Blue_dragon-glaucus_atlanticus_Sylke Rohrlach

รู้จัก “บลูดราก้อน” ทากทะเลสวยแปลก แต่แฝงพิษร้าย

ช่วงนี้นักท่องเที่ยวที่เดินเล่นบริเวณชายหาด จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะหาดกะรน ควรเพิ่มความระมัดระวัง หลังจากมีการพบสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกประหลาดสีฟ้าระยิบระยับ ที่จริงแล้วมันคือ “บลูดราก้อน” (Blue Sea Dragon) เป็นทากทะเลที่มีพิษแฝงอยู่ ซึ่งห้ามสัมผัสโดยเด็ดขาด

“บลูดราก้อน” คืออะไร?

บลูดราก้อน หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Blue Ocean Slug (มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glaucus Atlanticus) เป็นทากทะเลในกลุ่ม ทากเปลือย (Sea Slug) ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในไฟลัม Mollusca (กลุ่มเดียวกับหอย) แต่ต่างจากหอยทั่วไปตรงที่พวกมันไม่มีเปลือกหุ้มลำตัว

รูปร่างของพวกมันมีลักษณะคล้ายปีก ดูเหมือน “มังกรทะเล” ขนาดจิ๋ว มีสีฟ้าเงินระยิบระยับ เมื่อต้องแสงแดดจะยิ่งดูโดดเด่น ลำตัวโตเต็มที่เพียง 1 – 1.5 นิ้ว เท่านั้น

พบได้ที่ไหน?

โดยปกติ พบได้ตามมหาสมุทรและชายฝั่งเขตร้อนและกึ่งร้อน เช่น

  • ออสเตรเลีย
  • แอฟริกาใต้
  • ยุโรป

ในไทยมีรายงานการพบครั้งแรกเมื่อปี 2023 ที่หาดกะรน จ.ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักชีววิทยาและนักดำน้ำ และล่าสุดพบในเดือน กรกฎาคม 2025

ลักษณะและพฤติกรรมที่น่าสนใจ

พวกมันจะลอยอยู่ใกล้ผิวหน้าน้ำทะเล โดยเกาะผิวน้ำแบบหงายท้องขึ้นฟ้า เคลื่อนที่ไปตามกระแสลมและคลื่น เราอาจมีโอกาสพบพวกมันลอยผ่านแบบไม่คาดคิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีคลื่นลมแรง

ลำตัวของบลูดราก้อนที่เราเห็นเป็นสีน้ำเงินนั้น มาจากเม็ดสีน้ำเงินที่ได้มาจากเหยื่อที่มันกินเข้าไป จะเห็นชัดบริเวณท้อง เมื่อหันท้องขึ้นสู่ฟ้าจะทำให้มันพรางตัวกลืนกับสีน้ำทะเล ไม่ให้นักล่าบนท้องฟ้าเห็น ส่วนด้านหลังของมันจะมีมีขาวหรือสีเงินหันสู่ท้องทะเล ทำให้มันสามารถพรางตัวไม่ให้นักล่าใต้ทะเลเห็นได้

บลูดราก้อนกินอะไรเป็นอาหาร?

เหยื่อของบลูดราก้อนคือสัตว์มีพิษที่ลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำ เช่น

ทำไมจึงควรระวัง?

แม้จะดูสวยงามและเล็กน่ารัก แต่บลูดราก้อนก็เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษซึ่งไม่ควรสัมผัสโดยเด็ดขาด
พิษของบลูดราก้อนไม่ได้ผลิตขึ้นเอง แต่ได้มาจากการกินเหยื่อที่มีพิษ โดยเซลล์เข็มพิษของเหยื่อ (Nematocyst) จะถูกสะสมไว้ในส่วนของร่างกายที่คล้ายกับนิ้วมือ (Cerate) หากเราเผลอไปสัมผัสโดยตรงอาจทำให้เกิดอาการ แสบร้อนหรือระคายเคืองผิวหนัง ผู้ที่แพ้อย่างรุนแรงอาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะอย่างหนัก

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากสัมผัสพิษ

  1. ห้ามถูบริเวณที่โดนพิษ
  2. ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณแผล
  3. รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

การพบบลูดราก้อนในประเทศไทย ไม่เพียงสร้างความตื่นเต้นให้กับนักชีววิทยาและนักดำน้ำเท่านั้น แต่ยังทำให้เราตระหนักถึงความซับซ้อนของระบบนิเวศใต้ทะเลและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกที่ส่งผลให้พบบลูดราก้อน จากเดิมที่ไม่เคยพบที่ประเทศไทยมาก่อน อย่างไรก็ตาม ควรชื่นชมความงามของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้จากระยะปลอดภัย หลีกเลี่ยงการจับหรือรบกวนพวกมัน ไม่ใช่แค่เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง แต่ยังเป็นการรักษาระบบนิเวศในทะเลให้คงอยู่ต่อไป

อ้างอิง:
อารมณ์ มุจรินทร์. (2566, พฤศจิกายน). หรรษานานาสัตว์. NSM Science Magazine. 257 (23). 50-53.