ก็เท่ากันด้วย ธุรกิจที่เข้าระบบจะได้กำไรน้อยกว่าธุรกิจที่ไม่เข้าระบบ ประมาณ 7% ของกำไร (ไม่ใช่ของยอดขายนะครับ) ก็แล้วแต่ว่าสัดส่วนกำไรของสินค้าอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งก็เทียบเท่ากับประมาณ 1-3.5% ของยอดขาย (ดังที่คำนวณให้ดูในหัวข้อก่อนหน้านี้) แต่ถ้าคิดต่อว่า เราสามารถขอคืน VAT ในส่วนของสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่เป็น fixed cost อื่นๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงาน รถยนต์ เครื่องจักร ได้ด้วย ก็จะพบว่า ไม่เสียประโยชน์ในส่วนนี้เลย หรือบางธุรกิจอาจได้ประโยชน์มากกว่าด้วยครับ

ผลเสียอย่างไม่เป็นทางการคือ สำหรับคนที่ยื่นภาษีไม่ตรงตามจริงมาโดยตลอด (เช่น เลี่ยงภาษี แต่งตัวเลขให้มีกำไรน้อย) เมื่อเข้าระบบแล้วจะทำได้ยาก เพราะต้องแสดงยอดขายตรงตามจริงทุกเดือน อาจแต่งตัวเลขกันไม่ทัน รวมทั้งสรรพากรก็สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายด้วย

แต่ที่จริง ถ้าดูกันในระยะยาว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะหาวิธีจัดเก็บภาษีให้ได้ตามความเป็นจริง รัฐก็ต้องพัฒนาวิธีการที่ดีขึ้นเป็นระบบมากขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราจะทำธุรกิจกันยาวๆ และเติบโตขึ้นด้วย อย่างไรเสียเราก็ต้องเข้าระบบในที่สุด รวมถึงว่าที่จริงแล้ว ภาษีของเราก็ถูกนำไปใช้ในการสร้างถนนหนทาง สาธารณูปโภค และจัดการกับปัญหาต่างๆ ของส่วนรวม หากเราจ่ายน้อยกว่าที่ควร ก็เท่ากับเรากำลังใช้ทรัพย์สินสาธารณะโดยเอาเปรียบคนจำนวนมากที่จ่ายตามความเป็นจริงอยู่ด้วยนะครับ

ต้องเป็นบริษัทหรือไม่? หรือมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท สามารถเข้าระบบได้หรือเปล่า?

บุคคลธรรมดา, ห้างหุ้นส่วนแบบต่างๆ, หรือผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทก็สามารถจดทะเบียนเป็นธุรกิจในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ จากนั้นก็แค่ออกเอกสารใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง มีข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นเองครับ

 

จะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจที่มาของภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำนวณราคาซื้อขาย ตั้งราคาได้ตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว จะพบว่า ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ใครยังไม่พร้อมก็ค่อยๆ ศึกษาและวางระบบธุรกิจไปก่อน ใครพร้อมแล้วก็ทำได้เลย นอกจากนี้ เมื่อเราทำตามยอดซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหากับสรรพากรแต่อย่างใด เอาเวลาและกำลังสมองไปวางแผนการดำเนินกิจการ พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ให้ธุรกิจเติบโตก้าวหน้า สนุกกับการทำธุรกิจของเราดีกว่ามากมายเลยครับ

ข้อมูลอ้างอิง