นักดำน้ำหลายท่านที่เริ่มจริงจังกับการดำน้ำมากขึ้น ออกทริปดำน้ำบ่อยขึ้น ก็มักจะมีเร็กกูเลเตอร์ไว้ในครอบครองเป็นของส่วนตัว แทนที่จะใช้อุปกรณ์เช่าที่มาจากทางร้านหรือเรือ ด้วยเหตุผลว่า สามารถเลือกรุ่นที่มีคุณภาพสูงกว่าชุดเช่า หายใจเบาสบายทุกความลึก หน้าตาดูดีมีสกุล หรือคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่ตัวเองต้องการได้ ใช้แล้วสบายใจ
นักดำน้ำส่วนใหญ่จะทราบดีอยู่แล้วว่า เร็กกูเลเตอร์ดำน้ำจำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงเป็นระยะๆ ไม่ต่างกับรถยนต์เลย เพราะเมื่อใช้งานกันไปนานๆ ย่อมมีทั้งขี้เกลือ ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เล็ดรอดเข้าไปเกาะอยู่ตามจุดต่างๆ หรือส่วนประกอบบางอย่างก็เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและการใช้งานด้วย เจ้าของเร็กกูเลเตอร์ทุกท่านจึงต้องคอยนำเร็กกูเลเตอร์ไปเข้าศูนย์บริการ ถอดล้าง ทำความสะอาด ตามรอบเวลาที่เหมาะสม
แต่ก็มีนักดำน้ำบางท่านสงสัยใคร่รู้ขึ้นไปอีกว่า การซ่อมบำรุงเร็กกูเลเตอร์ที่ว่านี้ เค้าทำอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ มีความจำเป็นแค่ไหน ไม่ทำแล้วจะเกิดอะไร และควรทำบ่อยแค่ไหน … วันนี้เราจะมาไขข้อข้อใจทั้งหมดนี้กัน
Overhaul Service เค้าทำอะไรกับเร็กกูเลเตอร์บ้าง
ขั้นตอนในการซ่อมบำรุงเร็กกูเลเตอร์ อาจแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนใหญ่ๆ ได้แก่
- ถอดแยกชิ้นส่วน
- ล้างทำความสะอาด
- ตรวจเช็คและเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุด
- ประกอบชิ้นส่วนกลับ
- ปรับตั้งค่าการทำงาน
การถอดแยกชิ้นส่วน
เริ่มตั้งแต่ แยกชุดเร็กกูเลเตอร์ออกเป็น 4 ตัวย่อยๆ คือ first stage 1 ตัว, second stage 2 ตัว (คือ primary และ octopus) และ pressure guage อีก 1 ตัว จากนั้นก็แยกไปทำแต่ละตัวอีกที
ส่วนที่ซับซ้อนที่สุดคือ first stage เพราะภายในประกอบด้วยชิ้นส่วนย่อยอีกนับสิบชิ้น ทั้งสปริง, ยางโอริง (o-ring rubber/elastomer), แผ่นไดอะแฟรม (diaphragm) หรือลูกสูบ (piston) แล้วแต่ชนิดของ first stage และส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ชุดที่ทำหน้าที่เป็นวาล์วปิดเปิดอากาศ (poppet และ poppet seat) ซึ่งหน้าสัมผัสจะกระแทกกันหลายร้อยครั้งในแต่ละไดฟ์ ตามรอบการหายใจเข้าออกของเรา จึงเกิดการสึกหรอได้เมื่อผ่านการใช้งานไปเรื่อยๆ
ส่วนยางโอริงจะเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการใช้งาน ผ่านความเย็นความร้อนและความกดดันอากาศสูงตลอดเวลา มักจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3-4 ปี
การถอดแยกชิ้นส่วนเร็กกูเลเตอร์นี้มีข้อควรใส่ใจ คือ เร็กกูเลเตอร์บางรุ่นบางแบรนด์จะมีกลไกการยึดเข้าด้วยกันแบบเฉพาะรุ่น ต้องใช้เครื่องมือถอดเฉพาะของรุ่นนั้นๆ หากช่างผู้ดำเนินการไม่มีความรู้จริงในเร็กกูเลเตอร์รุ่นนั้น หรือไม่มีเครื่องมือถอด แล้วมักง่ายใช้เครื่องมือที่คิดพลิกแพลงเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายได้
การล้างทำความสะอาด
เมื่อถอดแยกส่วนประกอบครบแล้ว ก็จะนำไปทำความสะอาดด้วยการแช่ลงในเครื่องล้างด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าโซนิค (ultrasonic cleaning machine) ซึ่งจะสามารถล้างเอาเศษขี้เกลือเล็กจิ๋วที่ติดอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ออกได้อย่างหมดจด รวมถึงกัดกร่อนสนิมและชำระล้างคราบไขมันที่เกาะอยู่ทั่วไปด้วย
ในการล้างด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิคนี้ เรามักจะใส่สารที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการล้างสิ่งสกปรกออกด้วย บางคนอาจเคยใช้น้ำส้มสายชูผสมลงไปในน้ำที่ใช้แช่ล้าง แต่ที่จริง สารช่วยทำความสะอาดสำหรับเครื่องอัลตร้าโซนิคนี้ยังมีชนิดอื่นๆ ให้เลือกใช้ด้วย และแต่ละชนิดก็ต้องเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับวัสดุ มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องทำด้วยความรู้เข้าใจจริงๆ
น้ำส้มสายชู (ทั้งแบบผงและแบบน้ำ) หรือสารอื่นๆ ที่มีฤทธิ์เป็นกรด อาจกัดกร่อนโลหะได้แม้แต่กับสเตนเลสซึ่งค่อนข้างทนต่อกรด (แต่ไม่ได้ทน 100%) จึงต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและแช่เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
การตรวจเช็คและเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุด
หลังจากล้างทำความสะอาดแล้ว ส่วนประกอบต่างๆ อาจดูใหม่กิ๊ก เงาวับ ราวกับเพิ่งใช้ครั้งแรกเลย แต่เมื่อได้ลองจับ ลองขยับ ลองดึงดูแล้ว ช่างผู้ชำนาญจะรู้ได้ว่า ความยืดหยุ่น ความตึง ของชิ้นส่วนเหล่านั้น ยังดีพอจะใช้งานต่อไปหรือไม่ หรือถ้าเป็นยางโอริง เราลองบิดๆ ดันๆ ถ้าเห็นรอยแตกเล็กๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนชิ้นใหม่แล้ว
นอกจาก การไล่ตรวจสอบและเลือกเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดทีละชิ้นแล้ว โดยปกติ ทางแบรนด์ผู้ผลิตได้จัดเตรียม Service Kit คืออะไหล่ชุดแนะนำที่ควรเปลี่ยนเมื่อใช้งานมาถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ (ส่วนใหญ่คือ 1 ปี) ซึ่งจะแตกต่างกันไปสำหรับ first stage และ second stage แต่ละรุ่น
ราคาของ service kit สำหรับเร็กกูเลเตอร์ทั้งชุด (first stage 1 ชุด + second stage 2 ชุด) จะอยู่ที่ประมาณ 2 พันกว่าบาทถึง 4 พันบาท หรืออาจสูงกว่านี้ได้ถ้าเป็นรุ่นระดับสูงมากๆ
การประกอบชิ้นส่วนกลับ
ขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรมาก แค่ทยอยประกอบชิ้นส่วนที่ถอดล้างหรือเปลี่ยนตัวใหม่เรียบร้อยแล้ว กลับเข้าไปเป็นชุดอุปกรณ์ให้เหมือนเดิม
การปรับตั้งค่าการทำงาน
ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งค่าการจ่ายอากาศทั้งที่ first stage และ second stage โดยอาจตั้งค่าตามที่ทางแบรนด์ผู้ผลิตกำหนดมาอยู่แล้วสำหรับแต่ละรุ่น หรือหากใครเห็นว่าค่าที่ตั้งมานั้นมีความไหลลื่นมากหรือน้อยเกินไป ก็สามารถปรับเป็นแบบที่ตัวเองต้องการได้ โดยแจ้งช่างให้ทราบล่วงหน้า
ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดเป็นเท่าไหร่
ค่าบริการถอดล้างและประกอบกลับ (overhaul service) จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทพอๆ กันแทบทุกรุ่นทุกแบรนด์
ส่วนค่าอะไหล่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง และเลือกเปลี่ยนแบบใด ถ้าเป็นการเปลี่ยนทั้งชุด service kit ก็อยู่ระหว่าง 2-4 พันบาท แต่หากเลือกเปลี่ยนเฉพาะอะไหล่ชิ้นที่จำเป็น ก็มักจะต่ำกว่านี้ ยกเว้นในกรณีที่มีอะไหล่บางชิ้นที่ต้องเปลี่ยนเพิ่มเป็นพิเศษ เช่น หากสายอากาศเก่า เปื่อย มีอากาศรั่ว หรือสายหักขาด, ฝาครอบ second stage หมดอายุ แตกเสียหายแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ก็อาจมีค่าบริการเพิ่มเติมบางกรณี เช่น หากมีขี้เกลือฝังแน่นมากจนยากแก่การถอด (มักเกิดจากการไม่ได้รับการถอดล้างเป็นเวลานานมาก ทำให้ขี้เกลือหรือสนิมฝังลึกเชื่อมเนื้อโลหะจนติดแน่น) อาจต้องใช้เครื่องมือเพิ่มเติมและใช้เวลาในการถอดล้างมากขึ้น ก็อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขั้นได้
ต้องทำบ่อยแค่ไหน ไม่ทำได้มั้ย
โดยทั่วไป ทางแบรนด์ผู้ผลิตเร็กกูเลเตอร์จะแนะนำให้ถอดล้างซ่อมบำรุงพร้อมเปลี่ยน service kit ครบชุดทุกปี แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร และเป็นที่รู้กันว่า อายุการใช้งานของอะไหล่ภายใน น่าจะไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี สำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ได้ดำน้ำบ่อยๆ เหมือนผู้ที่ทำงานด้านนี้ หรือร้านดำน้ำซึ่งออกทริปทุกวันทุกเดือน ก็สามารถเลือกที่จะ overhaul เป็นรายปี และเปลี่ยน service kit ทุก 2 ปี แทนก็ได้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องอะไหล่ลงไปอีกประมาณครึ่งนึงเลยทีเดียว
สำหรับร้านดำน้ำที่ออกทริปบ่อย บางร้านอาจเลือกทำ overhaul ทุกครึ่งปี และเปลี่ยนอะไหล่ตามที่จำเป็น ทุกครั้งที่ทำ overhaul โดยไม่ต้องรอให้ครบปีเลยด้วย
สำหรับใครที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายส่วนของการถอดล้างลงไปอีก อยากจะเว้นระยะห่างในการถอดล้างให้นานกว่า 1 ปีได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า จากประสบการณ์ของเรา ก็เคยเห็นเร็กกูเลเตอร์ที่ไม่ได้ถอดล้างมานานกว่า 3-4 ปีและยังใช้งานได้เป็นปกติ แต่เรื่องนี้ต้องยกให้เป็นการตัดสินใจของนักดำน้ำเจ้าของเร็กกูเลเตอร์เอง ที่จะเลือกและรับความเสี่ยงเอง
ไม่ว่าคุณจะเลือกให้ทำการซ่อมบำรุงบ่อยแค่ไหน วิธีหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานได้มากที่สุด ก็คือการล้างทำความสะอาดเร็กกูเลเตอร์อย่างถูกวิธี และถี่ถ้วนมากที่สุด ซึ่งมีทั้งขั้นตอนที่ควรทำทุกครั้งที่กลับจากทริปดำน้ำ และที่ควรทำทุกครั้งหลังจบไดฟ์ หากทำได้ดีก็จะช่วยให้คุณประหยัดค่าซ่อมบำรุงและเปลี่ยนอะไหล่ลงไปได้อีกมาก
หากสนใจบริการถอดล้างซ่อมบำรุงเร็กกูเลเตอร์ ลองดูตัวเลือกและค่าใช้จ่ายแบบต่างๆ ได้ที่ บริการตรวจสอบ/ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดำน้ำ โดย FreedomDIVE.com